เข็มนาฬิกาแห่งความภักดี
ของ "อ.ลักษณ์เทฆนิคการช่าง"
ท่ามกลางเสียงยวดยานจอแจและผู้คนมากมายที่ละแวกท่าพระจันทร์ ร้านนาฬิกาแห่งหนึ่งตั้งอยู่อย่างเงียบๆ ไร้การตกแต่งอย่างหรูหราสะดุดตาเหมือนร้านนาฬิกาหรูบนห้าง แต่ทว่าการตกแต่งอย่างเรียบง่ายนี้กลับสะท้อนเอกลักษณ์บางอย่างจากชายผู้เป็นเจ้าของร้าน "อ.ลักษณ์เทฆนิคการช่าง"
ในวัย 62 ปี "อ.ลักษณ์" หรือนามเต็มว่า อนุลักษณ์ ตาณพันธุ์ ยังคงลงมือซ่อมนาฬิกาเอง แม้จะเป็นนายห้างแล้วก็ตาม ฝีมือการซ่อมนาฬิกาของเขานั้นไม่ต้องพูดถึง ด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปีในวงการนาฬิกา ทำให้ลูกค้าที่นำนาฬิกามาซ่อมต่างไว้วางใจหายห่วงได้ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิการาคาเรือนละไม่กี่พันไปจนถึงหลักล้าน หากผ่านมือนายช่างผู้นี้ รับรองกลับมาเดินดีทุกราย !!
แต่เรื่องราวที่น่าสนใจและหลายคนที่เดินผ่านไปมาบนถนนมหาราช แถบท่าพระจันทร์อาจไม่เคยทราบหรือสังเกตก็คือ สัญลักษณ์ "ตราครุฑ" ที่ติดอยู่บริเวณหน้าร้าน "อ.ลักษณ์เทฆนิคการช่าง" แห่งนี้ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร
ตราครุฑดังกล่าวนั้น เป็นตราครุฑที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ร้าน "อ.ลักษณ์เทฆนิคการช่าง" ในฐานะที่นายช่าง อ.ลักษณ์ ได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นช่างแก้นาฬิกาส่วนพระองค์
นาฬิกาในพระราชสำนักแทบทุกเรือน นับตั้งแต่นาฬิกาส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระโอรสาธิราชฯ และสมเด็จพระเทพรั๖นราชสุดาฯ ล้วนทรงให้ช่าง อ.ลักษณ์แก้ไขให้
แต่เมื่อเราไปพูดคุยกับเขา ช่างแก้นาฬิกาส่วนพระองค์ผู้นี้กลับมิได้สำคัญตัวว่าใหญ่โตประการใด ตรงข้าม เขากลับภาคภูมิใจเพียงแค่ว่า ได้ใช้วิชาชีพช่างนาฬิกาที่ร่ำเรียนมาถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทเท่านั้น
"ในชีวิตของผมมีผู้มีพระคุณอยู่ 2 คน คือ พ่อแม่ กับในหลวง" คือคำกล่าวสั้นๆ แต่สะท้อนความจงรักภักดีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประหนึ่ง "พ่อหลวงของแผ่นดิน" อย่างชัดเจนของ อ.ลักษณ์
อ.ลักษณ์เล่าว่า หลายสิบปีก่อนหน้านี้เขาได้เดินทางไปศึกษาจนได้ปริญญามาสเตอร์ด้านวิศวกรรมการแก้นาฬิกาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาก็ได้เข้าทำงานในบริษัทนาฬิกาฝรั่งในเมืองไทยอยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงนี้เอง ที่ชื่อเสียงด้านฝีมือการซ่อมนาฬิกาของ อ.ลักษณ์ เป็นที่กล่าวขานในวงการนาฬิกาไทยอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดมีผู้ตั้งสมญานามให้เขาว่าเป็นช่างแก้นาฬิกา "มือทอง" ของวงการ
"การแก้นาฬิกาเป็นเรื่องของวิศวกรรม ส่วนประกอบของนาฬิกามันเล็กกว่าเส้นผมเสียอีก จึงเป็นสิ่งละเอียดอ่อนมาก นิสัยผมถ้าจะทำต้องทำให้ดี คนที่จะเป็นช่างแก้นาฬิกาได้จะต้องอดทน ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เก่ง นาฬิกาเก่าเป็นหลายร้อยปีผมก็ยังรู้จักไม่หมด ส่วนนาฬิการุ่นใหม่ๆ ผมก็ยังเห็นไม่ทั่ว ยังต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา" อ.ลักษณ์กล่าวอย่างถ่อมตัว
