นักต่อสู้จากท้องทุ่ง

ห้องสำหรับกระทู้นอกเรื่อง ดูแลโดย Mod 1ktip

นักต่อสู้จากท้องทุ่ง

Postby นายเวร » Wed Sep 08, 2010 11:26 pm

Image

ชีวประวัติ สืบ นาคะเสถียร

โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

คุณสืบ นาคะเสถียร หรือนามเดิม สืบยศ
เป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒
ที่ตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
บิดาชื่อ นายสลับ นาคะเสถียร อดีต
ผู้ว่าราชการ จังหวัดปราจีนบุรี
มารดาชื่อ นางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้อง
ทั้งหมด ๓ คน โดยคุณสืบ เป็นบุตรชายคนโต
Image

Image

น้องชาย และน้องสาวอีก ๒ คน คือ
คุณกอบกิจ นาคะเสถียร และคุณกัลยา รักษาสิริกุล
คุณสืบมีบุตรสาว ๑ คน ชื่อนางสาวชินรัตน์ นาคะเสถียร
ปัจจุบันอายุ ๒๔ ปี (พ.ศ.๒๕๔๔)
ชีวิตและการทำงาน
โดยที่สายตระกูลของคุณสืบ นาคะเสถียร เป็นครอบครัวของชาวนา ชีวิตในช่วงปฐมวัยจึงต้องช่วยทำงานในนาของมารดา เมื่อว่างจากภาระดังกล่าวก็ออกท่องเที่ยวกับเพื่อน ๆ โดยมีไม้ง่ามหนังสะติ๊กคู่ใจ
ได้เข้าเรียนชั้นประถมต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี ช่วงปิดเทอมว่างจากการเรียน ก็จะออกไปช่วยทางบ้านเสริมแนวคันนา เพื่อไม่ให้มีข้อพิพาทกับเพื่อนบ้าน ทำงานกลางแจ้งทั้งวัน แม้แดดจะร้อนก็มิเคยปริปากบ่น ครั้นเรียนจบชั้นประถม ๔ ต้องจากครอบครัวไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ในสมัยนั้น คุณสืบ มีบุคลิกประจำตัวคือ เมื่อสนใจหรือตั้งใจจะทำอะไรแล้วก็จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำจริงจัง จนประสบความสำเร็จ และเป็นผู้ที่มีผลการเรียนดีมาโดยตลอด


Image
๒๕๑๑-๒๕๑๔ เข้าศึกษาในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความตั้งใจการศึกษาอย่างเต็ม ประสิทธิภาพ และเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตในมหาวิทยาลัย โดยเป็นที่ทราบกันดีระหว่าง หมู่เพื่อนผู้ใกล้ชิดว่า คุณสืบ เป็นผู้มีจิตใจรักงานศิลปะ สูงส่งในเชิงมนุษยสัมพันธ์ มีระเบียบ ในการดำเนินชีวิตในสมัยเรียนอย่างเป็นแบบแผน


Image
๒๕๑๖ เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ได้เข้าทำงานที่กองสวนสาธารณะของการเคหะแห่งชาติ
๒๕๑๗ เข้าศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษา


๒๕๑๘ บรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่ง พนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว - เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ปราบปรามจับกุมผู้บุกรุกทำลายป่าอย่างมีประสิทธิภาพ
๒๕๒๒ ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสาขาวิชาอนุรักษ์วิทยา


๒๕๒๔ เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการและประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากรฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น
๒๕๒๖ กลับเข้าปฏิบัติราชการประจำ ฝ่ายวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้
๒๕๒๙ ปฏิบัติงานในหน้าที่หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อน รัชชประภา(เชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๒๕๓๐ ปฏิบัติงานในโครงการศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อม เพื่อพัฒนาพื้นที่ ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ต่อมาได้รับคำสั่งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกตำแหน่งหนึ่ง เป็นอาจารย์พิเศษ ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเตรียมเอกสารข้อมูลทางด้านบทความและภาพถ่าย ทุ่มเทพลังกาย พลังใจ เพื่อคัดค้าน การสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและการบุกรุกทำลาย ทรัพยากร ธรรมชาติทุกรูปแบบ
๒๕๓๑ กลับมาปฏิบัติราชการที่ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้
๒๕๓๒ เข้ารับตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
๒๕๓๓ จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นวิทยากรบรรยาย และร่วมอภิปรายในโอกาส และสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ส่วนมากเป็นหัวข้อเรื่อง “ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาที่เกี่ยวข้อง ” “ การอพยพสัตว์ป่าตกค้างในเขื่อนเชี่ยวหลาน ” เป็นต้น เขียนเอกสาร โครงงานเพื่อจัดการให้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก


Image
ขอขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
http://www.seub.or.th
โทรศัพท์ / โทรสาร (02)2247838-39

แนวความคิดเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่า
แนวความคิดเรื่องการรักษาป่า ความคิดและอุดมการณ์
แนวความคิดเรื่องการอนุรักษ์และการพัฒนา


แต่อย่างไรก็ตามการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่ง มิได้หมายถึงการเก็บรักษาโดยไม่นำมาใช้ประโยชน์ แต่เป็นการใช้อย่างถูกต้องโดยวิธีที่จะใช้ทรัพยากรที่เหลือ อยู่ดังกล่าว สามารถอำนวยประโยชน์ไม่เฉพาะทางใดทางหนึ่ง แต่สามารถอำนวยประโยชน์ให้ในทุก ๆ ด้าน และยังคงมีเหลืออยู่มากพอที่จะเป็นทุนให้เกิดการพอกพูนขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อีก และยั่งยืนต่อไปในอนาคต ดังนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นจากการอนุรักษ์ มิได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังคงสามารถอำนวยประโยชน์ต่อไปชั่วลูกชั่วหลานต่างหาก
หนังสือเสียงเพรียกจากพงไพร.ธันวาคม ๒๕๓๓


ผมอยากเห็นว่า เราควรจะเปลี่ยนแนวทางที่จะพัฒนา ในความเห็นส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรที่เหลืออยู่น้อยนิดนี้ ผมไม่เห็นด้วยที่มัวพูดกันว่า เราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่เราควรจะหันมาสนใจว่า เราจะรักษาสภาวะแวดล้อมหรือทรัพยากรที่เหลืออยู่จำกัดได้อย่างไร เราต้องประหยัดการใช้ใช่ไหม เราจะต้องหามาตรการควบคุมในทางปฏิบัติให้ได้
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๕ ,กรกฎาคม ๒๕๓๓


จะเป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลจะเปิดใจกว้าง โดยการให้ทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้นำในท้องถิ่น ผู้แทนราษฎร นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง มาพูดคุยร่วมกัน คือบางคนอาจจะต้องรับสถานภาพของบางกลุ่ม ข้าราชการอาจต้องยอมรับสถานภาพของประชาชน คือ ลดตัวลง ในขณะเดียวกันก็เพิ่มฐานะของเขาให้ขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน แทนที่จะพูดกันคนละที
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๙ ,กรกฎาคม ๒๕๓๓


ผมคิดว่ามันหมดยุคแล้ว มันควรจะมาถึงยุคที่ทุกคนมีความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็น ช่วยกันแก้ปัญหา เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๙, กรกฎาคม ๒๕๓๓


--------------------------------------------------------------------------------



ผมว่าประเทศไทยถ้าสามารถเก็บป่าธรรมชาติเอาไว้ได้ประมาณร้อยละ ๒๐ แล้วเราใช้อย่างถูกต้อง หมายถึง เก็บเอาไว้เพื่อให้มันอำนวยประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสภาวะแวดล้อมอะไรต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตของธาตุอาหาร หรือความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง ถ้าเราใช้ป่าทั้งหมดที่เป็นแหล่งกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว เราจะไปหาความอุดมสมบูรณ์ได้ที่ไหน
สารคดี ฉบับ ๖๘ หน้า ๑๐๕,ตุลาคม ๒๕๓๓


สิ่งที่ผมมักพูดอยู่เสมอก็คือ ป่าเราเก็บไว้เฉย ๆ ก็เป็นการอนุรักษ์ที่เราได้ประโยชน์ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องตัดมาใช้ ต้นไม้ให้อากาศ ให้น้ำ...นี่เป็นการใช้ใช่ไหม ใช้โดยที่เราไม่ต้องไปตัดเอาส่วนของมันมาใช้
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๓, กรกฎาคม ๒๕๓๓


ในความรู้สึกของผม เราไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอกว่า เราจะใช้ป่าไม้อย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้ จึงควรจะรักษาส่วนนี้เอาไว้ เพื่อให้เราได้ประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ทางอ้อม...มันจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ จะต้องมองว่ามีการใช้ทั้งทางตรงทางอ้อม ป่าที่เก็บไว้ในรูปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติควรจะใช้ประโยชน์ในทางอ้อม”
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๔,กรกฎาคม ๒๕๓๓


ถ้าเผื่อเรามีทรัพยากรที่เป็นลุ่มน้ำอยู่มาก แล้วเรารักษาป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ได้บางส่วน ใช้ไปบางส่วน เหมือนสมัยที่เรามีป่ามาก เราอาจจะสร้างเขื่อนได้บางแห่ง แต่ในปัจจุบัน ลักษณะของพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำที่เหมาะจะสร้างเขื่อนให้ได้ปริมาณน้ำมาก ๆ เอามาผลิตกระแสไฟฟ้ามันเหลือน้อย และการที่เราสร้างเขื่อนไปก่อน แล้วค่อยตามแก้ไขผลกระทบทีหลัง ผมคิดว่ามันไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ในทางปฏิบัติ...เดี๋ยวนี้เขื่อนเริ่มจะเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์แล้ว เพราะว่าป่าข้างนอกหมดแล้ว อย่างที่เขาใหญ่ก็เริ่มจะพูดถึงการสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์ หากว่าการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ายังทำได้อีกต่อไป ผมคิดว่าป่าอนุรักษ์ในอนาคตคงไม่มีความหมายอะไร เหลือแต่ชื่อเอาไว้ว่า เคยเป็นป่าอนุรักษ์มาก่อน
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๖,กรกฎาคม ๒๕๓๓


