เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

คุยกันสบายๆ ไม่ซีเรียส

เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 21, 2009 3:44 am

โครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ


เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงครองราชย์ 60 ปี ในปีพุทธศักราช 2549 และจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ระหว่าง ปี 2548-2550 เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชนปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม กว้างขวางและต่อเนื่อง โดยการรวมใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เข้าร่วมโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้การสนับสนุนของ 11 หน่วยงาน ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) เป็นประธานในพิธี กรอบแห่งความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ คือ ทั้ง 11 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ตกลงให้มีความร่วมมือกันปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ในปีพุทธศักราช 2549 เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550 มีระยะเวลาดำเนินงานโครงการระหว่างปี 2548-2550 โดยเริ่มดำเนินการดีเดย์ตั้งแต่วันพืชมงคล คือวันที่ 11 พฤษภาคม 2548 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2550 โดยมี เป้าหมายที่จะปลูกหญ้าแฝก จำนวนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านกล้า และจนเกิดผลสำเร็จในการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงและรักษาหน้าดินจำนวนไม่ต่ำกว่า 800,000 จุด ทั่วประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนกล้าพันธุ์หญ้าแฝก และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่ลาดชันรอบแหล่งน้ำ บ่อน้ำ สองข้างทางลำเลียง และถนน รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีการบำรุงดูแลรักษาหญ้าแฝกที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามและปลูกซ่อมแซมให้ครบถ้วน ซึ่งบันทึกข้อตกลงได้มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลง คือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2548 จนถึง วันที่ 5 ธันวาคม 2550



ลักษณะของหญ้าแฝก


หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 12 ชนิด และสำรวจพบในประเทศไทย 2 ชนิด ได้แก่
1. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร 2 ศรีลังกา สงขลา 3 และพระราชทาน ฯลฯ
2. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร 1 นครสวรรค์ และเลย เป็นต้น
หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะ แคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกันแน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีช่อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน


ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝก

การที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้

1. มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง
2. มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก
3. หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี
4. ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้
5. มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย
6. ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ
7. บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์
8. ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป
9. ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ

การขยายพันธุ์หญ้าแฝก


การขยายแม่พันธุ์ คือการนำแม่พันธุ์หญ้าแฝกที่มีลักษณะดีมาทำการขยายเพิ่มปริมาณ ทั้งการปลูกลงดิน ปลูกลงถุงพลาสติกขนาดใหญ่ หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่วนการขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝก คือการนำหน่อ ที่ได้จากการขยายแม่พันธุ์มาเพาะชำเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ ได้แก่ กล้าในถุงพลาสติกขนาดเล็ก และกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. การขยายแม่พันธุ์หญ้าแฝก
1.1การขยายพันธุ์ในแปลงขนาดใหญ่การขยายพันธุ์หญ้าแฝกในแปลงขนาดใหญ่ เหมาะสมกับพื้นที ที่มีการชลประทานและระบายน้ำดี สามารถปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องยกร่องก็ได้ การเตรียมต้นพันธุ์โดยแยกหน่อจากกอนำมาตัดใบให้เหลือความยาว 20 เซนติเมตร และตัดรากให้สั้นแช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร เป็นระยะเวลา 5-7 วัน รากจะแตกออกมาใหม่นำไปปลูกโดยใช้ระยะปลูกห่างต้น 5 เซนติเมตร และระหว่างแถว 50 เซนติเมตร หลังจากปลูกต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเมื่ออายุได้ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 1 ช้อนชา เมื่อถึงอายุ 4-6 เดือน ให้ขุดนำไปเพาะชำในถุงพลาสติก หรือเตรียมเป็นกล้ารากเปลือยสำหรับใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
1.2 การขยายพันธุ์ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ การขยายพันธุ์โดยการปลูกในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ โดยวางเป็นแถวคู่ติดกันระยะห่างระหว่างแถวคู่ 1 เมตร ยาวตามพื้นที่ใช้วัสดุปลูกที่มีการระบายน้ำดี เช่น ดินร่วนทรายและขี้เถ้าแกลบ หรือขุยมะพร้าว ในสัดส่วน 1:2:1 การติดตั้งระบบน้ำพ่นฝอย หรือมีตาข่ายพรางแสง นำหน่อมาปักชำดูแล จนกระทั่งอายุ 4 เดือน จึงนำไปแยกหน่อเพาะชำต่อไป


2. การขยายกล้าหญ้าแฝกสำหรับใช้ปลูก
2.1 การเตรียมกล้าหญ้าแฝกในถุง โดยตัดรากให้สั้นและแยกหน่อจากกอตัดใบ ให้ยาว 10 เซนติเมตร นำมาล้างน้ำ มัดรวมกันวางลงบนขุยมะพร้าวที่ชื้น หรือแช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร ในที่ร่มเงา 4 วัน แล้วจึงคัดหน่อที่ออกรากมาปักชำในถุงพลาสติกขนาดเล็ก (2X6 นิ้ว) และใส่วัสดุเพาะชำที่ระบายน้ำดีมีธาตุอาหารสมบูรณ์ ดูแลรดน้ำ ในสภาพเรือนเพาะชำ เมื่ออายุ 45-60 วัน ให้นำไปปลูกในพื้นที่ขณะที่ดินมีความชื้น
2.2 การเตรียมกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย โดยการแยกหน่อจากกอ ตัดใบ ให้ยาว 20 เซนติเมตร ตัดรากให้สั้น วางบนขุยมะพร้าวที่ชื้น หรือแช่ในน้ำให้ท่วมราก จนกระทั้งรากงอกขึ้นมายาว 1-2 เซนติเมตร นานประมาณ 5-7 วัน จึงนำไปปลูกในช่วงต้นฤดูฝน และหลังจากปลูกดินควรมีความชื้นติดต่อกันอย่างน้อย 15 วัน


การเตรียมกล้าและดินเพื่อปลูกหญ้าแฝก

1. การกำจัดวัชพืชและเตรียมพื้นที่
2. การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝน พื้นที่ปลูกต้องมีความชุ่มชื้น
3. การเตรียมแนวร่องปลูก โดยการวางแนวร่องปลูกขวางความลาดชัน ตามแนวระดับขนานไปตามสภาพพื้นที่
4. การใส่ปุ๋ยหมักรองก้นหลุมในแนวร่องปลูก เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน
5. การปลูกกล้าหญ้าแฝกในแปลงปลูก โดยการใช้กล้าเพาะชำถุงขนาดเล็ก ใช้ระยะปลูก 10 เซนติเมตร หรือกล้ารากเปลือยใช้ระยะปลูก 5 เซนติเมตร
6. ความห่างของแถวหญ้าแฝกแต่ละแถว ขึ้นกับความลาดเทของพื้นที่ และชนิดของพืชที่ปลูก โดยขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ แต่โดยทั่วไปจะใช้ระยะห่างทางแนวดิ่ง1.5-3 เมตร
7. กลบดินในร่องปลูกให้ต่ำกว่าระดับผิวดินปกติ เพื่อให้น้ำขัง และซึมลงดินได้ ช่วยให้ดินชุ่มชื้นขึ้น
8. ควรปลูกซ่อมแซมให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่เป็นแนวยาวต่อเนื่อง


การดูแลรักษาหญ้าแฝก
1. การคัดเลือกกล้าที่มีคุณภาพ กล้าหญ้าแฝกที่มีคุณภาพโดยทั่วไปเป็นกล้าที่มีอายุ 45 ถึง 60 วัน เมื่อนำกล้าที่แข็งแรงมาปลูกก็จะได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่มีการเจริญเติบโตแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
2. การเลือกช่วงเวลาปลูก การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝนจะเหมาะสมที่สุด สภาพของดินที่ปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจะมีความชุ่มชื้นสูงติดต่อกันมากกว่า 15 วันขึ้นไป
3. การตัดใบ ในช่วงต้นฤดูฝนให้ตัดใบหญ้าแฝกให้สั้นสูงจากพื้นผิว 5 เซนติเมตร เพื่อให้เกิดการแตกหน่อใหม่ และกำจัดหน่อแก่ที่แห้งตาย ในช่วงกลางฤดูฝนให้เกี่ยว ใบสูงไม่ต่ำกว่า 45 เซนติเมตร เพื่อให้มีแนวกอที่หนาแน่นในการรับแรงประทะของน้ำไหลบ่า และในช่วงปลายฤดูฝน เกี่ยวใบให้สั้น 5 เซนติเมตร อีกครั้งเพื่อให้หญ้าแฝกแตกใบเขียว ในฤดูแล้ง
4. การดูแลรักษาตามความเหมาะสม ในต้นฤดูฝนให้ใส่ปุ๋ยหมักตามแถวหญ้าแฝก ก็จะเป็นการช่วยให้หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และกำจัดวัชพืชข้างแนวจะเป็นการช่วยให้สังเกตแนวหญ้าแฝกได้ชัดเจน ช่วยให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และเพื่อป้องกันการไถแนวทิ้งเนื่องจากสังเกตไม่เห็น
5. การปลูกซ่อมและแยกหน่อแก่ออก การปลูกซ่อมแซมในช่วงฤดูฝนจะทำให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่แข็งแรง และควรตัดแยกหน่อแก่ที่ออกดอกหรือแห้งออกไปเพื่อจะให้หน่อใหม่ได้แทรกขึ้นมาได้อย่างเต็มที่


การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรม

สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย
1. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน 4-6 เดือน

2. การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอและแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหลอาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน 2 เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก

3. การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลง ไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล 2.5 เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป

4. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูก หญ้าแฝกเป็นแนวระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้นในช่วงต้นฤดูฝน

5. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่มที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝกจะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้

6. การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง 1 แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่นเมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระและระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการ พังทลาย


รูปแบบการปลูกหญ้าตามหลักวิชาการ


เพื่อให้การดำเนินการปลูกหญ้าแฝกตามโครงการนี้มีรูปแบบที่ชัดเจน จึงได้มีการกำหนดรูปแบบการปลูกที่สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้ ซึ่งประกอบด้วย
1. การปลูกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชันของพื้นที่ถ้าใช้กล้าแบบรากเปลือยจะปลูกระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร ถ้าเป็นกล้าถุงพลาสติก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 10 เซนติเมตร โดยปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับ ให้มีระยะห่างระหว่างแถวตาม แนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร ความยาวของแถวหญ้าแฝกขึ้นกับสภาพพื้นที่ และพื้นที่ว่างระหว่างแถวหญ้าแฝกจะเป็นพื้นที่ปลูกพืชหลัก
2. สระน้ำปลูก 2 แถว
- แถวที่ 1 ปลูกห่างขอบบ่อ 50 เซนติเมตร จนรอบบ่อ
- แถวที่ 2 ปลูกที่ระดับทางน้ำเข้า จนรอบบ่อ
3.อ่างเก็บน้ำปลูก 3 แถว
- แถวที่ 1 ปลูกที่ระดับทางน้ำล้นจนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ
- แถวที่ 2 ปลูกที่ระดับสูงกว่า แถวที่ 1 ตามแนวดิ่ง 20 เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ
- แถวที่ 3 ปลูกที่ระดับต่ำกว่า แถวที่ 1 ตามแนวดิ่ง 20 เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ
4. ปลูกริมคลองส่งน้ำ 1 แถว ห่างขอบคลองส่ง 30 เซนติเมตร
5 ปลูกบนร่องสวน 1 แถว ห่างขอบแปลง 30 เซนติเมตร
6. ปลูกอยู่บนไหล่ถนน 1 แถว สำหรับถนนหรือทางลำเลียง
7. ปลูกครึ่งวงกลมล้อมต้นไม้
- ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด 1 เมตร เป็นระยะทาง 3 เมตร
- ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด 2 เมตร เป็นระยะทาง 6 เมตร
- ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด 3 เมตร เป็นระยะทาง 9 เมตร

