หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับพระราชวงศ์ไทย เทิดพระเกียรติในหลวงและราชวงศ์จักรีที่ห้องนี้ครับ
Forum rules
- ห้ามใช้คำพูดหยาบคาย
- ห้ามโพสกระทู้หรือข้อความที่ดูหมิ่นเสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอันขาด

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby network1974 » Fri Apr 08, 2011 4:46 pm

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาดำเนินให้เกิดผล และเพื่อให้ข้าราชการเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ซึ่งบริหารบนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ประเด็นของการเรียนรู้ ประกอบด้วย
1. การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวข้อง
2. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10
3. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการน้อมนำมาใช้ในภาคส่วนต่างๆ
4. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับข้าราชการ
5. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบข้าราชการ

1. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“...ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือ ความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอสมควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป
...การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลวและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์...”
( พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 )

จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงสอนให้เราอยู่อย่างพอกินพอใช้ ให้ประหยัด รอบคอบ และระมัดระวัง เมื่อมีพื้นฐานที่มั่นคงแล้วก็ค่อยพัฒนาต่อไปตามลำดับขั้น
นอกจากนี้พระบรมราโชวาทขององค์นี้ ก็ยังมีพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสอีกหลายองค์ ที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้พระราชทานไว้ อันเป็นแนวทางที่สำคัญยิ่ง อันจะยังผลให้ประเทศของเรารอดพ้นจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลก
“...ขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธานในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราจะยอดยิ่งยวดได้...
ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความคิดและมีอิทธิพล มีพลัง ที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำพอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล...”
พระราชดำรัสองค์นี้ได้พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งพระองค์ได้ทรงเน้นย้ำอีกว่าให้พวกเราพออยู่พอกิน
จริงๆ แล้วยังมีพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสอีกหลายองค์ ที่ล้วนมีค่ายิ่งที่พวกเราควรจะได้ยึดและปฏิบัติตาม ผมเชื่อว่าเมื่อพวกเราได้เรียนรู้ จะสามารถน้อมนำสิ่งที่พระองค์ได้พระราชทานมาเป็นแนวทางในการทำงานและดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี

ความหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกวันนี้ ทุกคนต่างก็พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง แต่ท่านทราบหรือไม่ ว่าจริงๆแล้ว หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น คืออะไร มีหลักการอย่างไรบ้าง และใครสามารถนำหลักปรัชญานี้ไปใช้ได้บ้าง หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ อย่างที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่เบื้องต้นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชี้แนะแก่พสกนิกรชาวไทย เมื่อประมาณ 33 ปีมาแล้ว แล้วก็ทรงชี้แนะพวกเราอีกหลายๆครั้งด้วยกัน ดังปรากฏในพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ และเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ก็ยิ่งเป็นการ พิสูจน์และเน้นย้ำว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น สามารถน้อมนำมาประยุกต์ใช้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศเราได้เป็นอย่างดี
เมื่อคราววิกฤตเศรษฐกิจนั้น เศรษฐกิจแบบค้าขายเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งหมด ต้องพึ่งพาคนอื่นหรือประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ขับรถเราก็ต้องพึ่งพาน้ำมัน แต่น้ำมันเราต้องนำเข้าจากตะวันออก เป็นต้น เวลาที่น้ำมันแพง พวกเราก็เดือดร้อนกันไปทั่ว ไม่ใช่แต่คนที่ต้องขับรถใช้น้ำมันอย่างเดียว เพราะว่าน้ำมันแพง ข้าวของเครื่องใช้บางอย่างก็แพงขึ้นด้วย

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา ดังนั้นทุกๆ คนก็สามารถนำไปใช้กับตนเอง ครอบครัว สังคม จนถึงระดับประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร พลเรือน ประชาชน คนรวย คนจน สามารถเอามาประยุกต์ใช้กันได้หมด
แนวคิดของหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ การตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง ไม่ประมาท โดยที่จะต้องคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้รวมกันเป็นหลักที่ปฏิบัติได้
ขอเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 มาให้ท่านได้เรียนรู้กันอีกครั้งหนึ่ง
“...คำว่าพอเพียงมีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึง การมีพอสำหรับใช้เท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน... พอมี พอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง...”
“ ...ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา ก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรจะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ … ”
“...Self-sufficiency (พึ่งตนเอง) นั้นหมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง...”
“...แต่พอเพียงนี้ มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่า พอก็พอเพียง เพียงนี้ก็พอ ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด – อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ – มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็จะอยู่อย่างเป็นสุข...”
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541)

ต่อไปขอให้ทุกท่านได้เรียนรู้จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ท่านได้อธิบายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไว้สรุปได้ว่า ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วยความพอประมาณ ซึ่งหมายถึง ความพอดี ไม่น้อยและไม่มากเกินไปจนต้องเบียดเบียนตนเองและคนอื่น ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจในระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างความมีเหตุผล โดยต้องพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
โดยจะต้องมีเงื่อนไข 2 ประการ คือ เงื่อนไขความรู้ ซึ่งประกอบไปด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ อย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณา เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ เงื่อนไขคุณธรรม ประกอบไปด้วยความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ ช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่น ทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

2. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยังได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ด้วย โดยได้มุ่งเน้นในเรื่องสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน มุ่งสร้างความสุขให้คนไทย และสังคมไทยอย่างยั่งยืน
เราลองมาเรียนรู้จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.อำพน กิตติอำพน ท่านพูดถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และจะมีความสำคัญต่อการแก้วิกฤตประเทศอย่างไร
เมื่อเริ่มจัดทำแผนนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำการศึกษาหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วจึงได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงในภาวะของโลกปัจจุบันเพื่อวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศขึ้นมา โดยทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ทำการวิเคราะห์ 5 บริบทของการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ ไว้ 5 ประการดังนี้
1. การรวมตัวของกลุ่มเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในตลาดเงินของโลก
2. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด
3. การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม
4. การเคลื่อนย้ายคนอย่างเสรี
5. การเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 จึงได้วางยุทธศาสตร์ในการจัดทำแผนพัฒนาประเทศขึ้นมา 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
2. ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ
3. ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
5. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้โดยเน้นในเรื่องของความสุขของคนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เป็นแนวทางเพื่อสร้างความสุขอันยั่งยืนนั้นให้กับประเทศไทย

3. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการน้อมนำมาประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆ
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการน้อมนำมาใช้ในภาคส่วนต่างๆ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สามารถนำมาใช้กับทุกคน ทุกหน่วยงาน และทุกๆภาคส่วน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร หากทุกคนมาร่วมกันน้อมนำหลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ ก็น่าจะช่วยให้ประเทศไทยของเรามีความสุขสงบได้
ซึ่งในขณะนี้ก็ได้มีฝ่ายต่างๆ มาช่วยกันขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นที่แพร่หลาย และนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมและปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจเสรีมีการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความสมดุล มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีรากฐานที่มั่นคง
ในส่วนภาคเกษตร และภาคเอกชนเอง จะนำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้กับได้อย่างไร
ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ด้านองค์กรธุรกิจเอกชน ในส่วนของภาคเอกชนนั้นได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างไร
ดร. อาชว์ เตาลานนท์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านองค์กรธุรกิจเอกชน ท่านได้เปรียบเทียบหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการขับรถยนต์ ซึ่งในการขับรถก็จะมีอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คันเร่ง เบรก น้ำมัน ซึ่งเวลาเราขับรถจะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งในการขับไม่ได้ เราจะเหยียบคันเร่งตลอดไม่ได้ ต้องมีผ่อน มีลดความเร็ว ต้องใช้เบรกและเพื่อความปลอดภัย ก็ควรเร่งความเร็วให้พอประมาณ เหตุผล นั่นก็คือต้องมีสติ และต้องมีความระมัดระวัง ซึ่งนั่นก็คือ หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขนั่นเอง
ท่านยังได้บอกถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับองค์กรเอกชนว่า ฝ่ายบริหารจะต้องกำหนดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นนโยบายของบริษัท และต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมตั้งแต่ฝ่ายบริหารจนถึงระดับพนักงาน นอกจากนี้ก็ต้องทำธุรกิจด้วยความมีคุณธรรม จริยธรรม ด้วยเช่นกัน ไม่นึกถึงแต่กำไรเพียงอย่างเดียวและต้องคำนึงถึงใจพนักงาน รวมถึงเข้าใจลูกค้าด้วย นอกจากนี้แล้ว ธุรกิจต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต้องคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม ทั้งคน สังคม และสิ่งแวดล้อม
เมื่อได้เรียนรู้จากภาคธุรกิจไปแล้ว ขอให้ท่านได้เรียนรู้ทางด้านภาคเกษตร คุณลุงสำรอง แตงพลับ เป็นเกษตรกรดีเด่น และเพิ่งได้รางวัลเกษตรกรผู้ผลิตผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารพิษ อันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งทางจังหวัดเพชรบุรีส่งเข้าประกวด
ท่านได้นำเอาหลักมาใช้กับการทำงานของภาคส่วนของท่านอย่างไร และท่านได้บอกวิธีในการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับชีวิตของท่านจนประสบความสำเร็จจนได้เป็นเกษตรกรตัวอย่าง
คุณลุงสำรองนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง และแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้กับงานของท่านเอง จากเดิมที่มีหนี้สินมากมาย มีบ้านหลังเล็กที่ไม่สามารถกันฝนได้ จนกระทั่งหมดหนี้ มีบ้านหลังใหญ่และมีรถปิ๊กอัพขับ แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ท่านก็ยังได้ฝากบอกด้วยว่า ข้าราชการสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้ เช่นกัน โดยต้องไม่หลง หรือโลภ มีเงินเดือนน้อยก็ต้องใช้ให้พอด้วยการอดออมประหยัด
หลังจากที่ได้เรียนรู้จากบุคคลต่างๆในแต่ละภาคส่วนที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับการทำงานในแต่ละด้าน ท่านคงจะเห็นแล้วว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นปรัชญาที่เป็นสากล เนื่องจากไม่ได้จำกัดการนำไปประยุกต์ใช้กับส่วนใดส่วนหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้ได้โดยปรับให้เหมาะสมกับการทำงาน และสิ่งแวดล้อมในงานของแต่ละส่วน

4. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับข้าราชการ
สำหรับในบริบทการบริหารงานภาครัฐซึ่งประกอบด้วยบทบาทบุคลากรของรัฐ และ บทบาทประชาชน นั้นจะสามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้ อย่างไร
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้สรุปได้ว่า
ข้าราชการต้องปฏิบัติหน้าที่โดยจะต้องอยู่บนหลักของความพอประมาณ การพอประมาณไม่ใช่ทำแต่น้อยให้พอเสร็จๆไป แต่พอประมาณ หมายถึง การประเมินความสามารถของเราว่ามีแค่ไหน แล้วทำให้เต็มที่กับความสามารถที่เรามี นอกจากนี้เราจะต้องมีเหตุมีผล ต้องมีการวิเคราะห์และไตร่ตรองทุกครั้งเมื่อทำงาน รวมทั้งต้องสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีให้กับตนเอง
การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับตนเองได้โดยไม่ยากเลย ซึ่งท่านก็ได้เล่าว่าในสิ่งที่ท่านได้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันเราต้องบริหารกิเลสตัณหา อย่าให้กิเลสตัณหามาบริหารเรา ใช้ชีวิตอย่างมีสติ สิ่งใดที่ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น ก็ไม่จำเป็นต้องหามาเพื่อสนองความอยากความต้องการของตัวเอง ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้มีประโยชน์กับตัวท่านเอง ซึ่งถ้าเราสามารถปฏิบัติได้ก็จะสามารถเป็นตัวอย่างให้กับครอบครัว ทำให้ครอบครัวของท่านปฏิบัติตามได้ด้วย