ถึงแม้จะมี พ.ร.บ.ป่าไม้ แต่ป่าไม้เมืองไทยก็ยังลดลงตลอดเวลา นโยบายป่าไม้แห่งชาติ จึงออกมาเพื่อควบคุม พ.ร.บ.ป่าไม้อีกที โดยเขาแบ่งป่าออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ป่าอนุรักษ์กับป่าเศรษฐกิจ โดยให้ป่าเศรษฐกิจ ๒๕% กับป่าอนุรักษ์ ๑๕% ซึ่งจะทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศทั้งหมด ๔๐% ซึ่งมองแล้วมันดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันจะเพิ่มในแง่ของป่าเศรษฐกิจ พวกยูคาลิปตัส ซึ่งไม่ได้เน้นในเรื่องของระบบนิเวศวิทยา การที่เราปลูกไม้โตเร็ว ๒-๓ ชนิด แล้วไปตัดไม้ในป่าธรรมชาติ ผมคิดว่ามันไม่มีทางรักษาป่า หรือทำให้เป็นป่าธรรมชาติได้อีก สำหรับป่าธรรมชาติตอนนี้เหลืออยู่เพียง ๑๙% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ ลำธาร อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประมาณ ๙% ส่วนอีกไม่ถึง ๑๐% เป็นป่าสงวนที่อยู่รอบ ๆ ป่าอนุรักษ์ ตัวนี้แหละที่ถูกราษฎรบุกรุกอยู่ทุกวันโดยอ้างว่าไม่มีที่ดินทำกินและมีการซื้อขายอย่างผิดกฏหมาย โดยพวกนายทุนที่อยู่ในเมืองหรือมีอิทธิพล หนทางแก้ไข มันต้องหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งอันนี้ต้องมีการประสานกันทุกฝ่าย หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ต้องรับรู้นโยบายกันบ้าง แล้วก็ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า ถ้าเขาขายที่ดินอันนี้ไปแล้ว เขาไม่มีทางไปอีกนั่นแหละจึงจะสามารถหยุดปัญหานี้ได้
พีเพิล ฉบับ ๒๑ หน้า ๖๑,สิงหาคม ๒๕๓๓


ถึงแม้จะหยุดป่าสัมปทานแล้วก็ตาม แต่ราษฎรที่บุกรุกอยู่ในเขตป่าสงวนตอนนี้ ล้านกว่าครอบครัว ป่าไม้ที่ไหนจะเหลือ นอกจากความจริงใจของรัฐบาล เค้าบอกว่าจะต้องรักษาป่าให้ได้โดยการจำแนกพื้นที่ออกมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และบอกเลยว่าป่าสงวนตรงนี้ห้าม ห้ามมีกรรมสิทธิ์ ห้ามเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ตอนนี้ป่าหมดเพราะอะไรรู้ไหม เพราะป่าสงวนหมดสภาพ สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นป่ายูคาลิปตัสได้ ผมไม่อยากจะเรียกป่า เพราะมันไม่ใช่ป่า
อิมเมจ ฉบับ ๓ หน้า ๓๒,มีนาคม ๒๕๓๓


--------------------------------------------------------------------------------



การอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย จะสามารถประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความเข้าใจ และความจริงใจต่อการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ประมาณร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่ทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้นแล้วจำนวนชนิดของสัตว์ป่าที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์เหล่านี้ก็จะต้องสูญไป พร้อมกับการบุกรุกทำลายป่า ทั้งในรูปแบบของการพัฒนาที่ต้องตัดป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าออกและรวมถึงการยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าเพื่อกิจการอื่น ๆ
เอกสารประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม ๓๓ หน้า ๔๒


ปัญหาของการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ช่องว่างของกฏหมายที่อนุญาตให้บุคคลมีสัตว์ป่าไว้ครอบครองโดยไม่ต้องขออนุญาต สิ่งนี้เป็นช่องทางให้การล่าสัตว์ มันเหมือนกฎหมายสัตว์ป่าที่คุณบอกว่า คุณสามารถที่จะมีเก้ง มีกวาง มีเสือ มีหมาไน หมาจิ้งจอก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พวกนี้มีไว้ในครอบครองได้ ถ้าไม่เกินปริมาณที่กำหนด ทำไมในเมื่อเราคุ้มครองแล้ว ทำไมเราไม่คุ้มครองมันทุกตัว แก้กฎหมายสิ
อิมเมจ ฉบับที่ ๓ หน้า ๓๑,มีนาคม ๒๕๓๓


สัตว์ป่าที่ถูกเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ๆ ถ้าสามารถรอดชีวิตมาได้จนโต จะคุ้นเคยกับคน จนไม่สามารถปล่อยให้มีชีวิตอยู่ต่อไปในป่าได้ตามลำพังอีก... และส่วนมากลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่อยู่ในกรง ก็มักจะไม่แข็งแรง และเมื่อมันโตขึ้นก็จะเกิดการผสมกันเองในครอบครัวเดียวกัน... เรากำลังพูดกันมากว่าจะอนุรักษ์กันอย่างไร แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าการรักษาชีวิตสัตว์ให้รอดอยู่ แตกต่างอย่างมากมายกับการอนุรักษ์พันธุ์ของสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ
เอกสารประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม ๓๓ หน้า ๔๓-๔๔


พวกที่ชอบล่าสัตว์ป่าและพวกชอบกินเนื้อสัตว์ป่า ผมขอเถอะ พวกที่ชอบซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยงก็เช่นกัน ธรรมชาติเขาเลี้ยงได้ดีกว่าอยู่แล้ว
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๑๐๐,กรกฎาคม ๒๕๓๓


ในแง่ของการอนุรักษ์ คือการที่เราจะช่วยเหลือไม่ให้มันสูญพันธุ์ การทำให้มันมีประชากรเพิ่มขึ้น จะเป็นในกรงเลี้ยงหรืออะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถปล่อยมันคืนไปในป่าธรรมดา ให้มันปรับตัวแลัวเพิ่มประชากรโดยตัวของมันเองได้ นั่นไม่ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ แล้วพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีวิวัฒนาการ ปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพธรรมชาติ แต่ถ้าเราเอามันออกมาทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่พันธุ์ไม่ได้รับการพัฒนา สัตว์ที่ถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ มันก็จะผสมพันธุ์กันเอง ซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะด้อยเพิ่มขึ้น
สารคดี ฉบับ ๖๘ หน้า ๑๐๕,ตุลาคม ๒๕๓๓


กระทู้นี้นายเวรเสนอชีวประวัติ ผลงาน บุคคลสำคัญที่ทำประโยชน์ต่อสังคม :D

ต่อส่วนรวม ใครมีข้อมูลร่วมแบ่งปันกันมาได้ครับ แบ่งปันครับ ไม่มีโต้แย้ง :mrgreen:

วันหลังจะนำมาลงเสริมในด้านต่างๆของชีวิต คลิบ ภาพภ่าย ผลงาน งานเขียน ของสืบนาคะเสถียร :ugeek:
Last edited by นายเวร on Fri Sep 10, 2010 8:55 pm, edited 1 time in total.


คุกกักขังได้แค่กายหยาบ ... คุกมิอาจกำหราบใจกล้าแกร่ง

จิตวิญญาณ เสรีชน มิโรยแรง ... จักตอบโต้ ทุกตะแบง แห่งอธรรม


ว.แหวนลงยา
เย้ยฟ้า ท้านรก
User avatar
นายเวร
 
Posts: 3515
Joined: Tue Jun 01, 2010 3:36 am

Re: นักต่อสู้จากท้องทุ่ง

Postby benzcl » Thu Sep 09, 2010 10:36 am

ขอบคุณคุณนายเวรนะที่เอาเรื่องดีดีมาให้เพื่อนๆได้อ่านกัน
ผมไม่นึกมาก่อนเลยว่าคุณจะสนใจเรื่องการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า
คุณเองก็มีมุมมองบางมุมเป็นที่น่าสนใจเหมือนกัน
ต่อไปก็พยายามโพสเรื่องทำนองนี้อีกบ่อยๆ ผมจะช่วยติดตามอ่านนะครับ
:D
User avatar
benzcl
 
Posts: 3901
Joined: Mon May 03, 2010 10:59 am

Re: นักต่อสู้จากท้องทุ่ง

Postby นายเวร » Thu Sep 09, 2010 6:36 pm

......................คำสั่งสุดท้าย 1 ก.ย..............................

เช้าวันที่ 1 กันยายน สืบ นาคะเสถียรได้ชำระสะสางภาระหน้าที่รับผิดชอบ และทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง มอบหมายเครื่องใช้ และอุปกรณ์

ต่างๆ ให้กับคนสนิทใกล้ชิดเป็นผู้ดูแล และเป็นธุระส่งคืนเจ้าของ

และเริ่มต้นตำนานแห่งนักอนุรักษ์ ...
Image
สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ไทย ผู้ที่รักป่าไม้และธรรมชาติด้วยกาย วาจา และใจ



Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image



บทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของสืบ นาคะเสถียร
นิตยสารสารคดี ฉบับ 68 ตุลาคม 2533

ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งย่านทุ่งมหาเมฆ ราว 2 เดือนก่อน สืบ นาคะเสถียร ได้พูดคุยกับ ’สารคดี’ เกี่ยวกับปัญหาการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานและทัศนะต่อปัญหาการสร้าง เขื่อนแก่งกรุง ตลอดจนปัญหาการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรา

และนั่นคือการให้สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของเขา

หวังว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ คงสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำงานและความคิดเห็นในเรื่องการ อนุรักษ์ของคุณสืบ นาคะเสถียร ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมนำมาส่งบทสมภาษณ์ครั้งสุดท้ายเท่านั้นมีอีกหลายๆครั้งลองไปอ่านแนวความคิดเขาไปที่ลิงค์ที่ผมนำมาครับ


สารคดี : ในฐานะที่คุณสืบเป็นผู้รับผิดชอบโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน อยากให้ลองตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนเชี่ยวหลาน
สืบ : เดิมทีผมคิดว่าป่าบริเวณนั้นเป็นป่าที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเป็นที่รวมของความอุดมสมบูรณ์มาก…หมายถึง เป็นพื้นที่ที่รวมพวกธาตุอาหารของพื้นที่ลุ่มน้ำไว้ คือ ลักษณะของพื้นที่ที่ต่ำกว่าส่วนของพื้นที่ที่เป็นที่รับน้ำ ปกติมีคำจำกัดความว่าบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ สูงไม่เกิน 300 เมตร ในกรณีที่ภูมิประเทศโดยทั่วไปสูงโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 100-1,000 เมตร ที่ลุ่มต่ำก็คือบริเวณที่ต่ำระดับประมาณ 300 เมตรลงไป ลักษณะของอ่างเก็บน้ำที่คลองแสงมันรวมเอาความอุดมสมบูรณ์ โดยที่น้ำจะชะตะกอน ดิน ธาตุอาหารอะไรต่างๆ ลงสู่ลุ่มน้ำคลองแสง แล้วก็ไหลไปรวมกันที่คลองพุมดวง บริเวณนี้อุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะบริเวณทางภาคใต้ เป็นที่รวมความอุดมสมบูรณ์ของป่าดงดิบ ที่ลุ่มของแม่น้ำตาปีตอนบน ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด การไฟฟ้าเคยสำรวจไว้ว่ามีสัตว์ป่า 100 กว่าชนิด แต่ที่เราสำรวจตามอีกครั้งเพื่อประเมินผลกระทบก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อน เราพบว่ามี 200 กว่าชนิด พอเอาเข้าจริงๆ หลังจากที่ได้มีการช่วยเหลือและสำรวจเพิ่มเติมบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำคลองแสง ปรากฏว่ามีสัตว์ป่าถึง 300 กว่าชนิด ซึ่งบริเวณนั้นนับว่าเป็นพื้นที่ที่รวมเอาความหลากหลายไว้ อันนี้ไม่รวมถึงพวกพืชนะ เพราะว่าไม่มีใครสำรวจกันว่ามีพืชที่หายากหรือเปล่า แล้วมีกี่ร้อยชนิด เพียงแต่มีการสำรวจว่าไม้ในบริเวณที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำจะมีปริมาตรเท่าไร คิดเป็นเงินต่อลูกบาศก์เมตรเท่าไร ไม้ชนิดไหนบ้าง ในแง่การประเมินคุณค่าของทรัพยากรไม่ได้ทำ เหมือนกับสัตว์ป่า มีการสำรวจชนิดออกมาบ้าง แต่ผลกระทบอย่างจริงจังไม่สามารถจะบอกได้อย่างชัดแจ้ง เพราะยกตัวอย่างจำนวนชนิด เราไม่สามารถบอกได้ชัดว่ามีอะไรบ้าง การประเมินผลกระทบย่อมทำได้ยาก

