==ภาพจำลองอนาคตของสังคมไทย โดย โคทม อารียา==

เรื่องการเมือง เชิญที่นี่เลยครับ
Forum rules
- ห้ามใช้คำพูดหยาบคาย
- ห้ามโพสกระทู้หรือข้อความที่ดูหมิ่นเสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอันขาด

เชิญทุกท่านเข้าสู่บอร์ดใหม่ได้ที่ http://webboard.serithai.net ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ viewtopic.php?f=2&t=44976 ครับ

==ภาพจำลองอนาคตของสังคมไทย โดย โคทม อารียา==

Postby jerasak » Sat Oct 18, 2008 8:35 am

คุณโคทม อารียา กล่าวถึงการสร้างภาพจำลองอนาคตของสังคม จากตัวอย่างจริงที่เคยใช้
ในการวางแผนสร้างประเทศแอฟริกาใต้

สามารถปรับใช้ได้ทั้งกับสังคมไทย และการวางแผนพัฒนาทั่วไปครับ
---------------------------------------------------------------------------------------------
ภาพจำลองอนาคตของสังคมไทย
โดย โคทม อารียา
วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11178 มติชนรายวัน
http://www.matichon.co.th/matichon/view ... 2008-10-17

ในกลางปี ค.ศ.1991 โจเซฟ จาวอร์สกี หัวหน้าแผนกแผนยุทธศาสตร์ บริษัท เชลล์ ได้รับการติดต่อจาก ปิแอร์ เลอ รูซ์
อาจารย์มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นเคป เพื่อขอให้เขามาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติในแอฟริกาใต้

หนึ่งปีก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีเดอเคลิร์กได้ปล่อยตัว เนลสัน แมนเดลา จากการกักขังที่ยาวนานถึง 27 ปี

ต่อมาในเดือนกันยายน จาวอร์สกีและคณะก็มาจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกที่เมืองเคปทาวน์ โดย เลอ รูซ์ ได้เชิญ
บุคคลสำคัญของแอฟริกาใต้ ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายที่ประกาศต่อสู้ด้วยอาวุธ สหภาพแรงงาน นักธุรกิจ นักวิชาการ
จำนวน 22 คน เข้าร่วมประชุมซึ่งถือเป็นการย่อขนาดของแอฟริกาใต้ในอนาคตมาไว้ในสถานที่เดียวกัน

วัตถุประสงค์ของการประชุมคือการจำลองภาพอนาคต (scenarios making) ตามแบบฉบับของเชลล์ ในการประชุม
มีการแบ่งกลุ่มย่อยหลายกลุ่มเพื่อระดมสมองเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ไปจนถึงอีกสิบปีข้างหน้า

กติกาก็คือไม่อนุญาตให้พูดในสิ่งที่ตนต้องการให้เกิดขึ้น หากพูดแต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้

กลุ่มย่อยที่จะมาเสนอเรื่องต่อที่ประชุมใหญ่ต้องพยายามให้เรื่องสมเหตุผลและดูน่าเชื่อถือ ในระหว่างการนำเสนอ
ห้ามผู้ฟังแย้งในทำนองว่า "เป็นไปไม่ได้" หรือ "เราไม่ต้องการให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น"

หากอนุญาตให้ถามเพียงว่า "ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น" หรือ "แล้วจะเกิดอะไรต่อจากนั้น"

จากการประชุมครั้งแรก ได้เรื่องราวต่างๆ 30 เรื่อง แล้วยุบรวมให้เหลือเพียง 9 เรื่อง

เมื่อเลิกประชุมแล้วก็จัดแบ่งสมาชิกผู้เคยเข้าประชุมเป็น 4 กลุ่ม เพื่อศึกษารายละเอียดของการจำลองภาพใน 4 มิติ
คือ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการต่างประเทศ โดยร่วมกันทำงานจนถึงเดือนธันวาคม จึงมาประชุมร่วมกันใหม่

ในการประชุมครั้งที่ 2 นี้มีการอภิปรายถึงภาพจำลองทั้ง 9 เรื่องโดยละเอียด จากนั้นจึงสรุปเหลือเพียงภาพจำลอง
(scenarios) ของการเปลี่ยนผ่าน 4 เรื่องที่คิดว่าสำคัญและเป็นไปได้มากที่สุด ประกอบด้วยภาพจำลองที่ควร
หลีกเลี่ยง 3 เรื่อง และที่ควรผลักดันให้เกิดขึ้น 1 เรื่องดังนี้

ภาพจำลองนกกระจอกเทศ หมายถึงกรณีที่รัฐบาลคนผิวขาวมุดหัวเข้าไปในทรายเพื่อหลีกเลี่ยงการเจรจากับคนผิวดำ

ภาพจำลองเป็ดง่อย หมายถึงกรณีที่การเปลี่ยนผ่านยืดเยื้อ พยายามเอาใจทุกฝ่ายแต่ลงเอยที่ไม่มีฝ่ายใดพอใจ

ภาพจำลองอิคารัส (ตัวละครจากตำนานกรีกผู้บินหนีจากเกาะกรีตด้วยปีกขนนกที่ยึดติดด้วยขี้ผึ้ง แต่เพลินบินสู่ดวงอาทิตย์
จนขี้ผึ้งละลายและตกลงในทะเล) หมายถึงกรณีที่รัฐบาลคนผิวดำขึ้นครองอำนาจแล้วทุ่มเทงบประมาณมหาศาลแก่โครงการ
ประชานิยมที่ไม่ยั่งยืน จนเศรษฐกิจพังพินาศ