8. ปลูกวงกลมล้อมต้นไม้
- ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด 1 เมตร เป็นระยะทาง 6 เมตร
- ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด 2 เมตร เป็นระยะทาง 12 เมตร
- ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด 3 เมตร เป็นระยะทาง 18 เมตร
การปลูกหญ้าแฝกทุกครั้งจะต้องปลูกให้ต้นชิดติดกันเป็นแถว ไม่ว่าจะเป็นกรณีแถวตรงหรือแถวโค้งรอบต้นไม้ก็ตาม ถ้าใช้กล้าถุงมีระยะปลูกระหว่างต้น 10 เซนติเมตร และกล้ารากเปลือยระยะปลูก 5 เซนติเมตร
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Jul 22, 2009 4:08 pm

ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี

ความหมายของตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
อักษรพระปรมาภิไธย ภปร สีเหลืองนวลทอง อันเป็นสีประจำพระชนมวาร ขลิบรอบตัวอักษรด้วยสีทองบนพื้นสีน้ำเงินเจือทอง อันเป็นสีประจำพระราชวงศ์ ล้อมด้วยเพชรอันเป็นเอกแห่งรัตนะหมายว่าเหล่านักปราชญ์ ราชกวีสำคัญ อีกบรรดาช่างอันมีชื่อ พระยาช้างสำคัญ นางงาม เหล่าทแกล้วทหารข้าราชราชบริพาร อันยอดฝีมือในการปฏิบัติราชการอย่างสุจริตยิ่ง เหล่านี้เปรียบด้วยเพชรอันชื่อว่ารัตนะ แวดล้อมประดับพระเกียรติยศแห่งพระมหากษัตริยาธิราชพระองค์นั้นอันเหนือยิ่งกว่าเพชรอันได้ชื่อว่ารัตนะทั้งปวง คือพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถิตเป็นเพชรอันยอดค่ายิ่งในดวงใจราษฏร์ ทรงบำบัดทุกข์ผดุงสุขเป็นที่พึ่งอันเกษมสุขร่มเย็นแก่ปวงพสกนิกร ซึ่งต่างเชื้อชาติศาสนาในพระราชอาณาจักรของพระองค์

อนึ่ง อักษรพระปรมาภิไธย ภปร นี้ ประดิษฐานบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎประกอบพระอุณาโลม อันเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ แวดล้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรีและพระแส้หางช้างเผือกทอดสอดอยู่ในกงพระที่นั่งภัทรบิฐ เบื้องซ้ายแห่งพระมหาพิชัยมงกุฎ มีธารพระกรและพัชนีฝักมะขามทอดสอดอยู่เบื้องขวาแห่งกงพระที่นั่งภัทรบิฐอันประดิษฐานบนฐานเขียง ซึ่งทอดฉลองพระบาทประดิษฐานอยู่ เหล่านี้รวมเรียกว่าเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วยสิ่งอันแสดงความเป็นกษัตริย์ทั้ง 5 คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ 1 พระแสงขรรค์ชัยศรี 1 ธารพระกร 1 พัดวาลวิชนีและพระแส้ 1 ฉลองพระบาท 1 หมายถึงปีแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ล่างลงมาเป็นแพรแถบสีชมพูขลิบทองเขียนอักษรสีทอง ความว่า ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 ปลายแห่งแพรแถบผูกเป็นภาพกระบี่ธุช เป็นวานรกายขาวมือถือก้านลายซุ้มอันเป็นกรอบลายของตราสัญลักษณ์ ฯ อยู่ด้านขวา ส่วนด้านซ้ายปลายแพรแถบผูกเป็นภาพพระครุฑพ่าห์ เป็นครุฑหน้าขาวกายสีเสนปนทอง มือถือก้านลายกรอบแห่งแห่งตราสัญลักษณ์ ฯ พื้นภาพตราสัญลักษณ์ ฯ เฉลิมพระเกียรติทั้งหมดสีเขียวปนทอง อันหมายถึงสีอันเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ และยังหมายถึงสีของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์แห่งผืนภูมิประเทศที่ทรงปกครองทำนุบำรุงอย่างหนักยิ่งมาตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติมา ณ บัดนี้ถึงมหามงคลสมัยที่จะฉลองเฉลิมพระเกียรติในการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อันยาวนานที่สุดยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในพระราชพงศาวดารในสยามประเทศ
Image
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Jul 22, 2009 4:19 pm

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ตราสัญลักษณ์
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
นายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และโปรดเกล้าตราสัญลักษณ์ 80 พรรษาแล้ว โดยเลือกแบบที่ 12 ของนายสุเมธ พุฒพวง นักวิชาการช่างศิลป์ 7 ว. ช่างสิบหมู่ ของกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ตราสัญลักษณ์ 80 พรรษา ซึ่งการออกแบบได้ใช้ตราสัญลักษณ์ มีพระราชลัญจกร รัชกาลที่ 9 หมายถึง แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มีพระมหาพิชัยมงกุฎ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร และพระเศวตฉัตร ที่หมายถึงเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ของพระมหากษัตริย์ ด้านล่างมีเลขไทย 80 และเพชร 80 เม็ด ที่หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พร้อมแถบแพรสีชมพู หมายถึงสีอายุตามโหราศาสตร์ทักษาพยากรณ์ ตรงกับวันอังคารของพระองค์ และบอกชื่อตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงให้เขียนดอกพิกุลทอง 5 ดอก ดอกพิกุลเงิน 4 ดอก เพิ่มเติมที่แท่นแปดเหลี่ยมรองรับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ที่มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์

ทั้งนี้ข้อปฏิบัติการขอใช้ตราสัญลักษณ์และ การประดับธงกับตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ได้กำหนดการขอใช้ตราสัญลักษณ์ดังนี้
กรณีที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป มีความประสงค์ นำตราสัญลักษณ์ไปใช้ในการจัดทำสิ่งของใดๆก็ตาม ต้องแจ้งให้สำนักราชเลขาธิการ พิจารณาคำขออนุญาต
โครงการและกิจกรรมที่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการเฉลิมพระเกียรติฯแล้ว สามารถนำตราสัญลักษณ์ไปใช้ในโครงการหรือ กิจกรรมได้เลย โดยให้แจ้งสำนักราชเลขาธิการทราบเพื่อรวบรวมบันทึกไว้
และ ให้ประดับธงชาติไทยคู่ผืนผ้าสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์บนผืนผ้า และประดับตราสัญลักษณ์ ตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ของหน่วงงาน โดยไม่ต้องขออนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการ ทั้งนี้ ให้ประดับในระยะเวลาของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550
Image
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Jul 22, 2009 4:25 pm

พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและพระเชษฐา คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี

เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึงสองพรรษา และเมื่อมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ได้เสด็จเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์ เดอี กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนเมียร์มองต์ ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ชืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี ชือ โลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จาก ยิมนาส กลาชีค กังโดนาล แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์

ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ และได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในพุทธศักราช ๒๔๘๑ โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราว แล้วเสด็จกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๘๘ จึงโดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม

ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระนามเดิม หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ และในพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่าพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร ต่อมาทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นทรงย้ายที่ประทับไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และที่พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์ คือ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๘
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐

ในพุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวช ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ที่ประชาชนของพระองค์เลื่อมใสกันอยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งทรงมีโอกาสคุ้นเคยกับหลักการและทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ก็ทรงมีพระราชศรัทธายิ่งขึ้น เพราะได้ประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า ธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยเหตุผลและสัจจธรรม แม้ผู้ใดจะวิจารณ์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่เสื่อมถอยในความนิยมเชื่อถือ ทั้งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพการีตามคตินิยมอีกโสตหนึ่งด้วย จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เสร็จการพระราชพิธีทรงผนวชแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดเวลา ๑๕ วันที่ทรงผนวชอยู่ และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกันนั้นเอง และในพุทธศักราช ๒๕๐๐ ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนถึง

ที่มา : เครือข่ายกาญจนาภิเษก http://www.kanchanapisek.or.th
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Thu Jul 23, 2009 5:03 pm

เศรษฐกิจแบบพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระราชหฤทัยในความเป็นไปของเมืองไทยและคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างไกล ได้ทรงวางรากฐานในการพัฒนาชนบท และช่วยเหลือประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้มีความ " พออยู่พอกิน" และมีความอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องติดยึดอยู่กับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ ทรงวิเคราะห์ว่าหากประชาชนพึ่งตนเองได้แล้วก็จะมีส่วนช่วยเหลือเสริมสร้างประเทศชาติโดยส่วนรวมได้ในที่สุด พระราชดำรัสที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ในการสร้างความเข้มแข็งในตนเองของประชาชนและสามารถทำมาหากินให้พออยู่พอกินได้ ดังนี้
"….ในการสร้างถนน สร้างชลประทานให้ประชาชนใช้นั้น จะต้องช่วยประชาชนในทางบุคคลหรือพัฒนาให้บุคคลมีความรู้และอนามัยแข็งแรง ด้วยการให้การศึกษาและการรักษาอนามัย เพื่อให้ประชาชนในท้องที่สามารถทำการเกษตรได้ และค้าขายได้…"
ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงขึ้นนี้จึงทำให้เกิดความเข้าใจได้ชัดเจนในแนวพระราชดำริของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งได้ทรงคิดและตระหนักมาช้านาน เพราะหากเราไม่ไปพี่งพา ยึดติดอยู่กับกระแสจากภายนอกมากเกินไป จนได้ครอบงำความคิดในลักษณะดั้งเดิมแบบไทยๆไปหมด มีแต่ความทะเยอทะยานบนรากฐานที่ไม่มั่นคงเหมือนลักษณะฟองสบู่ วิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้อาจไม่เกิดขึ้น หรือไม่หนักหนาสาหัสจนเกิดความเดือดร้อนกันถ้วนทั่วเช่นนี้ ดังนั้น "เศรษฐกิจพอเพียง" จึงได้สื่อความหมาย ความสำคัญในฐานะเป็นหลักการสังคมที่พึงยึดถือ
ในทางปฏิบัติจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งหลักการและกระบวนการทางสังคม ตั้งแต่ขั้นฟื้นฟูและขยายเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและบริโภคอย่างพออยู่พอกินขึ้นไปถึงขั้นแปรรูปอุตสาหกรรมครัวเรือน สร้างอาชีพและทักษะวิชาการที่หลากหลายเกิดตลาดซื้อขาย สะสมทุน ฯลฯ บนพื้นฐานเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนนี้ เศรษฐกิจของ 3 ชาติ จะพัฒนาขึ้นมาอย่างมั่นคงทั้งในด้านกำลังทุนและตลาดภายในประเทศ รวมทั้งเทคโนโลยีซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ภายในชาติ และทั้งที่จะพึงคัดสรรเรียนรู้จากโลกภายนอก
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่พอเพียงกับตัวเอง ทำให้อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน มีสิ่งจำเป็นที่ทำได้โดยตัวเองไม่ต้องแข่งขันกับใคร และมีเหลือเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มี อันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนในชุมชน และขยายไปจนสามารถที่จะเป็นสินค้าส่งออก เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดที่เริ่มจากตนเองและความร่วมมือ วิธีการเช่นนี้จะดึงศักยภาพของ ประชากรออกมาสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ซึ่งมีความผู้พันกับ “จิตวิญญาณ” คือ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า”

ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะจัดลำดับความสำคัญของ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” มูลค่านั้นขาดจิตวิญญาณ เพราะเป็นเศรษฐกิจภาคการเงิน ที่เน้นที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่จำกัดซึ่งไร้ขอบเขต ถ้าไม่สามารถควบคุมได้การใช้ทรัพยากรอย่างทำลายล้างจะรวดเร็วขึ้นและปัญหาจะตามมา เป็นการบริโภคที่ก่อให้เกิดความทุกข์หรือพาไปหาความทุกข์ และจะไม่มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์ในการบริโภค ที่จะก่อให้ความพอใจและความสุข (Maximization of Satisfaction) ผู้บริโภคต้องใช้หลักขาดทุนคือกำไร (Our loss is our gain) อย่างนี้จะควบคุมความต้องการที่ไม่จำกัดได้ และสามารถจะลดความต้องการลงมาได้ ก่อให้เกิดความพอใจและความสุขเท่ากับได้ตระหนักในเรื่อง “คุณค่า” จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ ไม่ต้องไปหาวิธีทำลายทรัพยากรเพื่อให้เกิดรายได้มาจัดสรรสิ่งที่เป็น “ความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุด” และขจัดความสำคัญของ “เงิน” ในรูปรายได้ที่เป็นตัวกำหนดการบริโภคลงได้ระดับหนึ่ง แล้วยังเป็นตัวแปรที่ไปลดภาระของกลไกของตลาดและการพึ่งพิงกลไกของตลาด ซึ่งบุคคลโดยทั่วไปไม่สามารถจะควบคุมได้ รวมทั้งได้มีส่วนในการป้องกันการบริโภคเลียนแบบ (Demonstration Effects) จะไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย จะทำให้ไม่เกิดการบริโภคเกิน (Over Consumption) ซึ่งก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน

การบริโภคที่ฉลาดดังกล่าวจะช่วยป้องกันการขาดแคลน แม้จะไม่ร่ำรวยรวดเร็ว แต่ในยามปกติก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น ในยามทุกข์ภัยก็ไม่ขาดแคลน และสามารถจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยไม่ต้องหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากเกินไป เพราะฉะนั้นความพอมีพอกินจะสามารถอุ้มชูตัวได้ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง และความพอเพียงนั้นไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง แต่มีการแลกเปลี่ยนกันได้ระหว่างหมู่บ้าน เมือง และแม้กระทั่งระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือการบริโภคนั้นจะทำให้เกิดความรู้ที่จะอยู่ร่วมกับระบบ รักธรรมชาติ ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง เพราะไม่ต้องทิ้งถิ่นไปหางานทำ เพื่อหารายได้มาเพื่อการบริโภคที่ไม่เพียงพอ

ประเทศไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรและยังมีพอสำหรับประชาชนไทยถ้ามีการจัดสรรที่ดี โดยยึด " คุณค่า " มากกว่า " มูลค่า " ยึดความสัมพันธ์ของ “บุคคล” กับ “ระบบ” และปรับความต้องการที่ไม่จำกัดลงมาให้ได้ตามหลักขาดทุนเพื่อกำไร และอาศัยความร่วมมือเพื่อให้เกิดครอบครัวที่เข้มแข็งอันเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบสังคม

การผลิตจะเสียค่าใช้จ่ายลดลงถ้ารู้จักนำเอาสิ่งที่มีอยู่ในขบวนการธรรมชาติมาปรุงแต่ง ตามแนวพระราชดำริในเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วซึ่งสรุปเป็นคำพูดที่เหมาะสมตามที่ ฯพณฯ พลเอกเปรม ตินณสูลานนท์ ที่ว่า “…ทรงปลูกแผ่นดิน ปลูกความสุข ปลดความทุกข์ของราษฎร” ในการผลิตนั้นจะต้องทำด้วยความรอบคอบไม่เห็นแก่ได้ จะต้องคิดถึงปัจจัยที่มีและประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาอย่างเช่นบางคนมีโอกาสทำโครงการแต่ไม่ได้คำนึงว่าปัจจัยต่าง ๆ ไม่ครบ ปัจจัยหนึ่งคือขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักรที่สามารถที่จะปฏิบัติได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด คือวัตถุดิบ ถ้าไม่สามารถที่จะให้ค่าตอบแทนวัตถุดิบแก่เกษตรกรที่เหมาะสม เกษตรกรก็จะไม่ผลิต ยิ่งถ้าใช้วัตถุดิบสำหรับใช้ในโรงงานั้น เป็นวัตถุดิบที่จะต้องนำมาจากระยะไกล หรือนำเข้าก็จะยิ่งยาก เพราะว่าวัตถุดิบที่นำเข้านั้นราคายิ่งแพง บางปีวัตถุดิบมีบริบูรณ์ ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ผลิตจากโรงงานก็ขายยากเหมือนกัน เพราะมีมากจึงทำให้ราคาตก หรือกรณีใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เกษตรกรรู้ดีว่าเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และผลผลิตที่เพิ่มนั้นจะล้นตลาด ขายได้ในราคาที่ลดลง ทำให้ขาดทุน ต้องเป็นหนี้สิน


การผลิตตามทฤษฎีใหม่สามารถเป็นต้นแบบการคิดในการผลิตที่ดีได้ ดังนี้

1. การผลิตนั้นมุ่งใช้เป็นอาหารประจำวันของครอบครัว เพื่อให้มีพอเพียงในการบริโภคตลอดปี เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันและเพื่อจำหน่าย
2. การผลิตต้องอาศัยปัจจัยในการผลิต ซึ่งจะต้องเตรียมให้พร้อม เช่น การเกษตรต้องมีน้ำ การจัดให้มีและดูแหล่งน้ำ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งการผลิต และประโยชน์ใช้สอยอื่น ๆ
3. ปัจจัยประกอบอื่น ๆ ที่จะอำนวยให้การผลิตดำเนินไปด้วยดี และเกิดประโยชน์เชื่อมโยง (Linkage) ที่จะไปเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการผลิต จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้ง เกษตรกร ธุรกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับเศรษฐกิจการค้า และให้ดำเนินกิจการควบคู่ไปด้วยกันได้

การผลิตจะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” กับ “ระบบ” การผลิตนั้นต้องยึดมั่นในเรื่องของ “คุณค่า” ให้มากกว่า “มูลค่า” ดังพระราชดำรัส ซึ่งได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ที่ว่า

“…บารมีนั้น คือ ทำความดี เปรียบเทียบกับธนาคาร …ถ้าเราสะสมเงินให้มากเราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ย โดยไม่แตะต้องทุนแต่ถ้าเราใช้มากเกิดไป หรือเราไม่ระวัง เรากิน เข้าไปในทุน ทุนมันก็น้อยลง ๆ จนหมด …ไปเบิกเกินบัญชีเขาก็ต้องเอาเรื่อง ฟ้องเราให้ล้มละลาย เราอย่าไปเบิกเกินบารมีที่บ้านเมือง ที่ประเทศได้สร้างสมเอาไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราให้เกินไป เราต้องทำบ้าง หรือเพิ่มพูนให้ประเทศของเราปกติมีอนาคตที่มั่นคง บรรพบุรุษของเราแต่โบราณกาล ได้สร้างบ้านเมืองมาจนถึงเราแล้ว ในสมัยนี้ที่เรากำลังเสียขวัญ กลัว จะได้ไม่ต้องกลัว ถ้าเราไม่รักษาไว้…”

การจัดสรรทรัพยากรมาใช้เพื่อการผลิตที่คำนึงถึง “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” กับ “ระบบ” เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ทำลายทั้งทุนสังคมและทุนเศรษฐกิจ นอกจากนี้จะต้องไม่ติดตำรา สร้างความรู้ รัก สามัคคี และความร่วมมือร่วมแรงใจ มองกาลไกลและมีระบบสนับสนุนที่เป็นไปได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกฝังแนวพระราชดำริให้ประชาชนยอมรับไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยให้วงจรการพัฒนาดำเนินไปตามครรลองธรรมชาติ กล่าวคือ

ทรงสร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้รับรู้ (Awareness) ในทุกคราเมื่อ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในทุกภูมิภาคต่าง ๆ จะทรงมีพระราชปฏิสันถารให้ประชาชนได้รับทราบถึงสิ่งที่ควรรู้ เช่น การปลูกหญ้าแฝกจะช่วยป้องกันดินพังทลาย และใช้ปุ๋ยธรรมชาติจะช่วยประหยัดและบำรุงดิน การแก้ไขดินเปรี้ยวในภาคใต้สามารถกระทำได้ การ ตัดไม้ทำลายป่าจะทำให้ฝนแล้ง เป็นต้น ตัวอย่างพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน ได้แก่

“….ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาไว้ ไม่ทำให้ประเทศไทยเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทราย ก็ป้องกัน ทำได้….”

ทรงสร้างความสนใจแก่ประชาชน (Interest) หลายท่านคงได้ยินหรือรับฟัง โครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีนามเรียกขานแปลกหู ชวนฉงน น่าสนใจติดตามอยู่เสมอ เช่น โครงการแก้มลิง โครงการแกล้งดิน โครงการเส้นทางเกลือ โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย หรือโครงการน้ำสามรส ฯลฯ เหล่านี้ เป็นต้น ล้วนเชิญชวนให้ ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่พระองค์ก็จะมีพระราชาธิบายแต่ละโครงการอย่างละเอียด เป็นที่เข้าใจง่ายรวดเร็วแก่ประชาชนทั้งประเทศ

ในประการต่อมา ทรงให้เวลาในการประเมินค่าหรือประเมินผล (Evaluate) ด้วยการศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์นั้นเป็นอย่างไร สามารถนำไปปฏิบัติได้ในส่วนของตนเองหรือไม่ ซึ่งยังคงยึดแนวทางที่ให้ประชาชนเลือกการพัฒนาด้วยตนเอง ที่ว่า
“….ขอให้ถือว่าการงานที่จะทำนั้นต้องการเวลา เป็นงานที่มีผู้ดำเนินมาก่อนแล้ว ท่านเป็นผู้ที่จะเข้าไปเสริมกำลัง จึงต้องมีความอดทนที่จะเข้าไปร่วมมือกับผู้อื่น ต้องปรองดองกับเขาให้ได้ แม้เห็นว่ามีจุดหนึ่งจุดใดต้องแก้ไขปรับปรุงก็ต้องค่อยพยายามแก้ไขไปตามที่ถูกที่ควร….”

ในขั้นทดลอง (Trial) เพื่อทดสอบว่างานในพระราชดำริที่ทรงแนะนำนั้นจะได้ผลหรือไม่ซึ่งในบางกรณีหากมีการทดลองไม่แน่ชัดก็ทรงมักจะมิให้เผยแพร่แก่ประชาชน หากมีผลการทดลองจนแน่พระราชหฤทัยแล้วจึงจะออกไปสู่สาธารณชนได้ เช่น ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำนั้น ได้มีการค้นคว้าหาความเหมาะสมและความเป็นไปได้จนทั่วทั้งประเทศว่าดียิ่งจึงนำออกเผยแพร่แก่ประชาชน เป็นต้น

ขั้นยอมรับ (Adoption) โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น เมื่อผ่านกระบวนการมาหลายขั้นตอน บ่ม เพาะ และมีการทดลองมาเป็นเวลานาน ตลอดจนทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสถานที่อื่น ๆ เป็นแหล่งสาธิตที่ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาดูได้ถึงตัวอย่างแห่งความสำเร็จ ดังนั้น แนวพระราชดำริของพระองค์จึงเป็นสิ่งที่ราษฎรสามารถพิสูจน์ได้ว่าจะได้รับผลดีต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของตนได้อย่างไร

แนวพระราชดำริทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นนี้ แสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทพระสติปัญญา ตรากตรำพระวรกาย เพื่อค้นคว้าหาแนวทางการพัฒนาให้พสกนิกรทั้งหลายได้มีความร่มเย็นเป็นสุขสถาพรยั่งยืนนาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ได้พระราชทานแก่ปวงไทยตลอดเวลามากกว่า 50 ปี จึงกล่าวได้ว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์นั้นสมควรอย่งยิ่งที่ทวยราษฎรจักได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ตามที่ทรงแนะนำ สั่งสอน อบรมและวางแนวทางไว้เพื่อให้เกิดการอยู่ดีมีสุขโดยถ้วนเช่นกัน โดยการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขึ้นตอนต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตาหลักวิชาการ เพื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริม ความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับ จะก่อให้เกิดความยั่งยืนและจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน และสังคม สุดท้ายเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน

ประการที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง
1. พอมีพอกิน ปลูกพืชสวนครัวไว้กินเองบ้าง ปลูกไม้ผลไว้หลังบ้าน 2-3 ต้น พอที่จะมีไว้กินเองในครัวเรือน เหลือจึงขายไป
2. พออยู่พอใช้ ทำให้บ้านน่าอยู่ ปราศจากสารเคมี กลิ่นเหม็น ใช้แต่ของที่เป็นธรรมชาติ (ใช้จุลินทรีย์ผสมน้ำถูพื้นบ้าน จะสะอาดกว่าใช้น้ำยาเคมี) รายจ่ายลดลง สุขภาพจะดีขึ้น (ประหยัดค่ารักษาพยาบาล)
3. พออกพอใจ เราต้องรู้จักพอ รู้จักประมาณตน ไม่ใคร่อยากใคร่มีเช่นผู้อื่น เพราะเราจะหลงติดกับวัตถุ ปัญญาจะไม่เกิด
" การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง "
"เศรษฐกิจพอเพียง" จะสำเร็จได้ด้วย "ความพอดีของตน"
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Mon Jul 27, 2009 12:11 am

ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญมาโดยสม่ำเสมอ ได้แก่ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความเที่ยงธรรม ราชธรรม ๑๐ ประการนี้เรียกว่า "ทศพิธราชธรรม

๑.) ทาน
หนึ่งท้าวประกอบมนสะเอื้น อนุเคราะหะอวดทาน
เพื่อชนนิกรสุขะสราญ ฤดิเพื่อ บ่ ยากจน
จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

นับแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมีมากมายจนเหลือที่จะพรรณนาได้สุดสิ้น ครบถ้วนทั้งสองประการ คือ “ธรรมทาน” ซึ่งถือเป็นทานอันเลิศทางพระพุทธศาสนา สามารถแก้ความทุกข์ยากขาดแคลนทางจิตใจ ทำให้ใจเป็นสุขและตั้งอยู่ในความดีงาม โดยได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแฝงด้วยคติธรรมเป็นเครื่องเตือนใจในเรื่องต่าง ๆ แก่พสกนิกรตามสถานะและวาระโอวาทอยู่เสมอ ในท้องถิ่นที่ต้องการความรู้ ได้พระราชทานความรู้และตรัสแนะนำในสิ่งอันจะทำประโยชน์มาให้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่จะทรงช่วยดับทุกข์ความเดือดร้อนในจิตใจของประชาชนทั้งมวล
นอกจากธรรมทานแล้ว “อามิสทาน” หรือ “วัตถุทาน” ก็ทรงมีพระเมตตาคุณในพระราชหฤทัยเป็นล้นพ้น ได้พระราชทานพระราชทรัพย์และวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เพื่อแก้ความทุกข์ยากขาดแคลนทางกายให้แก่พสกนิกรเสมอมา
ในการบำเพ็ญทางบารมีนี้ ได้ทรงบำเพ็ญตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสองทุกประการ คือ ทรงบำเพ็ญครบถ้วนตามคุณสมบัติของทาน ๓ ประการ ได้แก่ คุณสมบัติของทานประการที่หนึ่ง คือ การพระราชทานให้แก่บุคคลที่สมควรได้รับการอนุเคราะห์โดยมิได้ทรงเลือกเชื้อชาติหรือศาสนา คุณสมบัติของทานประการที่สอง คือ ถึงพร้อมด้วยเจตนาโดยทรงมีพระเมตตาคุณเปี่ยมล้นในพระราชหฤทัยทั้งก่อนการพระราชทาน ขณะพระราชทาน และหลังการพระราชทานแล้ว คุณสมบัติประการที่สาม คือ วัตถุที่พระราชทานนั้นล้วนเป็นประโยชน์แก่ราษฎรผู้รับพระราชทาน ให้พ้นจากการขาดแคลนได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญทานให้เป็นบุญตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ คือ บำเพ็ญให้เป็นเครื่องชำระกิเลสอันมีความละโมบ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น “สวนหลวง ร.๙“ ซึ่งชาวไทยร่วมใจกันสร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นราชสักการะ ก็มิได้ทรงสงวนไว้สำหรับพระองค์แต่ได้พระราชทานให้เป็นสาธารณสถาน เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวไทยทั้งมวล
ส่วนโครงการหลวง โครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่มีอยู่นับพันโครงการทั่วประเทศ รวมทั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ซึ่งโปรดให้ตั้งขึ้นในภาคต่าง ๆ เพื่อศึกษาพื้นที่และวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชผลให้เหมาะแก่ท้องถิ่น อันเป็นการแก้ไขต้นเหตุแห่งปัญหาเพื่อพัฒนาประเทศให้ได้ผลนั้น จัดเป็นการบำเพ็ญทานให้เป็นกุศล คือ เป็นกิจของคนดีคนมีปัญญา ถูกกาลสมัย เหมาะแก่ความต้องการของผู้รับ ไม่ทำให้พระองค์หรือผู้ใดเดือดร้อน การบำเพ็ญทานให้เป็นกุศลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงยังผลให้ไพร่ฟ้าหน้าใสได้โดยทั่วหน้ากัน

ด้วยท้าวประกอบมนสะเอื้อ อนุเคราะอวดทาน
จึ่งไทยพสกสุขะสราญ ฤดิชื่นระรื่นทรวง
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Mon Jul 27, 2009 12:11 am

๒.) ศีล
หนึ่งคือประพฤติศุภะสำรวม จิตะมุ่งมนูญผล
ทรงศีละสังวระวิมล ธุระมุ่งเสวยสวรรค์
จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์ตลอดมาว่า ทรงเคร่งครัดในการรักษาศีล และทรงมีน้ำพระทัยนับถือพระพุทธศาสนาโดยบริสุทธิ์ ดังจะเห็นได้จากการเสด็จออกทรงผนวชรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ของพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเมื่อทรงผนวชแล้วได้เสด็จมาประทับรักษาศีลตามพุทธบัญญัติ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยประทับ ณ "พระตำหนักปั้นหย่า" แล้วจึงเสด็จมาประทับ ณ "พระตำหนักทรงพรต" ตามขัตติยราชประเพณี แม้เมื่อทรงลาผนวชแล้ว พระองค์ยังคงเสด็จมาประทับนั่งสมาธิกรรมฐานเป็นครั้งคราว ณ พระตำหนักทรงพรตนี้
ตลอดระยะเวลาแห่งการทรงผนวช ทรงดำรงพระองค์ได้งดงามบริสุทธิ์ สมควรแก่การเป็นพุทธสาวก จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา แก่พสกนิกรโดยทั่วหน้า
เมื่อทรงลาผนวชมาอยู่พระราชฐานะแห่งพระมหากษัตริยาธิราชแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงประพฤติอยู่ในศีลโดยบริสุทธิ์ กล่าวคือ ทรงประพฤติพระราชจริยาในทางพระวรกายและในทางพระวาจาให้สะอาดงดงามถูกต้องอยู่เป็นนิจ ไม่เคยบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นศีลในการปกครอง หรือศีลในทางศาสนาก็ตาม

ในด้านศีลในการปกครอง คือ การประพฤติตามกฎหมายและจารีตประเพณีอันดีงามนั้น ไม่เคยปรากฎเลยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจของพระองค์เหนือกฎหมาย และไม่เคยมีแม้แต่สักครั้งเดียวที่จะทรงละทิ้งจารีตประเพณีอันดีงามของชาติและของพระราชวงศ์ พระเกียรติคุณในข้อนี้เป็นที่ซึมซาบในใจของชาวไทยเป็นอย่างดี นับจากกาลเวลาที่ล่วงผ่านมาตราบจนถึงทุกวันนี้
ส่วนศีลในทางศาสนา อย่างน้อยคือศีลห้าอันเป็นศีลหรือกฎหมายที่ใช้ในการปกครองแผ่นดินมาตั้งแต่อดีตก่อนพุทธกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสมาทานรักษาอย่างเคร่งครัด และทรงสนับสนุนให้พสกนิกรของพระองค์สมาทานรักษาอย่างเคร่งครัด และทรงสนับสนุนให้พสกนิกรของพระองค์สมาทานรักษาเช่นเดียวกัน
สำหรับผู้ที่มิได้นับถือพุทธศาสนา พระองค์ทรงสนับสนุนให้ยึดมั่นตามคำสอนแห่งศาสนาอันตนศรัทธา ด้วยทรงตระหนักว่าทุกศาสนามีหลักคำสอนที่นำไปสู่การประพฤติดี ศาสนาจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันของชนหมู่มาก แม้บัดนี้ในการปกครองจะมีกฎหมายอยู่แล้วก็ยังต้องอาศัยศาสนาเป็นเครื่องอุปการะ ด้วยกฎหมายบังคับได้เพียงแค่กาย ส่วนศาสนาสามารถเข้าถึงจิตใจ น้อมนำไปปฏิบัติตามโดยไม่ต้องบังคับ
การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปกครองบ้านเมืองด้วยกฎหมายและศาสนา ประกอบกับการที่ทรงสมาทานศีลอย่างเคร่งครัดดังปรากฎในที่ทุกสถาน ชาวไทยจึงมีความสุขสงบและวัฒนาด้วยศีลบารมีแห่งพระองค์
ด้วยท้าวประพฤติศุภะสำรวม จิตะมุ่งมนูญผล
ทรงศีละสังวระวิมล สุขะจึ่งสถิตไทย
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Mon Jul 27, 2009 12:12 am

๓.) บริจาค
หนึ่งเอื้อบำรุงสมณพราหมณ์ และประดิษฐ์หิตานันท์
โรงเรียนสะพานและคฤหะอัน ชนไข้จะพึงประสงค์

จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในด้านการบริจาค ซึ่งหมายถึงการเสียสละสิ่งที่ไม่มีประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยกว่า เพื่อสิ่งที่มีประโยชน์ใหญ่ยิ่งกว่านั้น ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือประโยชน์และความเจริญของชาติ ศาสนา รวมทั้งประโยชน์สุขของพสกนิกร สำคัญยิ่งกว่าพระองค์เอง พระราชกรณียกิจนานัปการจึงเป็นไปเพื่อความวัฒนา และประโยชน์สุขของชาวไทยและสถาบันดังกล่าว
ด้านการศาสนา ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภกศาสนาต่าง ๆ อันมีในประเทศไทย และได้พระราชทานทรัพย์เพื่อทะนุบำรุงไปเป็นจำนวนมาก โดยพระพุทธศาสนานั้นทรงมีคุณูปการเป็นอเนกอนันต์ ทั้งในการบูรณะปฏิสังขรณ์ปูชียสถาน อันมีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น การสร้างถาวรวัตถุ เช่น "พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร." และ "พระพุทธนวราชบพิตร" เป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเสด็จไปพระราชทานด้วยพระองค์เองแก่ทุกจังหวัดทั่วประเทศนั้น ได้ทรงบรรจุที่ฐานด้วยพระพิมพ์ซึ่งทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ทั้งในพระองค์และจากจังหวัดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทรงบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านอื่น ๆ อีกนานัปการ ด้วยศรัทธาและปริจาคะของพระองค์เช่นนี้ จึงไม่น่าสงสัยที่พระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองจนประเทศไทยกลายเป็นแหล่งศึกษาพระธรรม ของชาวต่างประเทศและเป็นแหล่งส่งพระธรรมทูตไปประกาศพระศาสนาในประเทศต่าง ๆ
ในด้านการสงเคราะห์ ได้ทรงเสียสละพระราชทรัพย์และสิ่งของจำนวนมากมายจนสุดที่จะประมาณได้ เพื่อดับความทุกข์ยากของพสกนิกรในยามประสบภัยพิบัติและในถิ่นทุรกันดาร
ทรงสละพระราชทรัพย์เพื่อพัฒนาการศึกษาให้แก่เยาวชนไทย โดยโปรดให้มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนในถิ่นยากจนต่าง ๆ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน และทุนอานันทมหิดลเพื่อส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่างประเทศ เป็นต้น
ทรงสละพระราชทรัพย์นับจำนวนไม่น้อย ในการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่มูลนิธิและสาธารณสถานต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขของชาวไทย
ทรงเสียสละพระราชทานที่นาของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในจังหวัดต่าง ๆ กว่า ๕๐,๐๐๐ ไร่ ให้เข้าอยู่ในโครงการปฏิรูปที่ดิน เมื่อปี ๒๕๑๘ เพื่อแบ่งปันที่ทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยากจน
การที่ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ วัตถุสิ่งของและที่ดินจำนวนมหาศาล รวมทั้งการที่ทรงเสียสละปฏิบัติพระราชภารกิจทั้งนอกและในประเทศ พระราชภารกิจในโครงการพระราชดำรินับพัน ๆ โครงการทั่วประเทศนี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดในความเสียสละอันใหญ่หลวงของพระองค์ ด้วยทรงเสียสละเวลา พระปรีชาสามารถ และความสำราญพระราชหฤทัยทั้งมวล ทรงยอมรับความเหน็ดเหนื่อยพระวรกายทุกประการเพื่อพสกนิกร อย่างไม่มีประมุขประเทศใดในขณะนี้ จะเสียสละได้เทียบเท่าที่พระองค์ทรงเสียสละให้แก่พสกนิกรไทยมาเนิ่นนานไม่น้อยกว่า ๔๑ ปี
ด้วยท้าวบำรุงสมณพราหมณ์ และประดิษฐ์หิตานันท์
จึ่งพุทธศาสน์นิกะระพลัน พุฒิเพิ่มเพราะภูมินทร์
(หมายเหตุ ผงศักดิ์สิทธิ์ในพระองค์ ได้แก่
๑. ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระพุทธปฏิมากรตลอดเทศกาล จนถึงคราวที่จะเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ ดอกไม้แห้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมไว้
๒. เส้นพระเจ้า ซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง
๓. ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระแสงขรรค์ชัยศรี ในพระราชพิธีฉัตรมงคล
๔. สี ซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์
๕. ชันและสี ซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่ง ขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง
ผงศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดต่าง ๆ ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร ได้แก่วัตถุที่ได้มาจากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ประชาชนเคารพบูชาในแต่ละจังหวัด อันได้แก่ดินหรือตะไคร่น้ำแห้งจากปูชนียสถานเปลวทองคำปิดพระพุทธรูป ผงรูปหน้าที่บูชา และน้ำจากบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้เคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Mon Jul 27, 2009 12:13 am