อ.ลักษณ์กล่าวอีกว่า ต่อมาเขาได้ลาออกจากบริษัทเดิม แล้วมาเปิดห้างนาฬิกาเป็นของตนเอง โดยใช้ชื่อว่า "อ.ลักษณ์เทฆนิคการช่าง" ชื่อเสียงและฝีมือของ อ.ลักษณ์ ทำให้มีลูกค้าหลายระดับมาใช้บริการอย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่ เศรษฐี พ่อค้า ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง ไปจนกระทั่งนายกรัฐมนตรีหลายสมัย อาทิ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น รวมทั้งนาฬิกาขององค์สมเด็จพระสังฆราช
กระทั่งวันหนึ่ง มีข้าราชการสำนักพระราชวังผู้หนึ่งได้เชิญนาฬิกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมายังร้านเพื่อให้ อ.ลักษณ์ซ่อมแซม นับจากนั้น เขาก็มีโอกาสถวายการรับใช้แก้ไขนาฬิกาส่วนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้ว
เมื่อคราวกรุงเทพมหานครจัดงานฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปีนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ อ.ลักษณ์รับผิดชอบการแก้ไขนาฬิกาโบราณตามพระที่นั่งต่างๆ อาทิ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ฯลฯ เพื่อต้อนรับพระราชอาคันตุกะ
ในเวลานั้น อ.ลักษณ์ต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลาจนกระทั่งป่วยไข้ แต่ก็ยังมุ่งมั่นอุตสาหะถวายการรับใช้อย่างไม่ย่อท้อ กระทั่งในที่สุด เขาก็สามารถแก้ไขนาฬิกาทั้งหมดได้สำเร็จทันเวลา
แต่ผลงานที่ อ.ลักษณ์ภาคภูมิใจมากที่สุด คือ การมีโอกาสได้ถวายการรับใช้แก้ไขนาฬิกาส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ.ลักษณ์กล่าวว่า นาฬิกาเรือนดังกล่าวเป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะขนาดเล็ก และสามารถเล่นเพลงได้ ซึ่งเป็นนาฬิกาที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรมบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานให้เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ในหลวงท่านจึงทรงรักนาฬิกาเรือนนี้มาก
ผลจากการที่ช่าง อ.ลักษณ์ สามารถแก้ไขนาฬิกาเรือนดังกล่าวนั่นเอง ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกระแสรับสั่งชมเชยในการแก้นาฬิกาของ อ.ลักษณ์ และได้พระราชทานเหรียญส่วนพระองค์ ราชรุจิ ทอง-เงิน แก่เขาอีกด้วย
แต่ อ.ลักษณ์ก็ยังตั้งอกตั้งใจทำงานอย่างเงียบๆ ไม่เห่อเหิมกับเกียรติยศที่ได้รับพระราชกรุณาแต่ประการใด เมื่อในหลวงทรงตรัสถามว่าเขาอยากได้สิ่งใดตอบแทน หรือต้องการไปทำงานกับพระองค์หรือไม่ อ.ลักษณ์เพียงแต่ทูลตอบว่า "ขอรับใช้พระองค์ท่านแบบนี้ต่อไป และหากมีพระราชประสงค์จะให้เขารับใช้สิ่งใดก็สามารถเรียกใช้ได้ทุกเมื่อ"
เขาให้เหตุผลกับเราว่า "ทุกวันนี้ผมกินแค่มื้อเดียว คนเราไม่ช้าก็ตาย แต่คนไม่รู้จักพอ ผมรู้ตัวว่าต้องตาย ไม่อยากได้อยากมีอะไร ผมไม่อยากได้เงินทองหรือสายสะพาย นาฬิกาทุกเรือนที่ตั้งใจซ่อมถวายไม่เคยเรียกร้องเงินตอบแทนจากพระองค์ท่าน" นี่คือคำตอบของ "ข้า" แผ่นดินอย่างแท้จริง