เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

คุยกันสบายๆ ไม่ซีเรียส

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Mon Aug 03, 2009 6:13 am

โรงเรียนราชวินิต

โรงเรียนราชวินิตจัดตั้งตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงให้สำนักพระราชวังจัดตั้งโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเภทโรงเรียนสหราษฎร์ระดับประถมศึกษา รับบุตรหลานของข้าราชการในราชสำนักโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน เปิดสอนชั้นเด็กเล็กถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ ขอครูจากกระทรวงศึกษาธิการมาช่วย ใช้งบประมาณจากเงินสวัสดิการ ของกองมหาดเล็ก สำนักพระราชวัง จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท สร้างอาคารเรียน ในที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ณ บริเวณสวนเพาะชำ วังสวนกุหลาบ โดยมีคุณหญิงพวงรัตน วิเวกานนท์ เป็นผู้บริหารคนแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดป้ายโรงเรียน เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้ดอกผลเป็นทุนพระราชทานแก่นักเรียนที่เรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย ในวโรกาสนี้ได้มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

"…การศึกษาของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประถมศึกษาถือว่าอยู่ในชั้นสำคัญ และจำเป็นสำหรับเด็กทุกคน ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้น เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเล่าเรียนตามหลักสูตรที่วางไว้ แต่ทั้งนี้ย่อมต้องอาศัยความรู้ความสามารถของครูที่เอาใจใส่ พยายามอบรมบ่มนิสัยให้เด็กมีความรู้ มีศีลธรรม เพื่อให้เป็นพลเมืองดีของชาติต่อไปภายหน้าด้วย…"

พระราชดำรัสดังกล่าวจึงเป็นการเน้นพระราชประสงค์ในการจัดตั้งโรงเรียน ตลอดจนความหมายของชื่อโรงเรียนที่เป็นนามพระราชทาน "ราชวินิต" อันหมายถึง สถานที่อบรมสั่งสอนกุลบุตร กุลธิดา ให้เป็นคนดีแห่งพระบารมีปกเกล้าฯ

วันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนหลังที่ ๓ และพระราชทานทุนแก่นักเรียนที่เรียนดี ในปีต่อๆ มา ก็โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จแทนพระองค์เพื่อทรงประกอบพิธีต่างๆ อาทิ เปิดอาคารเรียน สระว่ายน้ำ ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ ตลอดจนงาน "ราชวินิตร่วมใจ"

ในปีการศึกษา ๒๕๒๐ โรงเรียนราชวินิตได้รับอนุมัติให้เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา แต่เนื่องจากสถานที่คับแคบต้องหาสถานที่ตั้งใหม่ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานที่ดินซึ่งเป็นที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บริเวณราชตฤณมัยสมาคมจำนวน ๖ ไร่เศษ เพื่อสร้างโรงเรียนราชวินิตมัธยมศึกษาขึ้นใหม่ ดังนั้นในปีการศึกษา ๒๕๒๓ จึงได้โอนโรงเรียนราชวินิตระดับมัธยมศึกษามาอยู่ในสังกัดกองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนจึงได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน และอาคารประกอบการเรียนการสอนทางราชการ

นอกจากนี้ ได้มีโรงเรียนราชวินิตอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาแบบสหศึกษา โดยได้มีผู้บริจาคที่ดินจำนวน ๓๐ ไร่ น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อดำเนินการสร้างอาคารเรียนและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ด้วยเงินงบประมาณของกระทรวง ในปี ๒๕๑๓ และได้รับพระราชทานนามว่า "โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว" และโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Mon Aug 03, 2009 6:14 am

โรงเรียนวังไกลกังวล

โรงเรียนวังไกลกังวล ตั้งอยู่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาวังไกลกังวล ซึ่งมีอยู่จำนวนมากแต่ไม่มีสถานที่เล่าเรียน มีฐานะเป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ได้พระราชอุปการะค่าใช้จ่ายจากเงินพระราชกุศลเป็นรายปี

โรงเรียนวังไกลวังกล เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กขึ้นไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นเพิ่มเติมด้วย โรงเรียนวังไกลกังวลได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและได้มีการพัฒนาปรัปปรุงมาเป็นลำดับ อาทิ พ.ศ. ๒๔๙๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาคารที่พักกองรักษาการณ์วังไกลกังวลให้เป็นอาคารเรียนแทนอาคารไม้เก่าที่ชำรุดทรุดโทรมมาก อาณาบริเวณนี้มีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๒ งาน ๗ ตารางวา ต่อมาได้สร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีก ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงการบริหารโรงเรียนวังไกลกังวล จากการบริหารโดยมีครูใหญ่เป็นผู้บริหารด้านวิชาการหัวหน้าแผนกวังไกลกังวล ปัจจุบันเรียกหัวหน้าส่วนวังไกลกังวลเป็นทั้งเจ้าของและผู้จัดการควบคุมดูแลทั่วไป เปลี่ยนมาเป็นการบริหารโดยคณะกรรมการเรียกว่า "กรรมการบริหารโรงเรียนวังไกลกังวล" ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการบริหารโรงเรียน และทางด้านวิชาการข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการและฝ่ายบ้านเมืองตลอดจนเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสำนักพระราชวังและของโรงเรียน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้แทนสมาคมผู้ปกครองเป็นกรรมการด้วย ทั้งนี้เพื่อให้โรงเรียนวังไกลกังวลเป็นโรงเรียนที่มีสมรรถภาพ สามารถประสิทธิ์ประสาทวิทยาการแก่นักเรียนได้ดีขึ้น ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนได้จัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเพื่อให้การศึกษาอบรมเลี้ยงดูแก่เด็กก่อนวัยเรียน ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนได้ประสานงานกับกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบประมาณสร้างอาคารเรียนสารพัดช่างวังไกลกังวล เพื่อเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น (๒๒๕ ชั่วโมง) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพช่างฝีมือ (ปชม.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (วช.๑ หรือ วช.๒) วิชาที่เปิดสอนจะคำนึงถึงอาชีพของท้องถิ่นเป็นสำคัญ มีจำนวนถึง ๑๗ แผนกวิชา อันเป็นการสนองโครงการตามพระราชดำริเกี่ยวกับศิลปาชีพพิเศษด้วย และในขณะเดียวกันนักเรียนของโรงเรียนวังไกลกังวลสามารถใช้ห้องฝึกงานของโรงเรียนสารพัดช่างเป็นที่ฝึกงานในชั่วโมงเรียนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพได้อีกด้วย

นอกจากนี้ในปีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี กระทรวงศึกษาธิการโดยการประสานงานจากนายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังเสนอให้กรมสามัญศึกษาจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อเฉลิมพระเกียรติในปีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อการเสริมสร้าง ยกระดับการศึกษาและคุณภาพชีวิตของปวงประชาราษฎร์อย่างทั่วถึงตลอดมา การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการทำให้นักเรียนในส่วนภูมิภาคหรือชนบทห่างไกล ได้มีโอกาสรับประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพไม่ด้อยกว่าโรงเรียนที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานแล้ว ยังจะใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยได้ติดตั้งสถานีส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม เพื่อออกอากาศการเรียนการสอนและรายการทางการศึกษา ณ โรงเรียนวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้ทดลองออกอากาศตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ เป็นต้นมา ดำเนินการออกอากาศรายการสอน ระดับมัธยมศึกษาสายสามัญ ตลอดจนรายการทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และติดตั้งสถานีรับสัญญาณในโรงเรียนมัธยมศึกษา ในปีการศึกษา ๒๕๓๘ จำนวนไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ โรงเรียน และขยายสถานีรับในส่วนของโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา ปีละ ๘๐๐ แห่ง จนครบ ๒,๕๐๐ โรงเรียน ในสิ้นปี ๒๕๔๔

โรงเรียนวังไกลกังวลแม้จะมีนักเรียนจำนวนมาก แต่โรงเรียนเก็บค่าเล่าเรียนในอัตราต่ำ รายได้ของโรงเรียนจึงไม่พอกับรายจ่าย ต้องขอพระราชทานพระราชทรัพย์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำ เมื่อแรกตั้งได้รับพระราชทานเงินงบพระราชกุศลปีละ ๓๐๐ บาท ต่อมาได้รับพระราชทานเพิ่มขึ้นตามจำนวนครูและนักเรียนที่ทวีขึ้น ในปัจจุบันโรงเรียนวังไกลกังวล ได้รับพระราชทานเงินเพื่อใช้ในการดำเนินงานของโรงเรียน จากงบเงินใช้สอยตามพระราชอัธยาศัยปีละ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งมากกว่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อื่นใดทั้งสิ้น
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Mon Aug 03, 2009 6:14 am

โรงเรียนราชประชาสมาสัย

โรงเรียนราชประชาสมาสัย ฝ่ายมัธยม รัชดาภิเษก ในพระบรมราชูปถัมภ์ สังกัดกองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ ๕๑ หมู่ที่ ๑ ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

โรงเรียนนี้ถือกำเนิดมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ผู้เป็นรองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชาสมาสัยในขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการจัดสร้างโรงเรียนสำหรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนที่เลี้ยงแยกจากบิดามารดาแต่แรกเกิด เพราะเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับเชื้อโรคเรื้อน แต่มีพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ บังคับมิให้โรงเรียนใดรับเข้าเป็นนักเรียน ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าเพื่อความเป็นธรรม เด็กเหล่านี้ควรมีสิทธิเสรีภาพเช่นเดียวกับเด็กอื่นๆ และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างอาคารในวงเงิน ๕ แสนบาท บนที่ดินราชพัสดุจำนวน ๓๒ ไร่ อีก ๕ แสนบาทให้ใช้สำหรับเลี้ยงโรงเรียนต่อไป พ.ศ. ๒๕๐๖ จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ พระราชทานชื่อ "โรงเรียนราชประชาสมาสัย" โดยมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นเจ้าของและท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้จัดการเปิดรับนักเรียนรุ่นแรก ๔๐ คน มีครู ๓ คน ทรงรับนักเรียนเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์อยู่ประจำที่โรงเรียน เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๗ และพระราชทานเงินส่วนพระองค์อีก ๑ ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารหลังที่ ๒ และมีพระราชดำรัสสั่งให้รับเด็กทั่วไปเข้าเรียนได้ตามความสมัครใจ ดังนั้น ในปีการศึกษา ๒๕๐๘ โรงเรียนจึงได้รับนักเรียนไป-กลับในท้องถิ่นเข้ามาเรียนด้วยตามพระราชกระแสดำรัสสั่ง

ใน พ.ศ. ๒๕๑๓ โรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้เปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ ต่อมาท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการจัดโรงเรียนราชประชาสมาสัยและคณะกรรมการได้ติดต่อกรมวิสามัญ กระทรวงศึกษาธิการให้ก่อสร้างโรงเรียนรัฐบาลระดับชั้นมัธยมศึกษาในนามมูลนิธิราชประชาสมาสัย เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลขยายงานของโรงเรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และกรมสามัญศึกษา ได้ส่งครูมาช่วยสอนในระดับประถมศึกษา

พ.ศ. ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนนามว่า "อาคาร ๑๐ ปี" ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้สร้างถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และได้พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า

"…การทำงานสำคัญๆ จำเป็นจะต้องอาศัยความตั้งใจจริง และความเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอ ไม่ย่อท้อ ยิ่งเป็นงานอบรมสั่งสอนเด็กที่ต้องกระทำต่อเนื่องกันอย่างไม่ขาดสาย ยิ่งจำเป็นที่ท่านจะต้องรักษาความตั้งใจ ความอุตสาหะ พากเพียรไว้ให้มั่นคงที่สุด จึงจะสามารถก้าวไปถึงจุดมุ่งหมายโดยสมบูรณ์บริบูรณ์ได้…"

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีใช้งบประมาณสำหรับฉลองรัชดาภิเษก ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี จัดสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาในส่วนกลาง โดยขอแลกที่ดินกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงสาธารณสุขได้สละที่ดินโดยเสด็จพระราชกุศลเพิ่มด้วย ทำให้เนื้อที่ของโรงเรียนมีทั้งหมด ๔๓ ไร่ จัดสร้างอาคารเรียนหลังแรก (อาคารรัชดาภิเษก) พร้อมบ้านพักครู และห้องน้ำห้องส้วม ปีการศึกษา ๒๕๑๗ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ขอยืมตัวนายกิตติ พวงเกษมมาช่วยราชการที่ โรงเรียนราชประชาสมาสัยฯ ทำหน้าที่ผู้ช่วยครูใหญ่ พร้อมกันนี้ได้ขออนุญาตอธิบดีกรมสามัญศึกษาให้ คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชานุเคราะห์ อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งท่านได้บริหารโรงเรียนและติดต่อประสานงานแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทำให้กิจการของโรงเรียน การก่อสร้างอาคารเรียน และอื่นๆ เป็นผลสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี พร้อมที่จะเปิดสอนได้ในปีการศึกษา ๒๕๑๘ วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนหลังที่ ๒ หอประชุม โรงฝึกงานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จแทนพระองค์มาประกอบพิธีเปิดสนามกีฬารวมของโรงเรียน เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๘ ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนราชประชาสมาสัย ฝ่ายมัธยม รัชดาภิเษก ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นโรงเรียนราชประชาสมาสัย ฝ่ายมัธยม รัชดาภิเษก ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่นเดียวกันโรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ตามพระราชดำริ ในด้านการบริหารโรงเรียน ในทางพฤตินัย โรงเรียนราชประชาสมาสัยฝ่ายมัธยม รัชดาภิเษก เป็นโรงเรียนรัฐบาล สังกัดกองมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา ดำเนินการบริหารเช่นเดียวกับโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป แต่มีคณะกรรมการจัดโรงเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการจัดโรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่วนโรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินกิจการในฐานะโรงเรียนราษฎร์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน

โดยสรุป โรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนราชประชาสมาสัย ฝ่ายมัธยม รัชดาภิเษก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินและดำรงอยู่ได้ด้วยพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปกเกล้าปกกระหม่อม กระทรวงศึกษาธิการจัดครูมาสอนในชั้นประถมศึกษา เป็นการโดยเสด็จพระราชกุศล และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา ด้วยการเก็บค่าเล่าเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษา จัดอาคารสถานที่ จัดครูสอนชั้นมัธยมศึกษา ส่วนนักเรียนที่เป็นบุตรผู้ป่วยนั้นมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัยได้จ่ายค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์การเรียน ความเป็นอยู่และอื่นๆ เป็นเงินคนละหนึ่งหมื่นบาทต่อปี รวมเป็นเงินปีละ ๕ หมื่นบาท กรมประชาสงเคราะห์จ่ายงบประมาณอุดหนุนช่วยเหลืออีกปีละ ๒ หมื่นบาท นับได้ว่า โรงเรียนดำรงอยู่ได้ด้วยดีเพราะบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมตลอดมา
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Aug 04, 2009 2:21 am

โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมคือ โรงเรียนราชวิทยาลัยตั้งขึ้นตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ณ ตำบลบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ธนบุรี เป็นโรงเรียนรับนักเรียนประจำกินนอน ด้วยมีวัตถุประสงค์จะฝึกอบรมนักเรียนให้มีความรู้เต็มบริบูรณ์ที่จะใช้เป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในยุโรป ต่อมาในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โอนมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะจัดการศึกษาให้นักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาได้ศึกษาวิชากฎหมายในชั้นอุดมศึกษา พร้อมทั้งได้มีพระบรมราชโองการให้โรงเรียนนี้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ย้ายมาเปิดสอนที่อาคารใหม่ ตำบลบางขวาง จังหวัดนนทบุรี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีประกาศให้โรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นต่อสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนราชวิทยาลัยรวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนเดียวกันอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานนามว่า "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย"