หลังจากที่ได้มีการช่วยเหลือสัตว์ป่าช่วงที่มีการกักเก็บน้ำแล้ว ทำให้เราเห็นว่ามีสัตว์ตั้งหลายชนิดที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้หนีน้ำออก ไปได้ อย่างพวกเม่น กระจง หรือสัตว์ใหญ่หายากอย่างพวกเลียงผา ถึงแม้มันจะอาศัยอยู่บนเขาที่เป็นหน้าผาชัน แต่ว่าพื้นที่ตอนล่างอย่างบริเวณที่เป็นที่ลุ่ม มีดิน บริเวณตีนเขาหินปูนมีความสำคัญมากต่อการที่มันจะมีชีวิต และหาอาหารกินได้ เพราะมันจะต้องลงมาหาอาหารข้างล่างแล้วขึ้นไปอาศัยนอนข้างบนตามถ้ำ

เราพบว่าสัตว์ป่าได้รับผลกระทบมาก การแก้ไขโดยการช่วยเหลือเพื่อเอาสัตว์ป่าที่เหลือรอดชีวิตบางตัวออกมาจาก ส่วนที่ติดค้างบนเกาะยังทำได้น้อยมาก ถ้าประเมินว่าบริเวณนั้นเป็นที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าแล้ว การช่วยเหลือมันบอกเป็นตัวเลขไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่ามีสัตว์กี่ร้อยตัว และช่วยออกมาได้กี่ตัว แต่จากการทำงานในช่วงที่ช่วยเหลือ เราทำได้ประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่หรือเกาะทั้งหมดเท่านั้นเอง เกาะใหญ่ๆ เราไม่สามารถจะต้อนจับสัตว์ใหญ่ๆ ออกมาได้หมด มีสัตว์ที่หลงค้างอยู่อีกมาก

ผลของการที่มีราษฎรเข้าไปใช้พื้นที่ มีผลกระทบต่อสัตว์มาก ถ้าเราไม่ช่วยเหลือสัตว์ออกมา พวกราษฎรที่เข้าไปอยู่ทุกแห่งบริเวณอ่างเก็บน้ำก็ถือโอกาสล่าสัตว์เหล่านี้
Image

สัตว์ที่ช่วยมาส่วนใหญ่อยู่ในสภาพอ่อนแอ อาจจะเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือว่าอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อนำไปปล่อย มันก็จะต้องไปปรับตัวให้เข้ากับถิ่นที่อยู่ใหม่ เรียกว่าจะต้องไปต่อสู้แก่งแย่งกับสัตว์ชนิดเดียวกัน

หรืออาจจะต้องประสบภัยกับการที่มีศัตรูตามธรรมชาติ ซึ่งความอ่อนแอของมันทำให้มันตกเป็นเบี้ยล่างของศัตรูได้ง่าย
ยังมีปัญหาเรื่องการแก่งแย่งพื้นที่ สัตว์แต่ละอย่างย่อมมีอาณาเขตในการยึดครองพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการมีอาหาร เพียงพอ หรือมีสถานที่ที่ปลอดภัยในการเลือกคู่ผสมพันธุ์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ทำให้มันต้องแก่งแย่งกัน

แล้วในบริเวณที่ลุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์มาก มันย่อมมีพืชอาหารมาก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มากชนิด เมื่อเราเอาน้ำท่วมพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มนี้แล้ว ส่วนที่เหลือคือบริเวณที่ระดับสูง ความอุดมสมบูรณ์จะน้อยกว่า ที่อยู่อาศัยจะลำบากมากกว่า สัตว์ที่ปรับตัวอยู่ในที่ลุ่มมานานแล้วมันจะไม่สามารถขึ้นไปอาศัยอยู่ในที่ ระดับสูงได้ เพราะสัตว์แต่ละชนิดมีระดับในการหากินแตกต่างกัน ฉะนั้นการที่เราจะเอาสัตว์ที่หากินบริเวณที่ลุ่มขึ้นไปอยู่ที่ยอดเขา คงเป็นไปไม่ได้ในการปรับตัว นั่นเป็นอันหนึ่งที่มีผลกระทบมาก
แม้แต่พวกที่สามารถอยู่ได้ทั้งบนเขาและข้างล่าง เมื่อพื้นที่ในการอยู่อาศัยลดลง จำนวนมันก็จะลดลงตามด้วย เหมือนที่อยู่อาศัยที่สามารถรับคนให้อยู่ได้เพียง 100 คน แล้วพื้นที่ถูกตัดออกไป ส่วนที่เหลือ 100 คนก็จะไม่สามารถอาศัยได้อย่างปลอดภัย สุขสบายเหมือนเก่า

เรื่องการปรับตัวของสัตว์ เราประเมินไม่ได้ว่าสัตว์ที่ปล่อยไปสามารถที่จะปรับตัวได้ไหม บางอย่างอาจจะปรับตัวได้ แต่ใช้เวลานานเท่าไรไม่ทราบ แล้วอีกอย่างการปรับตัวนั้น ถ้าสัตว์สามารถมีชีวิตรอดได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถอยู่รอดได้นานจนกระทั่งสืบพันธุ์จนมีลูกมีหลานต่อไปได้ ไม่สามารถคงจำนวนประชากรไว้ได้ นั่นก็ถือเป็นผลกระทบที่ไม่สามารถแก้ไข เพราะมันไม่สามารถจะสร้างประชากรกลับมาเหมือนเดิม
Image
ที่เห็นชัดอีกอันก็คือ เมื่อมีกิจกรรมของมนุษย์เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางที่เข้าไปในป่า หรือการที่มีการคมนาคมสะดวกขึ้นทำให้มีมนุษย์เข้าไปใช้พื้นที่ป่า ป่าจะถูกรบกวนมากขึ้น การล่าโดยผิดกฎหมาย หรือการเข้าไปตัดไม้ ไปจับปลาบริเวณอ่างเก็บน้ำ ทุกอย่างมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของสัตว์ป่าจากเดิมที่เคยอยู่อย่างสบาย ไม่มีใครรบกวน

การที่มนุษย์แทรกตัวเข้าไปในป่า ทำให้สัตว์ป่าหนีห่างออกไปจากบริเวณอ่างเก็บน้ำมากขึ้น และบริเวณรอบๆ อ่างเก็บน้ำที่เหลืออยู่ก็ถูกบีบด้วยถนนและการบุกรุกทางด้านที่ทำกินจากชาว บ้านข้างนอก กรณีอ่างเก็บน้ำนี่ก็เหมือนกับว่าเราไปเปิดจากข้างในออกมาอีกส่วนหนึ่ง ทำให้พื้นที่ที่เป็นธรรมชาติถูกจำกัดล้อมรอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างหรือการกระทำ ของมนุษย์มากขึ้น

สารคดี : ถ้าจะพูดไปแล้ว การแก้ปัญหาด้วยการช่วยเหลือสัตว์ป่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเราก็ไม่สามารถประเมินได้เต็มร้อยว่า สัตว์ที่เราช่วยนี่จะรอดชีวิตหรือเปล่า อีกประการคือ ยังมีสัตว์อีกมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งคงจะเป็นจำนวนมากกว่าที่เราช่วย
สืบ : ครับ อาจจะมากกว่า เพราะเราช่วยในจังหวะที่น้ำเริ่มขึ้นแล้ว บางส่วนก็จมอยู่ใต้น้ำ พื้นที่ที่เราช่วยเหลือเป็นแค่ประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดมันก็ยังมีสัตว์ป่าเหลืออยู่ ไม่สามารถช่วยเหลือมันออกมาได้ เพราะว่าพื้นที่มันเป็นเกาะขนาดใหญ่
Image
สารคดี : ช่วงแรกที่ช่วยสัตว์ป่า มีปัญหาสัตว์ตายในระหว่างการอพยพมากไหม
สืบ : ครับ ในแบบที่ว่า สัตว์ป่าที่เราไปช่วยมันติดค้างอยู่ อดอาหาร แล้วก็ต้องต่อสู้กับสภาวะอากาศ ขาดที่หลบภัยที่เหมาะสมอะไรต่างๆ มันไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะปล่อย แต่ว่าการที่เราเก็บสัตว์เอาไว้นาน ก็มีผลทำให้เกิดความเครียด เมื่อนานๆ เข้าการที่จะทำให้มันฟื้นคืนสภาพแล้วกลับไปปล่อยก็มีผลต่อการอยู่รอดใน พื้นที่ใหม่ด้วย เพราะว่ายังต้องไปปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่