๔.) ความซื่อตรง (อาชชวะ)
หนึ่งมีมลวิมละใส หฤทัย ธ ซื่อตรง
เป็นนิตย์นิรันตะระธำรง สุจริต ณ ไตรทวาร
จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
อันทศพิธราชธรรมข้อที่สี่ คือ อาชชวะ หรือความซื่อตรงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติอยู่นิจ สำหรับผู้ที่มีอายุคงจะจำกันได้ดีว่าหลังจากที่ได้ทรงดำรงสิริราชสมบัติแล้ว ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ อันเป็นวันกำหนดเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อในต่างประเทศ ระหว่างประทับรถพระที่นั่งเพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปขึ้นเครื่องบินนั้น ได้มีเสียงร้องมาจากกลุ่มพสกนิกรที่เฝ้าส่งเสด็จว่า "อย่าทิ้งประชาชน" และได้มีพระราชดำรัสตอบในพระราชหฤทัยว่า "เราจะไม่ทิ้งประชาชน ถ้าประชาชนไม่ทิ้งเรา" การตั้งพระราชหฤทัยดังนี้เสมือนเป็นการพระราชทานสัจจะ ว่าจะทรงเป็นร่มบรมโพธิสมภารของพสกนิกรตลอดไป
ครั้นต่อมาในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งเป็นวันที่ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้มีพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรทั่วประเทศว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" วันเวลาที่ล่วงผ่านไปเนิ่นนานจากวันนั้นถึงวันนี้ ๔๑ ปีเศษแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรักษาสัจจะที่ได้พระราชทานให้แก่พสกนิกรทั้งสองประการ มาอย่างสมบูรณ์สม่ำเสมอ พระองค์ไม่เคยทรงทอดทิ้งพสกนิกร ด้วยทรงถือเอาความทุกข์เดือดร้อนของพสกนิกรเป็นความทุกข์เดือดร้อนของพระองค์เอง เหตุนี้เมื่อเกิดความเดือดร้อนหรือภัยพิบัติในส่วนใดของประเทศ พระองค์จะเสด็จฝ่าไป ไม่ว่าระยะทางจะใกล้ไกล ทุรกันดารเพียงใด แดดจะแผดกล้าร้อนแรง หนทางจะคดเคี้ยวข้ามขุนเขา พงไพรจะรกเรื้อแฉะชื้นเต็มไปด้วยตัวทาก ฝนจะตกกระหน่ำจนเหน็บหนาว น้ำจะท่วมเจิ่งนอง พระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อที่จะเสด็จไปประทับเป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรผู้ทุกข์ยาก เพื่อทรงดับความเดือดร้อนให้กลับกลายเป็นความร่มเย็น
นอกจากนี้ยังทรงครองแผ่นดินด้วยธรรมานุภาพ ไม่ว่าการสิ่งใดอันจะยังความทุกข์สงบมาสู่พสกนิกร พระองค์จะทรงปฏิบัติ และการสิ่งใดที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรประพฤติปฏิบัติตาม จะพระราชทานกระแสพระราชดำรัสชี้แจงถึงเหตุและผลให้เข้าใจ พสกนิกรผู้ปฏิบัติจึงปฏิบัติด้วยเห็นประโยชน์แห่งผลของการปฏิบัตินั้น ปฏิบัติด้วยความเต็มใจและด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ มิใช่ด้วยความกลัวเกรงพระบรมเดชานุภาพ การครองแผ่นดินโดยธรรมของพระองค์จึงยังประโยชน์สุขมาสู่มหาชนชาวสยาม สมดังพระราชปณิธาน
คงไม่มีความรู้สึกอันใดที่จะวาบหวานและซาบซึ้งใจชาวไทย ยิ่งไปกว่าความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ พระผู้ทรงมีพระราชอัธยาศัยเปี่ยมไปด้วยอาชชวะคือความซื่อตรงต่อพสกนิกรและประเทศชาติ
ด้วยท้าวทรงวิมละใส หฤทัย ธ ซื่อตรง
จึ่งชนและชาติถิระธำรง ทฤฆะทัศน์จรัสเรือง
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Mon Jul 27, 2009 12:14 am

๕.) ความอ่อนโยน ( มัททวะ)
หนึ่งคือหทัยบ่มิกระด้าง บ่มิพึงจะรุนราญ
บ่มิถือพระองค์สมะสมาน มนะน้อมนิยมชม
จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ราชธรรมในข้อมัททวะหรือความอ่อนโยนนี้ เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรมาช้านานแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยนเพียบพร้อมทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนโยนในความหมายทางโลกหรือความหมายทางธรรม
ความอ่อนโยนในความหมายทางโลก คือความอ่อนโยนต่อบุคคลอื่นในสังคม อันเป็นมารยาทที่บุคคลในสังคมจะพึงปฏิบัติต่อกันเพื่อผลดีในทางสังคม ความอ่อนโยนในความหมายนี้ย่อมชี้ให้เห็นชัดได้ด้วยพระราชจริยาวัตรต่าง ๆ ในที่ทุกสถาน
ส่วนความอ่อนโยนในทางธรรมนั้น มีความหมายกว้างขวางมาก คือ หมายถึงความสามารถโอนอ่อนผ่อนตาม น้อมไป หรือเปลี่ยนไปในทางแห่งความดี ทำให้เกิดการผสมผสานกันอย่างดีในทางการงานและบุคคลแก่บุคคลทุกระดับชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าถึงธรรมะในข้อนี้เป็นอย่างดี และอย่างถ่องถ้วนทุกระดับขั้น
ขั้นแรก คือ ความอ่อนโยนทางพระวรกาย ทุกพระอิริยาบถที่ปรากฎไม่มีที่จะแสดงถึงความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือถือพระองค์เลยจะมีก็แต่ความอ่อนโยน นิ่มนวล งดงาม เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์พระราชหฤทัย อันยังความชื่นชมโสมนัส และอบอุ่นใจให้เกิดแก่พสกนิกรโดยทั่วกัน
ขั้นที่สอง คือ ความอ่อนโยนทางพระวาจา อันพึงเห็นได้จากการที่ทรงมีพระราชปฏิสังถารแก่ราษฎรซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา ที่มารับเสด็จอย่างใกล้ชินสนิทสนม ไม่เคยมีพระวาจาที่กระด้าง มีแต่อ่อนโยนสุภาพละมุนละไม แม้จะทรงอยู่ในพระราชฐานะอันสูงสุด กลับทรงแสดงพระองค์เป็นธรรมดาอย่างที่สุด มิได้ทรงวางพระองค์ให้แตกต่างห่างไกลจากประชาชนที่ประกอบด้วยฐานะต่าง ๆ กัน ทางปฏิบัติพระองค์เป็นกันเอง เสมือนบิดาปฏิบัติต่อบุตรอันเป็นที่รัก ตรัสพระวาจาอ่อนหวานอันควรดื่มด่ำไว้ในหัวใจเป็นอย่างยิ่ง
ขั้นที่สาม คือ ความอ่อนโยนนิ่มนวลทางจิตใจและสติปัญญา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุถึงมัททวะในขั้นนี้อย่างแท้จริง และทรงเข้าพระทัยในธรรมะของชีวิตอย่างลึกซึ้งว่า แต่ละชีวิตย่อมมีหน้าที่หลายอย่าง พระองค์จึงทรงวางพระทัยให้อ่อนโยน และทรงวางพระสติปัญญาให้โอนอ่อนไปตามสถานภาพได้อย่างเหมาะสม เช่นในพระราชฐานะต่าง ๆ ในพระบรมราชวงศ์ (ทั้งพระราชฐานะที่เป็นพระราชโอรส เป็นพระอนุชา เป็นพระบิดา เป็นอัยกา ฯลฯ)
ในพระราชฐานะแห่งพระมหากษัตริยาธิราช ทรงมีสัมมาคารวะอ่อนน้อมแด่ผู้เจริญโดยวัยและเจริญโดยคุณ และมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอพระองค์และต่ำกว่า ไม่เคยทรงดูหมิ่น การที่ทรงวางพระองค์เช่นนี้จึงก่อให้เกิดความสุขความเจริญแก่บ้านเมือง และความปิติศรัทธาแก่ชาวไทยอย่างไม่มีอะไรจะเปรียบ
ด้วยท้าวประทานมธุรถ้อย รติร้อยมโนชน
อ่อนโยนอดุลย์จริยะดล รติท้าวสนิทใจ
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 12:22 am