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะครูและศิษย์เก่าได้รวมกันจัดตั้งและดำเนินกิจการโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาธิการ ใช้สถานที่ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสามพรานเดิม พร้อมทั้งได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อตั้งโรงเรียน และขอพระราชทานนามอักษรย่อพระปรมาภิไธย "ภ.ป.ร." นำหน้าชื่อโรงเรียน จึงได้รับพระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย" และทรงพระกรุณารับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดป้ายโรงเรียน เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๗

โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโรงเรียนประจำกินนอน รับนักเรียนชายเปิดสอนสายสามัญศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โดยมีความมุ่งหมายให้นักเรียนมีความรู้ทางวิชาการตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ฝึกอบรมให้นักเรียนมีศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม รู้จักการเคารพตนเองและผู้อื่น ให้นักเรียนได้ฝึกฝนการกีฬาเพื่อช่วยให้มีพลานามัยสมบูรณ์ จิตใจเป็นสุข ได้รับการส่งเสริมศิลปศึกษาและหัตถศึกษาตลอดจนการฝึกฝนวิชาการปกครองกันเองในระหว่างนักเรียน ทั้งนี้เพื่อให้มีการเคารพต่อระเบียบวินัย เคารพผู้ใหญ่ มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และให้รู้จักการพึ่งตนเองและช่วยตนเองได้

โดยสรุปแล้ว โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญยิ่ง ดังคำกราบบังคมทูลของพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประธานกรรมการราชวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อการศึกษา และนายกสมาคมราชวิทยาลัย เนื่องในพิธีเปิดโรงเรียน เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๗ ความตอนหนึ่งว่า

"…โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ได้ฟื้นคืนสภาพขึ้นนี้ นับเป็นศุภมิตรมิ่งมงคล อันมหัศจรรย์โดยมิได้เลือกกำเนิดด้วยพระบุญญาบารมีแห่งสามพระมหาราชของชาติไทย คือ สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงเป็นองค์ก่อตั้ง สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงเป็นองค์เสริมสร้าง และใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระภัทรมหาราช ทรงเป็นองค์พระราชทานกำเนิดใหม่…"
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Aug 04, 2009 2:25 am

โรงเรียนเพื่อลูกหลานชนบท

นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานโรงเรียนสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารและเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ร่วมเรียนด้วยแล้ว พระองค์ยังมีพระเมตตาต่อเยาวชน พสกนิกรของพระองค์อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยภูเขาหรือประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นชายแดนห่างไกลการคมนาคม โดยการพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคมพระราชทานนามว่า "โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์" เป็นอาคารเรียนถาวรสำหรับเด็กนักเรียนชาวเขา เป็นโรงเรียนในระดับก่อนประถมและประถมศึกษา ตั้งอยู่บริเวณชายแดนภาคเหนือ ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวเขา ทำให้เยาวชนชาวไทยภูเขาเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้หนังสือไทย ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมไทย เป็นการสร้างสำนึกของความเป็นคนไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๑๐ โรง ต่อมาเมื่อท้องถิ่นนั้นมีความเจริญขึ้น หน่วยราชการที่รับผิดชอบโดยตรงสามารถเข้าไปดำเนินการได้ ก็จะโอนให้กับส่วนราชการนั้นๆ รับไปดำเนินการต่อไป
ปัจจุบันโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ที่อยู่ในความดูแลของตำรวจตระเวนชายแดน มีจำนวน ๓ โรง เช่น โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ๒ จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับก่อนประถมและประถมศึกษาแล้ว ยังมีโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโรงเรียนเหล่านี้ ได้แก่ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษา โครงการฝึกอาชีพนักเรียน โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและโครงการสหกรณ์ในโรงเรียน ตชด.
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Aug 04, 2009 2:27 am

โรงเรียนร่มเกล้า

โรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรก คือ โรงเรียนร่มเกล้า บ้านหนองแคน ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เดิมชื่อโรงเรียนบ้านหนองแคน เปิดทำการสอนครั้งแรกในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เพียงชั้นเดียวเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๘๖ โดยใช้ศาลาวัดบ้านหนองแคนเป็นสถานที่เรียน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๔ คณะครูและผู้ปกครองได้ร่วมมือกันก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว ๑ หลัง ในที่ดินซึ่งประชาชนได้บริจาคให้จำนวน ๑๐ ไร่ เป็นกระต๊อบยาว มุงด้วยหญ้าแฝก พื้นห้องเป็นดินเหนียวอัด และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๙๒,๐๖๓ บาท ให้ก่อสร้างอาคารเรียนถาวรหลังแรก ขนาด ๕ ห้องเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารเรียน เมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ และได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนร่มเกล้า" เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๔

การก่อสร้างโรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรก พลเอกพิศิษฐ์ เหมะบุตร อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก และแม่ทัพภาคที่ ๒ ซึ่งมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโรงเรียนและได้ปฏิบัติงานเสนอพระราชดำริพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเวลากว่า ๒๓ ปี ได้เล่าว่า ตำบลบ้านหนองแคน อำเภอดงหลวง เป็นพื้นที่สีแดงเข้มที่มีผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกับรัฐบาลมารวมกลุ่มกัน ในขณะนั้น ในตำบลหนองแคนนี้มีโรงเรียนตั้งอยู่หลายโรง เช่น โรงเรียนบ้านก้านเหลืองดง โรงเรียนบ้านมะนาว ฯลฯ โรงเรียนบางโรงต้องปิดไป เยาวชนส่วนใหญ่จะถูกชักจูงให้เข้าป่าไป พันเอกอาทิตย์ กำลังเอก (ยศขณะนั้น) เป็นผู้บังคับการกรมผสมที่ ๒๓ ปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอสร้างโรงเรียนที่บ้านหนองแคน เพื่อให้การศึกษาและป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนถูกชักจูงเข้าป่าไปด้วยบ้านหนองแคนเป็นทางผ่านที่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ใช้ขึ้นลงจากภูเขา (ภูพาน) อันเป็นแหล่งของ ผกค. มายังหมู่บ้านซึ่งชาวไทยภูเขาเผ่ากระโซ่และเผ่าภูไทส่วนใหญ่อาศัยอยู่

การก่อสร้างโรงเรียนร่มเกล้าเป็นไปอย่างยากลำบาก ระหว่างการก่อสร้างได้รับการขัดขวางจาก ผกค. ทำลายทางลำเลียงสิ่งของและเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง และมีการลอบยิงผู้เข้าไปสร้างโรงเรียนเป็นเวลา ๓-๔ เดือน ตลอดการก่อสร้างโรงเรียน ด้วยพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โรงเรียนได้ก่อสร้างจนเสร็จ ชาวบ้านได้หันกลับมาให้ความร่วมมือ เมื่อทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างโรงเรียน ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานก่อสร้างโรงเรียน ได้พระราชดำเนินมาเปิดอาคารเรียนในทันทีที่สร้างแล้วเสร็จเพียง ๒ วัน ซึ่งในพื้นที่นั้นนอกจากทหารแล้ว ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปนับเป็นสิบปี

วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นวันกำหนดพิธีเปิดอาคารเรียนร่มเกล้า ก่อนเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ถึงโรงเรียนร่มเกล้า ยังมีเหตุการณ์ยิงกันเป็นที่หวั่นวิตกแก่ทุกคนที่มาเฝ้ารอรับเสด็จ โดยมีทหาร ลูกเสือชาวบ้านและประชาชนที่มาร่วมกันรักษาความปลอดภัยหลายพันคน นอกจากพระองค์ได้เสด็จมาเปิดอาคารเรียนแล้วยังได้ทรงเยี่ยมราษฎรและพระราชทานเสื้อผ้า ผ้าห่ม ของใช้แก่ราษฎร และธงแก่ลูกเสือชาวบ้าน โดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น กล่าวได้ว่า พระองค์เสด็จไปที่ไหน ความร่มเย็นบังเกิดขึ้นที่นั้น เป็นที่ประจักษ์มานับครั้งไม่ถ้วน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชบายที่ล้ำลึก ที่ทรงให้สร้างโรงเรียนในดินแดนผู้มีอุดมการณ์ที่แตกต่างทางการเมือง เพื่อให้ลูกหลานในพื้นที่นั้นได้รับการศึกษา ขณะเดียวกันทรงนำการพัฒนาแบบครบวงจรมาใช้ขจัดความยากไร้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่กันไป โดยมีสายพระเนตรที่ยาวไกลอย่างคาดไม่ถึงที่ทรงนำการศึกษาและการพัฒนามาใช้แทนการต่อสู้ด้วยวิธีการรุนแรง เป็นผลให้สถานการณ์การก่อการร้ายลดน้อยลงตามลำดับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยการศึกษาของเยาวชนของชาติที่ขาดโอกาสทางการศึกษา พลตรี เรวัต บุญทับ รองแม่ทัพภาค ๒ เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริ และพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ได้เล่าว่าเมื่อก่อตั้งโรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรกไปแล้ว มีพระราชดำริโปรดให้สร้างโรงเรียนร่มเกล้าในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารและในพื้นที่เป็นของปฏิบัติการของผู้มีอุดมการณ์ที่แตกต่างทางการเมืองในอีกหลายจังหวัด เพื่อให้ลูกหลานราษฎรในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงได้รับการศึกษาเท่าเทียมกันในเมืองทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา โดยไม่ต้องลำบากในการเดินทางไปโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลหมู่บ้านมาก และได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจนไม่สามารถส่งลูกหลานไปเรียนในเมืองได้ ทรงห่วงใยประชาชนเปรียบได้ด้วยความห่วงใยที่มีต่อลูกหลาน ดังมีพระราชกระแสรับสั่งกับพลตรี เรวัต บุญทับ ความตอนหนึ่งว่า ขอให้นึกถึงประชาชนเหมือนลูก ขอให้ทหารช่วยดูแลประชาชน นอกเหนือจากหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการป้องกันประเทศ

นับถึงปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทางกองทัพภาคที่ ๒ และภาคที่ ๓ สร้างโรงเรียนร่มเกล้าขึ้นหลายแห่ง แห่งแรกที่อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ต่อมามีการดำเนินการตามพระราชดำริก่อสร้างโรงเรียนร่มเกล้าที่อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ในระยะแรกโรงเรียนเปิดสอนในระดับประถมศึกษา และต่อมาได้ขยายถึงระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย

นอกจากนี้ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยความสนับสนุนของกองทัพบก ได้จัดตั้งโรงเรียนร่มเกล้าขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริที่จะส่งเสริมการศึกษาและความมั่นคงของประเทศชาติ และการก่อสร้างโรงเรียนร่มเกล้าเพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ในอีกหลายจังหวัด ได้แก่ โรงเรียนร่มเกล้า จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดนราธิวาส

การดำเนินการโรงเรียนร่มเกล้า นอกจากจะเน้นทางด้านวิชาการแล้ว ยังเน้นทางด้านคุณธรรม จริยธรรม การใฝ่เรียน ทักษะการทำงาน โดยเฉพาะด้านวิชาชีพ โรงเรียนร่มเกล้าส่วนใหญ่จะมีโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน และในโรงเรียนร่มเกล้าบางแห่งจะมีการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรียนอยู่ในโรงเรียน จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา และถ้าหากมีความประพฤติดี มีผลการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ดี อาจจะได้รับทุนการศึกษาจนกระทั่งจบระดับอุดมศึกษา เช่น โรงเรียนร่มเกล้าอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันมีมูลนิธิติณสูลานนท์ ซึ่งก่อตั้งโดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษเพื่อเป็นการช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ยากจนโดยพิจารณาผลการเรียนความประพฤติ และการมีส่วนร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนรวมประกอบกัน นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนร่มเกล้าออกไปสามารถนำความรู้ความสามารถและทักษะไปใช้ในการประกอบอาชีพในการพัฒนาความเป็นอยู่ในชุมชนของตนเอง นักเรียนส่วนหนึ่งได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน ดังตัวอย่างเช่น

เรืออากาศเอกวงษ์ ชาลีพร ผู้บังคับหมวดช่างประจำเครื่องบิน ฝูงบินที่ ๑๐๓ กองบิน ๑ จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้หนึ่งที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนร่มเกล้าบ้านตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ขณะที่เรียนได้รับทุนการศึกษาทุกปี ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ และเมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ก็ยังได้รับทุนการศึกษา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ตนได้รับโอกาสทางการศึกษาว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ก่อสร้างโรงเรียนเพื่อให้การศึกษา ถ้าพระองค์ท่านไม่พระราชทานตรงนี้ให้ ชีวิตของตนก็คงเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่มีโอกาสในชีวิตอย่างนี้ แรงจูงใจเกิดจากการได้รับการศึกษาจะทำให้พิจารณาตนเองต่อไป แม้ว่าจะไม่มีโอกาสได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทโดยตรง แต่ก็ยังได้รับราชการทหารรับใช้ประเทศชาติสนองพระราชดำริราชประสงค์ของพระองค์ท่าน

โรงเรียนร่มเกล้าได้พัฒนาทั้งในด้านการจัดการศึกษา และในการจัดกิจกรรมสนองตามพระราชดำริ และกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เป็นสำคัญตลอดมาจนปัจจุบัน
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Aug 04, 2009 2:33 am

โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาสงเคราะห์เด็กยากจนขาดที่พึ่งและเด็กในถิ่นกันดาร ให้ได้รับการศึกษาตามควรแก่อัตภาพ เพื่อจักได้เป็นพลเมืองดีมีศีลธรรมและวัฒนธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะกรรมการดำเนินการ มีสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แต่ยังดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัตเป็นประธาน เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัด เป็นประเภทโรงเรียนราษฎร์ สมเด็จพระวันรัตเป็นเจ้าของในนามคณะกรรมการและมีพระราชประสงค์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดนั้นเป็นผู้จัดการโรงเรียน ขอความร่วมมือจากคณะสงฆ์ช่วยอุปถัมภ์ และอาราธนาพระภิกษุ ผู้ทรงคุณวุฒิมาช่วยสอนในโรงเรียนสำหรับทุนทรัพย์ในการจัดตั้งและดำเนินกิจการโรงเรียนเป็นทุนทรัพย์พระราชทานส่วนหนึ่ง และทุนที่ได้รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลโดยทางราชการ องค์การรัฐวิสาหกิจ และพ่อค้าประชาชน ปัจจุบันมี ๓ โรงเรียน

โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ เป็นโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชานุเคราะห์แห่งแรก จัดตั้งขึ้นโดยสืบเนื่องจากวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๐๙ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่งชื่อ "เศษกระดาน" เลียบชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาถึงหมู่บ้านคลองคอต่อ ตำบลบางปูใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ ทอดพระเนตรเห็นเรือประมงแล่นเข้าคลอง จึงเสด็จฯ ตามมาจนสุดคลองพบถนนสุขุมวิท สองฟากคลองมีหมู่บ้านชาวประมงตั้งอยู่ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจนพากันไปเฝ้า ทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของที่พอจะหาได้ เช่น กุ้ง ปู ปลา หอย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ถามถึงสภาพความเป็นอยู่และการศึกษาของเด็กในหมู่บ้านนี้ ชาวบ้านกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนมัธยมขึ้นเพื่อสงเคราะห์เด็กขัดสนในหมู่บ้านให้มีที่เรียนต่อจากชั้นประถมศึกษา

หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถร) แต่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต เป็นประธานกรรมการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนสร้างโรงเรียนเริ่มแรก ๔๐๐,๐๐๐ บาท และมีผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล อีกส่วนหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์อาคารเรียน เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๑๒ อาคารเป็นทรงไทย ๒ ชั้น มี ๘ ห้องเรียน ชื่อตึก ภ.ป.ร. ราคา ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท เปิดสอนเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ปัจจุบันสอนตั้งแต่ ชั้น ม.๑–ม.๓ เก็บค่าบำรุงการศึกษาปีละ ๑,๐๒๐ บาท ผู้ใดขัดสนก็ยื่นเรื่องราวขอทุนโดยเสนอตามความเป็นจริง และมีคณะกรรมการรับรอง

พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้คณะกรรมการรับโรงเรียนนันทบุรีวิทยา อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน และโรงเรียนวัดบึงเหล็ก อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เข้าอยู่ในโครงการโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน สำหรับโรงเรียนนันทบุรีวิทยานั้น ยกเว้นไม่เก็บค่าเล่าเรียน คิดเป็นร้อยละ ๘๐ ของนักเรียนทั้งหมด แจกชุดนักเรียนให้นักเรียนที่ยากจนและจัดหนังสือให้นักเรียนยืมเรียน รวมทั้งมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนยากจนที่เรียบจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ แล้ว และสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จำนวน ๑๖ คน ส่วนโรงเรียนวัดบึงเหล็ก จัดการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายให้เปล่าทั้งหมด
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby นทร์ » Thu Aug 06, 2009 8:45 am

ขอบคุณจขกท ที่นำข้อมูลมาเสนอไว้ครับ

:D
User avatar
นทร์
 
Posts: 795
Joined: Mon Oct 13, 2008 2:41 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby swc2009 » Tue Aug 18, 2009 8:20 am

เรารักในหลวง
User avatar
swc2009
 
Posts: 178
Joined: Thu Jan 29, 2009 9:32 am

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Sep 02, 2009 2:26 pm

1. หากเราทุกคนช่วยกันรักษาสถาบันหลักของชาติโดยทั่วกันจะช่วยให้บ้านเมืองมีความปกติและร่มเย็น
2. พระองค์เป็นบุคคลที่ทั้งโลกควรจดจำพระองค์ได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่ประชาชนของพระองค์
พระองค์เป็นกษัตริย์นักคิด ผู้สร้างแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงช่วยให้ประเทศไทย และคนไทยสามารถหาเลี้ยงตนเองได้ไม่ลำบาก
ในขณะที่เศรษฐกิจของโลกกำลังตกต่ำ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เปรียบเสมือนพ่อ ที่คอยห่วงใยดูแลประชาชนของพระองค์อยู่ตลอดเวลา
ท่านไม่ต้องการให้ประชาชนของพระองค์ต้องแตกแยก ทะเลาะกันดังเช่นทุกวันนี้ ดังนั้นพวกเราทุกคนควรสมัครสมานสามัคคีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านด้วยเทอญ
3. ขอให้พระองค์มีพระชนมพรรษายิ่งยืนยานและเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดชั่วกาลนาน
ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยโปรดดลบันดาลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระเกษมสำราญปราศจากโรคภัย
มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ขอจงทรงพระเจริญ ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อมขอเดชะข้าพระพุทธเจ้า
4. พระนำไทยพ้นภัยนานา พระผู้เป็นบิดาของแผ่นดิน ประเทศไทยมั่นคงอยู่ได้ด้วยสถาบันชาติ ศาสนา
และสถาบันพระมหากษัตริย์ ประชาชนคนไทยล้วนทราบซึ้งในหัวใจในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงของคนไทย
5. ไทยเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขปกครองประเทศมาช้านาน ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนทั้งชาติ
6. เราชาวไทยควรยึดแบบอย่างเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลพระบาทนำมาปฏิบัติให้เกิดผลแก่ตนเอง สังคมและประเทศชาติ
7. ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน
8. หากเราทุกคนช่วยกันรักษาสถาบันหลักของชาติโดยทั่วกันจะช่วยให้บ้านเมืองมีความปกติ เรียบร้อยได้
9. ชาติไทยผ่านพ้นวิกฤตมาหลายคราด้วยพระบารมีของล้นเกล้า
10. ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ
11. ฑีฆายุโก โหตุ มหาราชา ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
12.พระมหาเมตตา...ไพร่ฟ้าทั่ว ใครเมามัวก็ทรงชี้เป็นศรีศักดิ์
13. "พระองค์มาโรงเรียนทุกวัน ไม่เคยขาด ทรงเป็นนักเรียนที่มีชีวิตชีวามาก โดยเฉพาะทางด้านดนตรี จนซิสเตอร์มาร์เกอริตมารีผู้ถวายพระอักษร ชื่นชมว่า ทรงเป็น This Little Prince is gifted for music"
14. ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีและซื่อสัตย์สุจริจต่อชาติบ้านเมืองจนกว่าชิวิตจะหาไม่ และทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางไม่ให้คนชั่วขึ้นมามีอำนาจ
15. ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ขอองค์พระสยามเทวาธิราชปกปักษ์รักษาพระองค์ท่านให้แคล้วคลาดจาก ภัยอันตรายใด ๆ ทั้งปวง เป็นมิ่งขวัญล้นเกล้าล้นกระหม่อมตราบนานเท่านาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
16. ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง สมบูรณ์ และมีพระราชหฤทัยเบิกบาน เกษมสำราญด้วยสัมฤทธิผลแห่งพระราชปณิธาณที่ทรงตั้งไว้ทุกประการ
17.ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั่วสากลโลก จงดลบันดาลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
18.ขอให้พระองค์มีอายุยิ่งยืนนานอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงชนชาวไทยตลอดไป มีพระพลานามัยแข็งแรงและสุดท้ายนี้ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ พวกเรารักในหลวง
19. ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล บันดาลดลเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ น้อมถวายพระพรพระทรงชัย ขอให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน. ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า
20. พระบารมีเหนือกษัตริย์ใดในหล้าทรงดำริสิ่งมีค่ามหาศาลยอมสละทุกสิ่งเพื่อกิจการ
ให้ทวยราษฎร์ทั่วทุกย่านได้ร่มเย็น
21. เราชาวไทยควรยึดแบบอย่างเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลพระบาทนำมาปฏิบัติให้เกิดผลแก่ตนเอง สังคมและประเทศชาติ
22. ด้วยพระปรีชาญาณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้คนทั้งหลายได้ประจักษ์ว่า แนวทางพระราชดำริในพระองค์ เรียบง่าย ปฏิบัติได้ผลเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน
23. พระองค์ทรงมีแนวทางพระราชดำริในการพึ่งตนเองเพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างอิสระ มั่นคงและสมบูรณ์
24.หากเราทุกคนช่วยกันรักษาสถาบันหลักของชาติโดยทั่วกันจะช่วยให้บ้านเมืองมีความปกติสุข
25.เราจงน้อมนำราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ เป็น เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Sep 02, 2009 2:27 pm

26.ในหลวงพระองค์ทรงหลั่งหยาดเหงื่อเพื่อคนไทย ให้มีความผาสุก
27.ถ้าเราไม่เคารพรักในสถาบันชาติแล้ว ความปั่นป่วนระส่ำระสายก็จะเกิดตามมา
28. ไทยเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขปกครองประเทศมาช้านาน ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนทั้งชาติ
29. ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ทรงพระเกษมสำราญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน
30. ทรงห่วงใยประชาราษฎร์ทุกเมื่อ ทรงสละหยาดพระเสโท เพื่อประชาชนและประเทศไทยอย่างแท้จริง ทรงเป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่งในโลก
31. ไทยเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นองค์ประมุขปกครองประเทศมาช้านาน ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนทั้งชาติ
32. ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท จะขอเป็นข้าพระบาททุกชาติไป
33. ขอพระองค์ทรงพระเกษมสำราญ และมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน
34. พระทรงเป็นดวงใจไทยทั้งผอง ทรงปกครองแผ่นดินไทยด้วยใจรัก
35. "พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างในการนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ให้กับชาวไทย และทรงนำพา แนวทางพัฒนาประเทศชาติ เพื่อให้ปวงชนชาวไทยทุกคน"
36. การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น
แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้
37. ทรงปกครองแผ่นดินมาโดยธรรม รู้แจ้งกันทั่วโลกามานานนัก
38. พระมหาเมตตา...ไพร่ฟ้าทั่ว ใครเมามัวก็ทรงชี้เป็นศรีศักดิ์
39. ทรงแนะนำทุกๆอย่างสรรค์สร้างนัก ไม่มีพักทรงทำงานมานานเกิน
40.ทรงยิ่งใหญ่กว่าเทวา-พรหมาเกิน ทางดำเนินแห่งโพธิสัตว์ทรงฉัตร
41. ผมดีใจมากที่ได้เกิดเป็นคนไทย ได้อยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่าน ทรงพระเจริญ..
42. พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพ่อหลวงของชาวไทยทุกคนทุกคนล้วนมีจิตนำนึกต่อหน้าที่ของตนและเดินทางตามพ่อหลวงอย่างพ่อเพียง
ทรงทำให้ชาวไทยทุกภาคมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นแนวทางต่อการดำเนินชีวิตอย่างไม่ใช่จ่ายเกินตัวขอพระองค์ทรงพระเจริญ
43. รู้หรือไม่ว่า ในหลวงเป็นคนประดิษฐ์รูปแบบฟอนต์ภาษาในคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้อย่าง ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์
44.ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จัดขึ้นที่อิมแพ็ค มีประชาชนเข้าชมรวม 6ล้านคน
45. ในหลวงเริ่มพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2493 จน 29 ปีต่อมาจึงมีผู้คำนวณว่าเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับครั้งละ 3 ชม.
ทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทาน 470,000 ครั้ง น้ำหนักปริญญาบัตรฉบับละ 3 ขีด รวมน้ำหนักทั้งหมด 141 ตัน
46. ดอกไม้ประจำพระองค์ คือ ดอกดาวเรือง
47. สีประจำพระองค์คือ สีเหลือง
48. นั่งรถหารสอง : ทรงรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันเป็นการสิ้นเปลือง จึงให้นั่งรวมกัน ไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด
49.ทรงเคยประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง เป็นเครื่องร่อน และเรือรบจำลอง
50. ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับสิทธิบัตรผลงานประดิษฐ์ คิด ค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือ กังหันน้ำชัยพัฒนา เมื่อปี 2536
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Nov 11, 2009 8:26 pm

กรณีพิพาท ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.๑๑๒

คำสั่งรัฐบาลฝรั่งเศสในการเจรจาสงบศึก
เมื่อพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ได้ไปแจ้งแก่ ม.เดอ แวลล์ ว่า รัฐบาลไทยยอมรับคำขาดลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม และข้อรับประกันเพิ่มเติม ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม แล้ว ม.เดอ แวลล์ จึงได้มีโทรเลขสั่งการไปยัง ม.ปาวี เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม มีความว่า
".....รัฐบาลไทยยอมรับข้อรับประกันเพิ่มเติมที่ฝรั่งเศสเรียกร้องไปตามบันทึก ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม กรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ก็คงจะได้แจ้งแก่ตัวท่านเองว่า รัฐบาลไทยยอมรับแล้ว เมื่อท่านได้แลกเปลี่ยนสาส์นเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการยอมรับคำขาด และข้อรับประกันเพิ่มเติมกับกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ เป็นการถูกต้องแล้ว ให้ท่านแจ้งแก่ นายพลเรือฮูมานน์ให้เลิกการปิดอ่าว และให้คงยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้ตามเดิม..... อนุญาตให้ไปประจำอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ได้ ม.เลอมีร์เดอวิเลร์ส จะมาถึงที่นั่นในไม่ช้า....."
ม.เดอ แวลล์ได้มีโทรเลขด่วนไปยัง ม.เลอมีร์ เดอริเลร์ส ที่กำลังเดินทางไปถึงเมืองเอเดน มีความว่า
"ประเทศไทยได้ยอมรับคำขาด รวมทั้งได้ยอมรับข้อประกันเพิ่มเติม ขอให้ท่านตรงไปที่กรุงเทพ ฯ โดยเรือลำใดลำหนึ่งของเรา...ที่ท่านจะต้องจัดการทำความตกลงกับรัฐบาลไทย คือ ตามธรรมดาจะต้องคัดเขียนข้อความในคำขาดที่ฝ่ายไทยได้รับแล้วลงเป็นสัญญา เป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องเพิ่มเติมข้อความที่ท่านเห็นสมควรสำหรับจะให้เป็นเครื่องประกันความสัมพันธ์ ในระหว่างเรากับไทย ซึ่งมีมาแล้วด้วยดี และให้พยายามสอดส่องถึงความยากอันจะพึงมีมาในวันข้างหน้าด้วย"
วันที่ ๘ สิงหาคม ม.ปาวี ได้โดยสารเรือ อาลูแอตต์ (Alouette) เข้าไปประจำอยู่ ณ สถานฑูตฝรั่งเศสตามเดิม
วันที่ ๙ สิงหาคม กองเรือฝรั่งเศสทั้งหมดเดินทางกลับไปไซ่ง่อน คงเหลือแต่เรือ อาลูแอตต์ คงอยู่ที่สถานฑูตฝรั่งเศส ส่วนเรือลูแตง คงประจำอยู่กับกองทหารฝรั่งเศสที่ยึดจันทบุรี เรือปาแปง (Papin) ไปรับ ม.เลอมีร์เดอวิเลร์สที่สิงคโปร์ ม.เลอมีร์ เดอวิเลร์ส เดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อ ๑๖ สิงหาคม และได้เข้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม เวลาบ่าย
ฝรั่งเศสเลิกปิดอ่าวไทย
ประกาศเลิกปิดอ่าวไทยมีความว่า
"ข้าพเจ้า นายพลเรือตรี ฮูมานน์ ผู้บัญชาการกองเรือฝรั่งเศสในอ่าวไทย ผู้ลงนามข้างท้าย โดยอาศัยอำนาจที่ข้าพเจ้ามีอยู่ ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
การปิดอ่าวฝั่ง และเมืองท่าประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่..... ได้เลิกแล้วตั้งแต่ วันที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ.๑๘๙๓ เวลา ๑๒.๐๐ น."
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Nov 11, 2009 8:27 pm

สัญญาสงบศึก

หนังสือสัญญา ทำเมื่อ วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๒ ระหว่างรัฐบาลแห่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามกับประธานาธิบดี แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส มีความปรารถนาจะระงับข้อพิพาทต่าง ๆ..... ระหว่างประเทศทั้งสอง และเพื่อกระชับสัมพันธไมตรี..... จึงได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่าย
ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ..... เสนาบดีว่าการต่างประเทศ
ฝ่ายประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ม.ชาร์ลส์ มารี เลอมีร์เดอ วิเลร์ส..... อัครราชฑูตผู้มีอำนาจเต็มชั้นที่หนึ่ง และสมาชิกรัฐสภา
.....ได้ตกลงกันทำสัญญาเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ รัฐลาลสยามยอมสละข้ออ้างทั้งปวงว่า มีกรรมสิทธิอยู่เหนือดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น
ข้อ ๒ รัฐบาลสยามจะไม่มีเรือใหญ่น้อยติดอาวุธไว้ใช้ หรือให้เดินไปมาในน่านน้ำของทะเลสาบ และของแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ภายในเขตที่ระบุไว้ในสัญญาข้อต่อไป
ข้อ ๓ รัฐบาลสยาม จะไม่สร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารไว้ในเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ และบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัสมี ๒๕ กิโลเมตร
ข้อ ๔ ภายในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ นั้น กำลังตำรวจจะมีไว้ตามธรรมเนียมการปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ และมีจำนวนได้เพียงเท่าที่จำเป็น กับจะไม่จัดตั้งกองทหารประจำการหรือไม่ประจำการใด ๆ ไว้ ณ ที่นั้นเลย
ข้อ ๕ รัฐบาลสยามรับรองว่า จะเปิดการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยเรื่องระเบียบการศุลกากร และการค้าภายในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ ภายในกำหนด ๖ เดือนเป็นอย่างช้า และให้มีการแก้ไขสัญญา ปี ค.ศ.๑๘๕๖ ด้วย รัฐบาลสยามจะไม่เก็บภาษีใด ๆ ในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ จนกว่าจะได้มีการตกลงกันในข้อนี้ และรัฐบาลฝรั่งเศสจะได้กระทำการตอบแทนเช่นเดียวกันแก่นานาสินค้าที่ผลิตได้ในเขตดังกล่าวนี้
ข้อ ๖ ความเจริญแห่งการเดินเรือในแม่น้ำโขงนั้น อาจมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างหรือตั้งท่าเรือ และจอดทำที่ไว้ฟืนและด่านบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงแล้ว รัฐบาลสยามรับรองว่าเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสร้องขอมาแล้ว ก็จะให้ความสดวกทั้งปวงเท่าที่จำเป็นเกี่ยวกับการนี้
ข้อ ๗ บุคคลสัญชาติฝรั่งเศสก็ดี บุคคลในบังคับหรือในปกครองฝรั่งเศสก็ดี จะไปมาหรือค้าขายได้โดยเสรีในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ ๓ ในเมื่อหนังสือเดินทางที่เจ้าพนักงานฝรั่งเศสให้ไว้ ส่วนราษฎรที่อยู่ในเขตดังกล่าวนี้ ก็จะได้รับสิทธิด้วยเช่นกัน
ข้อ ๘ รัฐบาลฝรั่งเศสสงวนไว้ ซึ่งสิทธิที่จะตั้งกงสุล ณ ที่ใด ๆ ก็ได้ เท่าที่เห็นสมควร เพื่อรักษาประโยชน์ของคนในปกครอง เช่นที่โคราช และที่เมืองน่าน เป็นต้น
ข้อ ๙ ในกรณีเกิดความยุ่งยากในการตีความหมายของสัญญานี้ ฉบับภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น ที่จะใช้เป็นหลัก
ข้อ ๑๐ สัญญาฉบับนี้จะต้องได้รับสัตยาบันภายในสี่เดือน เป็นอย่างช้า นับแต่วันที่ได้ลงนาม
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Nov 11, 2009 8:27 pm