นอกจากนี้นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการก.พ. ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้ สรุปได้ว่าข้าราชการนั้นจะต้องพยายามทำความเข้าใจกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ถ่องแท้ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติราชการได้ด้วยการคำนึงถึงความพอเพียงทั้งในการใช้ความรู้ ความสามารถของตน และสามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีการคิดดี พูดดี ทำดี และปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต และตระหนักถึงถึงความเป็นข้าราชการที่ดี เพื่อที่จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม
การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับตัวข้าราชการ ในฐานะที่เป็นบุคลากรของรัฐ
ในมุมมองของคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ได้กล่าวว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น สามารถประยุกต์ใช้ได้กับคน ทุกระดับ ทุกอาชีพ ดังนั้นพวกเราข้าราชการก็สามารถน้อมนำมาใช้สำหรับชีวิตประจำวันของพวกเราได้เช่นกัน ด้วยการนำหลักพอเพียง พอประมาณ มีเหตุมีผล รวมถึงหลักภูมิคุ้มกันที่ดีมาใช้กับตนเองด้วย การประหยัด อดออม มีน้อยใช้น้อย ไม่ใช้จ่ายเกินตัว


5. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบราชการ

สำนักงาน ก.พ. ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะให้ส่วนราชการต่างๆ รวมถึงเหล่าข้าราชการได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในส่วนราชการ ใน 2 หัวข้อใหญ่ คือ

1. เรื่องของการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์
2. เรื่องการจัดทำแผนงาน
ในเรื่องของการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์นั้น ต้องตั้งอยู่ในหลักของเหตุและผล รวมทั้งให้ประเมินศักยภาพของหน่วยงานของเราว่าทำอะไร มีหน้าที่อะไร และใครเป็นผู้รับบริการ ซึ่งหน่วยงานต้องพิจารณาให้ดีว่า นโยบายหรือกลยุทธ์ของหน่วยงานของเราสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่ต้องการรับบริการหรือไม่


ส่วนเรื่องของการจัดทำแผนงานนั้น ต้องตั้งอยู่บนหลักพอประมาณโดยต้องประเมินศักยภาพของหน่วยงานของเราว่าจะทำตามแผนงานได้เท่าใด และจะทำได้อย่างไร ดังนั้นจึงต้องไม่วางแผนจนเกินตัวจนไม่สามารถทำได้จริง รวมถึงให้ใช้ความสามารถและทรัพยากรของหน่วยงานของเราได้อย่างเต็มที่


อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่สามารถน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้ก็คือ เรื่องของการบริหารงานบุคคล

ในส่วนราชการ การบริหารงานบุคคลนั้นได้มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ด้วย เราแบ่งงานด้านการบริหารงานบุคคลออกเป็น 4 ด้านด้วยกัน ก็คือ


1. การสรรหา
2. การพัฒนา
3. การรักษาไว้
4. การใช้ประโยชน์


สำนักงาน ก.พ. แนะแนวทางและการประยุกต์ใช้กับงานบริหารงานบุคคล สรุปได้ดังนี้
ในเรื่องของการสรรหา แต่งตั้ง และบรรจุข้าราชการนั้น เราสามารถใช้หลักการของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างครบถ้วน นับตั้งแต่
การสรรหาบุคคลนั้น จะต้องดำเนินการสรรหาตามหลักการของระบบคุณธรรม คือ ผู้ที่ดำเนินการสรรหา จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรม ไม่มีอคติ หรือเอนเอียง เข้าข้างผู้เข้ารับการสรรหาคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ

หลักต่อมาจะต้องใช้หลักของความมีเหตุผล คือ ต้องใช้เหตุและผลในการคัดเลือกบุคคล เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามรถจริงๆ เข้ามารับราชการ
ส่วนในหลักของความพอประมาณนั้นคือ การดำเนินการในกระบวนการสรรหาที่คุ้มค่า ไม่สิ้นเปลื้อง แต่สามารถคัดเลือกบุคคลที่เป็นคนดี คนเก่ง เข้ามารับราชการได้ นี่เป็นในส่วนของการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ

สำหรับในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร ขอให้ยึดหลักของความมีเหตุมีผล นั่นคือ ให้พัฒนาข้าราชการตามความจำเป็น และควรมีการศึกษาความต้องการในการพัฒนาก่อน เพื่อที่ได้รับรู้ความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่ต้องเข้ารับการพัฒนา และไม่ต้องเสียงบประมาณไปในเรื่องที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนา


อีกหนึ่งหลักที่ใช้ได้ก็คือ หลักของการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี นั่นคือ ข้าราชการที่ได้รับการพัฒนาแล้วจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีคุณธรรม เช่น ขยัน อดทน พากเพียร ซื่อสัตย์สุจริต ทั้งนี้จะได้มีความสามารถที่จะรับรองการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้และพร้อมรับมือกับปัญหาหรือวิกฤตตลอดจนสามารถหาวิธีในการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสมได้


ในหัวข้อการรักษาไว้นั้น สามารถใช้หลักความมีเหตุมีผล โดยการให้สิ่งจูงใจในการทำงาน


ที่ตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์โดยพื้นฐานได้ รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการควรจะได้รับ รวมถึงหลักประกันที่มั่นคงในการทำงาน แต่ทั้งนี้ต้องมีเหตุผลในการให้ไม่ใช่ให้เพราะเป็นคนที่เราชอบ หรือเป็นพวกเราแต่ต้องให้เพราะบุคคลนั้นสมควรที่จะได้รับจริงๆ อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีเหตุผลในการให้


ในการใช้ประโยชน์จากบุคลากร ควรเริ่มกันตั้งแต่การแต่งตั้ง คือ การแต่งตั้งบุคคลให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งการมอบหมายงานก็ควรชัดเจน ถูกต้อง และเหมาะสมกับความรู้ความสามารถของบุคคลนั้น ต้องมีการประเมินสมรรถนะของบุคคลที่เราต้องการใช้ประโยชน์จากข้าราชการแต่ละคนและต้องสร้างสมดุลในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้กับข้าราชการด้วย


