พระมหากษัตริย์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ไม่มี login ก็โพสได้นะครับ

พระมหากษัตริย์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

Postby nst0001 » Mon Jan 12, 2009 5:15 pm

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะเสียสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้ราษฎร์โดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร์”
พระราชหัตเลขาพระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 มี.ค.2477
กล่าวนำ
“ประเทศไทยถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ” ในทุกๆ ปีที่ผ่านมาเมื่อถึงวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินีนาถ หรือไม่ก็จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาถวายสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐ์สถานอยู่หน้าอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพมหานาคร วันที่ 10 ธันวาคม 2475 จึงถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักการปกครองให้แก่ประชาชนชาวไทย ภายหลังเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ความเป็นมา
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ราชวงศ์จักรี ประเทศมหาอำนาจตะวันตก แพร่ขยายลัทธิล่าอาณานิคมเข้ามาในประเทศแถบเอเชียตะวันออก ประเทศสยามในสมัยนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการล่าเมืองขึ้น แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงได้ศึกษาอารยธรรมตะวันตก จนเกิดความเข้าใจ ทรงใช้ในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ และได้รับความนับถือจากนานาชาติ ล่วงขึ้นมาสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงป้องกันเอกราชอธิปไตยของประเทศจนสุดพระกำลัง ต่อการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ทรงนำความรอดพ้น และคงตามเป็นเอกราชอยู่ได้เพียงประเทศเดียวในแหลมทอง ทรงพัฒนาประเทศด้วยคุณูประการ เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร ทรงมองเห็นภัย จากต่างประเทศ จึงได้วางรากฐานให้บ้านเมืองพัฒนาไปในทางรุ่งเรือง โดยเฉพาะความเจริญในระบอบประชาธิปไตย
สืบต่อมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ทั้งสองพระองค์ ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดา ทรงพัฒนาการศึกษาและให้นำความรู้ทางประเทศตะวันตกมาใช้ เป็นผลให้สามารถลดปัญหา และแก้ไขความเสียเปรียบกับต่างประเทศ ส่วนในด้านการปกครอง ก็เริ่มพิจารณา เตรียมการและเริ่มต้นการปกครองแผนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัชกาลที่ 7 เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เมื่อ 24 มิ.ย.2475 ทรงยินยอมที่จะเป็น

พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่พระองค์ก็ยังมีกองทัพที่จงรักภักดีต่อพระองค์ ดังความในพระราชหัตถเลขา ลง 24 มิ.ย. 2475 มีความตอนหนึ่งดังนี้ “ ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไมไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้ จลาจล เสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้ว ที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือ มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามรัฐธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อคุมให้โครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญโดยสะดวก ”
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร (แทนธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราวที่คณะราษฎรประกาศใช้) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แต่เมื่อวิธีการปกครองไม่ตรงกับหลักการที่จะให้ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย อย่างแท้จริง จึงทรงกล้าหาญสละราชสมบัติ และพระองค์ทรงพระอักษรเป็นพระราชหัตถเลขา ลง 2 มี.ค. 2477 ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของประเทศชาติ ดังข้อความบางตอนว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้อง ตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจ และยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้”
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
“บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้หมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป...”
ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2475 มีหลักสำคัญหลายประการ อาทิ เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแบบรัฐสภา ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินและรับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนฯ รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายเนติบัญญัติ มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม นั้นจึงเป็นความสำคัญที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึง รัฐธรรมนูญฉบับแรกอันเป็นฉบับถาวรและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนด วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันรัฐธรรมนูญ”

การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตามความเข้าใจโดยทั่วไปคำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึง ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจหรืออำนาจของประชาชน ประเด็นหลักของประชาธิปไตย อยู่ที่ประชาชนเป็นสำคัญ จะปกครองอย่างไรให้ประชาชนมีความสุข เสมอภาคเท่าเทียม และมีเสรีภาพ ซึ่งพอจะสรุปได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ประชาธิปไตยในฐานะเป็นอุดมการณ์โดยยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย คือ ความเสมอภาคในทางการเมือง เศรษฐกิจ มีความเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพ และได้รับความเป็นธรรม ตามขอบเขตของกฎหมายโดยไม่เลือกการปฏิบัติ ยอมรับเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย โดยอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทุกภาคส่วน สามารถแสดงออกตามสิทธิ์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐาน สามารถใช้เป็นรูปแบบการปกครอง และแบบแผนในการดำเนินชีวิตกลายเป็นวัฒนธรรมสืบเนื่องเป็นบรรทัดฐานและวิถีชีวิตของประชาชนโดยส่วนรวม
ในบรรดาประเทศต่างๆ ในโลกที่มีการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์ทั้งหมดประมาณ 29 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีคำใช้เรียกแทนองค์พระมหากษัตริย์แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะ วัฒนธรรม ประเพณีของชาตินั้นๆ แต่คำแทนองค์พระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะหน้าที่แบบต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สรุปจำแนกได้ 5 ลักษณะ คือ
1. พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมาจากคำว่า พระเจ้า (เทพเจ้า) กับคำว่า อยู่หัว (ผู้นำ...หัวหน้า) หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัว ทรงมีภาระหน้าที่ของการเป็นผู้นำหรือประมุขของประเทศชาติและประชาชน
2. พระเจ้าแผ่นดิน หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งประเทศ แล้วพระราชทานสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นให้แก่ประชาชน และถือว่าเป็นหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินที่จะต้องรักษาความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินด้วย จะเห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงต้องมีพระราชภาระหน้าที่ จะต้องทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชน
3. เจ้าชีวิต หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าชีวิตของประชาชน กล่าวคือ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะประหารชีวิต และพระราชทานอภัยโทษจากการประหารชีวิตแก่ประชาชนได้ อันหมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่ ที่จะต้องคุ้มครองชีวิตของประชาชน และจะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศไว้
4. ธรรมราชา หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้รักษาธรรม และปฏิบัติธรรม และด้วยหลักธรรมนี้ ทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในประเทศ กล่าวคือ พระมหากษัตริย์จะต้องทรงใช้หลักธรรมเป็นแบบแผนในการปกครองประเทศชาติและประชาชน หรืออีกนัยหนึ่ง คือ พระราชดำริและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ จะต้องอยู่ในกรอบของหลักธรรมเท่านั้น