อนุสัญญาต่อท้ายสัญญาสงบศึก
อนุสัญญาทำเมื่อ วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๒ ผนวกต่อท้ายหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยาม กับกรุงฝรั่งเศส
ผู้ที่มีอำนาจเต็มในการทำหนังสือสัญญาทั้งสองฝ่าย ได้ตกลงกันทำหนังสือสัญญาฉบับนี้ไว้ เพื่อเป็นมาตรการ และวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาสงบศึกที่ได้ลงนามในวันนี้ และตามคำขาดที่ได้ยอมรับเมื่อ วันที่ ๕ สิงหาคม ที่แล้วมา
ข้อ ๑ กองทหารกองสุดท้ายของไทย บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จะต้องถอนออกไปอย่างช้าที่สุดในหนึ่งเดือนนับจากวันที่ ๕ กันยายน
ข้อ ๒ บรรดาป้อมปราการที่อยู่ในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ แห่งสัญญาที่ได้ลงนามกันในวันนี้นั้นจะต้องรื้อถอนให้หมดสิ้น
ข้อ ๓ ผู้เป็นตัวการก่อเหตุร้ายที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วนนั้น เจ้าพนักงานฝ่ายสยาม จะต้องนำตัวมาพิจารณาลงโทษ ผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสคนหนึ่งจะมาทำการพิจารณาพิพากษาด้วย และจะดูแลการปฏิบัติในการลงโทษที่พิพากษาไว้ รัฐบาลฝรั่งเศสคงสงวนไว้ ซึ่งสิทธิที่จะเห็นชอบด้วย เมื่อการลงโทษนั้นสมควรแก่รูปคดี และถ้าไม่เห็นชอบด้วยแล้ว จะได้ร้องขอให้มีการพิจารณาคดีนั้นโดยศาลผสม ซึ่งฝรั่งเศสเป็นผู้จัดการตั้งตุลาการ
ข้อ ๔ รัฐบาลสยามจะต้องส่งมอบบรรดาคนในบังคับฝรั่งเศส คนญวน คนลาว ที่อยู่ทางฝั่งซ้าย รวมทั้งคนเขมรที่จับกุมเอาไว้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ตามที่ราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ จะได้กำหนด หรือส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานฝรั่งเศสประจำพรมแดน รัฐบาลสยามจะไม่ทำการขัดขวางการเดินทางกลับถิ่นเดิมของผู้คนที่เคยอยู่ทางฝั่งซ้าย
ข้อ ๕ ผู้แทนเสนาบดีว่าการต่างประเทศคนใดคนหนึ่ง จะต้องนำบางเบียนแห่งทุ่งเชียงคำ และพรรคพวกของเขา พร้อมทั้งเครื่องอาวุธและธงฝรั่งเศส ซึ่งเจ้าพนักงานฝ่ายสยามยึดคร่าไว้นั้น มาส่งมอบให้สถานฑูตฝรั่งเศส
ข้อ ๖ รัฐบาลฝรั่งเศสจะคงยึดครองเมืองจันทบุรีไว้ จนกว่ารัฐบาลสยามจะได้ปฏิบัติตามนัยแห่งอนุสัญญานี้แล้ว เช่นการถอนทหารกลับมาเสร็จสิ้นแล้ว และมีความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้นแล้ว ทางฝั่งซ้ายและในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ แห่งสัญญาที่ได้ลงนามกันในวันนี้
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Nov 11, 2009 8:28 pm

บันทึกวาจาต่อท้ายอนุสัญญา ที่ผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายสยาม ได้ลงนามเมื่อ วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๒
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงเกรงว่าจะไม่สามารถถอนกองทหารที่อยู่ห่างไกลมาก ให้พ้นกำหนดในวันที่ ๕ ตุลาคมได้ เพราะมีสิ่งที่จะทำไปไม่ได้เกี่ยวกับการขนย้ายสิ่งของ ม.เลอมีร์ เดอวิเลร์ส ตอบว่า ควรที่รัฐบาลสยามจะขอระยะเวลาเสียใหม่ โดยแจ้งตำบลที่ตั้งกองทหาร และระยะเวลาอย่างมากที่ต้องใช้ ก็คงจะได้รับการผ่อนผันโดยแน่นอน ตามความจำเป็นที่ควรขยายระยะเวลานั้นออกไปอีก
พระเจ้าน้องยาเธอ รับสั่งถามว่า วิธีดำเนินการตามความในข้อ ๒ นั้น จะต้องรื้อป้อมปราการโบราณที่ไม่ใช้แล้ว และไม่เกี่ยวกับราชการทหารมานานปีแล้ว และมีคุณลักษณะทางประวัติศาสตร์ แต่อย่างเดียวเท่านั้น เช่นกำแพงบ้านเจ้าเมืองพระตะบอง ฯลฯ นั้นด้วยหรือ
ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า ป้อมปราการนั้นหมายถึงการก่อสร้างทางทหารสำหรับใช้ในการป้องกัน และมิได้หมายถึงกำแพงเมือง ซึ่งมีไว้เพื่อประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์เท่านั้น
พระเจ้าน้องยาเธอรับสั่งถามว่า ศาลอุธรณ์ตามที่กล่าวในข้อ ๓ นั้น จะตั้งอยู่ใน ณ ที่ใด
ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า จะตั้งที่กรุงเทพ ฯ
พระเจ้าน้องยาเธอรับสั่งถามว่า คำว่า "ผสม" นั้น หมายความว่าอย่างไร
ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า หมายถึงศาลผสม ฝรั่งเศส - ไทย
พระเจ้าน้องยาเธอทรงตั้งข้อสังเกตว่า วิธีดำเนินการเช่นนี้ จะมิเป็นเหตุให้คนในบังคับสยามขาดจากอำนาจศาล ตามธรรมเนียมของเขาไปหรือ
ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า ประเทศสยามเป็นประเทศที่มีอำนาจพิพากษาคดีความ และการมีศาลผสมนั้น ก็ได้มีมาแล้วมิใช่เพิ่งคิดทำขึ้นใหม่
ตามความในข้อ ๕ แห่งอนุสัญญานั้น พระเจ้าน้องยาเธอทรงแจ้งให้ทราบว่า บางเบียนคงจะเข้าไปในดินแดนฝรั่งเศสแล้ว และด้วยเหตุนี้ จะไม่สามารถนำตัวข้าราชการผู้นี้มามอบให้แก่ราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ได้
ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า หากบางเบียนคงอยู่ในแดนฝรั่งเศส ความข้อนี้ก็เป็นอันตกไปเอง การที่ยังรักษาความข้อนี้ไว้ ก็เพราะยังมีความจำเป็นที่รัฐบาลสยาม ควรจะจัดการให้ข้าราชการผู้นี้ กลับคืนไปสู่แดนฝรั่งเศส ฉะนั้นจึงควรมีหนังสือแจ้งไปให้ทราบว่า บางเบียนได้ออกจากแดนสยามที่ตำบลใด เพื่อที่จะสามารถทราบตำบลที่อยู่ของเขา ความในข้อนี้นำมาใช้กับล่าม และทหารญวนด้วย
ในกรณีที่บางเบียน และบรรดาคนในบังคับฝรั่งเศสอื่น ๆ ยังตกค้างอยู่ในแดนสยาม ความในข้อ ๔ นี้คงบังคับใช้ด้วย
ตามความในข้อ ๖ พระเจ้าน้องยาเธอ ฯ รับสั่งขอคำอธิบายเกี่ยวกับคำว่า "ความสงบเรียบร้อย" ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสขอสงวนความข้อนี้ไว้โดยเห็นว่าอาจมีความยุ่งยากหรือการจลาจลที่คนไทยจะไปก่อเหตุขึ้น
พระเจ้าน้องยาเธอ ทรงเกรงว่า ความในข้อนี้จะเป็นเหตุให้ยกขึ้นกล่าวอ้างได้เสมอว่า ยังไม่มีความสงบเรียบร้อย โดยคนไทยเป็นผู้ไปก่อเหตุขึ้น
ม.เลอมีร์ เดอ วิเลร์ส กล่าวว่าสัญญาและอนุสัญญาสงบศึกนั้น กระทำไปด้วยความเชื่อถือต่อกัน และหลักการนี้ครอบคลุมงานของผู้มีอำนาจเต็ม หากจะมีการโต้แย้ง ไม่ถือหลักการนี้แล้วการเจรจาปรองดองกันก็จะมีขึ้นไม่ได้เลย
พระเจ้าน้องยาเธอรับสั่งถามว่า จะเชื่อถือได้อย่างไรว่าเมืองจันทบุรีจะเลิกถูกยึดครอง ในเมื่อได้ถอนทหารไทยกลับมาหมดแล้ว
ม.เลอมีร์ เดอ วิเลร์ส ตอบในทำนองปฏิเสธ อ้างว่าก่อนอื่นรัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องมั่นใจว่า รัฐบาลสยามให้ปฏิบัติแล้วซึ่งวิธีดำเนินการตามคำขาดด้วยความสุจริต
พระเจ้าน้องยาเธอทรงถามว่า จะพิสูจน์ความสุจริตของรัฐบาลสยามได้อย่างไร เพื่อให้มีการถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี
ม.เลอ มีร์ เดอ วิเลร์ส ตอบว่ารัฐบาลฝรั่งเศสไม่มีความประสงค์จะเอาเมืองจันทบุรีไว้ และถือว่าประโยชน์อันแท้จริงของฝรั่งเศสนั้นคือรับถอนทหารกลับไปโดยด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และนอกจากนี้แล้วก็คือปัญหาของการเชื่อถือต่อกัน
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Nov 11, 2009 8:28 pm

ไทยเสียดินแดนฝั่งขวา แม่น้ำโขง

1 ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐ (ร.ศ.๘๖)
2 ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ (ร.ศ.๑๐๗)
3 ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒)
4 ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ (ร.ศ.๑๒๓)
5 ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ (ร.ศ.๑๒๖)

ไทยได้ปฏิบัติตามคำบังคับต่าง ๆ ครบถ้วนทุกประการแล้ว แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมออกจากจันทบุรีจนเวลาล่วงไป ๑๐ ปี ฝรั่งเศสก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะออกไปจากจันทบุรี ฝ่ายไทยจึงต้องขอแลกเปลี่ยนกับฝรั่งเศส ทำให้เกิดมีสัญญากับฝรั่งเศสขึ้นอีกสองฉบับ คืออนุสัญญา ลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๕ และอนุสัญญา ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖
อนุสัญญาฉบับ ลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๕ มีอยู่ ๑๐ ข้อ มีใจความว่า
ข้อ ๑ กำหนดพรมแดนระหว่างไทยกับเขมรตอนเหนือ และรวมเอาดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงแคว้นหลวงพระบาง
ข้อ ๒ ให้ไทยยกเมืองมโนไพร และจำปาศักดิ์ให้ฝรั่งเศส
ข้อ ๓ ให้ไทยมีได้แต่ทหาร และนายทหารที่เป็นคนไทยในดินแดน ภาคอีสาน
ข้อ ๔ การสร้างท่าเรือคลอง และทางรถไฟ ในดินแดนภาคอีสาน จะทำได้ด้วยทุนของไทยและโดยคนไทย
ข้อ ๕,๖ และ ๗ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนในบังคับ
ข้อ ๘,๙ และ ๑๐ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับใช้และการตีความในสัญญา
แม้ว่าไทยกับฝรั่งเศสจะได้ทำอนุสัญญาฉบับนี้กันแล้ว แต่ทางรัฐสภาฝรั่งเศสยังไม่ยอมให้สัตยาบัน และฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมออกไปจากจันทบุรี ดังนั้นต่อมาอีกปีเศษจึงได้มีการทำอนุสัญญาฉบับลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖ แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับก่อน มี ๑๖ ข้อ มีใจความว่า
ข้อ ๑ กำหนดเขตแดนไทยกับเขมรโดยถือเอาภูเขาบรรทัดเป็นหลัก แล้ววกกินดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามปากเซ
ข้อ ๒ กำหนดเขตแดนทางหลวงพระบาง โดยไทยต้องยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงหน้าหลวงพระบางให้ฝรั่งเศส
ข้อ ๓ บัญญัติให้ตั้งข้าหลวงผสมปักปันเขตแดนตามความในข้อ ๑ และ ๒ ให้เสร็จภายในสี่เดือน
ข้อ ๔ ให้รัฐบาลไทยยอมเสียสละอำนาจที่จะเป็นเจ้าของแผ่นดินเมืองหลวงพระบางทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แต่อนุญาตให้คนไทยขึ้นล่องในแม่น้ำโขงตอนทีตกเป็นของฝรั่งเศสตอนนั้นได้สะดวก
ข้อ ๕ เมื่อได้ทำการปักปัน และตกลงกันตามความข้างต้นนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ฝรั่งเศสรับว่าจะออกไปจากจันทบุรีทันที
ข้อ ๖ ทหารของประเทศไทยที่จะประจำดินแดนภาคอีสานต้องเป็นชาติไทยทั้งหมด ส่วนตำรวจนั้นให้นายตำรวจเป็นชาติเดนมาร์ค แต่ถ้าจะเปลี่ยนเป็นชาติอื่นต้องให้ฝรั่งเศสตกลงด้วยก่อน ส่วนตำรวจที่รักษาพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณนั้น ต้องเป็นคนพื้นเมืองนั้นทั้งสิ้น
ข้อ ๗ การทำท่าเรือ คลอง ทางรถไฟในดินแดนภาคอีสาน ต้องทำด้วยทุนและแรงงานของไทย ถ้าทำไม่ได้ต้องปรึกษาฝรั่งเศส
ข้อ ๘ ไทยจะต้องให้ฝรั่งเศสเช่าที่ทำท่าเรือที่เชียงคาน หนองคาย ชัยบุรี ปากน้ำก่ำ มุกดาหาร เขมราฐ และปากน้ำมูล
ข้อ ๙ ไทยกับฝรั่งเศสจะต้องร่วมมือกันสร้างทางรถไฟจากพนมเปญถึง พระตะบอง
ข้อ ๑๐ และข้อ ๑๑ บัญญัติวิธีการจดทะเบียนคนในบังคับของฝรั่งเศส
ข้อ ๑๒ และข้อ ๑๓ ว่าด้วยอำนาจศาล
ข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับใช้และการตีความในสัญญา
ฝรั่งเศสยังไม่ยอมออกจากเมืองจันทบุรี เพราะไทยต้องปฏิบัติตามข้อตกลง (Agrement) ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๗ เกี่ยวกับการปักปันเขตแดนใหม่ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ฝรั่งเศสได้ถอนทหารออกจากจันทบุรีหมดเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๗ โดยไทยต้องเสียดินแดนไปถึง ๖๒,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร
ฝรั่งเศสออกจากเมืองจันทบุรีแล้ว ได้ไปยึดเมืองตราดแทน เพื่อเรียกร้องจากไทยต่อไปอีก
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Nov 11, 2009 8:29 pm

ไทยเสียพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ
การที่ฝรั่งเศสยึดเมืองตราด ทำให้เกาะทั้งหลายใต้แหลมลิงไปจนถึงเกาะกูด คงอยู่ในความยึดครองของฝรั่งเศส ดังนั้น เพื่อให้ฝรั่งเศสออกไปจากเมืองตราดไทยต้องเสียพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ไปให้ฝรั่งเศสอีก โดยสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๙ และมีพิธีสาร (Protocol) ต่อท้ายว่าด้วยการปักปันเขาแดน ลงวันที่เดียวกัน มีใจความว่า
"ไทยยอมยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยอมยกเมืองด่านซ้าย (อยู่ในเขตจังหวัดเลย) เมืองตราด และเกาะทั้งหลายที่อยู่ใต้แหลมลิง ลงไปจนถึงเกาะกูดให้แก่ไทย
มีพิธีสารต่อท้ายอีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่เดียวกันเรื่องอำนาจศาลในกรุงสยาม มีใจความว่า
"ให้คนในบังคับฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในประเทศไทยมีสิทธิมากขึ้น" ครั้งนี้ไทยต้องเสียดินแดนไปอีก ๕๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร
ได้มีการประกอบพิธีรับมอบเมืองตราดจากฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๐ โดยมีพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยะศิริ) ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยทหารเรือ ๑ กองร้อย เดินทางไปรับมอบ
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Nov 11, 2009 8:30 pm

จันทบุรีถูกยึดครอง



ในสมัย ร.ศ.๑๑๒ เมืองจันทบุรีขึ้นกับกระทรวงการต่างประเทศ มีข้าราชการในตำแหน่งสำคัญประจำอยู่ ดังนี้
พระยาวิชยาธิบดี (หงาด บุนนาค) เป็นผู้ว่าราชการเมือง
พระยาเทพสงคราม (เยื้อง สาณะเสน) เป็นปลัดเมือง
พระกำแพงฤทธิรงค์ (แบน บุนนาค) เป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมือง
พระวิเศษสงคราม เป็นนายด่านปากน้ำ
ขุนกลางบุรี (ปลิว พันธุมนันท์) เป็นตุลาการ
นายร้อยเอก ตรุศ เป็นผู้บังคับการทหารเรือ
นายร้อยโท คอลส์ ชาติเดนมาร์ค เป็นครูทหารเรือ
นายร้อยโท จ้อย เป็นผู้บังคับกองทหารเรือ
ในระหว่างที่กองเรือฝรั่งเศสประกาศปิดอ่าว เรือฟอร์แฟได้มาตรวจการปิดอ่าวทางด้านเมืองจันทบุรี เมื่อประมาณ วันที่ ๓๐ - ๓๑ กรกฎาคม ได้มาทำการหยั่งน้ำทำแผนที่บริเวณปากน้ำจันทบุรี และได้จัดส่งเรือกลไฟเล็กไปที่ป้อมที่แหลมลิง เอาประกาศปิดอ่าวมาแจ้งให้ทราบ
เมื่อเลิกการปิดอ่าวแล้วเรือลูแตงและเรือแองคองสตังต์ได้ไปยึดปากน้ำจันทบุรี ต่อมาเมื่อได้มีการลงนามในสัญญาสงบศึกที่กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ กองทหารฝรั่งเศสก็ได้ยกไปตั้งที่เมืองจันทบุรี ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งหลวงอุดมสมบัติ (หนา บุนนาค) กับหลวงวิสูตรโกษา (เจิม บุนนาค) เป็นข้าหลวงออกไปช่วยราชการ ม.ปาวี ได้ไปตรวจราชการพร้อมกับนี้ด้วย ก่อนที่กองทหารฝรั่งเศสจะยกไป กองทหารเรือที่แหลมสิงห์ และที่เมืองจันทบุรีก็ต้องย้ายไปตั้งที่เมืองขลุง
เรืออาสปิค ซึ่งรับ ม.เลอมีร์ เดอ วิเลร์ส จากกรุงเทพ ฯ กลับไซ่ง่อน ได้แวะที่ปากน้ำจันทบุรี เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖
เรือสวิฟท์ของอังกฤษ ได้เดินทางไปจอดที่ปากน้ำ จันทบุรี เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ได้ติดต่อสอบถามกับผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรี ในฐานะที่ต้องถูกยึดครอง
เรือเมล์เยอรมัน ชื่อ ชวัลเบ (Schalbe) ซึ่งฝรั่งเศสเช่ามาได้บรรทุกกองทหารฝรั่งเศสหนึ่งกองพัน เดินทางจากไซ่ง่อนมาถึงปากน้ำจันทบุรี เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ กองทหารนี้ มีทหารฝรั่งเศสประมาณ ๑๐๐ คน ทหารญวน ประมาณ ๓๐๐ คน ได้จัดกำลังทหารประมาณ หนึ่งกองร้อย รักษาการณ์อยู่ที่แหลมสิงห์ห์ นอกนั้นไปตั้งอยู่ที่ค่ายทหารในเมืองจันทบุรี ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งกองทหารเรือ
กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีทราบล่วงหน้าถึงการที่กองทหารฝรั่งเศส จะยกมาตั้งที่เมืองจันทบุรี ดังนั้นผู้ว่าราชการเมือง พร้อมด้วยกรมการจึงได้ไปต้อนรับกองทหารฝรั่งเศสที่ปากน้ำแหลมสิงห์ห์ฉันมิตร ข้าหลวงจากกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองนาย ก็ได้ช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่กองทหารฝรั่งเศส ในการติดต่อกับข้าราชการฝ่ายไทย เมื่อทหารฝรั่งเศสเข้าอยู่ในที่ตั้งแล้ว ก็ได้จัดการก่อสร้างที่พักของทหาร จัดการคมนาคมติดต่อระหว่างหน่วยทหารในเมืองกับหน่วยทหารที่ปากน้ำแหลมสิงห์
ในระหว่างที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีอยู่นั้น กองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งด่านตรวจเรือที่หัวแหลมตึกแดงปากน้ำแหลมสิงห์ โดยทำสะพานยื่นจากหัวแหลมตึกแดงออกไปทางทะเล สำหรับให้เจ้าหน้าที่ตรวจตราบรรดาเรือเมล์ หรือเรือใบที่จะผ่านเข้าออกไปมา บรรดาเรือเมล์ก่อนที่จะผ่านเข้าออกปากน้ำจันทบุรี เมื่อใกล้ถึงหัวแหลมตึกแดงแล้ว ต้องชักหวูดให้กองทหารฝรั่งเศสได้ยิน และต้องคอยให้พวกทหาร หรือล่ามของเขาขึ้นมาตรวจก่อนทุกครั้ง กัปตันเรือจะต้องยื่นบัญชีจำนวนสินค้า และจำนวนคนโดยสารให้เขาทราบทุกเที่ยวเมล์ เมื่อเขาการตรวจและรับบัญชีไปแล้ว เรือเมล์จึงเดินทางต่อไปได้ เรือเมล์ที่เดินอยู่ระหว่างกรุงเทพ ฯ กับจันทบุรีในยุคนั้น มีอยู่หลายลำและหลายเจ้าของด้วยกัน
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Nov 11, 2009 8:30 pm

ส่วนบรรดาเรือใบ ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้า ก็ต้องแวะให้ตรวจเช่นกัน ถ้าเรือลำใดไม่แวะให้เขาตรวจเขาก็ใช้อำนาจยิงเอา การเช่นนี้ทำความลำบากแก่บรรดาเรือกลไฟ และเรือใบที่ต้องเสียเวลาหยุดเครื่องจักรหรือลดใบให้เขาตรวจเสียก่อน



ในระยะแรกที่ฝรั่งเศสยึดครองจันทบุรี จะพักอาศัยอยู่ตามโรงเรือนฝ่ายไทย เช่น โรงทหารเก่าของไทย และบ้านเรือนของข้าราชการ ต่อมาฝรั่งเศสจึงได้ก่อสร้างบ้านเรือนและที่พักทหาร ที่สร้างเป็นตึกถาวรในบริเวณค่ายทหาร มีอยู่หลายหลังคือ
ตึกรูปสี่เหลี่ยมชั้นเดียว หลังคาตัด ใช้เป็นตึกกองบังคับการ และเป็นที่อยู่ของผู้บังคับกองทหาร (ตึกดองมันดอง)
ตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่เก็บอาวุธยุทธภัณฑ์
ตึกชั้นเดียวขนาดเล็ก ใช้เป็นที่อยู่ของพนักงานคลัง
ตึกชั้นเดียวขนาดยาว ใช้เป็นโรงพยาบาลทหาร
ตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่อยู่ของนายทหารมี ๒ หลัง
ตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ ใกล้ประตูหน้าค่ายทหารใช้เป็นที่อยู่ของกองรักษาการณ์ ด้านหลังใช้เป็นที่คุมขังนักโทษทหาร
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Nov 11, 2009 8:31 pm

นอกจากนี้ ยังได้สร้างตึกถาวรอีกแห่งหนึ่งที่ปากน้ำแหลมสิงห์เรียกกันว่า ตึกแดง และได้สร้างคุกทหารไว้หลังหนึ่งด้วย
เมื่อไทยได้ทำอนุสัญญากับฝรั่งเศสอีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖ แล้ว ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกไปจากเมืองจันทบุรี แต่เมื่อออกจากจันทบุรีไปแล้ว ก็ได้ไปยึดครองเมืองตราดต่อไปอีก
กองทหารฝรั่งเศสในบังคับบัญชาของ นายพันตรี โฟเดต์ ได้ถอนกำลังออกจากเมืองจันทบุรี เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๗ แล้วไปตั้งอยู่ที่เมืองตราด กองทหารฝรั่งเศสเริ่มย้ายออกไปจากเมืองจันทบุรี ตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคม และได้ถอนกำลังออกไปเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ ๘ เดือนเดียวกัน
ในระยะแรกที่กองทหารฝรั่งเศสเข้ามายึดครองจันทบุรี ได้มีเรือรบฝรั่งเศสผลัดกันมารักษาการณ์ อยู่ที่ปากน้ำจันทบุรี และมีทหารประมาณ หนึ่งกองร้อย ประจำอยู่ที่แหลมสิงห์ จนถึงปลายเดือน มกราคม พ.ศ.๒๔๓๘ จึงไม่ส่งเรือรบมาจอดที่ปากน้ำจันทบุรีอีกต่อไป และเพื่อความสะดวกในการติดต่อกับไซ่ง่อนและกรุงเทพ ฯ จึงได้มีเรือเมล์ของฝรั่งเศสเดินระหว่างไซ่ง่อนกับกรุงเทพ ฯ เป็นประจำ และได้แวะที่จันทบุรีทั้งขาไป และขากลับ นอกจากนี้ยังมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่เดินทางจากไซ่ง่อน มาตรวจกองทหารที่จันทบุรีตามระยะเวลา
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Nov 11, 2009 8:32 pm

วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๗ พระยาศรีสหเทพ ราชปลัดทูลฉลองมหาดไทย ได้ออกเดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยเรือจำเริญ บรรทุกทหารเรือ ๑ กองร้อยเดินทางไปฉลองเมืองจันทบุรี ในโอกาสที่กองทหารฝรั่งเศสได้ถอนกำลังออกไปแล้ว
งานพิธีฉลองเมืองจันทบุรีได้จัดทำที่ค่ายทหาร มีการตั้งเสาธงสูง ๑๓ วา ที่กลางค่ายปลูกโรงพิธี โรงเลี้ยง โรงการเล่น มีงิ้ว หุ่นจีน ละคร ลิเก ในเวลากลางคืนมีการจุดโคมไฟสว่างไสวตามค่ายทหาร และตามบ้านเรือนราษฎรทั่วไป วันที่ ๑๔ มกราคม ตอนเย็นมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วมีการเลี้ยงใหญ่ ไวซ์กงสุลฝรั่งเศสและภริยาก็มาร่วมงานด้วย มีผู้มาร่วมงาน ประมาณ ๒,๐๐๐ คน เป็นที่รื่นเริงกันมาก รุ่งขึ้นวันที่ ๑๕ มกราคม ตอนเช้าถวายอาหารบิณฑบาต และเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์ เวลา ๐๙.๐๐ น. พระยาศรีสหเทพ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมือง กรมการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า และประชาชน มาประชุมพร้อมกันรอบเสาธง พระยาศรีสหเทพได้อ่านประกาศ และคำถวายพระพรชัยมงคล เสร็จแล้วได้ชักธงมหาราชขึ้นสู่ยอดเสา ดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เรือรบที่จอดอยู่ที่ปากน้ำแหลมสิงห์ยิงสลุต ๒๑ นัด
เมื่อกองทหารฝรั่งเศสได้ถอนออกไปจากเมืองจันทบุรีแล้ว ก็ได้ย้ายกองทหารเรือที่เมืองขลุง กลับมาตั้งอยู่ที่เมืองจันทบุรีอีก ได้เข้าไปตั้งอยู่ที่ค่ายทหารฝรั่งเศส แล้วเรียกกองทหารเรือนี้ว่า กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๗ ขึ้นกับกรมทหารเรือชายทะเล
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Thu Nov 12, 2009 3:40 pm

พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา


สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)
สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๗๕ ทรงสถาปนาอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ ปีขาล โทศก ณ วันศุกร์ เดือนห้า เพลาสามนาฬิกา ห้าบาท ได้รับถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร พระเจ้าอยู่หัว กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา ฯ ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒
สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งกรุงศรีอยุธยา ณ ชัยภูมิที่เอื้ออำนวยทั้งในด้านความมั่นคงปลอดภัยจากข้าศึกและความอยู่ดีกินดีของชาวอยุธยา คือตั้งอยู่บนดินดอนสามเหลี่ยมที่มีแม่น้ำล้อมรอบ ตัวเมืองมีลักษณะเป็นเกาะ สะดวกในการป้องกันตัวเมืองจากผู้เข้ามารุกราน และพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรม เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการคมนาคม อันเนื่องจากมีแม่น้ำสามสายคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ไหลมาบรรจบกัน ควบคุมเส้นทางคมนาคมทางน้ำของบรรดาบ้านเมืองที่ อยู่เหนือขึ้นไปที่จะออกสู่ทะเล
สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงนำลักษณะการปกครองทั้งของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งของกรุงสุโขทัย และของขอม มาประยุกต์ใช้กับกรุงศรีอยุธยา ได้จัดการปกครองบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ในราชอาณาจักร ออกเป็น หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรส ไปครองเมืองลพบุรี และขุนหลวงพะงั่ว ผู้เป็นพี่พระมเหสี ไปครองเมืองสุพรรณบุรี
ในด้านการแผ่ขยายพระราชอาณาเขต ในปี พ.ศ.๑๘๙๕ ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปตีนครธม ราชธานีของขอม ได้สำเร็จ นับเป็นการทำสงครามครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๙๗ ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปยึดเมืองชัยนาท ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัย เป็นผลให้พระเจ้าลิไทได้ส่งราชทูตมาขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา และขอเมืองชัยนาทคืน
นอกจากขอมและสุโขทัยแล้ว พระองค์ได้ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับชาวต่างชาติ เพื่อประโยชน์ทางการค้าและการเมือง โดยได้ทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี และการค้ากับจีน อินเดีย เปอร์เซีย ลังกา ชวา มลายูและญวน
สมเด็จพระเจ้าอู่ทองครองราชย์ได้ ๑๙ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๒ พระชนมายุได้ ๕๕ พรรษา
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Thu Nov 12, 2009 3:41 pm