๖.) ความเพียร (ตบะ)
หนึ่งเผากิเลสอกุศล มละกลั้ว ณ อารมณ์
ด้วยการบำเพ็ญพิระอุดม วรศาสโนบาย
จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ราชธรรมข้อที่หก คือ ตบะ หรือความเพียร เป็นราชธรรมที่มีการตีความหมายกันไว้หลายประการ แต่ไม่ว่าจะตีความหมายโดยนัยอย่างใด การดำรงพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ยังคงอยู่ในขอบข่ายของพระมหากษัตริยาธิราชผู้ทรงบำเพ็ญตบะบารมีอยู่นั่นเอง
ตบะในความหมายหนึ่งคือความเพียรเป็นเครื่องแผดเผาความเกียรคร้าน โดยความหมายนี้จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบด้วยพระราชอุตสาหะวิริยภาพเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ไม่โปรดที่จะประทับอยู่เฉย ทรงพอพระราชหฤทัยในการเสด็จพระราชดำเนินออกทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ แม้ในถิ่นทุรกันดารและห่างไกล ขวางกั้นด้วยผืนน้ำกว้างใหญ่ ป่าทึบ หรือเขาสูงสุดสายตาเพียงเพื่อให้ทรงทราบถึงความทุกข์สุขของราษฎร ด้วยพระเนตรพระกรรณของพระองค์เอง เมื่อทรงทราบแล้วก็มิได้ทรงนิ่มนอนพระราชหฤทัย แต่ได้ทรงมีพระราชดำริริเริ่มสิ่งต่าง ๆ เพื่อขจัดความทุกข์เดือดร้อนของราษฎรทั้งในด้านการอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย การศึกษาและอื่น ๆ ด้วยพระราชอุตสาหะ วิริยภาพเช่นนี้ พระองค์จึงทรงขจัดความขัดข้องความยากจนขัดสนทั้งหลายให้แก่ราษฎรได้โดยทั่วกัน
ตบะ ในอีกความหมายหนึ่ง หมายถึงความตั้งใจกำจัดความเกียจคร้านและการกระทำผิดหน้าที่ มุ่งทำกิจอันเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำ ซึ่งเป็นกิจที่ดีที่ชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญตบะในความหมายนี้ได้อย่างครบถ้วนเช่นเดียวกัน ในพระราชฐานะแห่งพระมหากษัตริยาธิราช ทรงมีหน้าที่ปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ได้รับความร่มเย็น พระองค์ได้ทรงตั้งพระราชอุตสาหะวิริยภาพ ประกอบด้วยปัญโญภาส ปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นไปด้วยดีไม่มีข้อผิดพลาด ทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรโดยไม่หยุดยั้ง โครงการพระราชดำริของพระองค์จึงมีนับพัน ๆ โครงการไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงติดตามกิจการที่ได้ทรงปฏิบัติหรือโปรดให้ปฏิบัติโดยใกล้ชิด โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าจะทรงลำบากยากพระวรกายเพียงไร แต่ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงทรงพอพระราชหฤทัยที่จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจ ด้วยพระราชอุตสาหะวิริยภาพโดยไม่มีวันว่างเว้น และในวันหนึ่ง ๆ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้มายมายจนไม่น่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะสำหรับบุคคลโดยทั่วไปหากจะเป็นไปได้เช่นนั้น ก็คงต้องใช้เวลาหลายวันมิใช่วันเดียว ดังเช่นที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติ
ตบะ ในความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเพียรในการละอกุศลกรรม เพียรอบรมกุศลบุญต่าง ๆ ให้บังเกิดขึ้น โดยความหมายนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเพียบพร้อมด้วยพระราชวิริยภาพที่จะทรงเอาชนะความชั่วต่าง ๆ ด้วยความดี ทรงมีพระตบะเดชะ เป็นที่เทิดทูนยำเกรงการสมาทานกุศลวัตรของพระองค์ จึงสามารถเผาผลาญกำจัดอกุศลกรรมให้เสื่อมสูญได้โดยสิ้นเชิง อาณาประชาราษฎร์ผู้อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร จึงมีแต่ความสุขสวัสดิ์วัฒนาพ้นจากความเดือดร้อนนานาประการด้วยตบะเดชะบารมีแห่งพระองค์
ด้วยท้าวมลายมละกิเลส มหะเหตุจะเกียจคร้าน
พร้อมเพียบบำเพ็ญพิริอุฬาร รุจิล้วนจำเริญไทย
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 1:25 am

๗.) ความไม่โกรธ (อักโกธะ)
หนึ่งแม้จะมีมนุชะปอง ประติปักษะมุ่งร้าย
เมตตาธิธรรมะวธิหมาย ชนะด้วยอเวรา
จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญอักโกธะบารมี หรือความไม่โกรธให้เป็นที่ประจักษ์ใจทั้งในหมู่ประชาชนชาวไทย และในนานาประเทศมาเป็นเวลาช้านาน แม้มีเหตุอันควรให้ทรงพระพิโรธยังทรงข่มพระทัยให้สงบได้โดยสิ้นเชิง อย่างที่ปุถุชนน้อยคนนักจะทำได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๐๕ และ ๒๕๑๐ เป็นต้น ซึ่งยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ตามเสด็จทุกคน
วันนั้น…วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๐๕ เป็นวันแรกที่ทรงย่างพระบาทสู่ดินแดนออสเตรเลีย พร้อมด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการเสด็จเยือนมาสามประเทศแล้ว จากรถพระที่นั่ง…ขณะเสด็จไปยังที่ประทับพระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็น ชายคนหนึ่งชูป้ายเป็นภาษาไทยขับไล่พระองค์ แต่พระองค์ก็มิได้ทรงหวั่นไหวด้วยทรงพิจารณาว่าเป็นการกระทำของคนเพียงคนเดียว มิใช่ประชาชนทั้งประเทศ จึงทรงแย้มพระสรวลและโบกพระหัตถ์ให้แก่ประชาชนอื่น ๆ ที่โห่ร้องรับเสด็จไปตลอดทาง
ต่อมาที่นครซิคนีย์เหตุการณ์อย่างเดียวกันได้เกิดขึ้นอีก โดยกลุ่มคนที่ได้รับการสนับสนุนจากลัทธิการเมืองที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลไทย เริ่มจากการชูป้ายข้อความขับไล่ผู้เผด็จการเมืองไทย ในทันทีที่รถพระที่นั่งแล่นเข้าสู่ศาลากลางเทศบาล ซึ่งจัดไว้เพื่อรับเสด็จ ติดตามด้วยใบปลิวมีข้อความขับไล่ผู้เผด็จการเมืองไทย และกล่าวหารัฐบาลไทยว่าเป็นฆาตกรฆ่าผู้บริสุทธิ์ ใบปลิวนี้โปรยลงมารอบพระองค์ขณะที่ตรัสตอบขอบใจนายกเทศมนตรี และประชาชนกลางเวที แต่พระองค์ยังคงตรัสต่อไป เสมือนมิได้มีสิ่งใดเกิดขึ้น
เพียงเท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเสด็จต่อไปยังเมืองเมลเบิร์นเพื่อทรงรับการถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พระองค์ยังทรงถูกโห่ฮาป่าจากกลุ่มนักศึกษาซึ่งไม่สุภาพ ทั้งท่าทางและการแต่งกาย และเมื่ออธิการบดีกล่าวสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ นักศึกษากลุ่มเดิมได้โห่ฮาป่ากลบเสียงสดุดีเสีย แม้เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเพื่อตรัสตอบ คนกลุ่มนี้ยังโห่ฮาป่าขึ้นอีก แต่พระองค์คงมีสีพระพักตร์เรียบเฉย ซ้ำยังทรงหันมาเปิดพระมาลาที่ทรงคู่กับฉลองพระองค์ครุยโค้งคำนับคนกลุ่มนั้นอย่างสุภาพ พร้อมกับตรัสด้วยพระสุรเสียงที่ราบเรียบมีใจความว่า “ขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมากในการต้อนรับอันอบอุ่นและสุภาพเรียบร้อย ที่ท่านแสดงต่อแขกเมืองของท่าน” เสียงฮาป่าเงียบลงทันที นักศึกษากลุ่มนี้ได้พ่ายแพ้แก่อักโกธะ หรือความไม่โกรธของพระองค์โดยสิ้นเชิง…ครั้นถึงเวลาเสด็จกลับ ทุกคนในกลุ่มพร้อมใจกันยืนคอยส่งเสด็จด้วยสีหน้าเจื่อน ๆ บ้าง ยิ้มบ้าง โบกมือและปรบมือให้บ้างจนรถพระที่นั่งแล่นไปจนลับตา
ต่อมาในปี ๒๕๑๐ อันเป็นปีที่ชาวอเมริกันเดินขบวนและหนังสือพิมพ์ลงข่าวโจมตีรัฐบาล เรื่องการส่งทหารมาช่วยรบและเสียชีวิตมากมายในเวียนนามใต้ ในภาวะอันวิกฤตนี้ทรงเกรงรัฐบาลอเมริกันจะล้มเลิกนโยบาลช่วยเหลือเอเชียอาคเนย์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของไทย จึงเสด็จไปทรงเจริญสัมพันธไมตรี
ในการนี้จะทรงได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยวิลเลียมส์ ก่อนวันแจกปริญญาทรงทราบว่าบทความที่ได้รับรางวัลซึ่งจะอ่านในวันแจกปริญญา เป็นบทความคัดค้านนโยบาลของรัฐบาล ในการส่งทหารมาช่วยรบในเวียนนาม นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษายังเตรียมแจกใบปลิว และเตรียมเดินขบวนออกจากพิธีถวายปริญญาแก่พระองค์ด้วย…และแล้ววันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๐ วันอันน่าระทึกใจก็มาถึง เมื่อนักศึกษาอ่านบทความที่ได้รับรางวัลจบลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรบพระหัตถ์ให้กับการใช้ภาษาที่ถูกต้องและไพเราะ แม้จะไม่ทรงเห็นด้วยกับเนื้อหาก็ตาม จากนั้นพระองค์จึงตรัสขอบใจมหาวิทยาลัย และทรงเตือนสตินักศึกษา “ให้ใช้ปัญญาไตร่ตรองดูเหตุผลให้ถ่องแท้เสียก่อนที่จะมั่นใจเชื่ออะไรลงไป มิใช่สักแต่ว่าเชื่อเพราะมีผู้บัญญัติไว้” พระราชดำรัสนี้เป็นที่ชื่นชอบมากถึงกับทุกคนลุกขึ้นยืน และปรบมือถวายเป็นเวลานาน และเหตุการณ์ร้ายที่เกรงกลัวก็มิได้เกิดขึ้น
การที่ประเทศไทยมีพระมหากษัตริยาธิราชผู้ทรงบำเพ็ญอักโกธะบารมี หรือความไม่โกรธได้อย่างมั่นคงเช่นนี้ จึงทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาสัมพันธไมตรีอันดีกับนานาประเทศไว้ได้ตลอดมา พระเกียรติคุณของพระองค์ในข้อนี้จึงเป็นที่ชื่นชมของชาวไทยและชาวต่างประเทศยิ่งนัก
ด้วยท้าวอภัยมนุชะผอง มนะปองประสงค์ร้าย
เมตตาพระเอื้ออริมลาย มติภักดิ์พระภูบาล
(หมายเหตุ : เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศระหว่างปี ๒๕๐๕ - ๒๕๑๐ นี้ ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสัมพันธภาพระหว่างประเทศไทย และต่างประเทศ เนื่องจาก :-
๑. เหตุการณ์ที่ออสเตรเลีย มิใช่การกระทำของเจ้าของประเทศแต่เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อประเทศไทย ซึ่งนิยมลัทธิการปกครองที่ขัดแย้งกับลัทธิการปกครองของไทย ในปี ๒๕๐๕ เป็นปีที่บุคคลกลุ่มนี้ได้ขยายการต่อต้านและพยายามแทรกซึมเข้าไปปฏิบัติการในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งออสเตรเลียด้วย
๒. เหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกา การเคลื่อนไหวของนักศึกษาหัวรุนแรงเป็นการกระทำที่ต้องการต่อต้านรัฐบาลอเมริกัน มิได้มีเจตนาที่จะลบหลู่พระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพียงแต่สถานการณ์ทำให้ดูเสมือนเป็นเช่นนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงผลกระทบตามวิถีทางการเมืองเท่านั้น)
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 1:31 am

