ในหลวงกับคอมพิวเตอร์

เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับพระราชวงศ์ไทย เทิดพระเกียรติในหลวงและราชวงศ์จักรีที่ห้องนี้ครับ
Forum rules
- ห้ามใช้คำพูดหยาบคาย
- ห้ามโพสกระทู้หรือข้อความที่ดูหมิ่นเสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอันขาด

ในหลวงกับคอมพิวเตอร์

Postby network1974 » Thu Jul 14, 2011 1:44 pm

ในหลวงกับคอมพิวเตอร์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระทัยใฝ่รู้และทรงศึกษาอย่างจริงจัง ลึกซึ้งในการค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนาในทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ทรงเห็นความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่ง ทรงสนับสนุนการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในด้านส่วนพระองค์นั้น ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ และทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชภารกิจต่างๆ ทั้งยังทรงเคยประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนเพื่อทรงอวยพรปวงชนชาวไทย
ความเป็นมาที่พระองค์ท่านทรงเริ่มใช้คอมพิวเตอร์นั้น ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้ตกลงใจซื้อคอมพิวเตอร์แมคอินทอชพลัส อันเป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ ม.ล.อัศนี เลือกเครื่องนี้ เพราะสามารถเก็บและพิมพ์โน้ตเพลงได้ การเรียนรู้และใช้งานไม่ยาก ทั้งยังอาจเชื่อมต่ออุปกรณ์พิเศษสำหรับเล่นดนตรีตามโน้ตเพลงที่เก็บไว้ได้ด้วย ตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานส่วนพระองค์ทางด้านดนตรี โดยทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการป้อนโน้ตเพลงและเนื้อร้อง พระองค์ท่านทรงศึกษาวิธีการใช้เครื่องและโปรแกรมที่เกี่ยวข้องด้วยพระองค์เอง
สำหรับเรื่องอักขระคอมพิวเตอร์หรือฟอนต์ (Font) นั้นเป็นที่สนพระราชหฤทัย ก็เพราะหลังจากที่พระองค์ท่านได้ทรงศึกษา และใช้คอมพิวเตอร์ทำโน้ต คือเมื่อประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. 2529 และทรงทดลองใช้โปรแกรม "Fontastic" เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 สิ่งที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษคือการประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยหลายแบบ เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ ฯลฯ ทรงสนพระทัยประดิษฐ์อักษรขนาดใหญ่ที่สุดจนถึงขนาดเล็กที่สุด นอกจากนี้ยังตั้งพระทัยในการประดิษฐ์อักษรภาษาอื่นๆ เพิ่มขึ้น คือภาษาสันสกฤต และทรงดำริจะประดิษฐ์อักษรภาษาญี่ปุ่น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มประดิษฐ์ รับสั่งว่าต้องใช้เวลามาก ต่อมาก็ได้ทรงหันมาศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์แสดงตัวเทวนาครีบนจอภาพ หรือที่พระองค์ท่าน ทรงเรียกว่า "ภาษาแขก" ซึ่งจัดทำได้ยากกว่าตัวอักษรภาษาไทย เพราะตัวอักษรเทวนาครีนั้นรูปแบบไม่คงที่ กล่าวคือ ถ้านำส่วนหนึ่งของอักษรนำมาต่อรวมกับอีกส่วนหนึ่งของอักษร จะเกิดอักษรใหม่ขึ้น และโปรแกรมที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นนั้นมีตัว phonetic symbols การสร้างตัวอักษรเทวนาครีนั้น ทรงเริ่มเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2530 ทรงศึกษาตัวอักษรเทวนาครีด้วยพระองค์เอง จากพจนานุกรมและตำราภาษาสันสกฤต และทรงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีสันสกฤต เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และท่านองคมนตรี ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ซึ่งจะต้องตรวจสอบตัวอักษรที่ทรงสร้างขึ้น พระองค์นำโปรแกรมออกแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 มีคำถามว่า เหตุใดพระองค์ท่านจึงทรงสนพระราชหฤทัยในตัวอักษรเทวนาครีหรือภาษาแขก เรื่องนี้มีผู้อธิบายไว้ว่า ในหลวงที่รักของพวกเรานั้น ทรงศึกษาข้อธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังและลึกซึ้ง การที่ทรงศึกษาตัวอักษรแขก ก็เพื่อเป็นการนำไปสู่ความเข้าใจด้านอักษรศาสตร์ และความเข้าใจในหัวข้อธรรมะนั่นเอง เรื่องนี้นับว่าพระองค์มีวิจารณญาณที่ลึกซึ้งยิ่งนัก เพราะคำสอนและข้อธรรมะในพุทธศาสนานั้น เดิมทีก็เกิดและเผยแพร่มาจากประเทศอินเดีย บรรดาธรรมะที่ลึกซึ้งและยากแก่ความเข้าใจ ก็อาจจะถูกตีความผันแปรบิดเบือนไปได้ ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าลึกลงไปถึงภาษาแขก จึงน่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับธรรมะชัดเจนกระจ่างมากขึ้น
ต่อมาได้มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM PC Compatible และทรงสนพระทัยศึกษาในการพัฒนา Software ต่างๆ และได้สร้างโปรแกรมใหม่ๆ ขึ้นมา รวมทั้งสนพระทัยในเทคนิคการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แบบนี้มากทีเดียว บางครั้งทรงเปิดเครื่องออกดูระบบต่างๆ ภายในด้วยพระองค์เอง หรือทรงปรับปรุง Software ใหม่ขึ้นใช้ ทรงแก้ซอฟต์แวร์ในเครื่อง เช่น โปรแกรมภาษาไทย CU WRITER ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการพิมพ์ งานทรงพระอักษรส่วนพระองค์ และทรงเก็บงานเหล่านี้เป็นเรื่องๆ มาปะติดปะต่อกัน จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ เช่น เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นต้น ผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ก็คือ การใช้คอมพิวเตอร์ "ปรุง" อวยพรปีใหม่ เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เดิมพระองค์ได้พระราชทานผ่านเครื่องเทเล็กซ์ นอกจากนี้พระองค์ทรงสนพระทัยคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก สังเกตได้จากขณะเสด็จพระราชดำเนินชมงานนิทรรศการต่างๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พระองค์สนพระทัยซักถามอาจารย์และนักศึกษาที่ประดิษฐ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ อย่างละเอียดและเป็นเวลานาน
User avatar
network1974
 