ช่วงแรกๆ ที่น้ำเริ่มขึ้น มันบีบทำให้พื้นที่เป็นเกาะเล็กบนยอด การช่วยจะทำได้เกือบจะทั้งหมด เพราะว่าพื้นที่มีขนาดเล็ก สัตว์ทุกอย่างเกือบทุกชนิดที่ติดค้างอยู่เท่าที่เราเห็นจะได้รับการช่วยหมด แต่ถ้าเป็นเกาะใหญ่ๆ ช่วงหลังๆ ความยุ่งยากจะมากขึ้น เช่น การจะต้อนกวางจากพื้นที่ 3 ใน 4 ของหนึ่งตารางกิโลเมตรทำได้ยากมาก เราจะช่วยเหลือได้บางตัวเท่านั้นที่จะต้อนเข้ามาให้ติดตาข่าย ต้อนให้เขาหนีลงน้ำแล้วเราตามไปจับ
Image
หลังจากวันที่กลับไปทำงานช่วงที่สองพยายามที่จะติดตามสัตว์ที่ติดค้างอยู่บนเกาะ แต่ว่าอุปกรณ์ที่จะติดตามคือเครื่องมือส่งสัญญาณวิทยุ เพิ่งจะขอซื้อจากต่างประเทศ ปัจจุบันจะสิ้นโครงการอยู่แล้วก็ยังไม่ได้เครื่องมือมา ที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็เป็นที่ขอยืมมาจากเพื่อน ก็ติดตามไปได้บ้าง อย่างพวกเก้ง เลียงผา แต่จำนวนไม่มากนัก ผมคิดว่าการติดตามจะต้องทำต่อเนื่องกันในระยะที่นานพอเพื่อจะบอกได้ว่าสัตว์ มันปรับตัวได้แค่ไหน

สารคดี : ราษฎรที่เข้าไปจับปลาในอ่างเก็บน้ำ มีส่วนทำให้สัตว์ถูกล่าเพิ่มขึ้นด้วยใช่ไหม
สืบ : ก็มีทั้งที่อ้างว่าเข้าไปจับปลาแล้วก็ไปรับจ้างตัดไม้ให้บริษัท คือตามปกติแล้วตามแผนควรจะเลิกก่อนการเก็บกักน้ำ ถ้าไม่มีราษฎรเข้าไปตัดไม้ ก็จะทำให้งานทางด้านการช่วยเหลือสัตว์สามารถทำได้ง่าย การที่มีคนเข้าไปในอ่างฯ มากๆ นี่ทำให้สัตว์ตื่น ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เราเข้าไปก็เหมือนกับเราจะเข้าไปทำร้ายมัน มันจะหนี ตื่นกลัว จะได้รับความกดดันมาก ทำให้ยุ่งยากในการจับขึ้นไปอีก คนที่เข้าไปมีทั้งที่บริสุทธิ์ที่จะเข้าไปรับจ้างจริงๆ ไปจับปลาจริงๆ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังพบว่ามีการล่าสัตว์ด้วย

สารคดี : แล้วทำไมถึงยังมีการตัดไม้ในอ่างเก็บน้ำอีก
สืบ : การตัดไม้นี่ผมไม่ทราบ หลังจากที่มีการต่ออายุการตัดไม้มา 3 ปี เดิมจะสิ้นเมื่อเมษายน 2529 ก็มาสิ้นสุดเมื่อเมษยาน 2532 ทางกรมฯ ก็ไม่อนุญาตให้มีการทำไม้ต่อไป เพราะมีการทำไม้ที่ไม่ถูกต้อง ตัดนอกเขต เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผมไม่ทราบว่าตอนนี้ยังมีการทำไม้อยู่หรือเปล่า

มีกรณีที่ชาวบ้านเข้าไปหาประโยชน์จากการจับจองพื้นที่บริเวณขอบอ่างด้วย จะเห็นได้ว่ามีการทำเครื่องหมายเอาไว้ว่าจองแล้วตามบริเวณขอบอ่างที่เกิน เหนือแนวน้ำท่วมไปโดยประมาณ

สารคดี : จับจองทั้งที่เป็นเขตพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงน่ะหรือ
สืบ : นั่นน่ะสิ เขาเขียนว่าจอง เอาสีมาร์กไว้ มีตัวอักษร ก ข ตัวเจ ตัวพี อะไรอย่างนี้ ไม่รู้ใครจอง แล้วก็ทำลูกศรหรือว่ามีรอยที่เป็นแนวคล้ายกับว่าบริเวณนั้นเป็นเขตจับจอง มีมากหรือเปล่านี่ผมไม่ทราบ เพราะว่าไม่ได้ขึ้นดูทุกจุด

การที่คนเข้าไปก็ยากในการควบคุม อย่างเช่นเขาจะไปล่าสัตว์จากข้างบน แล้วเอาส่วนของสัตว์ที่ล่าได้มาลงเรือ แล้วใส่มาในลังน้ำแข็งที่ใส่ปลา แล้วก็กลบด้วยน้ำแข็ง เราจะไปตรวจเรือทุกลำได้อย่างไร อีกอย่างหนึ่งบริเวณนั้นเมื่อสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำแล้ว ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่านี่ มันขัดกันก็เลยต้องเพิกถอนพื้นที่ ทำให้เราไม่สามารถควบคุม พ.ร.บ. ในพื้นที่เพิกถอน อันนี้เป็นปัญหา

สารคดี : จริงๆ แล้วพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำใครเป็นผู้รับผิดชอบ
สืบ : พื้นที่บริเวณอ่างก็ต้องเป็นของการไฟฟ้าฯ ถ้าเผื่อไม่ใช่ในส่วนที่กรมป่าไม้รับผิดชอบ แต่ในส่วนที่เดิมเป็นอุทยานไม่ได้เพิกถอนก็ยังเป็นของอุทยาน มองง่ายๆ ว่าประมาณครึ่งหนึ่งของอ่างเป็นอุทยาน อีกครึ่งหนึ่งเป็นที่เพิกถอน ก็น่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฯ ส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงก็คือ เหนือจากระดับน้ำขึ้นมาประมาณ 20 เมตร

บริเวณขอบๆ อ่าง การกระทำผิดมันเกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถตรวจสอบแนวว่าขอบอ่างมันอยู่ตรงไหน แน่ การทำเครื่องหมายก็มีเพียงว่าเอาสีแดงไปมาร์กจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปต้นไม้อีก ต้นหนึ่ง ซึ่งมันยากลำบากในการควบคุม แล้วในการเข้าไปถ้าไม่เข้าไปจริงๆ จะไม่เห็นเลยว่ามีราษฎรอยู่ในบริเวณนั้นหรือเปล่า เพราะบางทีก็เอาเรือแทรกเข้าไปซุกเอาไว้เราไม่สามารถเข้าไปตรวจได้ทุกจุด

สารคดี : แล้วถ้าป่าแก่งกรุงถูกทำลาย สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแค่ไหน
สืบ : มันต้องเปลี่ยนแน่ๆ อยู่แล้ว เพราะว่าป่าตรงนั้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก ผลการสำรวจในบริเวณนั้น ปริมาณไม้ต่อพื้นที่หนาแน่นมาก และเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก เป็นที่รวมของสัตว์ป่านานาชนิดมากมาย เพราะฉะนั้นเราบอกได้เลยว่า ถ้าส่วนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดอย่างลักษณะของป่าที่ลุ่มน้ำแก่งกรุงถูกทำลายไป บริเวณที่เป็นลุ่มน้ำตามธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จะต้องถูกทำลายไป ส่วนที่เหลืออยู่ก็จะเหลือเพียงบริเวณภูเขาตอนบนซึ่งความอุดมสมบูรณ์มันน้อย กว่า

ตรงนี้มันสำคัญสำหรับราษฎรที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำตาปี เพราะว่าน้ำจากคลองยันมันเชื่อมกับแม่น้ำตาปี ดูจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานแล้วปรากฏว่าคุณภาพน้ำเท่าที่ทราบมันเสียไป ผมก็ไม่ทราบในรายละเอียดว่าผลกระทบอันนั้นมันมากน้อยแค่ไหน รู้สึกว่ามันมีผลกระทบในแง่ว่าสภาพน้ำ น้ำเสียอะไรต่างๆ จากอันนี้ผมคิดว่าถ้าเขื่อนที่สร้างมาแล้วทั้งหมดในเมืองไทย ไม่สามารถที่จะควบคุมให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนว่าจะต้องแก้ไขผลกระทบ แล้วจะสร้างทำไม

ผมคิดว่าผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนอันใหม่ไม่แตกต่างกัน แล้วมันจะมีผลทำให้น้ำในลุ่มน้ำตาปีเสื่อมสภาพลง มันจะเสียทั้งพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำ แล้วเมื่อกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ คุณภาพของน้ำที่จะปล่อยลงแม่น้ำก็ยังเสียไปด้วย
ป่าในเมืองไทยก็เหลือเพียงประมาณร้อยละ 20 ครอบคลุมไปด้วยป่าอนุรักษ์ประมาณร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือก็เป็นป่าสงวน อย่างที่แก่งกรุงนี่ก็เป็นป่าสงวนที่อยู่รอบนอกของป่าอนุรักษ์ เราควรจะช่วยกันรักษาป่าอนุรักษ์ไว้ในเมื่อมันยังสมบูรณ์ในแง่ของธรรมชาติ

สารคดี : ในฐานะนักวิชาการป่าไม้ จากเดิมที่ภาคใต้เป็นเขตป่าดิบชื้น ไม่เคยมีไฟไหม้ป่ามาก่อน แต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นแล้วที่เขื่อนเชี่ยวหลาน กรณีนี้เป็นเพราะอะไร
สืบ : ถ้าในป่าธรรมชาติไฟมันไม่เกิดหรอก มันน้อยมากที่ไฟจะเกิดขึ้น แต่ว่าการที่มีคนเข้าไปไม่ว่าจะเข้าไปเพราะรู้ว่าบริเวณนั้นมีการก่อสร้าง อะไรต่างๆ การจับจองพื้นที่ มีการแผ้วถางป่า ลักษณะไฟไหม้ไปดูได้ มักจะเกิดในพื้นที่ที่มีการตัดไม้ ป่าดงดิบล้มหมดแล้ว โอกาสที่ไม้จะแห้งแล้วถูกเผามีอยู่ทั่วไป

อย่าง ภาคใต้นี่มันจะมีผลกระทบมากถ้าป่าหมด เพราะสภาพธรรมชาติถูกเปลี่ยนไปเป็นพวกไร่กาแฟ หรือสวนปาล์ม พวกต้นไม้ที่ถูกตัดออกไปตอนแรกคงถูกเผาเพื่อกำจัดเศษไม้ เพราะฉะนั้นมันเป็นไปได้ที่ไฟจะเกิดจากมนุษย์ที่เข้าไปเผาป่า ถึงแม้จะเป็นป่าดงดิบชื้นมันก็ไหม้ เพราะว่าต้นไม้มันแห้ง มันถูกตัดให้ล้มเพื่อทำให้แห้ง

สารคดี : ป่าดงดิบชื้นมีความสำคัญอย่างไรบ้างในแง่นิเวศวิทยา
สืบ : มันเป็นที่รวมของความหลากชนิดของพืช ของต้นไม้ ซึ่งทำให้เป็นแหล่งที่อยู่ที่สำคัญของสัตว์ป่าโดยเฉลี่ยในพื้นที่ที่เท่ากัน ถ้าเทียบกับในป่าเขตร้อนชื้นจะมีจำนวนชนิดมากกว่าเขตอบอุ่นมากมาย ลักษณะแบบนี้เมื่อถูกทำลายไปไม่เฉพาะต้นไม้ แต่พวกพืช สัตว์ป่าที่เคยอาศัยอยู่จะมีผลกระทบมาก เนื่องจากมันมีจำนวนชนิดอยู่มาก