๘.) ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา)
หนึ่งท้าวบ่ปองมนะจะเบียน นรพึ่งพระเดชา
ป้องปกพสกนิกรนา- ครแม้นปิโยรส
จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากอดีตเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน (๒๕๓๐) นับเป็นเวลาเนิ่นนานไม่น้อยกว่า ๔๑ ปี ที่ทุกชีวิตบนผืนแผ่นดินไทยได้รับความร่มเย็นมีความเป็นอยู่อย่างสุขสงบ ภายใต้เบื้องพระยุคลบาทแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงบำเพ็ญอวิหิงสาบารมี คือ ไม่เบียดเบียนให้ผู้อื่นลำบาก ไม่ก่อทุกข์ยากให้แก่ผู้ใดแม้จนถึงสรรพสัตว์ ด้วยเห็นเป็นของสนุกเพราะอำนาจแห่งโมหะหรือความหลง ไม่ทำร้ายรังแกมนุษย์และสัตว์เล่นเพื่อความบันเทิงใจแห่งตน
ในการบำเพ็ญอวิหิงสาบารมีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญได้โดยบริสุทธิ์ทุกสถาน ไม่ว่าจะเป็นทรงพระวรกาย พระวาจา พระราชหฤทัย และไม่ว่าจะเป็นการอันทรงปฏิบัติต่อมวลมนุษย์หรือสรรพสัตว์ใด ๆ แม้การนั้นจะยังความสะดวกสบายมาสู่พระองค์ หากเป็นความยากลำบากแก่ทวยราษฎร์แล้ว พระองค์จะทรงงดเว้นเสีย โดยทรงยอมลำบากตรากตรำพระวรกายของพระองค์เองแทน ดังเหตุการณ์อันเป็นที่เปิดเผยจากวงการตำรวจจราจรเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๐ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่าตามปกติเวลาที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ใดเจ้าหน้าที่จราจรจะปิดถนนตลอดเส้นทางนั้นทุกครั้ง จึงทรงมีกระแสพระราชดำรัสว่า ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ปิดการจราจรเวลาเสด็จพระราชดำเนินไม่ว่าที่ใด หากการจราจรเกิดติดขัดก็มีพระมหากรุณาธิคุณที่จะทรงร่วมอยู่ในสภาวะแห่งการติดขัดนั้น เช่นเดียวกับพสกนิกรของพระองค์
การบำเพ็ญอวิหิงสาอย่างยิ่งยวดของพระองค์นี้ แม้จะหยิบยกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดเพียงประการเดียวจากพระราชกรณียกิจอันมากมาย คงเพียงพอที่จะกล่าวได้ว่าไม่มีพระมหากษัตริยาธิราช หรือประมุขประเทศใดในโลกขณะนี้ที่จะเสมอเหมือนพระองค์
ในส่วนที่เกี่ยวกับสรรพสัตว์ พระองค์ไม่เคยทรงกระทำการใดให้เป็นที่ทุกข์ยากเจ็บปวด ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่จะเสด็จออกประพาสป่าล่าสัตว์ตัดชีวิต จะมีก็แต่การพระราชทานชีวิตให้เท่านั้น ในรูปของโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์แหล่งน้ำและอนุรักษ์สัตว์ เช่น โครงการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า เป็นต้น
การบำเพ็ญอวิหิงสาบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งแผ่ไพศาลไปทั่วทุกหนแห่ง จึงปกป้องคุ้มครองชีวิตไม่ว่ามนุษย์หรือสรรพสัตว์ทุกชีวิตบนผืนแผ่นดินไทย จึงดำรงอยู่ได้ด้วยความสุขสงบและร่มเย็น
ด้วยท้าวบ่เบียนผิว์อภิบาล นรปานปิโยรส
จึ่งไทยถวายรติประณต มนะน้อมนโรดม
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 1:32 am

๙.) ความอดทน (ขันติ)
หนึ่งแม้จะมีธุระรำคาญ หฤทัยก็ออมอด
ยามควรก็ทรงกรุณะงด คุรุทัณฑะอาญา
จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริยาธิราช ผู้ทรงมีพระขันติธรรมเป็นยอดเยี่ยมอย่างหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ บางครั้งเป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับพระองค์ที่จะทรงอดทนได้ แต่พระองค์ยังทรงอดทนรักษาพระราชหฤทัย พระวาจา พระวรกาย และพระอาการ ให้สงบเรียบร้อยงดงามได้ในทุกสถานการณ์
ทรงอดทนต่อโทสะ จากการเบียดเบียนหยามดูหมิ่น ดังเช่น การถูกขับไล่โดยกลุ่มชนที่ไม่หวังดีต่อเมืองไทย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เมื่อปี ๒๕๐๕ เป็นต้น
ทรงอดทนต่อโลภะ คือความอยากได้ทุกประการโดยสิ้นเชิง ดังจะเห็นได้ว่าพระองค์ได้เคยมีพระราชประสงค์สิ่งใดจากผู้ใด แม้สิ่งของที่นำมาถวายหากมากเกินไปก็มิได้ทรงรับ เช่น รัฐบาลในสมัยหนึ่งจะถวายรถพระที่นั่งคันใหญ่เป็นพิเศษเพื่อให้สมพระเกียรติยศ แต่พระองค์กลับมีพระราชดำริว่ารถพระที่นั่งน่าจะเป็นรถคันใหญ่พอประมาณและราคาไม่แพงนัก เพื่อจะได้สงวนเงินไว้พัฒนาประเทศได้อีกส่วนหนึ่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังทรงอดทนต่อโมหะ คือความหลง โดยพระองค์มิได้ทรงติดข้องอยู่ในความสุขสำราญและความสะดวกสบายต่าง ๆ อันพึงหาได้ในพระราชฐานะแห่งพระมหากษัตริยาธิราช
ทรงอดทนต่อความทุกขเวทนา ความลำบากตรากตรำพระวรกายต่าง ๆ เพื่อทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทุกแห่งหน
ทรงอดทนต่อความหวาดหวั่นภยันตรายต่าง ๆ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๑๐ เป็นต้น ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ก่อการร้ายกำลังฮึกเหิมพระองค์ก็มิได้ทรงทอดทิ้งทหารตำรวจ ผู้ทำหน้าที่ปกป้องผืนแผ่นดินไทย โดยทรงมีวิทยุติดพระองค์เพื่อทรงรับฟังเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาทรงสอบถามเหตุการณ์ทางวิทยุอยู่เสมอ และหากทรงว่างจากพระราชภารกิจจะรีบเสด็จไปยังที่เกิดเหตุทันท ีเพื่อทรงสอบถามเหตุการณ์ด้วยพระองค์เอง หากทรงทราบว่ามีทหารตำรวจได้รับบาดเจ็บ จะทรงให้เฮลิคปอเตอร์รับผู้บาดเจ็บไปรักษาพยาบาลทันที ส่วนในที่บางแห่ง เช่นที่กุยบุรี จังหวัดประจวบศีรีขันธ์ ซึ่งขาดแคลนพาหนะในการตรวจท้องที่ทำให้ทหารตำรวจถูกลอบทำร้ายล้มตายกันเนือง ๆ หลังจากเสด็จไปทรงเยี่ยมทหารตำรวจแล้วทรงเห็นความจำเป็นจึงพระราชทานพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อรถจิ๊ปพระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ๖ คัน เพื่อสงวนชีวิตเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไว้
ในคราวเกิดเหตุปะทะที่ทุ่งช้าง จังหวัดน่าน อันขึ้นชื่อว่าเป็นสมรภูมิเลือดนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงกลัวเกรงภยันตรายใด ๆ ได้เสด็จขึ้นเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปบินสำรวจเหนือจุดซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็นจุดที่เฮลิคอปเตอร์ของทางราชการเคยถูกยิงตกมาแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ยังทรงให้เฮลิคอปเตอร์รับทหารผู้บาดเจ็บออกมารับการรักษาพยาบาลได้ทันท่วงทีด้วย พระองค์มิได้ทรงหวดหวั่นภยันตรายใด ๆ แม้ในแหล่งที่ผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอย่างรุนแรง เช่น ลอบฆ่าข้าราชการและประชาชน (บ้านนาวง อ.เมือง จ.พัทลุง)
และแม้ในขณะที่พายุฝนกระหน่ำอย่างหนัก พระองค์ยังคงเสด็จฝ่าสายฝนไปเพื่อทรงเยี่ยมทหารตำรวจ ในสภาวะอันวิกฤตนั้นด้วยขันติบารมีของพระองค์เช่นนี้ ทำให้ราษฎรไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะทุกข์ยากทุรกันดารหรือตกอยู่ในภยันตรายเพียงใด ยังเกิดความรู้สึกอยู่เสมอว่าเขามิได้ถูกทอดทิ้งให้ว้าเหว่ผจญชะตากรรมอยู่เพียงลำพัง หากยังมีองค์พระประมุขที่จะเสด็จมาประทับเคียงข้าง และแผ่พระบารมีคุ้มครองให้เขารอดพ้นจากภยันตรายทั้งมวล
ด้วยท้าวสะกดกมลกลั้น ทุรสรรพะรำคาญ
ทนทุกข์พระองค์สละประทาน นรพ้นพิบัติภัย
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 1:43 am

๑๐.) ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนะ)
หนึ่งคงธำรงนิติประวัติ วรยุกติธรรมา
ทรงงำพิภพศีลกะผา สุกะแม้นมนูเดิม
จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
นับเป็นบุญของชาวไทยเป็นอย่างยิ่งที่ได้อยู่ภายใต้เบื้องพระยุคลบาล แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริยาธิราช ผู้ทรงบำเพ็ญอวิโรธนะคือความเที่ยงธรรมได้อย่างสมบูรณ์ยิ่ง ซึ่งความเที่ยงธรรมในที่นี้ หมายถึงความตรงตามความถูกต้อง หรือความไม่ผิดนั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระองค์ถูกต้องตามขัตติยราชประเพณีทุกประการ ไม่เคยทรงประพฤติผิดจากราชจรรยานุวัตรนิติศาสตร์และราชศาสตร์ ทรงปฏิบัติพระองค์ได้อย่างงดงามไม่มีความบกพร่องให้เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้เลย
พระองค์ทรงรักษาพระราชหฤทัยได้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสทั้งมวล จึงมิได้ทรงหวั่นไหวต่ออำนาจแห่งอคติใด ๆ อันมีความรัก ความชัง ความโกรธ ความกลัว และความหลง เป็นต้น จึงไม่มีอำนาจใดที่อาจน้อมพระองค์ให้ทรงประพฤติทรงปฏิบัติไปในทางที่มัวหมองไม่สมควร หรือคลาดเคลื่อนไปจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องผู้ควรอุปถัมภ์ยกย่อง ทรงบำราบคนมีความผิดควรบำราบโดยทรงที่เป็นธรรม และในพระราชฐานะแห่งองค์พระประมุขของชาติไทยในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องมีพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน พระองค์ได้ทรงดำริอยู่ในความยุติธรรม ทรงเป็นหลักชัยของพรรคการเมืองทุกพรรค
พระทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์ พระร้อยรัดศรัทธาใจไทยทั้งผอง
พระคือพระพิรุณพรำฉ่ำใจปอง พระทรงครองหัวใจไทยทั้งมวล

วันเพ็ญ เซ็นตระกูล - ประพันธ์
ในด้านพระราชภารกิจต่าง ๆ ทรงปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ไม่มีผิด้วยทรงสดับตรับฟัง ทรงศึกษา ทรงแสวงหาความรู้ความถูกต้องทั้งจากบุคคล ตำรา จากการที่ทรงสอบค้นด้วยพระองค์เอง และทรงนำมาประมวลใคร่ครวญด้วยพระปัญญา ความรู้ที่ทรงได้จึงเป็นความรู้ที่ชัดแจ้งและถูกต้อง ด้วยเหตุนี้พระราชกรณียกิจใด ๆ ที่ทรงมุ่งผลให้บังเกิดเป็นความผาสุกความเจริญแก่พสกนิกรอย่างใด ก็ย่อมสำเร็จเป็นความผาสุกและความเจริญอย่างนั้น แม้ว่าจะมีบางสิ่งบางอย่างที่จะต้องแก้ไขอันเป็นธรรมดาของการทำงานทั้งปวง ก็ทรงปฏิบัติแก้ไขอย่างรอบคอบให้บังเกิดผลดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปด้วยลำดับ พระราชกรณียกิจของพระองค์จึงมีแต่ความไม่ผิด ดังเช่น ในการพัฒนาประเทศทรงพัฒนาอย่างถูกต้อง คือทรงพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาประชาชน โดยทรงแนะนำตรัสสอนด้วยพระองค์เองและผ่านทรงโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ในการพัฒนาแต่ละท้องถิ่นพระองค์ยังได้ทรงศึกษาถึงภูมิประเทศ ลมฟ้าอากาศ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีความเป็นอยู่และความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นย่อมไม่เหมือนกัน การพัฒนาของพระองค์จึงเป็นการพัฒนาด้วยความเข้าใจ เหมาะสมและเหมาะแก่ความจำเป็นของท้องถิ่นนั้น ๆ การพัฒนาโดยวิธีทางที่ถูกต้องนี้เอง ทำให้การพัฒนาประเทศได้ผลไม่สูญเปล่า สามารถช่วยให้ไพร่ฟ้าหน้าใสได้โดยทั่วหน้ากันสมดังพระราชประสงค์ ทั้งนี้ก็ด้วยการบำเพ็ญอวิโรธนะของพระองค์นี้เอง
ด้วยท้าวธำรงนิติประวัติ ประจุทัตตะเที่ยงธรรม
ไทยถ้วนสราญจิระฉนำ รติน้อมมโนกราน
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 2:39 am