ส่วนในเรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับระบบราชการ และในเรื่องของการบริหารการเงิน สรุปออกมาเป็นประเด็นดังนี้ ในเรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีนั้น ต้องมีหลักประกันในเรื่องของการการพิทักษ์ระบบคุณธรรม โดยต้องมีกลไกในการที่จะปกป้องข้าราชการให้ได้รับความเป็นธรรมในด้านต่างๆ รวมทั้งต้องสร้าง และพัฒนาข้าราชการให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วย


ส่วนการบริหารการเงินของส่วนราชการนั้นต้องตระหนักว่า


1. ต้องใช้งบประมาณอย่างสมเหตุสมผล เพราะต้องไม่ลืมว่างบประมาณนั้นเป็นเงินของแผ่นดินที่ได้มาจากประชาชนผู้เสียภาษีและนำมาจัดสรรให้ข้าราชการนำมาใช้จ่ายเพื่อพัฒนาประเทศ
2. ต้องใช้งบประมาณนั้นโดยมุ่งให้เป็นประโยชน์ที่สูงสุดกับประเทศชาติและประชาชน
3. ต้องมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม ลดหลั่นกันไปตามความจำเป็น
4. ต้องมีเหตุผลในการจ่ายงบประมาณ


ในการเรียนรู้เกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการบริหารงานบุคคลในด้านต่างๆ จะขอสรุปในภาพรวมให้ท่านได้เรียนรู้ โดยแบ่งออกมาเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การบริหารจัดการภายในส่วนราชการและส่วนที่สอง คือ การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐในราชการ

สำหรับการบริหารจัดการภายในส่วนราชการนั้น เราสามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นองค์ความรู้เพื่อวางรากฐานการบริหารจัดการในส่วนราชการให้เป็นไปโดยสุจริต เป็นธรรม โปร่งใส และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน อำนวยประโยชน์ให้เกิดกับประชาชนได้อย่างแท้จริงตลอดไป และจะเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่ส่วนราชการในการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 8 ด้าน ดังต่อไปนี้


ด้านที่ 1. การบริหารจัดการระบบข้อมูลของส่วนราชการ
ด้านที่ 2. การบริหารจัดการระบบการสื่อสารของส่วนราชการ
ด้านที่ 3. การบริหารจัดการระบบการตัดสินใจของส่วนราชการ
ด้านที่ 4. การบริหารจัดการระบบการตรวจสอบถ่วงดุลของส่วนราชการ
ด้านที่ 5. การบริหารจัดการระบบการมีส่วนร่วมของส่วนราชการ
ด้านที่ 6. การบริหารจัดการระบบการบริการประชาชนของส่วนราชการ
ด้านที่ 7. การบริหารจัดการระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ
ด้านที่ 8 การบริหารจัดการความเสี่ยงของส่วนราชการ

ด้านที่ 1 การบริหารจัดการระบบข้อมูลของส่วนราชการ ในด้านนี้จะให้ส่วนราชการจัดทำระบบข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารงานของส่วนราชการให้มีลักษณะดังนี้


1. ข้อมูลครอบคลุมพื้นที่ทั้งในระดับต่างๆ เช่น ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ
2. ข้อมูลจะต้องมีความถูกต้องและมีการปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ
3. ข้อมูลต้องมีความทันสมัยพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสามารถเชื่อมโยงผ่านระบบเครือข่าย นำไปใช้ประโยชน์อย่างรวดเร็ว


สำหรับการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการระบบข้อมูลของส่วนราชการจะต้องดำเนินการและนำไปใช้งานด้วยความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวังอย่างมีสติ มีเหตุ มีผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะและความต้องการของประเทศ มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์


ด้านที่ 2 คือ การบริหารจัดการระบบการสื่อสารของส่วนราชการ แต่ละส่วนราชการต้องจัดทำระบบการสื่อสาร เพื่อใช้ในการบริหารงานของส่วนราชการ ดังนี้


1. ควรจัดให้มีระบบการสื่อสารภายในและภายนอกของส่วนราชการให้มีประสิทธิภาพ อย่างเช่น ให้มีระบบเสียงตามสาย ระบบ E-mail และ Internet สำหรับงานระบบงานสารบรรณก็ควรจัดให้มีการ On-Line ทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก
2. ให้มีระบบการสื่อสารสองทาง ระหว่างองค์การกับประชาชนเป้าหมาย โดยมีเนื้อหาที่เป็นสารประโยชน์ นำเสนออย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการ การป้องกันโรคติดต่อ การป้องกันอัคคีภัยและเพื่อการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในรูปของเอกสาร จดหมายข่าว หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น
สำหรับการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการระบบการสื่อสารของส่วนราชการนั้น จะต้องดำเนินการด้วยความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง มีคุณธรรม มีเหตุมีผล ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และทำให้ส่วนราชการมีการพัฒนาที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน


ด้านที่ 3 การบริหารจัดการระบบการตัดสินใจมาใช้ในการบริหารงานของส่วนราชการ โดยยึดหลักการดังนี้
1. หลักประชาธิปไตย คือ รับฟังเสียงประชาชน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ผู้บริหาร และหน่วยงานข้างเคียง เพื่อให้ทุกฝ่ายช่วยเสนอความเห็นได้ร่วมในการตัดสินใจ ทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียด้านเวลา ความคิด แรงงาน ลดความขัดแย้งในการทำงานที่จะเกิดขึ้น
2. ในการบริหารจัดการระบบการตัดสินใจของส่วนราชการนั้น การมอบอำนาจและกระจายอำนาจจะเป็นไปในรูปของคณะกรรมการ คณะทำงานที่มุ่งประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ และสัมฤทธิผล เป็นธรรม ถูกต้องและเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบรู้ ได้ข้อมูลจากทุกฝ่าย
การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้การบริหารจัดการระบบการตัดสินใจของส่วนราชการจะต้องทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง มีความซื่อสัตย์สุจริต ถูกต้อง โปร่งใสและการบริหารงานมีความเป็นธรรม โปร่งใส่ มีเหตุผล มุ่งผลสัมฤทธิ์ ทันต่อเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ


ด้านที่ 4 คือ ในการบริหารจัดการระบบการตรวจสอบถ่วงดุลของส่วนราชการมาใช้ในการบริหารงาน ควรให้ส่วนราชการทำดังนี้
1. มีการตรวจสอบถ่วงดุลเกี่ยวกับแผนงาน เช่น ให้มีปฏิทินการจัดทำแผนงานประจำปี มีการพิจารณาแผนงานตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับบน และแก้ไขปรับปรุงได้ และเป็นไปตามความต้องการของประชาชน ตรวจสอบผลงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย และตรวจสอบการบริหารภายในเกี่ยวกับบัญชีการเงิน การใช้งบประมาณ การใช้ทรัพยากรของทางราชการให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ
2. ควรมีระบบผู้ตรวจการ คือ ให้มีผู้ตรวจราชการกรมและกระทรวงต่างๆ ตรวจสอบผลการปฏิบัติงานตามแผนงาน การใช้จ่ายงบประมาณ โดยใช้ภาคเอกชนและประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว


ในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการระบบการตรวจสอบถ่วงดุลของส่วนราชการ จะต้องดำเนินด้วยความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้การดำเนินงานของส่วนราชการเป็นไปด้วยความมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน


ด้านที่ 5 คือ การบริหารจัดการระบบการมีส่วนร่วมของส่วนราชการ ต้องให้ส่วนราชการจัดทำระบบการมีส่วนร่วมมาใช้ในการบริหารงาน ดังนี้


1. ให้ผู้รับบริการและหน่วยงานข้างเคียงจากสภาพแวดล้อมภายนอกได้มีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมวางแผน ตัดสินใจ ร่วมทำ ติดตาม ประเมินผล ร่วมรับผิดชอบและปรับปรุงแก้ไข โดยจะต้องระดมพลังจากทุกฝ่ายดำเนินการเรื่องดังกล่าว
2. ให้สมาชิกองค์การและผู้บริหารในหน่วยงาน มีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือเกี่ยวกับสภาพปัญหา การแก้ไขปัญหา และพัฒนาวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในการบริหารงานตามภารกิจของส่วนราชการซึ่งจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ รอบรู้ ระมัดระวัง ตัดสินใจ ดำเนินการอย่างมีสติปัญญา มีเหตุผล มีคุณธรรม เกิดภูมิคุ้มกันที่ดี ทำให้การบริหารจัดการในส่วนราชการเป็นไปอย่างสมดุล มั่นคงยั่งยืน พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง


การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการระบบการมีส่วนร่วมของส่วนราชการจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ รอบรู้ ระมัดระวัง ตัดสินใจ ดำเนินการอย่างมีสติปัญญา มีเหตุผล มีคุณธรรม เกิดภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ทำให้การบริหารจัดการในส่วนราชการเป็นไปอย่างสมดุล มั่นคง ยั่งยืน พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง
ด้านที่ 6 คือ การบริหารจัดการระบบการบริการประชาชนของส่วนราชการ ต้องให้ส่วนราชการจัดระบบการให้บริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เสียค่าบริการที่เหมาะสมพอคุ้มทุน ไม่หวังผลกำไร มีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง บริการทั่วถึงเพียงพอต่อเนื่อง เป็นธรรม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ สุจริต โปร่งใส รับผิดชอบ เป็นที่พึงพอใจของผู้รับบริการ


ในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการระบบการบริการประชาชนของส่วนราชการนั้น จะต้องดำเนินการด้วยความรอบรู้ ระมัดระวัง รอบคอบ ขยัน อดทน มีความเพียร พอประมาณ มีคุณธรรม เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน


ด้านที่ 7 คือ คือ การบริหารจัดการระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ จะต้องประกอบด้วย
1. ประสิทธิภาพเพื่อดูผลิตภาพต่อหน่วย กำลังคน ผลิตภาพต่อเวลา
2. ประสิทธิผลเพื่อดูการบรรจุเป้าหมายเทียบกับค่าใช้จ่าย
3. ความก้าวหน้าเพื่อดูสัดส่วนกิจกรรมที่แล้วเสร็จ
4. ความประหยัดเพื่อดูจำนวนทรัพยากรการจัดการที่ประหยัดได้
5. ความพึงพอใจเพื่อดูความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้รับบริการ
6. ความสอดคล้องเพื่อดูปัญหากับมาตรการแก้ไขว่าตรงกัน และสนองตอบต่อกลุ่มเป้าหมายหรือไม่
7. สัมฤทธิผลเพื่อดูการบรรลุเป้าหมายสุดท้าย
8. ผลกระทบเพื่อดูผลกระทบ ด้านสังคมจิตวิทยา สิ่งแวดล้อมที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนา
9. ความยังยืนเพื่อดูความสามารถในการอยู่รอดได้ในเชิงเศรษฐกิจและโอกาสในการขยายผลซึ่งการดำเนินการดังกล่าว
ทำให้ส่วนราชการมีความรอบรู้ถึงผลการปฏิบัติงานมีความรอบคอบในการปฏิบัติงานมากขึ้น และปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง ซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุผล มีความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์


ด้านที่ 8 คือ การบริการจัดการความเสี่ยงของส่วนราชการ
ส่วนราชการศึกษาจะต้องสำรวจและระบุหรือกำหนดว่าส่วนราชการมีความเสี่ยงจากปัจจัยในส่วนราชการที่เป็นไปได้ว่ามีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในอดีต และที่อาจจะเกิดขึ้นว่ามีความรุนแรงและผลกระทบอย่างไรบ้าง เช่น ความเสี่ยงเกี่ยวกับการโยกย้ายบุคลากรหรือบุคลากรขาดทักษะในการปฏิบัติงานและขาดการพัฒนาฝึกอบรม การเปลี่ยนผู้บริการบ่อยก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะจะทำให้นโยบายขาดความต่อเนื่อง นอกจากนี้ก็ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฯลฯ เพื่อให้ส่วนราชการวางแผนจัดการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น


ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินการด้วยความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง มีความอดทน พากเพียรในการปฏิบัติงาน ต้องใช้สติปัญญาในการดำเนินการและสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีให้กับส่วนราชการ จะทำให้ส่วนราชการเกิดความมั่นคงปลอดภัยพร้อมรับกับภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น


ในด้านการบริหารงานทรัพยากรบุคคลภาครัฐในราชการนั้น จะเห็นได้ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถน้อมนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะครอบคลุมทั้งในเรื่อง ความมีเหตุผล ความพอประมาณ และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี


1. การวางแผนทรัพยากรบุคคล
ในการวางแผนทรัพยากรบุคคลนั้นเราสามารถทำได้โดยอันดับแรก
1.1 เราต้องศึกษาวิจัยจำนวนกำลังคนหรือบุคคลและความสามารถทักษะของบุคคลที่ต้องการในส่วนราชการ เพื่อให้การทำงานของส่วนราชการบรรลุเป้าหมาย
1.2 จัดทำแผนรองรับกำลังคนที่ต้องการหรือที่ขาดหายไป และเป็นที่ต้องการของส่วนราชการ
1.3 สร้างโอกาสการจ้างงานที่เท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงเพศ ฐานะ หรือภูมิลำเนา
1.4 ลดจำนวนกำลังคนที่มีมากเกินไป
ในการวางแผนทรัพยากรบุคคลนั้นส่วนราชการจะต้องดำเนินการด้วยความรอบรู้ รอบคอม ระมัดระวัง มีเหตุผล สร้างความเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ส่วนราชการมีการวางแผนทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสม และสามารถดำเนินการตามภารกิจจนเกิดผลสัมฤทธิ์


2. การสรรหา
สำหรับหัวข้อการสรรหานั้น ส่วนราชการควรดำเนินการสรรหาบุคคลเข้าทำงาน ดังนี้
2.1 ศึกษาและดำเนินการสรรหาบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบทุกขั้นตอนที่กำหนดไว้ ด้วยความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง
2.2 สรรหาบุคคลโดยวิธีจากภายในและภายนอก ควรใช้เหตุผล ความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการทำงานให้แก่ส่วนราชการ
2.3 ดำเนินการสรรหาบุคคล ต้องยึดนโยบายโปร่งใส เสมอภาค เป็นธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและตรวจสอบได้


สำหรับวิธีในการดำเนินการรับสมัครควรปฏิบัติดังนี้


1. ส่วนราชการจะต้องประกาศรับสมัครให้ทุกคนทราบอย่างทั่วถึงและเปิดเผย
2. จะต้องประกาศล่วงหน้าให้ทราบอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 10 วันทำการ โดยใช้สื่อที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
3. ต้องตรวจสอบคุณสมบัติและประสบการณ์ของบุคคลด้วยความรอบคอบและถูกต้อง หากเป็นการสรรหาจากบุคคลภายใน ส่วนราชการควรแจ้งให้บุคคลทราบก่อนประกาศเป็นทางการและบุคคลที่เป็นข้าราชการอยู่ในระหว่างการลาควรได้รับการแจ้งให้ทราบตามสิทธิด้วย
4. ควรให้มีการรับสมัคร ทดลองให้คัดเลือกอย่างสม่ำเสมอ
5. ควรให้โอกาสในการสรรหาแก่ผู้ด้อยโอกาส ชนกลุ่มน้อย สตรี และผู้สูงอายุ โดยอาจใช้หลักเกณฑ์เฉพาะที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของส่วนราชการ โดยอยู่บนพื้นฐานของความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง เสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


3. การคัดเลือก
สำหรับการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ ส่วนราชการต้องดำเนินการคัดเลือกบุคคล เพื่อให้ได้บุคคลที่ดีที่สุด มีความรู้ความสามารถในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามความต้องการของส่วนราชการ โดยวิธีการทดสอบ สัมภาษณ์ ตรวจสอบภูมิหลัง ตรวจสอบอ้างอิง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

3.1 คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส่ เป็นธรรม ไม่ใช้วิธีไม่สุจริตหรือระบบอุปถัมภ์
3.2 ใช้กระบวนการคัดเลือกด้วยวิธีการที่พอประมาณไม่สร้างภาระแก่ผู้สมัคร
3.3 ดำเนินการคัดเลือกด้วยความถูกต้อง เที่ยงตรง เชื่อถือได้ ยุติธรรม โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ
3.4 ตรวจสอบให้มีความถูกต้องตามกฎหมาย และป้องกันไม่ให้มีความไม่รอบคอบในการจ้างงาน


4. การฝึกอบรมและพัฒนา

การฝึกอบรมและพัฒนา ส่วนราชการต้องดำเนินการฝึกอบรมและพัฒนาบุคคลด้วยความรอบคอบ และเพียงพอตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้
4.1 ต้องอบรมและพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและประสบการณ์ในการทำงานที่เพียงพอ โดยขยายการฝึกอบรมเพิ่งเติมแก่บุคคลที่ทำงานตามกระบวนการที่เป็นอันตรายในการปฏิบัติงาน และให้การคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของผู้เข้ารับการอบรม
4.2 อบรมตามความจำเป็นและตามความต้องการของส่วนราชการ ไม่ฟุ่มเฟือย แต่เกิดประโยชน์และคุ่มค่าแก่ส่วนราชการ
4.3 สร้างองค์ความรู้แก่บุคคลในส่วนราชการอย่างต่อเนื่อง
4.4 พัฒนาผู้บริหารของส่วนราชการให้มีคุณธรรม ส่งเสริมความก้าวหน้า และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เอื้อต่อการทำงาน