5. พระมหากษัตริย์ หมายความว่า การเป็นนักรบ หรือจอมทัพที่ยิ่งใหญ่ในยามสงครามที่จะต้องมีป้องกันประเทศ พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นผู้นำทางการทหารออกรบ เพื่อปกป้องคุ้มครองเอกราชของประเทศและประชาชน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความคุ้มครองปลอดภัยแก่ประเทศชาติ และประชาชน
สิทธิและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย ตามตำราการเมืองและการปกครองไทยที่ใช้สอนกันมาในสถาบันการศึกษาต่างๆ และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 พอสรุปเป็นสังเขปว่า
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชาติไทยตลอดมานับตั้งแต่ไทยเริ่มสร้างตนเป็นชาติขึ้นมา เป็นสถาบันที่เลื่อมใสศรัทธาและฝังแน่นอยู่ในความรู้สึกของประชาชนคนไทย แทบทุกคนมาเป็นเวลาหลายร้อยปี บทบาทของพระมหากษัตริย์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชน ผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงเป็นศูนย์รวมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีของชนในชาติไม่ว่าจะเชื้อชาติใดและศาสนาใด พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ต้องรับผิดชอบในกิจกรรมการเมืองต่างๆ แม้ว่าจะกระทำในพระปรมาภิไธย ทรงวางพระองค์เป็นกลางทางการเมืองเสมอมา ทรงมีสิทธิที่จะให้คำเตือนในบางเรื่องบางกรณี แก่รัฐบาล รัฐสภาและศาล หรือองค์กรอื่นๆ ที่ทรงเห็นว่าถ้ากระทำไปแล้วจะเกิดผลเสียหาย ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศจึงถือว่าเป็นสิทธิของพระมหากษัตริย์ที่จะได้รับรายงานให้ทราบถึงสถานการณ์หรือเรื่องราวบางเรื่องที่มีความสำคัญกับบ้านเมือง สิทธิ์ที่จะพระราชทานคำปรึกษาหารือ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน นำปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ สิทธิ์ที่จะสนับสนุนการกระทำหรือกิจการใดๆ ของรัฐหรือเอกชนได้ หากพระองค์ทรงเห็นว่ากิจการนั้นๆ เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง เช่น โครงการตามพระราชดำริต่างๆ นอกจากนั้นยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และลงพระปรมาภิไธย ในร่างกฎหมายประเภทต่างๆ เป็นต้น
พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ แม้ว่ามิได้ทรงมีพระราชอำนาจโดยตรงอย่างแท้จริงในกิจกรรมการเมืองการปกครอง แต่ความสำคัญและประโยชน์ที่ได้รับจากพระมหากษัตริย์ มีนับเป็นอเนกประการ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศ แผ่พระบารมีให้มีความร่มเย็นแก่อาณาประชาราษฎร์และชนต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทรงเป็นศูนย์กลางแห่งเกียรติยศ และพระมหากรุณาธิคุณ ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการเมืองไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ มีพระราชอัธยาศัย พระราชจริยวัตรอันงดงาม มั่นคงในทศพิธราชธรรม อันประกอบด้วย ทาน คือการได้ที่เป็นประโยชน์ทั้งวัตถุทานและธรรมทาน ศิล คือความประพฤติดีงามทั้งกาย วาจา ใจ เป็นการประพฤติชั่วทั้งปวง
บริจาคะ คือการเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขคนหมู่มาก อาชวะ คือความซื่อตรง มัทวะ คือความอ่อนโยนทั้งกายและใจ มีสัมมาคารวะ ตบะ คือการตั้งใจทำหน้าที่ด้วยความเพียร อโกรธะ คือความไม่มุ่งร้ายต่อผู้อื่น ทำตามเหตุผลด้วยความเที่ยงธรรม อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น มีพรหมวิหาร 4 ขันติ คือ ความอดทน อดกลั้นต่ออารมณ์ทั้งปวง อวิโรธนะ คือความไม่ประพฤติผิดธรรม การดูแลทุกข์พสกนิกรของพระองค์ ทรงเริ่มแสดงออกให้เห็นได้ตั้งแต่ พระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และอีกมากมายในพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานไว้ในพระราชวโรกาสต่าง ๆ นั่นหมายถึงความตั้งพระราชหฤทัยของพระองค์ที่ถือเป็นพระราชกรณียกิจที่ต้องทรงปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขทั่วแผ่นดิน ทรงตระหนักถึงความทุกข์ยาก และทรงเล็งเห็นปัญหาคือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจน จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาไปในทุก ๆ ด้าน โดยทรงคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นสำคัญที่สุด การต่อสู้กับศัตรูของประเทศ คือ ความยากจนของราษฎร์ ทรงถือเป็นพระราชภาระที่จะต้องคิดค้นหาวิธี ทรงตรากตรำพระวรกายเสด็จ ฯ เยี่ยมเยือนประชาชนในทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศ ด้วยพระราชพระหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา พระราชทานพระราชดำริเพื่อประโยชน์สุขของประชาราษฎร์ นำมาซึ่งความผาสุกแก่ประชาชนอย่างแท้จริง ทรงมีหลักการทรงงานหรือเรียกว่า ทรงปกครองประชาชนของพระองค์ตามทศพิศราชธรรม ทรงศึกษาจนเป็นผู้รู้จริง ทรงทำให้ดูเป็นตัว อย่างก่อนพระราชทาน ฯ มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน หมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชน ให้มีความพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน..........” ทรงอดทน มุ่งมั่น ต่อการแก้ปัญหาอย่างมีสติ ทรงอ่อนน้อม ถ่อมตน เรียบง่าย และประหยัด ทรงโน้มพระวรกายคุกเข่า และประทับพับเพียบเข้าหาประชาชน ทรงรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ทั้งผู้ที่ตามเสด็จถวายงาน และประชาชนในพื้นที่ และเคารพความคิดที่แตกต่าง ทรงมีความตั้งใจจริง และความเพียรที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่วง โดยคำนึกถึงประโยชน์ส่วนร่วม เข้าใจความต้องการของประชาชน จะทรงเน้นหน่วยกับราชการต่าง ๆ ไม่ให้ยัดเยียดในสิ่งที่ประชาชนไม่ปรารถนา ทรงสอนให้คนไทยพึ่งตนเอง ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี สร้างสรรค์ให้ตนเองและชาติโดยรวม ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายชุมชน ทรงให้การสนับสนุนคนดี และคนเก่ง ดังพระราชดำรัสที่ว่า
“ ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี ไม่มีใครกระทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด หากอยู่แต่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือนร้อนวุ่นวายได้ ” ทรงสั่งสอนให้คนไทยรู้รักสามัคคี โดยคำว่า รู้ ต้นเหตุ รู้ปลายเหตุ แล้วถึงเริ่มทำงานจะได้มีประสิทธิภาพ ต้องรู้ถึงปัจจัยทั้งหมด ทั้งรู้ถึงปัญหา