Posts: 138
Joined: Fri Mar 11, 2011 6:39 pm

Re: ในหลวงกับคอมพิวเตอร์

Postby tarato13 » Tue Jul 19, 2011 9:17 am

ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนานั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑,๔๗๒,๙๐๐ บาท ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ ให้มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎก และอรรถกถาต่อเนื่องจากโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์เดิม ที่มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาเสร็จแล้ว และได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสรัชมังคลาภิเษก ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ทรงเห็นว่าโครงการนี้ควรได้รวบรวมเอาชุดอรรถกถาและฎีกาเข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นโครงการที่นำวิทยาการชั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลเนื้อหาทางด้านพุทธศาสนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์นี้ด้วยพระองค์เอง และมีพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชวิจารณ์ในการออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้ในการสืบค้นข้อมูล

ในฐานะแห่งองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก การครั้งนี้กล่าวได้ว่า เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานสืบไปในอนาคตกาล เพราะโครงการพระราชดำรินี้ เป็นส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญ ที่ทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกและชุดอรรถกถาเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ อีกทั้งรวบรวมเนื้อหาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นับเป็นการใช้วิทยาการอันก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์ได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์

สำหรับโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาตามพระราชดำรินี้ ได้พัฒนาแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔ ในชื่อ BUDSIR IV โดยพัฒนาต่อเนื่องจาก โปรแกรม BUDSIR (อ่านออกเสียงว่า บุดเซอร์) มาจากคำว่า Buddhist Scriptures Information Retrieval สำหรับประวัติของ BUDSIR นั้น BUDSIR I สามารถค้นหาคำทุกคำ ศัพท์ทุกศัพท์ ทุกวลี ทุกพุทธวจนะ ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก จำนวน ๔๕ เล่ม หรือข้อมูลมากกว่า ๒๔.๓ ล้านตัวอักษร ที่ได้รับการบันทึกในคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และครบถ้วนสมบูรณ์ BUDSIR II พัฒนาแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกอักษรโรมัน สำหรับการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศ BUDSIR III ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกในเดือนเมษายน ๒๕๓๓ เพื่องานสืบค้นที่มีความซับซ้อน สำหรับ BUDSIR IV นี้ ได้รวบรวมพระไตรปิฎกและอรรถกถา/ฎีกา รวมทั้งคัมภีร์ทุกเล่มที่ใช้ศึกษาหลักสูตรเปรียญธรรม นอกจากนี้ยังรวม version ที่เป็นอักษรโรมันเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งมีขนาดข้อมูลรวม ๑๑๕ เล่ม หรือประมาณ ๔๕๐ ล้านตัวอักษร นับเป็นพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน และมหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้พัฒนาโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม โดยบันทึกพระไตรปิฎกและอรรถกถา ลงบนแผ่น CD - ROM แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๗ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกอย่างมากต่อผู้ที่ต้องการจะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๘ และในปัจจุบันสำนักคอมพิวเตอร์ ได้เริ่มโครงการพัฒนาโปรแกรมพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ ฉบับภาษาไทย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ศึกษา อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้งานโปรแกรมนี้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
User avatar
tarato13
 