5. การรักษาและใช้ประโยชน์จากบุคคล

และสำหรับในหัวข้อสุดท้าย คือ การรักษาและใช้ประโยชน์จากบุคคล ให้ส่วนราชการดำเนินการรักษาและใช้ประโยชน์จากบุคลากร โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้เพื่อรักษาและใช้ประโยชน์จากบุคคลที่ดี มีคุณค่า และมีความรู้ความสามารถให้อยู่ในส่วนราชการ ดังนี้
5.1 ศึกษาวิเคราะห์วิจัยเพื่อหาปัจจัยที่ส่งเสริมให้บุคคลอยู่ในส่วนราชการไม่ออกจากงาน เพื่อวางแนวทางสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีไว้ล่วงหน้า
5.2 กำหนดนโยบายและแผนงานที่ชัดเจน ในการอบรมพัฒนาบุคคลในส่วนราชการ และให้มีความก้าวหน้าในการทำงาน โดยใช้หลักความเป็นธรรม ความเสมอภาค ความโปร่งใส่ เพื่อให้ได้รับความเชื่อถือและการยอมรับจากบุคคลในส่วนราชการ
5.3 มีระบบการบริหารค่าตอบแทน/สวัสดิการ และรางวัลที่เป็นธรรม เพื่อจูงใจให้บุคคลอยู่ในราชการและทำประโยชน์ให้แก่ราชการมีความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตนให้กับทางราชการ
5.4 ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคคลในส่วนราชการ เช่น การทำงานโดยผ่านเทคโนโลยี โดยให้ทำงานที่บ้าน ทำงานวันเสาร์ – วันอาทิตย์ เป็นต้น
การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการบริหารจัดการภายในส่วนราชการและการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ จะเห็นได้ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายที่ส่วนราชการสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการภายในส่วนราชการ และการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐได้อย่างสมบูรณ์ แต่ละส่วนราชการสามารถใช้เงื่อนไขความรู้ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) และเงื่อนไขคุณธรรม (ซื่อสัตย์ ขยันอดทน มีความเพียร มีสติ มีปัญญา แบ่งปัน) มาใช้เป็นมรรควิธีในการบริหารจัดการ โดยควบคู่ไปกับการยึดหลักทางสายกลางซึ่งได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มาเป็นองค์ประกอบ ทั้งนี้เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ สามารถบริหารจัดการได้โดยเกิดความสำเร็จ มีการพัฒนาอย่างสมดุล ด้วยความมั่นคง ยั่งยืน พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ก้าวทัน สามารถจัดการ และสนองตอบต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างมีสัมฤทธิผล

หลังจากที่ได้เรียนรู้ เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านแล้ว หวังว่าทุกท่านคงจะได้เข้าใจกันในเรื่องของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กันอย่างถ่องแท้มากขึ้น เศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ใช่เรื่องของการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว และก็ไม่ใช่เรื่องของใครผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ซึ่งทุกคนสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ได้หมด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชี้แนะหนทางเพื่อที่จะให้ประเทศไทยได้อยู่รอดปลอดภัย สามารถพึ่งตนเอง และพร้อมที่จะรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะต้องประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอีกกี่หน ไม่ว่าโลกของเราจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน หรือมีสถานการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นขอให้ทุกท่านได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ


ที่มา : มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด
User avatar
network1974
 
Posts: 138
Joined: Fri Mar 11, 2011 6:39 pm

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby sareesri_39 » Tue Apr 12, 2011 11:20 am

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกร ชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อ ภายหลังได้ทรงย้ำแนวทางการแก้ไข เพื่อให้ รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความ เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังปรัชญา เศรษฐกิจพอ เพียงที่ได้พระราชทานไว้ดังนี้
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึง แนวทางดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชน ในทุกระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึง ระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการ พัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวหน้าต่อโลกยุค โลกาภิวัตน์ ความพอเพียงหมายถึง ความพอ ประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อมามีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการ เปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และ ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการ ต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนิน การทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้อง เสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดย เฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนัก ธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความ ซื่อสัตย์ สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และ กว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
User avatar
sareesri_39
 
Posts: 306
Joined: Mon Oct 11, 2010 10:03 am

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby signal » Wed Apr 13, 2011 10:01 am

“คนอื่นเขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยแบบพอมีพอกิน มีความสงบและตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธานในทางที่จะทำให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้”
User avatar
signal
 
Posts: 52
Joined: Wed Apr 13, 2011 9:34 am

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby kuron23 » Sun Apr 17, 2011 11:22 pm

ในหลวงทรงเข้าใจในความเป็นไปของเมืองไทยและคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างไกล ได้ทรงวางรากฐานในการพัฒนาชนบท และช่วยเหลือประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้มีความ " พออยู่พอกิน" และมีความอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องติดยึดอยู่กับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ ทรงวิเคราะห์ว่าหากประชาชนพึ่งตนเองได้แล้วก็จะมีส่วนช่วยเหลือเสริมสร้างประเทศชาติโดยส่วนรวมได้ในที่สุด พระราชดำรัสที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ในการสร้างความเข้มแข็งในตนเองของประชาชนและสามารถทำมาหากินให้พออยู่พอกินได้
User avatar
kuron23
 
Posts: 407
Joined: Thu Jul 22, 2010 8:34 am

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby VEE99999 » Tue Apr 19, 2011 8:15 am

ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะจัดลำดับความสำคัญของ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” มูลค่านั้นขาดจิตวิญญาณ
เพราะเป็นเศรษฐกิจภาคการเงิน ที่เน้นที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่จำกัดซึ่งไร้ขอบเขต ถ้าไม่สามารถควบคุมได้การใช้ทรัพยากรอย่างทำลายล้างจะรวดเร็วขึ้นและปัญหาจะตามมา เป็นการบริโภคที่ก่อให้เกิดความทุกข์หรือพาไปหาความทุกข์ และจะไม่มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์ในการบริโภค ที่จะก่อให้ความพอใจและความสุข (Maximization of Satisfaction) ผู้บริโภคต้องใช้หลักขาดทุนคือกำไร (Our loss is our gain) อย่างนี้จะควบคุมความต้องการที่ไม่จำกัดได้ และสามารถจะลดความต้องการลงมาได้ ก่อให้เกิดความพอใจและความสุขเท่ากับได้ตระหนักในเรื่อง “คุณค่า”
จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ ไม่ต้องไปหาวิธีทำลายทรัพยากรเพื่อให้เกิดรายได้มาจัดสรรสิ่งที่เป็น “ความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุด” และขจัดความสำคัญของ “เงิน” ในรูปรายได้ที่เป็นตัวกำหนดการบริโภคลงได้ระดับหนึ่ง แล้วยังเป็นตัวแปรที่ไปลดภาระของกลไกของตลาดและการพึ่งพิงกลไกของตลาด ซึ่งบุคคลโดยทั่วไปไม่สามารถจะควบคุมได้ รวมทั้งได้มีส่วนในการป้องกันการบริโภคเลียนแบบ (Demonstration Effects) จะไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย จะทำให้ไม่เกิดการบริโภคเกิน (Over Consumption) ซึ่งก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน
User avatar
VEE99999
 