สมเด็จพระราเมศวร
สมเด็จพระราเมศวร ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงครองราชย์สองครั้งคือ ครั้งแรกต่อจากสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๑๒ - ๑๙๒๓ และครั้งที่สอง ต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๓๑ - ๑๙๓๘
ก่อนขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระราเมศวรได้รับโปรดเกล้า ฯ จากสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ให้ครองเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านเหนือของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อทางกัมพูชาไม่เป็นไมตรีกับทางกรุงศรีอยุธยาที่เรียกว่า ขอมแปรพักตร์ ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปตีนครธม ราชธานีของขอม ร่วมกับขุนหลวงพะงั่ว จนตีนครธมได้สำเร็จ
ในปี พ.ศ.๑๙๑๓ ขุนหลวงพะงั่วได้ยกกำลังจากเมืองสุพรรณบุรี มายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระราเมศวรทรงเชิญเสด็จเข้าพระนครแล้วถวายราชสมบัติให้ ส่วนพระองค์เองขึ้นไปครองเมืองลพบุรีดังเดิม
เมื่อขุนหลวงพะงั่วสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๙๓๑ สมเด็จพระเจ้าทองลันผู้เป็นพระราชโอรส ได้ขึ้นครองราชย์ได้เจ็ดวัน สมเด็จพระราเมศวรก็ยกกำลังจากเมืองลพบุรี จับพระเจ้าทองลันสำเร็จโทษ แล้วขึ้นครองราชย์ต่อมา
ในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงทำสงครามแผ่ขยายราชอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาออกไปยังอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรขอมกล่าวคือ
ในปี พ.ศ.๑๙๓๓ ทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ในชั้นแรกเจ้าเมืองเชียงใหม่ขอสงบศึก และจะนำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย แต่สุดท้ายไม่ได้ทำตามสัญญา พระองค์จึงยกกำลังเข้าตีเมืองเชียงใหม่ได้ จับนักสร้าง โอรสพระเจ้าเชียงใหม่ได้ แล้วกวาดต้อนผู้คนลงมาทางใต้ ให้ไปอยู่ที่เมืองจันทบุรี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
หลังจากตีเชียงใหม่แล้วก็ได้ยกกำลังไปทำสงครามกับอาณาจักรขอม เนื่องจากทางขอมได้ยกกำลังมากวาดต้อนผู้คนชาวเมืองจันทบุรี และเมืองชลบุรี ไปประมาณ ๖,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ คน พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาไชยณรงค์เป็นแม่ทัพหน้า เมื่อตีเมืองขอมได้แล้วจึงได้นำชาวเมืองจันทบุรี และเมืองชลบุรีกลับคืนมา แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาไชยณรงค์ปกครองเมืองขอม พร้อมกับกำลังพล ๕,๐๐๐ คน ต่อมาเมื่อญวนยกกำลังมารบ พระองค์จึงให้พระยาไชยณรงค์กวาดต้อนผู้คนมายังกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระราเมศวรเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๘ ครองราชย์ได้ ๘ ปี


สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว)
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ มีพระนามเดิมว่า ขุนหลวงพะงั่ว ทรงเป็นพระเชษฐาของพระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง เดิมครองเมืองสุพรรณบุรี พระองค์ทรงเป็นนักรบที่สามารถ ตั้งแต่ในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง
ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ยกกำลังไปตีหัวเมืองเหนือหลายครั้ง โดยได้ไปตีเมืองชากังราวสามครั้ง เนื่องจากเป็นเมืองที่กรุงสุโขทัยใช้เป็นเมืองหน้าด่าน จากการรุกเข้าโจมตีของกรุงศรีอยุธยา
ขุนหลวงพะงั่วได้ส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับจักรพรรดิจีนหลายครั้ง มีการแลกเปลี่ยนเครื่องราชบรรณาการซึ่งกัน และกันทางไทยได้ส่งช้าง เต่าหกขา หมีดำ ลิงเผือกและของพื้นเมืองอื่น ๆ ไปถวาย ทางจีนได้ส่งผ้าแพรดอกขาว ผ้าแพรสี ผ้าไหมสีเงินทอง และปฏิทินหลวงมาถวาย
ในด้านพระพุทธศาสนา พระองค์ไม่เพียงแต่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปปถัมภกเช่นเดียวกันกับพระมหากษัตริย์องค์ก่อน และแม้ว่าจะอยู่ในช่วงต้น ๆ ของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และต้องทำศึกสงครามเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของพระราชอาณาจักร พระองค์ยังได้สร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่ คือ พระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งมีความสูงถึง ๑๙ วา
ขุนหลวงพะงั่วเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๑ ครองราชย์ได้ ๑๘ ปี
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Thu Nov 12, 2009 3:41 pm

สมเด็จพระเจ้าทองลัน (ทองจันทร์)
สมเด็จพระเจ้าทองลัน ทรงเป็นพระราชโอรสในขุนหลวงพะงั่ว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๗ เมื่อขุนหลวงพะงั่ว เสด็จสวรรคตขณะที่ทรงยกทัพไปตีเมืองชากังราวครั้งที่สี่ บรรดาข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ซึ่งทรงเป็นรัชทายาทขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๑ ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา
พระเจ้าทองลันครองราชย์อยู่ได้เจ็ดวัน ก็เสด็จสวรรคตในปีเดียวกัน


สมเด็จพระรามราชาธิราช
สมเด็จพระรามราชาธิราช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราเมศวร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๙ ที่เมืองลพบุรี ทรงพระนามว่า เจ้าพระยาราม เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๘ พระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ห้าของกรุงศรีอยุธยา
ในห้วงเวลาที่พระองค์ครองราชย์ บ้านเมืองเป็นปกติสุขดี พระองค์ได้ทรงส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๐ และก็ได้ส่งทูตแลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีอยู่เสมอในระยะต่อ ๆ มา
สมเด็จพระรามราชาธิราช พยายามที่จะขยายอำนาจไปยังอาณาจักรล้านนา แต่ไม่เป็นผล ทางอาณาจักรสุโขทัยก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจ และยังไม่ไว้วางพระทัยเจ้านครอินทร พระราชนัดดาในขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งทางพระเจ้ากรุงจีนให้ความสนิทสนม อีกทั้งยังยกย่องว่าเป็นกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง ในปลายรัชสมัยของพระองค์ ได้มีข้อพิพาทกับเจ้าพระยามหาเสนาบดี ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดี และเป็นผู้บังคับบัญชาทหาร เจ้าพระยามหาเสนาบดีได้หนีไปอยู่ฟากปทาคูจาม แล้วได้รวมกับเจ้านครอินทร์ ยกกำลังจากสุพรรณบุรีมายึดวังหลวง แล้วทูลเชิญเจ้านครอินทร์ขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา ส่วนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ไปครองเมืองปทาคูจาม เมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๒ พระองค์ทรงครองราชย์กรุงศรีอยุธยาได้ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตปีใดไม่ปรากฏ


สมเด็จพระนครินทราธิราช (พระนครอินทร์)
สมเด็จพระนครินทร์ ฯ ทรงเป็นพระราชนัดดาในขุนหลวงพะงั่ว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๒ ทรงครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๒ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่หกของกรุงศรีอยุธยา
ในปี พ.ศ.๑๙๖๒ พระยาบาลเมืองและพระยารามได้สู้รบชิงราชสมบัติกรุงสุโขทัย พระองค์ได้ทรงเข้าไปไกล่เกลี่ย แล้วทรงอภิเศกพระยาบาลเมือง ให้ครองกรุงสุโขทัย และพระยารามราชครองเมืองศรีสัชนาลัย หลังจากนั้นได้ทรงปรับปรุงการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยาใหม่ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าอ้ายพระยาไปครองเมืองสุพรรณซึ่งเป็นเมืองลูกหลวง เจ้ายี่พระยาไปครองเมืองนครสวรรค์ และเจ้าสามพระยาไปครองเมืองชัยนาทซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านเหนือ
สมเด็จพระนครินทร์ ฯ เคยเสด็จไปเมืองจีน เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๐ เมื่อครั้งยังครองเมืองสุพรรณบุรี เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว
ก็ได้ทรงส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับจีน
สมเด็จพระนครินทร์ ฯ ครองราชย์ได้ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๗
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Thu Nov 12, 2009 3:41 pm

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)
เจ้าสามพระยาเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ที่สามในสมเด็จพระนครินทร์ ฯ จากการแย่งราชสมบัติของเจ้าอ้ายพระยา กับเจ้ายี่พระยา จนสิ้นพระชนม์ไปทั้งสององค์ เจ้าสามพระยาจึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๗ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่เจ็ดแห่งกรุงศรีอยุธยา
พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในการปกครอง และการรบ ดังจะเห็นได้จากกรณีเมืองเหนือ และเมืองกัมพูชา กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๔ พระองค์ได้ทรงยกกองทัพไปล้อมพระนครหลวง (นครธม) ของกัมพูชาอยู่ถึงเจ็ดเดือนจึงสามารถยึดได้ นับเป็นการขยายพระราชอาณาาเขตของ อาณาจักรอยุธยาตอนต้นอย่างเป็นรูปธรรม
ในปี พ.ศ.๑๙๘๕ พระองค์ได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่สำเร็จ จึงได้ยกกองทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.๑๙๘๘ ได้หัวเมืองชายแดนของเชียงใหม่ แต่ทรงประชวรเสียก่อน จึงทรงยกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยของพระองค์นอกจากทำสงครามขยายพระราชอาณาเขตแล้ว ยังได้ปรับปรุงด้านการปกครอง โดยได้ทรงตรากฎหมายลักษณะอาญาศึก (อยู่ในลักษณะกบฎศึก) ขึ้นในกรุงศรีอยุธยา
ในด้านการพระศาสนา ได้ทรงสร้างวัดราชบูรณะ ประกอบด้วยพระธาตุ และพระวิหาร โดยสร้างไว้ ณ บยริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา
เจ้าสามพระยาสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๑ ครองราชญ์ได้ ๒๔ ปี


สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จพระราชยสภพ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๔ พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เมื่อพระองค์มีพระชนม์มายุได้เจ็ดพรรษา พระราชบิดาได้พระราชทานพระนามตามพระราชประเพณีว่า สมเด็จพระราเมศวรบรมไตรโลกนาถบพิตร และเมื่อพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดยได้ประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เสด็จสวรรคต พระองค์จึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๑ พระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่แปดของกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงมีพระราชสมัญญาอีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้าช้างเผือก เนื่องจาก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๔ พระองค์ได้ทรงรับช้างเผือก ซี่งนับเป็นช้างเผือกช้างแรกของกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปฏิรูปการปกครอง โดยทรงรวมอำนาจจากการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางคือ ราชธานี และแยกฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนออกจากกันคือ ฝ่ายทหารมีสมุหพระกลาโหมเป็นหัวหน้า รับผิดชอบ ฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายก เป็นหัวหน้ารับผิดชอบ มีผู้ช่วยคือ จตุสดมภ์ ได้แก่ กรมเมือง กรมวัง กรมพระคลัง และกรมนา ในกรณีที่เกิดศึกสงครามทั้งฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนจะต้องนำหน้าในกองทัพร่วมกัน
การปกครองในส่วนภูมิภาค ได้ยกเลิกระบบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ แต่เดิมที่แบ่งออกเป็นเมืองลูกหลวง หลานหลวง แล้วระบบการปกครองหัวเมืองเสียใหม่ ดังนี้
หัวเมืองชั้นใน เช่น เมืองราชบุรี นครสวรรค์ นครนายก เมืองฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เป็นต้น จัดเป็นเมืองจัตวา พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมไปปกครอง แต่สิทธิอำนาจทั้งหมดยังขึ้นอยู่กับองค์พระมหากษัตริย์
หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร เช่น เมืองพิษณุโลก สุโขทัย นครราชสีมา และทวาย จัดเป็น เมือง เอก โท ตรี พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปเป็นเจ้าเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาเป็นสิทธิขาด เป็๋นผู้แทนองค์พระมหากษัตริย์ มีกรมการปกครองในตำแหน่ง เมือง วัง คลัง นา เช่นเดียวกับของทางราชธานี
เมืองประเทศราช ทางกรุงศรีอยุธยาคงให้เจ้าเมืองของเมืองหลวงนั้นปกครองกันเอง โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเจ้าเมือง เมืองประเทศราชจะต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองกับเครื่องราชบรรณาการทุกรอบสามปี และต้องส่งกองทัพมาช่วยทางราชธานี เมื่อเกิดการสงคราม
สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแล ตำบล มีกำนันเป็นหัวหน้า แขวง มีหมื่นแขวงเป็นหัวหน้า การปกครองท้องถิ่นดังกล่าวได้ใช้สืบทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
มีการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการให้มีบรรดาศักดิ์ตามลำดับจากต่ำสุดไปสูงสุดคือ ทนาย พัน หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา และเจ้าพระยา มีการกำหนดศักดินาเพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับราชการ และได้อาศัยใช้เป็นเกณฑ์กำหนดการมีที่นาและการปรับไหมตามกฎหมาย
ในปี พ.ศ.๒๐๐๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งกฎมณเฑียรบาล ขึ้นเป็นกฎหมายสำหรับการปกครอง แบ่งออกเป็นสามแผนคือ พระตำรา ว่าด้วยแบบแผนและการพระราชพิธีต่าง ๆ พระธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องตำแหน่งหน้าที่ราชการ พระราชกำหนด เป็นข้อบังคับในพระราชสำนัก
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง นับว่าเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เรื่องแรกของกรุงศรีอยุธยา และเป็นวรรณคดีชั้นเยี่ยมที่ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาภาษา และวรรณคดีของไทย นอกจากนี้ยังมีลิลิตพระลอ ซึ่งเป็นยอดวรรณคดีประเภทลิลิตของไทย
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๑ ครองราชย์ได้ ๔๐ ปี พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ๑๕ ปี และประทับที่เมืองพิษณุโลก ๔๐ ปี
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Thu Nov 12, 2009 3:42 pm

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พระอินทราชา)
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระนามเดิมว่า พระอินทราชา ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๑ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่เก้าของกรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในช่วงที่ทำสงครามกับอาณาจักรล้านนาหลายครั้ง พระองค์ได้เสด็จไปประทับที่เมืองพิษณุโลกเป็นเวลา ๒๕ ปี จนเสด็จสวรรคต ในห้วงเวลาดังกล่าว สมเด็จพระบรมราชาจึงได้ครองกรุงศรีอยุธยา ที่เสมือนมีฐานะเมืองลูกหลวง ได้มีส่วนรับพระราชภาระจากพระราชบิดาให้เป็นไปด้วยดี
ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองทวาย คืนมาจากกรุงหงสาวดี และได้กวาดต้อนผู้คนมาเป็นจำนวนมาก
สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๔ ครองราชย์ได้ ๓ ปี



สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระนามเดิมว่า พระเชษฐาธิราช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๕ ที่เมืองพิษณุโลก ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้อภิเษกเป็นพระมหาอุปราชเมื่อพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา เมื่อสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระองค์ได้ถวายราชสมบัติแก่พระบรมราชาธิราชที่ ๓ ผู้ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา และครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก พระองค์จึงอยู่ในฐานะพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ เสด็จสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๔ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สิบของกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงจัดให้มีการจัดระเบียบกองทัพ และแต่งตำราพิชัยสงคราม ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้จัดทำบัญชีกำลังพล เมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๑ เพื่อเกณฑ์พลเมืองเข้ารับราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน โดยกำหนดให้ไพร่ที่เป็นชาย อายุตั้งแต่ ๑๘ - ๖๐ ปี ต้องเข้ารับราชการทหาร ยกเว้นผู้ที่มีบุตรชายแล้วเข้ารับราชการ ตั้งแต่สามคนขึ้น ผู้เป็นบิดาจึงพ้นหน้าที่รับราชการทหาร ชายที่มีอายุ ๑๘ ปี ต้องขึ้นทะเบียนทหารเพื่อเข้ารับการฝึกหัดทหาร เรียกว่า ไพร่สม เมื่ออายุ ๒๐ ปี จึงเรียกเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการเรียกว่า ไพร่หลวง ส่วนพวกที่ไม่สามารถมารับราชการทหารได้ ก็ต้องมีของมาให้ราชการเป็นการชดเชยเรียกว่า ไพร่ส่วย
ได้มีการตั้งกรมพระสุรัสวดี ให้เป็นหน่วยรับผิดชอบ โดยมีออกพระราชสุภาวดี เป็นเจ้ากรมรับผิดชอบในมณฑลราชธานี พระสุรัสวดีขวา รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายเหนือ และพระสุรัสวดีซ้าย รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายใต้
ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ พระเมืองแก้วเจ้าเมืองเชียงใหม่ ยกทัพมาตีกรุงสุโขทัย สมเด็จพระรามาธิบดี ได้ทรงออกทัพขึ้นไปช่วยโจมตี จนกองทัพเชียงใหม่แตกกลับไป
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๘ พระองค์ได้ทรงยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองลำปางได้ เมื่อเสร็จยกทัพกลับอยุธยา พระองค์ได้ทรงสถาปนาพระอาทิตย์วงศ์ พระราชโอรสให้เป็นพระบรมราชาตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธางกูร หรือสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้ารัชทายาท โปรดเกล้า ฯ ให้ปกครองหัวเมืองเหนือประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ทำให้ราชอาณาจักรล้านนาไม่มารบกวนเมืองเหนืออีกตลอดรัชสมัยของพระองค์
นอกจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๔๓ ยังได้ส่งกองทัพทั้งทางบก และทางเรือ ไปทำสงครามกับมะละกา ถึงสองครั้ง เข้าโจมตีชายฝั่งตะวันออกและตะวันตก แม้ไม่ประสบผลสำเร็จแต่ก็ทำให้มะละกาได้ตระหนักถึงอำนาจของอยุธยาที่มีอิทธิพลเหนือหัวเมืองในคาบสมุทรภาคใต้ โดยมีเมืองนครศรีธรรมราช ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ใช้เป็นฐานในการควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ในคาบสมุทรแห่งนี้ กษัตริย์มะละกา ผู้ปกครอง ปัตตานี ปาหัง กลันตัน และเมืองท่าที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทั้งหมด ต้องส่งบรรณาการต่อกษัตริย์สยามทุกปี
ในปี พ.ศ.๒๐๕๔ ทูตนำสารของ อัลฟองโซ เดอร์ก แม่ทัพใหญ่ของโปรตุเกสได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและการค้า พระองค์ทรงตอบรับไมตรีจากโปรตุเกส และได้ทำสัญญาทางราชไมตรี และทางการค้าต่อกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๙ นับเป็นสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับต่างประเทศ
ผลจากการเข้ามาสร้างไมตรีของชาวโปรตุเกส ได้มีการนำเอาอาวุธแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาถวาย ได้แก่ ปืนประเภทต่าง ๆ และกระสุนดินดำ ต่อมาชาวโปรตุเกสได้เข้ามาเป็นทหารอาสาฝรั่ง ได้ช่วยฝึกวิธีการใช้อาวุธแบบตะวันตก
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๗๒ ครองราชย์ได้ ๓๘ ปี
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Thu Nov 12, 2009 3:42 pm

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ หรืออีกพระนามหนึ่งว่าสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระนามเดิมว่า พระอาทิตยวงศ์ และทรงเป็นรัชทายาท ภายหลังได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็นพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ครองเมืองพิษณุโลก พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๒ เป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ ๑๑ ของกรุงศรีอยุธยา มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า พระรัษฎาธิราชธิราช
พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้พระไชยราชา ผู้เป็นพระอนุชาต่อพระมารดา ไปครองเมืองพิษณุโลก
พระองค์ทรงเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเมืองเกศเกล้าพระเจ้าเชียงใหม่ เพื่อยุติความบาดหมางในกาลก่อน ทำให้ทางพระเจ้าเชียงใหม่ ไม่ได้มีปัญหากับกรุงศรีอยุธยาตลอดรัชสมัยของพระองค์
พระองค์มีพระปรีชาสามารถในการปกครองและการรบ และการปกครอง การติดต่อกับโปรตุเกส ทำให้กรุงศรีอยุธยาได้รับประโยชน์จากการค้าขายกับโปรตุเกส โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการทหาร เช่น การทำปืนไฟ การสร้างป้อมปราการที่สามารถป้องกันปืนไฟได้ ที่เมืองสวรรคโลก สุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา นอกจากนั้นให้ชาวโปรตุเกสตั้งเป็นกองอาสา เข้าร่วมรบกับข้าศึกด้วยชาวโปรตุเกส ก็ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการได้เข้ามาค้าขาย และเผยแพร่คริสตศาสนานิกายโรมันคาธอลิก รวมทั้งการเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่กรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
ในด้านการทหาร พระองค์ทรงทำศึกกับล้านช้าง (อาณาจักรหลวงพระบาง) และพะโค (หงสาวดี) หลายครั้ง ในปลายรัชสมัยของพระองค์ ได้ทรงยกกองทัพไปประชิดแดนพะโค และยึดเมืองบางเมืองได้แล้วยกกองทัพกลับ พระองค์ไปทรงพระประชวรด้วยโรคไข้ทรพิษ และเสด็จสวรรคต
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๖ ครองราชย์ได้ ๔ ปี


พระรัษฎาธิราช
พระรัษฎาธิราชทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๒ พระราชชนนี ทรงมีเชื้อสายราชวงศ์เวียงไชยนารายณ์ เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถ เสด็จสวรรคตโดยที่มิได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาท บรรดามุขอำมาตย์เสนาบดี จึงพร้อมใจกันอัญเชิญพระรัษฎาธิราชกุมาร ซึ่งมีพระชนมายุเพียงห้าพรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๖ ทรงพระนามว่า พระรัษฎาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๒ ของกรุงศรีอยุธยา
เนื่องจากพระรัษฎาธิราชยังทรงพระเยาว์มาก การบริหารราชการแผ่นดินจึงตกเป็นหน้าที่ของอัครมหาเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่สองคนคือ สมุหนายก และสมุหกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยของพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้ห้าเดือน บ้านเมืองเกิดระส่ำระสาย พระไชยราชา ผู้เป็นพระปิตุลา (อา) ซึ่งครองเมืองพิษณุโลกอยู่ ได้ทรงยกกองทัพมายึดอำนาจการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๗ แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช



สมเด็จพระไชยราชาธิราช
สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ไปครองเมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๒ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๗ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๓ ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์มีพระราช โอรสสองพระองค์อันประสูติแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอก ทรงพระนามว่า พระยอดฟ้า และพระศรีศิลป์
ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามไทยกับพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๑ เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ แห่งกรุงหงสาวดี ได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน อันเป็นหัวเมืองชายแดนทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกทัพไปตีกลับคืนมา ในการทัพครั้งนี้ พระองค์นำทหารอาสาชาวโปรตุเกสไปด้วย อาสาชาวโปรตุเกสมีความชำนาญในการใช้ปืนไฟ และได้เริ่มใช้ปืนไฟ ในการรบเป็นครั้งแรก กองทัพไทยสามารถยึดเมืองเชียงกรานกลับคืนมาได้
เมื่อพระองค์ยกทัพกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบแก่กองอาสาชาวโปรตุเกส พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่บริเวณตำบลบ้านดิน เหนือคลองตะเคียน ซึ่งต่อมาเรียกว่าบ้านโปรตุเกส และทรงอนุญาตให้สร้างวัดคริสตศาสนานิกายโรมันคาธอลิก ทำให้มีบาดหลวงเขามาเผยแพร่คริสตศาสนา ในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้น
เกิดการผลัดแผ่นดินขึ้นที่เชียงใหม่ พระเมืองเกศเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์ บรรดาท้าวพระยาเมืองลำปาง เมืองเชียงราย และเมืองพานได้ ยกกำลังเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้ แล้วพร้อมใจกันแต่งตั้งพระนางมหาเทวีจิรประภา พระธิดาพระเมืองเกศเกล้า ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกกองทัพไปถึงเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๑ พระนางมหาเทวีจิรประภาได้ออกมาถวายการต้อนรับ และขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในขณะนั้นพระนางมหาเทวี ฯ ทรงเกรงอานุภาพของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ซึ่งได้ขยายอาณาเขตมาจรดเขตของเชียงใหม่ จึงได้ยอมอ่อนน้อมต่อฝ่ายพม่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงพิจารณาเห็นว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ ในอนาคตพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ จะเข้ามารุกรานกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงได้ยกทัพเข้าตีเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๘ โดยได้ตีนครลำปาง และนครลำพูน พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพิษณุโลกเป็นทัพยกไปเชียงใหม่ พระนางมหาเทวี ฯ จึงเห็นสถานการณ์เช่นนั้นแล้ว จึงทรงต้อนรับพญาพิษณุโลก และทรงยอมเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา
เมื่อเสร็จศึกเชียงใหม่ ระหว่างทางที่เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ประชวร และเสด็ตสวรรคตระหว่างทาง ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานบางฉบับขยายความว่า สมเด็จพระไชยราชาเสด็จกลับถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วจึงประชวร และเสด็จสวรรคต เนื่องจากท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอกซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ขณะที่พระองค์เสด็จไปราชการสงคราม คบคิดกับขุนวงวรศาธิราชวางยาพิษพระองค์ ทำให้พระองค์ประชวร จึงได้ทรงมอบราชสมบัติแก่พระยอดฟ้าพระราชโอรสแล้วสวรรคต
ในรัชสมัยของพระองค์ได้โปรดเกล้าให้ขุดคลองลัดบางกอก เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากน้ำไปถึง กรุงศรีอยุธยามีความคดเคี้ยวหลายแห่ง ทำให้เสียเวลาในการเดินทางเรือ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า แผ่นดินระหว่างคลองบางกอกใหญ่ และคลองบางกอกน้อยแคบ สามารถเดินถึงกันได้ ผลจากการขุดคลองลัดบางกอกทำให้สายน้ำเปลี่ยนทางเดินจนคลองลัดบางกอกกลายเป็นลำน้ำเจ้าพระยา จึงโปรดเกล้าให้ขุดคลองลัด ณ บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ด้านท่าราชวรดิษฐ์ในปัจจุบัน
สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๙ ครองราชย์ได้ ๑๒ ปี
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Thu Nov 12, 2009 3:43 pm

สมเด็จพระยอดฟ้า
สมเด็จพระยอดฟ้าหรือพระแก้วฟ้า ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระไชยราชาธิราช กับพระสนมเอกท้าวศรีสุดาจันทร์ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๙ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๙ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๔ ของกรุงศรีอยุธยา
เนื่องจากสมเด็จพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์อยู่มาก เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่จึงได้ทูลเชิญท้าวศรีสุดาจันทร์ ผู้เป็นพระราชมารดาขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการ นับเป็นยครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่สตรีเป็นผู้สำเร็จราชการ พระองค์ครองราชย์ได้เพียงสองปี ก็ถูกขุนวรวงศาธิราช ผู้มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ชิงราชบัลลังก์ได้ แล้วนำพระองค์ไปสำเร็จโทษ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑


ขุนวรวงศาธิราช
ขุนวรวงศาธิราช ตำแหน่งเดิมคือ พันบุตรศรีเทพ เป็นผู้เฝ้าหอพระหน้าพระบรมมหาราชวัง เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระยอดฟ้าขึ้นครองราชย์ได้สองปี เนื่องจากพระองค์ทรงพระเยาว์ ท้าวศรีสุดาจันทร์ พระราชมารดา จึงได้รับเชิญให้เป็นผู้สำเร็จราชการ เมื่อสมเด็จพระยอดฟ้าสวรรคต ท้าวศรีสุดาจันทร์ในฐานะผู้สำเร็จราชการจึงได้ดำเนินการจัดตั้งพระราชพิธีราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราช เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยเหตุที่มีความสัมพันธ์กันพิเศษเป็นการส่วนตัว
ขุนวรวงศาธิราชอยู่ในตำแหน่งได้ ๔๒ วัน ก็ถูกขุนพิเรนทรเทพและคณะ กำจัดออกไปพร้อมกับท้าวศรีสุดาจันทร์


สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงพระนามเดิมว่า พระเฑียรราชา ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และทรงเป็น พระอนุชาต่างพระชนนี ในสมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๕ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คู่กันกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระยอดฟ้า ต่อมาได้เสด็จออกผนวช ณ วัดราชประดิษฐาน
เมื่อขุนพิเรนทรเทพและคณะ ได้กำจัดขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ เสร็จสิ้นแล้ว จึงได้อัญเชิญพระเฑียรราชา ให้ลาผนวชและขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๕ ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้สถาปนาพระมเหสีเป็นพระสุริโยทัย ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาสี่พระองค์คือ พระราเมศวร พระมหินทร พระวิสุทธิกษัตรี และพระเทพกษัตรี
เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงแต่งตั้งให้ขุนพิเรนทรเทพ เป็นพระมหาธรรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก แล้วพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี ให้เป็นพระมเหสี ขุนอินทรเทพ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช หลวงศรียศ เป็นเจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหกลาโหม หมื่นราชเสน่หา เป็นเจ้าพระยามหาเทพ หมื่นราชเสน่หานอกราชการ เป็นพระยาภักดีนุชิต พระยาพิชัย เป็นเจ้าพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก
ในปี พ.ศ.๒๐๙๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้เพียงเจ็ดเดือน พระเจ้าหงสาวดี (พระเจ้าตะเบงชะเวตี้) ทรงทราบว่า ทางกรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เห็นเป็นโอกาสที่จะแผ่อำนาจมายังราชอาณาจักรไทย จึงได้ยกกองทัพใหญ่มาทางเมืองกาญจนบุรี ตั้งค่ายหลวงที่ตำบลกุ่มดอง ทัพพระมหาอุปราชา ตั้งที่เพนียด ทัพพระเจ้าแปร ตั้งที่บ้านใหม่มะขามหย่อง ทัพพระยาพะสิม ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งวรเชษฐ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จออกไปดูลาดเลากำลังศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง พร้อมกับพระสุริโยทัย พระราเมศวร และพระมหินทราธิราช สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้กระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร ช้างพระที่นั่งเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยจึงทรงไสช้างเข้าขวางช้างข้าศึก เพื่อป้องกันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าแปรได้ทีจึงฟันสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยของ้าว สิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวรและพระมหินทรา ฯ ได้ขับช้างเข้ากันพระศพกลับเข้าพระนคร
ในการต่อสู้กับข้าศึกในขั้นต่อไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้นำปืนใหญ่นารายณ์สังหาร ลงเรือสำเภาแล่นไปตามลำน้ำโจมตีข้าศึกที่ตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ อำนาจการยิงของปืนใหญ่ทำให้ฝ่ายพม่าล้มตายเป็นอันมาก ประกอบกับเป็นเวลาใกล้ฤดูฝน และเสบียงอาหารร่อยหรอลง อีกทั้งทางฝ่ายพม่าได้ข่าวว่า มีกองทัพไทยจากหัวเมืองเหนือยกมาสนับสนุน เกรงว่าจะถูกตีกระหนาบจึงยกทัพกลับทางด่านแม่ละเมา กองทัพของพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวร ไล่ติดตามไปจนเกือบถึงเมืองกำแพงเพชร ฝ่ายพม่าได้ทำอุบายซุ่มกำลังไว้ทั้งสองข้างทาง พอกองทัพไทยถลำเข้าไป จึงได้เข้าล้อมไว้ จับได้ทั้งพระมหาธรรมราชา และพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องทรงขอหย่าศึก และไถ่ตัวคืนโดยแลกกับช้างชนะงาสองเชือก
ในระหว่างปี พ.ศ.๒๐๙๒ - ๒๑๐๖ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ปรับปรุงกิจการทหาร และเสริมสร้างบ้านเมืองให้มั่นคงแข็งแรงกว่าเดิม ยุทธศาสตร์ในการป้องกันคือ ใช้พระนครเป็นที่มั่น โปรดให้รื้อป้อมปราการตามหัวเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกอาศัยเป็นที่ตั้งมั่น ทรงสร้างกำแพงกรุงศรีอยุธยาด้วยการก่ออิฐถือปูน ขุดคลองมหานาคเป็นคูเมืองออกไปถึงชายทุ่งภูเขาทอง โปรดให้สำรวจบัญชีสำมะโนครัว ตามหัวเมืองในเขตชั้นในทุกหัวเมือง ทำให้ทราบจำนวนชายฉกรรจ์ที่สามารถทำการรบได้ โปรดให้สะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ พาหนะทั้งทางบก และทางน้ำเพื่อใช้ในสงคราม โปรดให้จับม้าและช้างเข้ามาใช้ในราชการ สามารถจับช้างเผือกได้ถึงเจ็ดเชือก จึงได้รับขนานพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือกอีกพระนามหนึ่ง
พระเจ้าบุเรงนอง ผู้ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเตะเบงชะเวตี้ ทราบเรื่องช้างเผือก จึงส่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาขอพระราชทานช้างเผือกสองเชือก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงให้เหตุผลเชิงปฎิเสธ พระเจ้าบุเรงนองจึงถือสาเหตุนั้น ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ ด้วยกำลังพลสองแสนคน จัดเป็นทัพกษัตริย์หกทัพ ได้เตรียมทัพเรือพร้อมปืนใหญ่กับจ้างชาวโปรตุเกสอาสาสมัคร ๔๐๐ คน เป็นทหารปืนใหญ่ ให้เมืองเชียงใหม่สนับสนุนเสบียงอาหาร โดยลำเลียงมาทางเรือ เปลี่ยนเส้นทางเดินทัพมาทางด่านแม่ละเมา เข้าตีหัวเมืองเหนือของไทยมาตามลำดับเพื่อตัดกำลังที่จะยกมาช่วยกรุงศรีอยุธยา
ฝ่ายไทยเตรียมตัวป้องกันพระนคร โดยคาดว่าพม่าจะยกกำลังมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทำให้พระเจ้าบุเรงนองตีเมืองกำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย พิชัย และพิษณุโลกได้ ครั้นลงมาถึงเมืองชัยนาท กองทัพพม่าก็ได้ปะทะกับกองทัพไทยของพระราเมศวร แต่ฝ่ายไทยต้านทานไม่ได้ต้องถอยกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ แล้วระดมยิงปืนใหญ่เข้าในพระนครทุกวัน จนราษฎร์ได้รับความเดือดร้อนและเสียขวัญ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ต้องเสด็จไปเจรจากับพระเจ้าบุเรงนอง ที่พลับพลาบริเวณตำบลวัดพระเมรุการาม กับวัดหัสดาวาส ยอมเป็นไมตรี โดยได้มอบช้างเผือกสี่เชือก พร้อมกับพระราเมศวร พระยาจักรี และพระยาสุนทรสงครามให้แก่พม่า
หลังสงครามช้างเผีอกสิ้นสุดลง สมเด็จพระมหินทรา ผู้ทรงเป็นพระมหาอุปราชแทนพระราเมศวร ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ที่เสด็จออกผนวช ต่อมาทรงเกรงว่าพระมหาธรรมราชาจะไปสนับสนุนพม่า พระองค์จึงทูลให้พระมหาจักรพรรดิ์ให้ทรงลาผนวช แล้วกลับมาครองราชย์ตามเดิม ส่วนพระองค์เสด็จขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ขณะที่พระมหาธรรมราชาเสด็จไปเมืองพม่าแล้วรับยรองพระวิสุทธิกษัตรีพร้อมด้วยพระราชนัดดามาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อพระมหาธรรมราชาทราบเรื่องจึงให้ไปเข้ากับพม่าอย่างเปิดเผย
ในปี พ.ศ. ๒๑๑๑ พม่าได้ยกกองทัพใหญ่เจ็ดกองทัพ มีกำลังหาแสนคน เดินทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทั้งสี่ด้าน โดยมุ่งตีหักเข้ามาทางด้านทิศตะวันออก ซี่งเป็นด้านที่อ่อนแอที่สุด และใช้กำลังทางเรือปิดกั้นลำน้ำทางตอนใต้ เพื่อไม่ให้ฝ่ายไทยติดต่อกับหัวเมืองทางใต้และต่างประเทศ ฝ่ายไทยได้ต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรและเสด็จสวรรคต ทำให้ราษฎรเสียขวัญ และกำลังใจกองทัพของ
พระเจ้าไชยเชษฐาที่ยกมาช่วย ถูกพม่าซุ่มโจมตีถอยกลับไป พระเจ้าบุเรงนองได้ทำอุบายให้พระยาจักรีที่พม่าขอไปพม่าในสงครามครั้งก่อน ลอบเข้ากรุงศรีอยุธยา เป็นไส้ศึกให้พม่า จนทำให้การป้องกันกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลงไปตามลำดับ หลังจากพม่าล้อมกรุงอยู่เก้าเดือนก็เสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๑ ครองราชย์ได้ ๒๐ ปี
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Thu Nov 12, 2009 3:43 pm

สมเด็จพระมหินทราธิราช
สมเด็จพระมหินทราธิราช พระนามเดิม พระมหินทร์ หรือพระมหินท์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สอง ในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระสุริโยทัย เสด็จพระราชสมภพ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๘๒ มีพระเชษฐาคือ พระราเมศวร ผู้เป็นที่พระมหาอุปราช มีพระเชษฐภคินีสองพระองค์คือ พระบรมดิลก กับพระสวัสดิราช (พระวิสุทธิกษัตรี) และพระขนิษฐาคือ พระเทพกษัตรี
หลังสงครามกับพม่าที่เรียกว่าสงครามช้างเผือก ยุติลงในปี พ.ศ.๒๑๐๗ พระมหินทร์ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชต่อจากพระราเมศวร ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งเสด็จออกผนวช
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๑๑ สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ได้ทูลขอให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวช แล้วขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้งเพื่อเตรียมรับศึกพม่า โดยพระเจ้าบุเรงนอง ได้ยกกองทัพเจ็ดกองทัพ มาทำสงครามกับไทย กองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แล้วเข้าตีหัวเมืองทางเหนือ เพื่อตัดกำลังไม่ให้ส่งกองทัพเข้ามาช่วยกรุงศรีอยุธยา จากนั้นจึงได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้
ในระหว่างการศึก สมเด็๋จพระมหาจักรพรรดิประชวรและเสด็จสวรรคต สมเด็จพระมหินทร์ ฯ จึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ได้ห้าเดือน ยังไม่สามารถตีหักเข้าไปได้ พระเจ้าบุเรงนองจึงออกอุบายเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ยอมเป็นไมตรี โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือขอตัวพระยาราม ผู้มีความสามารถรับผิดชอบการรักษาพระนครอย่างเข้มแข็ง สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ทรงยินยอมมอบตัวพระยารามแก่พม่า แต่ทางพระเจ้าบุเรงนองกลับตระบัดสัตย์ ไม่ทำตามข้อตกลง และเร่งยกกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหนักขึ้น
ขณะนั้นใกล้ฤดูน้ำหลาก แต่พม่าก็ยังไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงได้เกลี้ยกล่อมให้พระยาจักรีซึ่งทางพม่าขอตัวไปพร้อมกับ พระราเมศวรในสงครามกับพม่าครั้งก่อน เข้าเป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ทรงเห็นว่าพระยาจักรีเคยเป็นแม่ทัพ ที่มีความสามารถในการศึกกับพม่าครั้งก่อน จึงทรงโปรดให้เป็นผู้จัดการป้องกันพระนคร ทัพพม่าจึงตีหักเข้าพระนครได้ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๑๑๒ หลังจากล้อมพระนครไว้ถึงเก้าเดือน
พม่าเข้ายึดทรัพย์สิน และกวาดต้อนผู้คนกลับไปพม่าเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสมเด็จพระมหินทร์ ฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางน้อยใหญ่ ก็ได้นำไปกรุงหงสาวดีด้วย
สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตระหว่างทาง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ พระชนมายุได้สามสิบพรรษา ครองราชย์ได้ ๑ ปี


สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
สมเด็จพระมหาธรรมราชาหรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๘ พระราชบิดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย พระราชมารดาเป็นพระญาติฝ่ายพระราชชนนี สมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งราชวงศ์สุวรรณภูมิ พระองค์ทรงรับราชการเป็นที่ขุนพิเรนทรเทพ เจ้ากรมตำรวจรักษาพระองค์ หลังจากที่เหตุการณ์วุ่นวายในราชสำนักยุติลง และพระเฑียรราชาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ แล้วขุนพิเรนทรเทพ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชา แล้วได้รับโปรดเกล้าให้ไปครองเมืองพิษณุโลก สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ มีศักดิ์เทียบเท่าพระมหาอุปราช ได้รับพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เป็นพระอัครมเหสี ต่อมามีพระราชโอรสและพระราชธิดาสามพระองค์คือ
พระสุพรรณเทวี หรือพระสุพรรณกัลยา ซึ่งต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้ถวายเป็นพระมเหสีของพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ เมื่อพระชนมพรรษาได้ ๑๗ พรรษา เพื่อขอสมเด็จพระนเรศวรมาช่วยงานของพระองค์
องค์ที่สองคือ พระองค์ดำ หรือสมเด็จพระนเรศวร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๘ พระเจ้าบุเรงนองได้ขอไปอยู่ที่กรุงหงสาวดี ตั้งแต่พระชนมายุได้ ๙ พรรษา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา สมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯ ได้ขอตัวมาช่วยงานของพระองค์ และทรงตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช ไปครองเมืองพิษณุโลก ดูแลหัวเมืองเหนือทั้งปวง
องค์ที่สามคือ พระองค์ขาว หรือพระเอกาทศรถ ประสูติเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๐๐
ในปี พ.ศ.๒๑๐๖ เกิดสงครามช้างเผือกกับพม่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ป้องกันเมืองพิษณุโลกเป็นสามารถ ทางกรุงศรีอยุธยาส่งกำลังไปช่วยไม่ทัน พม่าล้อมเมืองพิษณุโลกไว้จนเสบียงอาหารในเมืองขาดแคลน จึงได้ยอมอ่อนน้อมต่อพม่า พระเจ้าบุเรงนองจึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระธรรมราชาเป็นพระศรีสรรเพชญ์ ครองเมืองพิษณุโลกดังเดิม แต่อยู่ในฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของพม่า กับขอสมเด็จพระนเรศวรไปอยู่ที่หงสาวดี
ในปี พ.ศ.๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง โดยได้เกณฑ์หัวเมืองทางเหนือรวมทั้งเมืองพิษณุโลกมาร่วมสงครามด้วย
ในวันศุกร์ขึ้นหกค่ำ เดือนสิบสอง ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนองได้อภิเษกให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯ ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ในฐานะประเทศราช ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ บางแห่งเรียก พระสุธรรมราชา เป็นต้นราชวงศ์สุโขทัย
สมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯ ครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราชของพม่าอยู่ถึง ๑๕ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๑๒๗ สมเด็จพระนเรศวร องค์รัชทายาทก็ได้ทรงประกาศอิสระภาพ
ในห้วงระยะเวลา ๑๐ ปี แรกในรัชสมัยของพระองค์ กัมพูชาได้ส่งกำลังมาโจมตีหัวเมืองทางตะวันออกและรุกเข้ามาถึงชานพระนคร แต่ฝ่ายไทยก็สามารถต่อสู้ขับไล่เขมรกลับไปได้ พระองค์ทรงเห็นเป็นโอกาสในการป้องกันพระนคร จึงได้บูรณะซ่อมแซมกำแพงและป้อมต่าง ๆ รอบพระนครให้แข็งแรงขึ้น กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๑๒๓ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคูพระนครทางด้านทิศตะวันออก หรือคูขี่อหน้า ซึ่งแต่เดิมแคบข้าศึกสามารถเข้ามาสู่พระนครได้สะดวกกว่าด้านอื่น โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออก แล้วสร้างให้ไปจรดริมฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกับด้านอื่น ๆ ทรงสร้างป้อมมหาชัย ตรงบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก ไหลมาบรรจบกัน และสร้างพระราชวังจันทร์เกษม (วังหน้า) สำหรับใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร ไว้คอยสกัดกั้นทัพข้าศึกที่เข้าโจมตีพระนครทางด้านทิศตะวันออก
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Thu Nov 12, 2009 3:43 pm

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๘ ที่เมืองพิษณุโลก พระนามเดิม พระองค์ดำ หรือพระนเรศวร มีพระเชษฐภคินี คือ พระสุพรรณเทวี และพระอนุชา คือ สมเด็จพระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว)
หลังจากเสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เขมรเห็นเป็นโอกาสที่ไทยอ่อนแอ จึงได้ยกทัพมาปล้นสดมภ์และกวาดต้อนผู้คนบริเวณชายพระนคร สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงได้ขอตัวสมเด็จพระนเรศวรจากหงสาวดี กลับมาช่วยป้องกันบ้านเมือง เมื่อพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปประทับที่หงสาวดี หลังสงครามช้างเผือกตามคำทูลขอของพระเจ้าบุเรงนอง ตั้งแต่พระชนมายุได้ ๙ พรรษา
สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นพระมหาอุปราช ปกครองหัวเมืองทางเหนือ และประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๑๔ ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นกำลังสำคัญในการป้องกัน และกอบกู้บ้านเมืองจากข้าศึกทั้งเขมรและพม่า ในปี พ.ศ.๒๑๒๗ พระองค์ได้ทรงประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยาจากอำนาจของพม่า หลังจากที่ตกอยู่ในอำนาจพม่าเป็นเวลา ๑๕ ปี
เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๓ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๑๓๓ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวร หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ และโปรดเกล้า ฯ ให้พระเอกาทศรถ พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง
ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า และได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าครั้งใดในอดีตที่ผ่านมา งานสงครามในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งในดินแดนไทยและดินแดนข้าศึก ได้ชัยชนะทุกครั้ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำทัพ ทรงริเริ่มนำยุทธวิธีแบบใหม่มาใช้ในการทำสงคราม และเปลี่ยนแนวความคิดจากการตั้งรับมาเป็นการรุก และริเริ่มการใช้วิธีรบนอกแบบ
การสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมารุกรานไทยอีกเลย เป็นเวลาเกือบสองร้อยปีคือ สงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕ การสงครามในขั้นต่อไปหลังจากนั้นของพระองค์คือ การรุกเข้าไปในดินแดนของข้าศึก เริ่มจากการตีเมืองทวาย และตะนาวศรี คืนกลับมาจากพม่าหลังจากสงครามยุทธหัตถี การยกไปตึเมืองเขมรในเวลาต่อมา ยึดเมืองละแวกของเขมรได้ ในปี พ.ศ.๒๑๔๒ พระองค์ยกกองทัพไปปราบปรามมอญแล้วยกขึ้นไปตีเมืองหงสาวดี แต่พระเจ้าตองอูได้นำเสด็จพระเจ้าหงสาวดีหนีไปเมืองตองอูก่อน คงทิ้งให้เมืองหงสาวดีร้างก่อนที่พระองค์จะนำทัพไปถึงไม่นาน
รายละเอียดของงานด้านการทหารของพระองค์มีอยู่ในเรื่องราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองใหม่เป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ยกเลิกระบบเมืองพระยามหานคร จัดแบ่งหัวเมืองเป็นหัวเมืองชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี ยกเลิกการให้เจ้านายไปปกครองเมืองเหล่านี้ แล้วให้ขุนนางไปปกครองแทน
สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต ขณะที่พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ เมื่อเสด็จถึงเมืองหาง พระองค์ทรงประชวรเป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์กลายเป็นพิษ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๑๔๘ พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ครองราชย์ได้ ๑๕
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

PreviousNext

Return to ชายคาพักใจ



cron