สารคดี : ตอนนี้ในโลกมีเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งใช่ไหม
สืบ : ตอนนี้เหลืออยู่น้อย ตัวเลขเท่าที่ทราบกัน ป่าเขตร้อนทั้งโลกที่ยังคงอยู่มีประมาณร้อยละ 7 ของพื้นที่ ในปัจจุบันมันถูกทำลายไปอย่างน้อยๆ ก็ร้อยละ 30 ทำให้ป่าที่เคยต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่ ถูกทำลายแบ่งแยกออกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย ต่อไปในอนาคตความหลากหลายจะต้องถูกกระทบแน่นอน เพราะว่าการที่เราไปแบ่งป่าออกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย การต่อเนื่องของการเคลื่อนย้ายประชากร โดยเฉพาะกับสัตว์ป่าชนิดใหญ่ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

ป่าเขตร้อนถือว่าสำคัญ เพราะในเขตอบอุ่นป่าธรรมชาติแทบจะหาไม่ได้ เหลือน้อยมาก ทั้งยังมีการตัดป่าธรรมชาติออกไป แล้วปลูกไม้เศรษฐกิจขึ้นมาทดแทนป่าธรรมชาติซึ่งอุดมไปด้วยความหลากชนิดของ สัตว์ป่า พืชพันธุ์ทั้งหลายแทบจะหาไม่ได้
ผมว่าประเทศไทยถ้าสามารถเก็บป่าธรรมชาติเอาไว้ได้ประมาณร้อยละ 20 แล้วเราใช้อย่างถูกต้อง หมายถึงเก็บเอาไว้เพื่อให้มันอำนวยประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสภาวะแวดล้อม อะไรต่างๆ เป็นแหล่งผลิตพวกธาตุอาหารหรือความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง ถ้าเราใช้ป่าทั้งหมดที่เป็นแหล่งกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว เราจะไปหาความอุดมสมบูรณ์ได้ที่ไหน ธาตุอาหารในดินก็จะไม่ได้ถูกผลิตเพิ่มขึ้นเลย ก็มีแต่ใช้ไป ใช้ไป เมื่อป่าถูกเปิดแล้ว โอกาสที่หน้าดินจะถูกชะล้างไปลงทะเลก็มีมากขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีอยู่หายไป มันไม่มีตัวที่จะสร้างขึ้นมาใหม่

สารคดี : ในโลกเรา ป่าร้อนชื้นก็มีแค่แถวเอเชียอาคเนย์ ไทย มาเลเซีย
สืบ : ทวีปแอฟริกา เอเชียตอนล่าง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็อยู่ในส่วนของป่าเขตร้อนชื้น ป่าเขตร้อน
ชื้นจะมีอยู่สองลักษณะ เป็นทั้งป่าชื้นไม่ผลัดใบและผลัดใบ ประเทศไทยเรามีทั้งสองแบบ

สารคดี : เท่าที่มองแล้ว ป่าบริเวณนี้เป็นป่าที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งถ้าตรงนี้มันค่อยๆ ถูกทำลายไป มันจะเป็นไปได้ไหมที่ความแห้งแล้งจะเข้ามา
สืบ : มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แม้ว่าส่วนของป่าที่ต่อเนื่องกันเป็นผืนใหญ่จะยังคงเป็นป่าธรรมชาติอยู่ ยังสามารถทำให้เกิดความสมดุลในแง่ของการควบคุมปริมาณน้ำฝน ปริมาณความชื้นอะไรต่างๆ ทางภาคใต้อาจจะมีปริมาณฝนตกมากเหมือนเดิม แต่การที่ฝนตกลงมาโดยที่ป่าไม้ถูกทำลายไป น้ำที่ตกลงมาก็จะไม่มีป่าไม้ที่จะรองรับโอบอุ้มน้ำไว้ น้ำจะไหลลงมาหมด ไม่มีตัวที่จะคอยซับความชุ่มชื้นแล้วค่อยทยอยปล่อยออกมาได้ตลอดทั้งปีเหมือน ที่เคย เราก็อาจจะได้รับความแห้งแล้งในฤดูที่ไม่มีฝน ถึงแม้ว่าภาคใต้จะเป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์สักเท่าไรก็ตาม

อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อน้ำฝนตกลงมาเท่าเดิม แต่ว่าเขื่อนที่จะกักเก็บน้ำไว้จะเก็บน้ำได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็ต้องปล่อยลงทะเลไป หลังจากนั้นก็จะไม่มีน้ำสำรองให้อีก น้ำที่กักเก็บได้คือน้ำที่ต้องใช้ไปตลอดทั้งปี

ในแง่ของสัตว์ป่า ผมคิดว่าการสร้างเป็นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำทำให้เกิดการตัดขาดของประชากร เพราะเมื่อก่อนเคยเชื่อมกันด้วยคลอง หลังจากสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วสัตว์จะข้ามไปมาไม่ได้ โดยเฉพาะกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปใช้อ่างเก็บน้ำจะเป็นตัวบีบไม่ให้สัตว์ ออกมา แล้วมันก็ออกไปไหนไม่ได้ มันจะออกนอกเหนือจากป่าที่อยู่ก็ไม่ได้ เพราะว่าข้างนอกเป็นถิ่นที่มีราษฎรอยู่ ฉะนั้นมันจะถูกจำกัดให้มีประชากรลดลงตามขนาดของพื้นที่ที่ลดมา มีผลมากในแง่การดำรงเผ่าพันธุ์ และอาจทำให้กลุ่มประชากรที่เหลืออ่อนแอ โอกาสที่จะสูญพันธุ์จากโณคระบาดหรือการลดของประชากรอย่างทันทีทันใดก็มีมาก ขึ้น

อย่างกรณีป่าถูกทำลาย ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลาย ประชากรของสัตว์ได้ลดจำนวนลง ถึงขนาดที่บางชนิดใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากเราไม่สามารถรักษาป่าดั้งเดิมตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้นๆ ไว้ได้

ในแง่ของการอนุรักษ์ คือ การที่เราจะช่วยเหลือไม่ให้มันสูญพันธุ์ การทำให้มันมีประชากรเพิ่มขึ้นจะเป็นในกรงเลี้ยงหรืออะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถปล่อยมันคืนไปในป่าธรรมชาติให้มันปรับตัวแล้วเพิ่มประชากร โดยตัวของมันเองได้นั่นไม่ถือว่าเป็นการอนุรักษ์

แล้วพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมันมีวิวัฒนาการ ปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพธรรมชาติ แต่ถ้าเราเอามันออกมาทำให้มันมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่พันธุ์ไม่ได้รับการพัฒนา สัตว์ที่ถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เล็กๆ มันก็จะผสมพันธุ์กันเอง ซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะด้อยเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะสูญพันธุ์ก็ง่ายขึ้น



สารคดี : ตามทัศนะของคุณสืบเอง ถ้าไม่สร้างเขื่อน การไฟฟ้าฯ จะเอาไฟฟ้ามาจากไหน
สืบ : ผมคิดว่าการไฟฟ้าฯ น่าจะเป็นคนตอบคำถามว่าจะหาไฟฟ้าได้อย่างไร แต่ในแง่ของคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องป่าไม้ สัตว์ป่า เรามองกันว่าในปัจจุบันทรัพยากรส่วนนี้มันเหลืออยู่พอหรือไม่ในการที่จะควบ คุมสภาวะการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่างๆ

ถ้าเรามองว่าทรัพยากรมันจำกัด ป่าไม้เหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 20 เราจะเก็บส่วนนี้ไว้ได้หรือไม่ แล้วก็พัฒนาพลังงานด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างอื่น ด้วยพลังงานอย่างอื่น ควบคุมให้เกิดมาตรการในการที่จะใช้พลังงานอย่างถูกต้อง หมายถึงการประหยัดพลังงาน

ข้อแก้ตัวว่าต้องผลิตด้วยพลังน้ำอย่างเดียวโดยที่อย่างอื่นอาจมีราคาสูง หรือว่าอัตราเสี่ยงที่จะเกิดภัยอะไรต่างๆ นั้น ถ้าคิดถึงว่าในอนาคต สมมติอีก 30 ปีข้างหน้าไม่มีป่าเหลืออยู่แล้ว เราจะทำอย่างไร ทำไมเราถึงไม่คิดตั้งแต่วันนี้ว่าเราจะหาทางในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างไร โดยที่จะยังคงป่าธรรมชาติเอาไว้ให้สามารถอำนวยประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ที่ยัง ต้องอาศัยสัตว์ป่าในการดำรงชีวิต

ผมว่ามันต้องเอามาพิจารณา ป่าที่เหลืออยู่สามารถที่จะใช้ได้ต่อไป ถึงจะไม่สร้างเขื่อน เราจะใช้ป่าต่อไปอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนแนวทางที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า จะปรับปรุงประสิทธิภาพของเขื่อนหรือเครื่องมือในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีใน ปัจจุบันให้ได้พลังงานตามที่กำหนดไว้ รวมถึงเรื่องการประหยัดพลังงานด้วย
====================================================================================================
Image

ผลงานของสืบ

"เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ

ลูกน้อยที่กอดไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน

ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น

แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา

โทษไหนจึงประหาร ศาลไหนพิพากษา

ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม

ชีวิตใครใครก็รัก ท่านประจักษ์หรือไม่

โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน"

สืบ นาคะเสถียร
1 พ.ค. 2518




ห้วยขาแข้ง กว่าจะเป็นมรดกโลก


เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

กลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 ราวปีเศษภายหลังการตายของสืบ นาคะเสถียร ที่ประชุมพิจารณาคัดเลือกแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ก็ได้ประกาศให้ "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง" เป็น "มรดกทางธรรมชาติของโลก"


นับเป็นพื้นที่ธรรมชาติแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับเกียรตินี้

หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับตีพิมพ์ข่าวอันน่ายินดีในวันรุ่งขึ้น ชาวอุทัยธานีจัดงานนิทรรศการ และเฉลิมฉลองให้กับสมบัติล้ำค่าของจังหวัดที่ได้เป็นสมบัติล้ำค่าของชาวโลก

นักอนุรักษ์ นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปต่างยินดีกับป่าทุ่งใหญ่ฯ - ห้วยขาแข้ง ทุกคนมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าต่อไปนี้การบุกรุกทำลายป่า สัตว์ป่า ตลอดจนการพัฒนาต่าง ๆ ที่จะทำลายผืนป่าทั้งสองแห่ง คงยุติลงแล้ว