Posts: 368
Joined: Thu Jul 22, 2010 8:47 am

Re: ในหลวงกับคอมพิวเตอร์

Postby tarato13 » Tue Jul 19, 2011 9:22 am

หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ รวมทั้งช่างภาพและนักข่าว ได้เผยแพร่ข่าวสารในเรื่อง พระราชกรณียกิจ ในด้านงานพระราชพิธีพระราชกิจต่างๆ และบรรดาผู้มีส่วนในการพระราชกุศลต่างๆ ขอยกตัวอย่างเรื่องที่สื่อมวลชนแพร่ข่าวของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เมื่อเหตุการณ์ทุกข์ภัยเกิดขึ้น ก็ลงข่าว ติดตามข่าว เผยแพร่ข่าว เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชิญชวนให้ประชาชน โดยเสด็จพระราชกุศล เป็นการทำบุญร่วมกับในหลวง แล้วเผยแพร่และติดตามในเรื่องความ ช่วยเหลือจนถึงมือผู้ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น ข่าวการจัดตั้งโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ การมอบทุนพระราชทานการศึกษาประจำปี ทำให้ประชาชนทราบผลงานของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์เกิดความเลื่อมใสศรัทธา เพราะสามารถสะท้อนความรู้สึกของผู้ที่รับความช่วยเหลืออย่างลึกซึ้ง ประทับตาประทับใจ ทำให้ผู้อ่าน ผู้ฟัง และผู้ชมภาพมีความชื่นชมยินดีที่เห็นภาพ และทราบว่าของที่เขาทำบุญร่วมกับในหลวงนั้นถึงมือผู้รับแล้ว

ทั้งยังเคยพระราชทานคำแนะนำช่างภาพและนักข่าวในเรื่อง การถ่ายภาพในพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น เมื่อมีการพระราชทานเลี้ยงพระราชอาคันตุกะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ สี่สิบปีที่ผ่านมา เช่น สถานที่คับแคบก็ต้องมีพูล ร่วมกันทำทุกสถานีพร้อมกัน ทำให้ช่างภาพและผู้สื่อข่าวทำงานได้น้อยคน และช่างภาพควรจะต้องทำหน้าที่นักข่าวไปในตัวด้วย หรือควรถ่ายภาพในระยะไกลพอสมควร เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ ทรงยกระดับช่างภาพจากสมัยก่อนใช้คำว่า ควบคุมช่างภาพ ปัจจุบันใช้คำว่าอำนวยความสะดวกช่างภาพ

ดนตรีเป็นภาษาสากล ทุกชาติ ทุกประเทศมีดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อตั้งแต่ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัย วงดนตรีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ รวมทั้งส่วนราชการต่างๆ และวงดนตรีเอกชน ทรงพระราชนิพนธ์ "เพลงสากล" และอนุรักษ์เพลงไทยมิให้เสื่อมสูญ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคราวเสด็จเยือนต่างประเทศ ทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อในการกระชับ สัมพันธไมตรีได้อย่างดีเลิศ
User avatar
tarato13
 
Posts: 368
Joined: Thu Jul 22, 2010 8:47 am

Re: ในหลวงกับคอมพิวเตอร์

Postby NUBO » Mon Jul 25, 2011 4:35 pm

ในหลวงท่านทรงห่วงใยและศึกษาทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับ
ประชาชนคนไทยทรงศึกษาข้อเท็จจริงทุกด้่านเพื่อให้มีความรู้
แก่พระองค์เองและจะได้ถ่ายทอดออกมาอย่างถูกต้อง
User avatar
NUBO
 
Posts: 236
Joined: Thu Jul 22, 2010 4:00 pm

Re: ในหลวงกับคอมพิวเตอร์

Postby ae_mon » Thu Jul 28, 2011 10:46 am

ในหลวงทรงสนพระทัยและให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์
พระองค์ได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ
และทรงให้การสนับสนุน การค้นคว้าทางวิทยาการทางคอมพิวเตอร์
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และประเทศชาติ
User avatar
ae_mon
 
Posts: 365
Joined: Mon Jul 26, 2010 11:24 am

Re: ในหลวงกับคอมพิวเตอร์

Postby เพียงดิน2889 » Thu Jul 28, 2011 6:17 pm

พระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการทรงงาน ทรงใช้งานด้วยพระปรีชาสามารถและมีความคิดสร้างสรรค์ นำประโยชน์จากคอมพิวเตอร์มาใช้ในพระราชกรณียกิจในทุกโครงการของพระองค์ ทรงมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ในหลายโปรแกรม นำผลการทำงานของคอมพิวเตอร์มาคิดแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แหล่งน้ำ ภูมิอากาศ การพระราชทานความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันเวลา ลดความเสียหายได้ลงเป็นอย่างมาก ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ
User avatar
เพียงดิน2889
 
Posts: 158
Joined: Mon Feb 07, 2011 5:39 pm


Return to ห้องเฉลิมพระเกียรติ



cron