และภาพจำลองฟลามิงโก (นกที่บินขึ้นอย่างช้าๆ พร้อมกัน) หมายถึงกรณีที่การเปลี่ยนผ่านประสบความสำเร็จ
โดยความร่วมมือกัน

เมื่อภาพจำลองทั้งสี่เรื่องเป็นที่ยอมรับแล้ว สมาชิกที่เคยเข้าร่วมประชุมได้นำเสนอภาพจำลองสู่การสนทนาทั้งในระดับ
ประเทศและกับเหล่าผู้นำของตนเอง อีกทั้งนำเสนอผ่านสื่อมวลชนจัดพิมพ์คู่มือเป็นใบแทรกหนังสือพิมพ์ แจกจ่าย
วิดีโอการ์ตูน ฯลฯ พร้อมทั้งจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกว่า 100 ครั้ง

ปฏิกิริยาของประธานาธิบดีเดอเคลิร์กก็คือ "ผมไม่ใช่นอกกระจอกเทศ"

ปฏิกิริยาของพรรคฝ่ายค้านคือปฏิเสธที่จะเป็นอิคารัสโดยการเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจและการยุบกองกำลังติดอาวุธ

ปฏิกิริยาของสังคมคือการยอมรับที่จะเป็นฝูงนกฟลามิงโกที่บินขึ้นช้าๆ อย่างมั่นคงและพร้อมเพรียง

วิกฤตประเทศไทยในปัจจุบันลึกกว่าปรากฏการณ์ที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้ มีการตั้งคำถามต่อสถาบันและระบบการเมือง
มีวิกฤตเศรษฐกิจที่มากับโลกาภิวัตน์ที่รออยู่เบื้องหน้าพร้อมทั้งโอกาสและทางเลือกต่างๆ มีปัญหาทางสังคมที่สั่นคลอน
ไปถึงค่านิยมพื้นฐาน

กล่าวโดยเฉพาะต่อปัญหาการเผชิญหน้าทางการเมือง มีผู้เสนอทางออกเฉพาะหน้าต่างๆ นานา เช่น ขอให้รัฐบาล
บริหารงานต่อไปให้ดีที่สุดเพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตย

ขอให้รัฐบาลลาออก

ขอให้ยุบสภา

ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 171 วรรคสองเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรีได้
ขอให้นายกรัฐมนตรีปรับคณะรัฐมนตรีอย่างกว้างขวางโดยไม่ใช้ระบบโควต้าหากคำนึงถึงบุคคลผู้เหมาะสมแก่งานและเป็นที่
ยอมรับต่อสังคมเป็นสำคัญ

อีกทั้งมีผู้เสนอเป็น นัยๆ ให้ก่อรัฐประหารด้วย

อย่างไรก็ดี การเสนอทางออกเฉพาะหน้าในด้านการเมืองคงไม่พอ ควรคำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการต่างประเทศด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น จากตัวอย่างของประเทศแอฟริกาใต้ข้างต้น จะเห็นได้ว่าคำถามที่สำคัญมิใช่ว่า แต่ละคนแต่ละฝ่ายต้องการอะไร

แต่ควรถามว่า อะไรน่าจะเกิดขึ้นได้บ้าง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้วอะไรน่าจะเกิดตามมา

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ขอเชิญชวนสังคมให้ช่วยกันขบคิดภาพจำลองอนาคตของสังคมไทย

และหวังว่าผู้นำรวมทั้งคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง จะยอมมานั่งคุยกัน และทำงานร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อจำลองภาพอนาคตสังคมไทย

โดยมีความหวังเช่นเดียวกับผู้นำที่หลากหลายของแอฟริกาใต้ในขณะนั้น พวกเขาทุ่มเทเวลามาเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ
และทำงานร่วมกันจนได้ภาพจำลองอนาคตที่ชัดเจนว่ามีทั้งที่เป็นภาพจำลองอันมืดมนซึ่งจะมาช่วยเตือนสติ และภาพจำลอง
อนาคตที่พึงปรารถนา แต่ต้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันจึงจะเป็นจริงได้

ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นเดียวกับแอฟริกาใต้เมื่อ 17 ปีก่อน และอนาคตก็อยู่ในมือของเราเองเช่นเดียวกัน
หากถือทิฐิที่จะเอาชนะ เราอาจพลาดทางเลือกอย่างมีสติ

น่าเสียดายที่เวลาที่จะขบคิดอย่างมีสติอาจเหลือไม่มากนัก อย่างไรก็ดี แม้เวลาจะเข้าข้างเราหรือไม่ก็ตาม เราไม่ควรรอ
ให้วิกฤตเลวร้ายลงยิ่งไปกว่านี้

ขอฝากบทความนี้ถึงผู้นำรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ หากเห็นประโยชน์ของข้อเสนอนี้บ้าง ก็โปรดพิจารณานำเสนอต่อๆ กันไป
หากพร้อมจะพูดคุยกัน และช่วยกันจำลองภาพอนาคตของสังคมไทย

ก็หวังว่าจะเป็นก้าวหนึ่งที่จะช่วยให้สังคมออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้
== นักฝันมีชิวิตเพื่อนิรันดร์กาล ==
User avatar
jerasak
 
Posts: 1803
Joined: Mon Oct 13, 2008 1:22 am

Re: ==ภาพจำลองอนาคตของสังคมไทย โดย โคทม อารียา==

Postby Moon » Sat Oct 18, 2008 10:54 pm

น่าสนใจมากครับคุณจี มีรายละเอียดเพิ่มอีกมั้ยครับ

ผมก็จะลองค้นหาดูเพิ่มเติมอีก
จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง
User avatar
Moon
 
Posts: 6807
Joined: Mon Oct 13, 2008 10:51 am


Return to สภากาแฟ



cron