ทว่าหากย้อนเวลาไปเพียงหนึ่งปี เมื่อสืบยังเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขาได้เล่าถึงสถานการณ์ป่าห้วยขาแข้งไว้ว่า

"ผมพูดได้เลย มันมีการยิงกันทุกวัน ไปตามก็เจอแต่กองไฟ เจอซาก จับมันได้ครั้งหนึ่ง ผมว่ามันเข้ามาไม่ต่ำกว่าสิบครั้งแล้ว... มันพร้อมจะล่าสิบครั้งกว่าจะโดนจับถูกปรับแค่ห้าร้อยบาท คุกก็ไม่ติดมันหนี เราตามจับมันบางที อย่างเมษายนปีที่แล้ว ลูกน้องผมถูกนายพรานยิงตายสองคน..... เจ้าหน้าที่ยิงก่อนก็ไม่ได้ ถือว่าเกินกว่าเหตุ ไอ้ผู้ต้องหามันเห็นหน้าเรา มันยิงใส่เราแล้วเราก็ตาย เรามีค่าเหรอ ตายไปอย่างดีก็เอาชื่อมาติดที่อนุสาวรีย์หน้ากรมป่าไม้"

ความสนใจของทุก ๆ ฝ่ายต่อการแก้ไขปัญหาที่สืบเผชิญอยู่ขณะนั้น ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับที่เป็นอยู่ขณะนี้

สืบ กระทำอัตวินิบาตกรรมในเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2533 หลังจากรับตำแหน่งหัวหน้าเขตฯ ห้วยขาแข้งได้เพียงไม่ถึงปี หลายคนสงสัยถึงมูลเหตุ แต่หลายคนก็เข้าใจดีว่า สำหรับสืบ นี่คือหนทางสุดท้ายที่เขาจะทำได้เพื่อปกป้องชีวิตของผืนป่า สัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคน

เขาจากไป....... ก่อนที่จะได้เห็นความฝันที่เขาทุ่มเทความพยายามให้ขณะมีชีวิตอยู่กลายเป็นความจริง


การสำรวจควายป่า

ควายป่าเคยมีทั่วไปในประเทศไทย แต่เพราะนิสัยชอบนอนปลัก ทำให้ชาวบ้านดักยิงมันได้ง่ายจนทุกคนคิดว่าควายป่าคงหมดไปจากป่าเมืองไทย แล้วนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เขียนไว้ในสารนิยมไพร เมื่อปี พ.ศ.2501 ว่า ควายป่าตัวสุดท้ายอาจถูกยิงที่อำเภอวิเชียร จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อปี พ.ศ.2551 หรือราวครึ่งศตวรรษก่อน

ไม่มีใครคาดคิดว่าไม่กี่ปีต่อมาจะมีผู้พบควายป่าอีกครั้ง

ป่าห้วยขาแข้งในเวลานั้นยังเป็นป่าบริสุทธิ์ ไม่มีการทำไม้เหมือนป่าอื่น ๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมยากลำบากและยังเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งแม้ว่าบริษัทไม้อัดไทยจำกัดจะได้รับสัมปทานทำไม้ ก็ไม่มีการทำไม้แต่อย่างใด

ป่าห้วยขาแข้งจึงเป็นป่าปิดจากความรับรู้ของคนโดยทั่วไป

ปี พ.ศ.2507 มีข่าวการบุกรุกทำลายป่าล่าสัตว์กันอย่างมากมายในบริเวณใกล้เคียงป่าห้วยขาแข้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีจึงสั่งการให้ป่าไม้จังหวัดออกสำรวจข้อเท็จ จริง ป่าไม้จังหวัดได้กลับมารายงานว่า บริเวณพื้นที่นั้นมีชาวกะเหรี่ยงทำการถางป่าทำไร่เป็นบริเวณกว้างและมีการ ล่าสัตว์ป่ากันอย่างเสรี ทำให้ห่วงว่าต่อไปในอนาคต ป่าบริเวณดังกล่าวจะหมดไป จึงขอเสนอให้จัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

นักข่าวซึ่งเดินทางร่วมไปด้วยได้เขียนข่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สารเสรี ทำให้เรื่องการบุกรุกและล่าสัตว์ป่าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ทางกรมป่าไม้จึงสั่งการให้ฝ่ายจัดการสัตว์ป่าแห่งชาติ สังกัดกองบำรุง (ในสมัยนั้นยังไม่มีกองอนุรักษ์สัตว์ป่า) ส่งนายอุดม ธนัญชยานนท์ นักวิชาการป่าไม้ตรี ไปดำเนินการสำรวจรายละเอียดป่าในบริเวณดังกล่าวการสำรวจครั้งนี้มีสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ของบริษัทไม้อัดไทยเข้าร่วมสำรวจด้วย

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ภาพเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นของคณะสำรวจสัตว์ป่าได้ออกแพร่ภาพทางสถานี โทรทัศน์ช่อง 4 แสดงถึงสภาพป่าอันอุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ การสำรวจพบควายป่า สัตว์ที่ทุกคนเชื่อว่าหมดไปแล้วจากเมืองไทย ทว่า ไม่อาจเก็บภาพควายป่าเป็น ๆ หากินในสภาพธรรมชาติมาให้ชมได้ เพราะ นายพรานได้เด็ดชีพมันไปเสียก่อนแล้ว

นายอุดมได้เขียนรายงานการสำรวจให้แก่กรมป่าไม้ว่า

"... สัตว์ป่าในป่าห้วยขาแข้งมีจำนวนและปริมาณมากมีสัตว์ที่พบเห็นได้ยาก เช่น แรด จากการสอบถามได้ความว่ายังอาจมีอยู่ ส่วนสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ ช้าง กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง ควายป่า กระจง สมเสร็จ หมี ชะนี ลิง ค่าง เสือ หมู่ป่า ไก่ป่า นกยูง นกเงือก ฯลฯ....."

ในรายงานฉบับนี้ นายอุดมได้กล่าวถึงปัญหากล่าวล่าสัตว์ โดยแบ่งนายพรานออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

หนึ่งกลุ่มล่าสัตว์ป่าเป็นอาชีพ นักล่าสัตว์ป่ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดใกล้เคียง ใช้รถยนต์หรือช้างเป็นพาหนะ ทำให้สามารถล่าเป็นเวลานาน 1-2 สัปดาห์ และนิยมล่าในฤดูแล้ง

กลุ่มที่สองเป็นพวกนักล่าสมัครเล่น เป็นผู้มีการศึกษาดี เป็นพ่อค้าคหบดี อาวุธที่ใช้มีคุณภาพสูง ยิงสัตว์ป่าทุกชนิดที่พบเพื่อต้องการอวดฝีมือหรือทำสถิติให้แก่ตนเอง

กลุ่มสุดท้ายคือชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงกับป่าซึ่งสัตว์ที่กินเป็นอาหารได้เท่านั้น อาวุธที่ใช้มักมีคุณภาพไม่ดี

ตั้งแต่ปีนั้น กรมป่าไม้ก็ได้ดำเนินการเพื่อจัดตั้งป่าห้วยขาแข้งเป็นเขตรักษาพันธุ์ป่า จนมาเสร็จเอาในปี พ.ศ.2518 นับเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแหล่งที่ 5 ของประเทศ คลอบคลุมพื้นที่บริเวณตำบลลานสัก อำเภอลานสัก ตำบลคอกควาย ตำบลแก่นมะกูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และบางส่วนของตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีพื้นที่รวม 1, 019,379 ไร่ ( 1,631 ตารางกิโลเมตร) มีชื่อว่า " เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง"

"ควาย ป่า" :mrgreen: จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ป่าห้วยขาแข้ง รวมทั้งเป็นมูลเหตุของการขยายพื้นที่เขตในเวลาต่อมา ขณะที่กลุ่มนายพรานล่าสัตว์ก็เป็นภัยคุกคามชีวิตสัตว์ป่าในห้วยขาแข้งที่นับ วันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

การขยายพื้นที่เขต

ปี พ.ศ.2503 ระหว่างจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนั้นเอง กรมป่าไม้ก็ให้สัมปทานทำไม้กระยาเลย (ไม้อื่น ๆ ไม่รวมไม้สัก) แก่บริษัทไม้อัดไทย ในพื้นที่ป่าติดกับเขต ฯ ด้านทิศเหนือ ตะวันออกและใต้ มีเนื้อที่รวมประมาณ 9 แสนไร่

ป่าสัมปทานนี้มีชื่อเรียกว่า "ป่าโครงการไม้กระยาเลยห้วยทับเสลา-ห้วยขาแข้ง" บริษัทไม้อัดไทยเริ่มทำไม้ออกบริเวณลุ่มห้วยทับเสลาก่อนเพราะเส้นทางคมนาคม เข้าถึงง่ายกว่าป่าในลุ่มห้วยขาแข้ง รวมทั้งป่าลุ่มห้วยขาแข้งตอนใต้ยังคงเป็นพื้นที่สีแดงอยู่

เพียงไม่กี่ปีหลัง ผลกระทบจากการทำไม้ก็ตกมาถึงสัตว์ป่าในป่าห้วยขาแข้ง

ปี พ.ศ. 2519 หัวหน้าเขตฯ ห้วยขาแข้งได้รายงานว่าลักลอบล่าวัวแดงในป่าห้วยขาแข้ง เขาให้เหตุผลว่าเนื่องจากป่าโดยรอบซึ่งเป็นป่ากันชนถูกบุกรุกแผ้วถาง เปิดให้มีการทำไม้ คนจึงเข้าป่าได้ง่าย เส้นทางสัญจรเข้าป่ามีมากผู้ลักลอบมีอาวุธและยานพาหนะทันสมัย และมีจำนวนผู้ลักลอบมากขึ้น ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ

ความรุนแรงของปัญหาปะทุออกมาอีกครั้งใน 2 ปีต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ถูกพรานล่าสัตว์ยิงบาดเจ็บบริเวณป่าสัมปทาน ของบริษัทไม้อัดไทย

ถ้าว่าตามหลักการแล้วการทำป่าสัมปทานก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากมายเช่นนี้ เพราะต้องมีการปลูกป่าทดแทนเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า ต้องมีการป้องกันการบุกรุกของชาวบ้านแต่การปฏิบัติก็มักสวนทางกับหลักการ เสมอมา เช่น ในพื้นที่ตอน 1 บริเวณลุ่มห้วยทับเสลาซึ่งทำไม้เสร็จแล้ว แทนที่จะมีการปลูกป่าทดแทนกลับมีชาวบ้านบุกรุกตั้งหมู่บ้าน หน่วยงานราชการเองก็เข้าส่งเสริมจัดตั้งหน่วยสหกรณ์นิคมทับเสลาเพื่อรองรับ ชุมชนใหม่ เป็นต้น