และรู้ถึงวิธีการแก้ไขปัญหา รัก คือ ความรักความเมตตา จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการกระทำ และไปลงมือปฏิบัติ
แก้ไขปัญหานั้น ๆ อีกทั้งความรักที่มีความเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน ก็สามารถนำไปสู่ความปรารถนาที่จะช่วยเหลือ เกื้อกูลให้บุคคลอื่นบรรลุประโยชน์ หรือเข้าถึงจุดหมายชีวิตของเขาในระดับต่าง ๆ ได้ สามัคคี คือ การที่จะลงมือปฏิบัตินั้นควรคำนึงเสมอว่า เราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี นอกจากนั้นยังมีอีกมากมายที่พระองค์ท่านได้ทรงปฏิบัติแล้วพระราชทานพระราชดำริ แต่ที่ผู้เขียนอัญเชิญมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
นั่นเป็นพระราชภาระทางการเมืองในความหมายที่เป็นส่วน เกี่ยวข้องทุกสิ่งทุกอย่าง ที่รวมเป็นประเทศชาติ แต่ในส่วนที่ การเมืองหมายถึง กิจกรรมการเมืองโดยตรงนั้น ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย ที่ทรงปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญตลอดต่อเนื่องมา 60 กว่าปี ทรงดำรงพระองค์อยู่ในพระคุณธรรมอันประเสริฐเป็นที่เคารพสักการะ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจสูงสุดของประชาชน ทั้งยังเป็นที่ยอมรับกันว่าทรงเป็นอิสระจากความลำเอียงทางการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทั้งเกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร ไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ชาวไทยนับตั้งแต่ประชาชนทั่วไปกระทั่งถึงผู้นำทางการเมืองของประเทศในแต่ละยุคสมัยต่างยอมรับกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นหลักสูงสุดในทางการเมืองการปกครองของประเทศ ทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองเฉพาะพระองค์ ยิ่งไปกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ทรงใช้เฉพาะเมื่อมีเหตุคับขันหรือเกิดเหตุความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองเกินกว่าผู้ใดจะแก้ไขได้ ทรงใช้อำนาจดังกล่าวช่วยนำชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตได้ทุกครั้งอย่างเป็นที่น่าอัศจรรย์
ในระยะแรกของรัชสมัย ทรงแสดงบทบาทอยู่ในธรรมเนียมพิธีการและบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยพระราชสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดตามประเพณีไทยที่มีมาแต่เดิม ก็ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเสมือนขวัญและกำลังใจของประชาชนในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ทรงให้ครองสิริราชสมบัติ ทั้งวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของประเทศ อันเนื่องมาจากความผันผวนทางการเมือง และการช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ ทรงตระหนักดีว่าพระองค์มีพระราชภาระอันหนักในการทรงเป็นมิ่งขวัญหรือศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของประชาชน เพื่อนำชาติไทยให้ก้าวเดินไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและมีความหวัง
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศ ช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 เริ่มชัดเจนตั้งแต่ 2500 เป็นต้นมา สถานการณ์ การเมืองในช่วงต้นรัชสมัยเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้นำที่มีความคิดเสรีกับกลุ่มอำนาจนิยม ในวงวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองไทยยอมรับกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้นำรัฐบาลได้พยายามจำกัดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงอย่างมาก พร้อมกับเชิดชูบทบาทของผู้นำรัฐบาลเอง แต่ก็ยังทรงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย และป็น