Posts: 378
Joined: Sat Aug 14, 2010 10:32 am

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby น้ำตก » Tue Apr 19, 2011 1:19 pm

การทำการเกษตรนิดๆ หน่อย ๆ การทำส่วนผสม
หรือการเลี้ยงสัตว์ ก็ถือเป็นเศรษฐกิจพอเพียง
เหมือนกัน
User avatar
น้ำตก
 
Posts: 370
Joined: Wed Sep 08, 2010 9:32 pm

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby VEE99999 » Wed Apr 20, 2011 3:07 pm

พระราชดำรัสที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
“...เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาของเศรษฐกิจ การที่ต้องใช้รถไถต้องไปซื้อ
เราต้องใช้ต้องหาเงินมาสำหรับซื้อน้ำมันสำหรับรถไถ เวลารถไถเก่าเราต้องยิ่งซ่อมแซม
แต่เวลาใช้นั้นเราก็ต้องป้อนน้ำมันให้เป็นอาหาร เสร็จแล้วมันคายควัน
ควันเราสูดเข้าไปแล้วก็ปวดหัว ส่วนควายเวลาเราใช้เราก็ต้องป้อนอาหาร
ต้องให้หญ้าให้อาหารมันกิน แต่ว่ามันคายออกมา ที่มันคายออกมาก็เป็นปุ๋ย
แล้วก็ใช้ได้สำหรับให้ที่ดินของเราไม่เสีย...”
พระราชดำรัส เนื่องในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙
User avatar
VEE99999
 
Posts: 378
Joined: Sat Aug 14, 2010 10:32 am

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby bluedog » Wed Apr 20, 2011 5:06 pm

" … ขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน
มีความสงบและทำงานตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธาน
ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพอกิน
ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่มีความความพออยู่พอกิน มีความสงบ
เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้
เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ …
ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความคิดและมีอิทธิพล
มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความคิดเหมือนกัน
ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำพอควร
พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้
ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล "

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา 23 ธันวาคม 2542
User avatar
bluedog
 
Posts: 146
Joined: Fri Mar 11, 2011 1:52 pm

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby bluedog » Wed Apr 20, 2011 5:08 pm

" เศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า Sufficiency Economy
… คำว่า Sufficiency Economy นี้ไม่มีในตำราเศรษฐกิจ.
จะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่
… Sufficiency Economy นั้น ไม่มีในตำรา
เพราะหมายความว่าเรามีความคิดใหม่ …
และโดยที่ท่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่า
เราก็สามารถที่จะไปปรับปรุง หรือไปใช้หลักการ
เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศและของโลกพัฒนาดีขึ้น. "

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542
User avatar
bluedog
 
Posts: 146
Joined: Fri Mar 11, 2011 1:52 pm

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby sweet2011 » Sun Apr 24, 2011 8:59 pm

พระองค์ท่านทรงทำประโยชน์สุขเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
User avatar
sweet2011
 
Posts: 179
Joined: Sat Feb 05, 2011 10:41 am

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby สมศรี422อาร์ » Mon Apr 25, 2011 3:10 pm

การนำปรัชญาเศรฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันนั้น
เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงข้าวยากหมากแพงอย่างในปัจจุบันนี้
หากเราปฏิบัติตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้ก็จะใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุข
ไม่ดิ้นรน ไม่แสวงหาสิ่งที่มากมายเกินพอดี
ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ
User avatar
สมศรี422อาร์
 
Posts: 208
Joined: Sun Oct 17, 2010 1:27 pm

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby ปลาบู่ทะเล » Fri Apr 29, 2011 8:53 pm

นี้แหละพระปรีชาสามารถของพระองค์ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ
User avatar
ปลาบู่ทะเล
 
Posts: 208
Joined: Thu Jul 22, 2010 9:11 am

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby NUBO » Fri Apr 29, 2011 9:08 pm

พระองค์อยากให้คนไทยรู้จักใช้
รู้จักพอเพียง คำว่าพอเพียงมีความหมาย
อยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว
User avatar
NUBO
 
Posts: 236
Joined: Thu Jul 22, 2010 4:00 pm

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby chaobaan » Sat Apr 30, 2011 8:03 pm

พระองค์ทรงให้หลักเศรษฐกิจพอเพียงนำมาปรับใช้กับทุกๆ เรื่อง ถ้าเราปฏิบัติกันมาตั้งแต่แรก
เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศไทยและคนไทยก็จะไม่ต้องเดือดร้อนกันถึงขนาดนี้
User avatar
chaobaan
 
Posts: 288
Joined: Tue Aug 17, 2010 7:28 pm

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby รักเมืองไทย55 » Tue Aug 23, 2011 5:20 pm

ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานเทียบ
ได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการ
ที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหา
ในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่ง
ได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่า
ใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว
User avatar
รักเมืองไทย55
 
Posts: 476
Joined: Tue Aug 24, 2010 11:12 am

Re: หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Postby militaryloveking » Wed Aug 24, 2011 8:56 am

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหากพวกเราพร้อมใจกันนำมาปฏิบัติจะช่วยให้ประเทศชาติของเรารอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ
User avatar
militaryloveking
 
Posts: 587
Joined: Tue May 24, 2011 9:27 am


Return to ห้องเฉลิมพระเกียรติ



cron