เจ้าหน้าที่เขตฯ ห้วยขาแข้งได้ออกสำรวจป่าพื้นที่โครงการสัมปทานและพบว่าป่าพื้นที่ตอน 2 และ 10 ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของห้วยทับเสลายังคงความสมบูรณ์อยู่มาก ส่วนป่าพื้นที่ตอน 5 และ 8 เป็นถิ่นอาศัยสำคัญของควายป่า ต่อมากรมป่าไม้จึงได้ขอพื้นที่ป่าตอน 2 และ10 จากบริษัทไม้อัดไทยเพื่อผนวกเข้ากับเขตฯ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทไม้อัดไทยไม่มีมาตรการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า แต่บริษัทไม้อัดไทยก็ต่อรองขอทำไม้ในพื้นที่ตอน 10 ต่อไปก่อนโดยจะให้ไม้เฉพาะในพื้นที่ราบ แม้ว่ากรมป่าไม้ไม่เห็นด้วยนักก็ตาม

ความสับสนของหน่วยราชการต่อมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่ามีมากขึ้นไปอีก เมื่อกรมชลประทานเข้าดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทับเสลา เขื่อนห้วยระบำในป่าพื้นตอน 10 ผลลัพธ์คือมีประชาชนบุกรุกป่าเข้ามาจับจองพื้นที่ในบริเวณนั้นมากมาย

ความพยายามของกรมป่าไม้มาบรรลุผลในปี พ.ศ.2526 โดยต้องยอมเสียพื้นที่ป่าตอน 10 และขอพื้นที่ป่าตอน 2 4 5 6 7 และ 8 ซึ่งยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะควายป่าและนกยูง บริษัทไม้อัดไทยตกลงตามข้อเสนอแต่ขอให้กรมป่าไม้ช่วยจัดสรรป่าแห่งอื่นทดแทน ให้ด้วย

กรมป่าไม้ดำเนินการขยายแนวเขตเสร็จในปี พ.ศ.2529 โดยขยายเขตคลอบคลุมพื้นที่ตำบลระบำ ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบททองหลาง กิ่งอำเภอห้วยคต อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และใต้ของเขตฯ ห้วยขาแข้งเดิม

เมื่อขยายแล้วเขตฯ ห้วยขาแข้งจึงมีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,609,150 ไร่ หรือ 2,574.64 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับเสลา เขตรักษาพันธุ์ป่าอุ้มผางและอุทยานแห่งชาติห้วยทับเสลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางและอุทยานแห่งชาติแม่วงศ์ - แม่เปิน ทิศตะวันออกจรดป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับเสลา ทิศตะวันตกจรดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและป่าสงวนแห่งชาติเขา น้ำโจนทิศใต้จรดอุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์

ความตอนหนึ่งในพระราชกฤษฎีกาขยายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าวว่า

"...เนื่องจากมีสภาพเทือกเขาสลับซับซ้อน มีแหล่งน้ำมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดโดยเฉพาะควายป่า ซึ่งมีน้อยและหายากจึงสมควรขยายห้วยขาแข้งเดิม…"

สืบ นาคะเสถียร นักวิชาการจากกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เริ่มเข้ามาผูกพันกับป่าห้วยขาแข้งครั้งแรกในปีนี้เอง



คัดค้านสัมปทานป่าห้วยขาแข้ง

งานที่สืบรักเป็นชีวิตจิตใจคือ งานที่วิจัยศึกษาสัตว์ป่า เขาเริ่มต้นงานวิจัยจากการศึกษานกในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ การติดตามกวางผา สัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ที่ดอยม่อนจอง จังหวัดเชียงใหม่ จนมาถึงการติดตามศึกษาพฤติกรรมของเลียงผาและถิ่นที่อยู่ของเป็ดก่า ซึ่งทำเขามีโอกาสศึกษาสภาพสัตว์ป่าและป่าไม้ในเขตทุ่งใหญ่นเรศวรห้วยขา แข้งอย่างใกล้ชิด

ช่วงเวลานี้เองที่สืบมีความคิดที่จะเสนอให้ป่าทุ่งใหญ่ฯ - ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก เขาตระหนักดีกว่าหลักประกันในการรักษาพืชพันธุ์ สัตว์ป่า ต้องอาศัยผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่และต่อเนื่อง มิใช่หลายแห่งที่เป็นผืนเล็กผืนน้อย ถึงแม้ป่าห้วยขาแข้ง จะมีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องรักษาทั้งป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าต่อเนื่องร่วมกัน

วันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2531 หนังสือพิมพ์มิชนได้เสนอข่าวว่า

"กรม ป่าไม้ทำแสบอนุมัติให้บริษัทไม้อัดไทยเข้าทำไม้ 3 แสนไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งอุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย หวั่นสัตว์ป่าหายากตายหนีกระเจิง ร้องให้ยับยั้งด่วนก่อนพินาศ "

ปัญหาสัมปทานกลับมาคุกคามป่าห้วยขาแข้งอีกครั้ง เนื่องจากกรมป่าไม้ไม่สามารถจัดหาป่าในพื้นที่อื่นทดแทนให้แก่บริษัทไม้อัด ไทยตามเงื่อนไขเมื่อคราวขยายเขตป่าห้วยขาแข้ง บริษัทไม้อัดไทยจึงขอสิทธิ์กลับเข้าทำไม้ในพื้นที่ป่าลุ่มห้วยขาแข้งตอนใต้ จำนวน 9 ตอน (2 4 5 6 7 และ 8) ซึ่งกรมป่าไม้ก็ยินยอมโดยต่อรองให้พื้นที่ทำไม้เพียง 3 ตอน (ตอน 4 6 และ 7) คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 260,000 ไร่

ในปี พ.ศ.2531 นับเป็นปีที่กระแสอนุรักษ์ธรรมชาติมาแรงมาก เนื่องจากกรณีคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ นเรศวร ซึ่งสืบเองก็ได้เข้าร่วมคัดค้านอย่างเต็มที่ ข้อมูลและผลงานวิจัยหลายชิ้นของเขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การสร้างเขื่อนน้ำ โจนต้องยุติลง

เมื่อเกิดปัญหากับห้วยขาแข้ง สืบก็เข้าร่วมเป็นผู้นำคัดค้านการทำลายป่าอีกครั้ง เขาให้ความเห็นเกี่ยวกับกรมป่าไม้ซึ่งเป็นเจ้านายของเขาเองอย่างไม่หวั่น เกรงว่า

"…..หน่วยงานในกรมป่าไม้ที่เกี่ยวข้องกับการให้สัมปทานป่าก็ไม่อยากให้ป่า ผืนนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพราะว่าให้แล้วเขาทำไม้ไม่ได้ คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้อีกเหมือนกัน คือคนในคนเดียวกันมันมีทั้งแบบว่า ของนี้จะใส่ในมือซ้ายหรือขวาดี ถ้าใส่มือขวา มือซ้ายก็อด…….."

การคัดค้านสัมปทานทำไม้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในกลุ่มนักวิชาการนอกและ ในกรมป่าไม้ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ จนถึงองค์กรระดับท้องถิ่นในจังหวัด

เหตุผลในการคัดค้านมีหลายประการ ที่สำคัญคือการลดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้มีขนาดเล็กลง จะส่งผลให้สัตว์ป่าหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ รวมทั้งเป็นการตัดเส้นทางของสัตว์ป่าขนาดใหญ่หลายชนิด เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง ซึ่งเดินทางหากินระหว่างป่าทุ่งใหญ่ฯ กับป่าห้วยขาแข้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าห้วยขาแข้งตอนใต้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหายาก 2 ชนิด คือ ควายป่าและนกยูงไทย

ในวันที่ 25-26 ตุลาคม กลุ่มผู้คัดค้านก็ได้ร่วมกันจัดงานนิทรรศการและการอภิปรายขึ้นในบริเวณห้า แยกกลางเมืองอุทัยธานี มีการแจกแผ่นปลิวและติดโปสเตอร์ผ้าทั่วตัวจังหวัด สืบได้ขึ้นอภิปรายด้วยคำพูดอันเต็มด้วยอารมณ์ความรู้สึกและเหตุผลทางวิชาการ ถึงความสำคัญของป่าห้วยขาแข้ง

ผลของการจัดงานครั้งนี้ ปรากฏว่ามีประชาชนอุทัยธานีนับหมื่นคนร่วมลงมติคัดค้าน

กระแสการคัดค้านดำเนินไปอย่างต่อเนื่องแต่ไม่มีคำตอบใด ๆ จากกรมป่าไม้ บริษัทไม้อัดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งที่การให้สัมปทานป่าไม้ครั้งนี้นับว่าสวนทางกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ปี พ.ศ. 2528 ซึ่งต้องให้มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ

ท่าทีเงียบเฉยของรัฐบาลต่อกระแสการคัดค้าน ทำให้อนาคตของป่าห้วยขาแข้งดูราวจะสิ้นหวังเสียแล้ว แต่พอปลายเดือนพฤศจิกายน เหตุการณ์อันน่าสยดสยองก็เกิดขึ้นที่ภาคใต้เมื่อฝนได้เทกระหน่ำทั้งวันคืน ขณะเดียวกับที่น้ำป่าพัดพาซุงนับหมื่นท่อนเข้าถล่มอำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนบ้านเรือนวอดวายกลายเป็นทะเลโคลนและภายใต้กองซุงมหึมานั้นก็คือซากศพชาว บ้านนับร้อย ๆ

นับเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในรอบ 40 ปี มีสาเหตุสำคัญคือ การตัดไม้ทำลายป่า

เสียงคัดค้านป่าสัมปทานที่รัฐบาลเคยเพิกเฉยจึงกลายเป็นเสียงอันหนักแน่นทรง พลังที่รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธ จนต้องประกาศยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศในเวลาต่อมา

ป่าห้วยขาแข้งจึงลอดพ้นจากการทำลายโดยสัมปทานป่าไม้มานับตั้งแต่นั้น สืบได้แสดงทัศนะเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าไว้ในบทความเรื่องหนึ่งว่า

"การอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย จะสามารถประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความเข้าใจ และความจริงใจต่อการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ประเทศไม่เช่นนั้นแล้วจำนวนชนิดของสัตว์ป่าที่หายาก และกำลังจะสูญพันธุ์เหล่านี้ก็จะต้องสูญไปพร้อมกับการบุกรุกทำลายป่าทั้งใน รูปแบบของการพัฒนาที่ต้องตัดป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าออก และรวมถึงการยึดถือครองพื้นที่ป่าเพื่อกิจการอื่น ๆ"


ฝากแนวความคิดของ สืบ นาคะเสถียร โดยเพลงนี้ครับสำหรับคนรุ่นใหม่

ไม้เถื่อน ล่าสัตว์ อิทธิพลมืด :evil: :evil:

สืบบอกเสมอว่า ห้วยขาแข้งคือบ้านของเขา และเขาก็ได้กลับบ้านแล้ว

วันแรกที่สืบเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในเดือน ธันวาคม พ.ศ.2532 เขาออกจับไม้เถื่อนในพื้นที่ป่าซึ่งถูกโค่นลงกว่า 200 ต้นเพื่อแปรรูปในป่า

หมู่บ้าน 14 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ รอบ ๆ พื้นที่เขตป่าห้วยขาแข้ง แทบทุกหมู่บ้านอพยพมาจากถิ่นอื่น แล้วมาบุกรุกป่าสงวนยึดเอาไว้ทำไร่เป็นเหมือนอาชีพหลัก แต่รายได้แท้จริงมาจากการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่าขาย

ชาวบ้านแทบทุกหมู่บ้านจะลักลอบตัดไม้แล้วนำมาปลูกสร้างเป็นบ้านเพื่อขายต่อ โดยจะมีนายทุนใหญ่มารับซื้อเอารถสิบล้อเข้าไปขนตลอดคืน

สำหรับการลักลอบล่าสัตว์ป่าก็เหมือนกัน คือมีนายทุนเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน บางคนจัดหาปืนและกระสุนให้ชาวบ้านล่าสัตว์ มีใบสั่งว่าต้องการสัตว์ป่าชนิดไหน ราคาที่ให้ก็ค่อนข้างคุ้มค่าต่อการเสี่ยง เช่น เขากระทิงมีราคาถึง 4,000 - 5,000 บาท เนื้อกิโลกรัมละ 70 บาท ถ้าเป็นเขาควายป่ามีราคาเป็นหมื่น ๆ บาทขึ้นไป

การรักษาป่าห้วยขาแข้งอันอุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิดในพื้นที่กว้างใหญ่กว่าล้านไร่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ

สืบพบว่า การปกป้องป่าห้วยขาแข้งอยู่ในความรับผิดชอบของราชการ 12 คน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 30 คน และลูกจ้างชั่วคราว 120 คน แบ่งไปประจำหน่วยพิทักษ์ป่า 12 หน่วย แต่ละหน่วยรับผิดชอบพื้นที่ป่าถึงหน่วยละ 1 แสนกว่าไร่ ที่น่าตลกคือ ในการดูแลป่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งนี้ได้งบประมาณเพียงไร่ละไม่ถึงบาทต่อปี ขณะที่งบประมาณปลูกป่าในป่าเสื่อมโทรมสูงถึงพันบาทต่อปี

สืบเคยให้สัมภาษณ์อย่างเหลืออดว่า

"ไม่ถึงบาทไปรักษาป่าหนึ่งไร่ ให้พวกผมไปกินเกลือ ผลงานผมได้ไม่ถึงบาท แต่พอป่าสงวนหมดสภาพก็ให้เงินไปปลูกป่า ง่ายว่า สะดวกกว่า พวกผมรักษาไม่อยู่ โดนทำโทษ โดนสอบสวน นี้ถ้าไม่รักจริงไม่รักษาหรอก"

ปัญหางบประมาณคงไม่เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าหากการรักษาไม่ใช่การทำสงคราม แต่นี่ใช่

เมื่อสืบเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขต อนุสรณ์เจ้าหน้าที่ที่อุทิศชีวิตกับงานรักษาป่าก็มีอยู่แล้วถึง 4 หลัก.... พวกเขาถูกยิงเสียชีวิตขณะลาดตระเวนจับพรานล่าสัตว์

สืบรู้ดีว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องรับงานราวกับทหารที่ออกรบในแนวหน้า แต่พวกเขาขาดยุทธ์ปัจจัยเกือบทุกอย่างไม่อาจเทียบเท่าข้าศึกได้เลย เพราะอาวุธประจำกายเป็นเพียงปืนลูกซอง 5 นัด ระยะยิ่งผลแค่ 9 เมตร ขณะที่นักล่าสัตว์มีปืนเอ็ม 16 ระยะยิงกว่าครึ่งกิโลเมตร ซ้ำร้ายพวกเขายังขาดวิทยุสื่อสารและรถที่จะบุกตะลุยในเส้นทางป่า
[youtube]T4iY61s88CY[youtube]
ถึงที่สุด หากพวกเขาตาย ก็ไม่มียศ ไม่มีเงินสวัสดิการหรือประกันชีวิตใด ๆ แก่ครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง พวกเขาล้วนต่อสู้เพื่อห้วยขาแข้งอย่างโดดเดี่ยว สืบสำนึกเสมอว่าต้องไม่มีลูกน้องของเขาคนใดเสียชีวิตอีก เขาถึงกับเคยกล่าวว่า

หนุ่มสาวเธอคืออนาคตประเทศไทย ด้วยใจและใจ เพื่อเมืองไทยเธอจะทำอะไร?
"จะไม่มีใครต้องตายในเขตห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม"

สืบจึงพยายามทุกวิถีทางหาเงินทุนเพื่อมาเป็นสวัสดิการและประกันชีวิตให้แก่ เจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้ง เขาทำงานหนักทุกวันทั้งการออกประชาสัมพันธ์ อภิปราย เป็นวิทยากรตามที่ต่าง ๆ ทั้งในหมู่บ้านรอบ ๆ หรือในเมือง เพื่อให้คนภายนอกเห็นความสำคัญของห้วยขาแข็งและเข้าใจความยากลำบากของเจ้า หน้าที่ที่ทำงาน

ความฝันอีกประการหนึ่งของสืบคือการเสนอให้ป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้งเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก

เพราะหากผืนป่าอันสมบูรณ์และกว้างใหญ่ทั้งสองแห่งนี้ได้รับการยอมรับในระดับ โลก นั่นหมายถึงเงินทุน ชื่อเสียงซึ่งสิ่งสำคัญที่จะตามมาคือความสนใจและยอมรับของราชการทั้งในส่วน กลางท้องถิ่น ความร่วมมือกันในปกป้องป่าผื่นนี้คงจะไม่ยากเย็นอย่างที่เป็นอยู่

สืบทุ่มเทเร่งรวบรวมข้อมูลและเขียนเอกสารเกี่ยวกับป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง ร่วมกับเบลินดา สจ๊วต ค๊อกช์ นักวิจัยชาวอังกฤษ ขณะเดียวกันสืบก็ไม่ละเลยหน้าที่ด้านการปราบปรามเขาออกซุ่มจับพวกไม้เถื่อน ร่วมกับลูกน้องอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแล้วเขาก็พบว่าตัวการที่แท้จริง ของการทำไม้เถื่อน ล่าสัตว์ นั้นไม่ใช่ชาวบ้านที่เขาจับกุมหรือต้องต่อสู่ปะทะด้วย แต่เป็นนายทุนที่บงการอยู่เบื้องหลังต่างหาก

ชาวบ้านที่ต้องมาทำสิ่งผิดกฎหมายก็เพราะความยากจนลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงาน ให้กับห้วยขาแข้งก็เป็นลูก ๆ หลาน ๆ ของชาวบ้าน การจับกุมและการต่อสู้กันนั้นจึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ต้องบาดเจ็บสูญเสียชีวิตอย่างไม่คุ้มค่า ทั้งยังไม่อาจสาวตัวไปถึงผู้บงการที่แท้จริงได้เลย

สืบเคยทำรายชื่อร้านค้า 19 ร้านค้าจัดหาปืนและกระสุนให้ชาวบ้านล่าสัตว์ แต่ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่เขต ฯ จู่โจมเจ้าจับกุมร้านค้าเหล่านี้ก็หลุดรอดไปได้ เพราะต้องขอหมายจับจากตำรวจท้องที่ก่อนเสมอ

การออกจับกุมไม้เถื่อนและร้านค้าสัตว์ป่าอย่างจริงจังทำให้นายทุนอิทธิพล เหล่านี้ไม่พอใจ ปากกระบอกปืนจึงเล็งมาที่เขาด้วยค่าหัว 6, 000 บาท แพงกว่าเขากระทิงเพียงนิดหน่อย แต่ก็พอแกการลั่นไก

แต่สืบไม่เคยท้อและเขาก็ระมัดระวังตัวอยู่เสมอ

by benzcl » Thu Sep 09, 2010 10:36 am

ขอบคุณคุณนายเวรนะที่เอาเรื่องดีดีมาให้เพื่อนๆได้อ่านกัน
ผมไม่นึกมาก่อนเลยว่าคุณจะสนใจเรื่องการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า
คุณเองก็มีมุมมองบางมุมเป็นที่น่าสนใจเหมือนกัน
ต่อไปก็พยายามโพสเรื่องทำนองนี้อีกบ่อยๆ ผมจะช่วยติดตามอ่านนะครับ


แหะๆ ผมมีหลายเวอร์ชั่นอ่ะครับ Imageว่างๆก็นำมาลงได้นะครับ คุณ benzcl เรื่องราว

เมนหลักใหญ่ๆตอนนี้

เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม และสัตว์ป่า นำมาแบ่งปันกัน ถือว่าผมเลี้ยงกาแฟที่ติดค้างนะครับ แหะ แหะ :D

เพลงนี้ให้ใครบางคนที่มาแอ๊บอ่าน อิอิ คิคิ งิงิ :mrgreen:

Last edited by นายเวร on Fri Sep 10, 2010 9:03 pm, edited 7 times in total.


คุกกักขังได้แค่กายหยาบ ... คุกมิอาจกำหราบใจกล้าแกร่ง

จิตวิญญาณ เสรีชน มิโรยแรง ... จักตอบโต้ ทุกตะแบง แห่งอธรรม


ว.แหวนลงยา
เย้ยฟ้า ท้านรก
User avatar
นายเวร
 
Posts: 3515
Joined: Tue Jun 01, 2010 3:36 am

Re: นักต่อสู้จากท้องทุ่ง

Postby benzcl » Fri Sep 10, 2010 10:12 am

จะฟังเดือนเพ็ญ ต้องคนนี้ครับ

User avatar
benzcl
 
Posts: 3901
Joined: Mon May 03, 2010 10:59 am

Re: นักต่อสู้จากท้องทุ่ง

Postby benzcl » Fri Sep 10, 2010 10:22 am

เช่นกันครับ ลาสาวแม่กลองต้องคนนี้

User avatar
benzcl
 
Posts: 3901
Joined: Mon May 03, 2010 10:59 am

Re: นักต่อสู้จากท้องทุ่ง

Postby paradon » Fri Oct 01, 2010 12:15 am

;)
" Corruption is the cause of poverty "
User avatar
paradon
 
Posts: 1347
Joined: Mon Mar 23, 2009 4:09 pm


Return to ห้องพัก



cron