ศูนย์กลางของชาติ จนในที่สุด จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล ในวันที่ 16 กันยายน 2500 พร้อมสรรหาบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยแสดงเจตน์จำนงว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องเป็นบุคคลที่ฝ่ายทหารยอมรับ เป็นที่พอใจของประชาชน และชาวต่างประเทศและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกาศคณะปฏิวัติเมื่อวัน 20 ต.ค.2501 โดยจอมพลสฤษดิ์ว่า “คณะปฏิวัติยึดมั่นอยู่เสมอว่า พระมหากษัตริย์กับชาติไทยจะแยกกันมิได้ ประวัติศาสตร์ของชาติไทยตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ ตั้งอยู่บนรากฐานสถาบันที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ทั้งเป็นมิ่งขวัญของประชาชน............... องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ จะมิให้มีการละเมิดอย่างหนึ่งอย่างใด ต่อพระองค์
ต่อพระบรมวงศานุวงศ์ และต่อราชประเพณีที่ชาติไทยได้เชิดชูยกย่องมาตลอดกาล...........” ประกอบกับพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์ สุขของประชาชนอย่างต่อเนื่องดั่งที่กล่าวมาแล้วทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพเทิดทูลจากพสกนิกรมากยิ่งขึ้นทุกขณะ และเมื่อเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 เกิดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษาจากรัฐบาลจอมพลถนอม ฯ เหตุการณ์ลุกลามจนเกิดการจลาจลในกรุงเทพมหานคร (14 ต.ค.2516) จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
ผู้ประท้วงบุกเผาสถานีตำรวจ อาคารที่ทำการของรัฐ เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง ผู้นำทางการเมืองหมดความเชื่อถือจากประชาชนและเกิดความแตกแยกกันเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นบุคคลเดียวที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและเชื่อถืออย่างปราศจากข้อสงสัย ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งทางวิทยุโทรทัศน์ถึงประชาชนเพื่อเตือนสติให้ทุกฝ่ายใช้สติร่วมมือกันแก้ปัญหา (จอมพลถนอม ฯ นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศ)
ความเคารพเทิดทูนและเชื่อมั่นศรัทธาที่ประชาชนทุกฝ่ายทุกระดับมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นอิสระจากความลำเอียงทางการเมืองดังเช่น การใช้พระราชอำนาจจึงมีเป้าหมายอยู่ที่การรักษาประโยชน์สุขของประชาชนโดยแท้ ทรงแสดงบทบาททางการเมืองเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็ว ทรงยุติความรุนแรงอันเป็นเหตุปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อสถานการณ์ดำเนินต่อไปได้ตามวิถีทางที่ควรจะเป็นแล้ว ก็มิได้ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแสดงบทบาททางการเมืองต่อไป
ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ ข้าราชบริพาร ผู้หนึ่งได้เคยเล่าถึงพระราชจริยวัตรในเรื่องนี้ไว้ว่า “ ......ทรงมีรับสั่งว่า จำไว้ว่าสถาบันจะลงไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวได้ก็ต่อเมื่อเกิดสุญญากาศทางการเมือง จริง ๆ อย่าง 14 ตุลาคม แต่เมื่อได้ก้าวลงไปจัดการช่องว่างดังกล่าวหมดไปแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องรีบก้าวกลับไปอยู่เหนือการเมืองอย่างเดิมโดยเร็วที่สุด..............”
นั้นเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะทรงจำกัดบทบาททางการเมืองของพระองค์เองเพื่อดำรงสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ทรงยึดถือหลักการที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง

ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วงตลอดระยะเวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้เดียวที่มีโอกาสเฝ้าดูการบริหารราชการแผ่นดินอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาช้านาน จนไม่มีผู้อื่นผู้ใดในประเทศจะรอบรู้หรือล่วงรู้ได้ทัดเทียมพระองค์ ซึ่งก็ทรงเปิดโอกาสให้ผู้นำทางการเมืองเข้าเฝ้า ฯ เพื่อกราบบังคมทูลรายงานและขอรับพระราชทานคำปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการอยู่เสมอ ทั้งยังทรงใช้พระราชอำนาจ โดยโบราณราชประเพณีทั้ง 3 ประการคือพระราชอำนาจที่จะทรงให้คำปรึกษา ทรงสนับสนุนให้กำลังใจ และทรงตักเตือน อย่างพอเหมาะพอควรตลอดมา ตัวอย่างประกอบอีกได้แก่ เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 มีกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.สุจินดา คราประยูร เกิดการประท้วงและลุกลามจนกลายเป็นเหตุจลาจลเกิดความเสียหายทั่วไปในกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ พล.อ.สุจินดา ฯ นายกรัฐมนตรีและพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการประท้วงเข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานพระราชกระแสเตือนสติ มีใจความสำคัญคือให้คำนึงถึงความปลอดภัย และขวัญของประชาชนโดยขอให้ “ .......หันหน้าเข้าหากัน.....ไม่ใช่เผชิญหน้ากันเพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน...... “ทรงชี้ให้เห็นว่า การมุ่งจะเอาชนะจะทำให้ไม่มีผู้ชนะและสิ่งที่จะเสียหายที่สุด คือประเทศชาติ......แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง.....” เหตุการณ์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชกระแสนั้น ได้รับการแพร่ภาพและกระจายเสียงทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ทั่วประเทศ ส่งผลให้การต่อสู้และความรุนแรงที่ดำเนินมาหลายวันยุติได้อย่างรวดเร็ว

สรุป
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นข้อความที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการย้ำเจตนารมย์ของชนชาวไทยว่าต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับประเทศไทย และระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงมีพระราชอำนาจโดยตรงอย่างแท้จริงในกิจกรรมการเมืองการปกครอง แต่ด้วยความเลื่อมใส ศรัทธา ของประชาชนคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเวลาช้านาน ที่แต่ละพระองค์ที่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันหลายร้อยพระองค์ ทรงประกอบแต่ความดีและก่อประโยชน์อย่างมากมายให้แก่ประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงแห่งปัจจุบันที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชกรณียกิจ ด้วยพระอัจฉริยะในด้านต่าง ๆ ทรงเป็นจิตรกร ทรงเป็นศิลปิน ทรงเป็นนักกีฬาผู้สามารถ ทรงเป็นนักการทูตชั้นเยี่ยม พระองค์ได้เสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ เพื่อกระชับสัมพันธ์ไมตรี อันเป็นผลดียิ่งแก่ประเทศชาติ
พระองค์ได้ทรงอุทิศพระองค์ด้วยพระอุตสาหะวิริยะภาพ พระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงแก่ชาติบ้านเมือง แม้ยามใดที่ประเทศชาติประสบความยุ่งยากอันตราย ด้วยพระบารมี ของพระองค์ สามารถทำให้ประเทศชาติหลุดพ้นภยันตรายด้วยทั้งปวงได้โดยดุษฎีเสมอ ดังเช่น ทรงระงับเหตุการณ์จลาจล วันที่ 14 ตุลาคม

2516 เหตุการณ์จลาจลพฤษภาทมิฬ 2535 มิให้เกิดการต่อสู้ปะทะกันระหว่างชนในชาติด้วยกันเอง แม้กระทั้งเมื่อยามปัญหาเศรษฐกิจทับโถมรุมเร้าพสกนิกรของพระองค์ ก็ยังทรงห่วงใยพระราชทานกำลังใจ ทรงแนะนำความคิด
ในการดำรงชีวิตและการแก้ไขปัญหา ในปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยทั่วไป เช่น ทฤษฏีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง โครงการเกษตรผสมผสาน ฯลฯ ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์สุข แก่พสกนิกรไทยทั่วทุกภูมิภาค อาจกล่าวได้ว่า คนไทยทั้งประเทศอยู่ดีมีสุขถ้วนหน้า เนื่องจากพระอัจฉริยะภาพ พระอุตสาหะ พระปรีชาสามารถ พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้ทำเพื่อประชาชนของพระองค์ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่ทรงครองราชย์ และเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของภาระหน้าที่ สิทธิ และอำนาจของพระมหากษัตริย์ดังกล่าวข้างต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคุณลักษณะที่แท้จริงได้อย่างงดงามครบถ้วน นับเป็นความโชคดีของคนไทยทุกคนที่เรามีพระราชจักรีวงศ์อันทรงคุณประเสริฐ สืบทอดมากว่า 200 ปี ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนให้พระมหากษัตริย์ของเราได้ประสบความสำเร็จในพระราชประสงค์ที่จะทรงประกอบกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และประชาชนของพระองค์อย่างจริงจัง และต้องละเว้นการอ้างเอาพระราชประสงค์ของพระองค์หรืออ้างเอาความจงรักภักดี ต่อพระองค์มาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนหรือพวกพ้องของตน และกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าไม่จงรักภักดีและพยายามทำลายสถาบัน ทุกคนต้องตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณทรงมีต่อประเทศชาติ ด้วยพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพทางการเมืองการปกครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่นำพาประเทศชาติให้ล่วงพ้นวิกฤต และเจริญรุดหน้าสู่ปัจจุบันมาได้อย่างต่อเนื่องมั่นคง มีศักดิ์ศรี และสง่างาม นับเป็นโชคอันประเสริฐที่ทรงพระบุญญาบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมชนชาวไทยทั้งประเทศอย่างหาที่สุดมิได้ ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของชาวไทยทั้งชาติและเราคนไทยทุกคนมาช่วยกันทำดีสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถวายเป็นของขวัญแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสปีใหม่ปี 2552 ที่จะมาถึงนี้ ผู้เขียนขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และพระบารมีดวงพระวิญญาณพระมหาบุพการีกษัตริยาธิราชเจ้าในอดีตทุกพระองค์ จงโปรดช่วยดลบันดาล พระราชทานพรให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองศ์ ทรงมีพระเกษมสำราญ ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดไป
nst0001
 

Return to ห้องสาธารณะ



cron