เริ่มจาก ทำดีต่อตนเอง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราได้รู้สึกดีๆ และพร้อมที่จะแบ่งปันความสุขไปให้ผู้อื่น ได้แก่

1. ตื่นขึ้นมาอย่างกระตือรือร้นทุกเช้า พร้อมยิ้มแย้มแจ่มใสรับวันใหม่
2. ไหว้พระก่อนออกจากบ้านเพื่อเตือนสติและเพื่อสิริมงคลแก่ตน
3. สวัสดีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ ก่อนและหลังกลับจากโรงเรียนหรือที่ทำงานทุกครั้ง
4. ตั้งใจไม่โมโห หรือไม่โกรธใครอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 วัน
5. ไม่พาตัวไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งปวง
6. อ่านหนังสือดีๆ อย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อเสริมสร้างสติปัญญา และนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
7. พูดคำว่า "ขอบคุณ" หรือ "ขอบใจ" ทุกครั้ง เมื่อผู้อื่นทำอะไรให้ เช่น ช่วยถือของ ให้บริการ
8. อย่าลืม "ขอโทษ" เมื่อทำผิดต่อผู้อื่นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ หรือเมื่อทำสิ่งใดผิดพลาด
9. มีหลักการ ยึดมั่นในคุณความดี และมีความเพียรพยายาม
10. ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ด้วยการตั้งใจทำสิ่งใดก็เพียรทำให้สำเร็จ ไม่เบี้ยวแม้แต่กับตนเอง
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 2:43 am

ทำดีต่อครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเราที่สุด และมีผลต่อความสุขของสมาชิกทุกคน ได้แก่

11. ลดการบ่นว่า ดุด่าคนในครอบครัวให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นลูก สามี-ภริยา พี่น้อง เพื่อลดความเครียดในบ้าน และทำให้ทุกคนรู้สึกว่าบ้านน่าอยู่ไม่ร้อนหูร้อนใจ
12. พาสมาชิกในครอบครัวไปกินอาหารนอกบ้านหรือไปเที่ยวบ้างเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ
13. ช่วยกันลดรายจ่ายด้วยการไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น เพื่อมิให้เป็นหนี้สินหรือเงินไม่พอใช้
14. ไม่คิดจะมีกิ๊กหรือเป็นชู้กับสามี-ภริยาผู้อื่น อันเป็นสาเหตุให้ครอบครัวเราและผู้อื่นเกิดความแตกแยก
15. พูดจาไพเราะ สุภาพกับสมาชิกในบ้าน ไม่ตะคอกด่าทอหรือจิกเรียกด้วยถ้อยคำหยาบคาย
16. มีสัมมาคารวะและแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ในบ้าน ทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายายหรือพี่ป้าน้าอา เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน
17. มีน้ำใจกับคนในบ้าน เช่น ช่วยพ่อแม่ล้างถ้วยชาม ช่วยภริยากวาดถูบ้าน ช่วยพาพ่อแม่ของสามีหรือภริยาไปหาหมอ ซื้อของใช้ให้สามี-ภริยา
18. ไม่เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในบ้าน เช่น ฟังสามีภริยา ฟังลูกว่าต้องการอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
19. พูดจาชมเชยและให้กำลังใจแก่สมาชิกในบ้าน เช่น ชมว่าแต่งตัวดี ทำกับข้าวอร่อย วาดภาพสวย เป็นต้น
20. พาครอบครัวไปทำบุญสร้างกุศลร่วมกันในโอกาสวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเกิด วันวิสาขบูชา ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกได้ใกล้ชิดกับพระศาสนา และได้เห็นแบบอย่างการทำดีอย่างเป็นรูปธรรม
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 2:46 am

ประการต่อมา ทำดีต่อเพื่อนบ้าน ซึ่งอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน หากปลูกไมตรีต่อกันได้ ย่อมจะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ดังนั้นจึงควรทำดีต่อกันดังนี้

21. ยิ้มและทักทายเมื่อพบกัน
22. ช่วยดูแลสอดส่องบ้านให้เมื่อเพื่อนบ้านไม่อยู่ หรือไปต่างจังหวัด หรือช่วยแจ้งเหตุหากมีสิ่งใดผิดปกติ
23. ซื้อของขวัญหรือของฝากไปให้บ้างตามโอกาส เช่น วันปีใหม่ วันตรุษจีน หรือเมื่อกลับจากต่างถิ่น เพื่อเป็นการผูกมิตรหรือขอบคุณเขาที่ช่วยดูบ้านให้
24. ไม่เลี้ยงสัตว์หรือปลูกต้นไม้ที่จะสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจมาสู่เพื่อนบ้าน หรือเป็นมูลเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน เช่น สัตว์ส่งเสียงดังรบกวน หรือใบไม้ร่วงไปรกบ้านเขา
25. ไม่จอดรถขวางทางเข้าบ้านของเขา หรือในที่ที่เขาจอดประจำ
26. ไม่พาสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว ไปอึหรือฉี่หน้าบ้าน ต้นไม้ของเขา
27. ไม่เปิดวิทยุ โทรทัศน์ หรือคาราโอเกะเสียงดังจนรบกวนเขา โดยเฉพาะในวันหยุด
28.ไม่ซ้อมดนตรี จัดงานหรือส่งเสียงเอะอะ โวยวายรบกวนเพื่อนบ้าน ควรจะจัดเวลาซ้อมที่ไม่เช้าหรือดึกเกินไป หรือไม่ก็ควรจะไปซ้อมที่อื่น และไม่ควรพาเพื่อนมาตั้งวงกินเหล้าส่งเสียงดัง หนวกหูชาวบ้านเขาทุกอาทิตย์
29. ไม่กวาดขยะไปกองหรือทำสกปรกหน้าบ้านผู้อื่น ควรกวาดและเก็บใส่ถุงหรือถังขยะให้เรียบร้อย
30. ร่วมกิจกรรมสังสรรค์ที่จัดขึ้นในหมู่บ้านหรือชุมชนของเราเองบ้างตามโอกาสอันควร
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 2:49 am

ดีต่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะทำให้การทำงานของเราราบรื่น เกิดความสามัคคี และมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของเราด้วย ได้แก่

31. ยิ้มแย้มแจ่มใส รู้จักโอภาปราศรัยต่อเพื่อนร่วมงาน ไม่ทำเมินหรือทำหน้าเมินเฉยไร้ชีวิตเมื่อเจอกัน
32. ช่วยแนะหรือสอนงานที่เรามีความชำนาญให้
33. แสดงความยินดีหรือชมเชยเมื่อเขาประสบความสำเร็จหรือได้รับรางวัล
34. ซื้อของขวัญ ให้เงิน หรือการ์ดอวยพรในโอกาสต่างๆ เช่น วันเกิด วันแต่งงาน คลอดลูก
35. แสดงความเสียใจหรือปลอบใจเมื่อเขาประสบเหตุหรือโชคร้าย เช่น พ่อแม่ตาย ถูกขโมยขึ้นบ้าน
36. ช่วยเหลือ ตักเตือนหรือชี้แนะเมื่อเขาทำผิดพลาดด้วยความจริงใจ ไม่ซ้ำเติม
37. ไม่ขโมยผลงานของเขามาเสนอเป็นผลงานของเรา
38. ไม่ใส่ร้ายป้ายสี หรือยุยงให้เพื่อนร่วมงานแตกคอ หรือทะเลาะวิวาทกัน
39. แนะนำหนังสือ ร้านอาหาร วัด หรือสถานที่ดีๆ แก่เพื่อนให้เขาได้ไปใช้บริการบ้าง
40. รู้จักอยู่ช่วยงานหรือร่วมกิจกรรมที่เพื่อนในหน่วยงานจัดขึ้น แม้จะมิใช่งานของเรา เพื่อจะได้รู้จักสนิทสนม และทำงานเข้าขากันได้มากขึ้น
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 2:51 am

ดีต่อหน่วยงานหรือที่ทำงานของตน ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ประกอบอาชีพทำให้เรามีกินมีใช้ เราจึงควรต้องกตัญญูรู้คุณ ด้วยการ

41. ซื่อสัตย์ต่อหน่วยงาน ไม่โกงเวลา โกงทรัพย์สินของหน่วยงาน
42. ไม่นินทาว่าร้าย หรือดูถูกหน่วยงานของเราเอง หากเราคิดว่าไม่ดีก็ควรออกไปหางานอื่นทำ
43. ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น
44. เมื่อเห็นสิ่งใดไม่ดีในหน่วยงานต้องร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไข ไม่ใช่ซ้ำเติมหรือเมินเฉย
45. ให้บริการหรือพูดจากับผู้มาติดต่อกับหน่วยงานให้สุภาพ ไพเราะ เพื่อให้เกิดความประทับใจที่ดี
46. ใช้ทรัพยากรต่างๆ ของหน่วยงานอย่างประหยัด คุ้มค่าให้เหมือนสมบัติของเราเอง
47. ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ ทำลายระเบียบที่ดีจนหน่วยงานเละเทะยุ่งเหยิง เพราะต่างทำตามใจตนเองจนควบคุมไม่ได้
48. รู้จักเสียสละเพื่อหน่วยงานบ้างบางโอกาส เช่น ทำงานโดยไม่เอาโอที หรือร่วมลงขันจัดกิจกรรมให้หน่วยงาน
49. ช่วยกันสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีให้หน่วยงาน เช่น แข่งกีฬาชนะเลิศ จัดทำโครงการดีๆ เพื่อสังคม
50. ต้องมีความภาคภูมิใจในหน่วยงานของตน
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 2:53 am

วิธีทำความดีถวายพ่อหลวงอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดีต่อสังคม ซึ่งมีเราเป็นหน่วยหนึ่ง ก็จะทำให้สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น เพราะจะเต็มไปด้วยความเอื้ออาทรและความมีไมตรีจิตต่อกัน ด้วยการ

51. ส่งของกิน ของใช้ หรือเงินไปบริจาคมูลนิธิต่างๆ เมื่อถึงวันเกิด หรือวันสำคัญอื่นๆ ของตน
52. ทำหนังสือชมเชยไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่ให้บริการที่ดีเพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น เช่น เขียนไปชมกระเป๋ารถเมล์ที่พูดจาดี ช่วยพยุงคนแก่ขึ้นรถ
53. ช่วยกันรักษาความสะอาดและถนอมใช้สมบัติสาธารณะให้มีอายุยืนนาน เช่น ไม่ขีดเขียนในห้องน้ำสาธารณะ ไม่ทิ้งขยะ-ถ่มน้ำลายบนถนนหนทางหรือในแม่น้ำลำคลอง
54. ช่วยกดลิฟต์ให้กับผู้ร่วมทาง หรือช่วยถือของหนักให้กับคนบนรถเมล์
55. ไม่แซงคิวใดๆ ที่เขากำลังเข้าแถวรอรับบริการ เช่น ซื้อตั๋วหนังหรือเข้าส้วม
56. นำหนังสือดีๆ หรือหนังสือธรรมะ ไปบริจาคตามโรงพยาบาลรัฐ เช่น ห้องรอรับการรักษา ห้องพักผู้ป่วย ห้องพยาบาล เป็นต้น เพื่อเป็นการแนะวิธีปฏิบัติตน และช่วยปลุกปลอบใจ
57. ขับรถตามกฎจราจร มีน้ำใจให้กับรถคันอื่น ไม่แซงซ้ายป่ายขวา และจอดรถให้คนข้ามถนนบ้าง
58. อ่านหนังสือธรรมะ หรือหนังสือดีๆ ใส่เทป ซีดี ส่งไปให้คนตาบอดฟัง
59. รับเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ให้เด็กที่ด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือ
60. ให้ความช่วยเหลือ-แนะนำแก่ผู้อื่นในสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยทำ เช่น แนะวิธีคาดเข็มขัดบนเครื่องบิน แนะวิธีใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายในฟิตเนส
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 2:57 am

ดีต่อศาสนา อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข เราจึงควรสืบทอดศาสนาให้ยั่งยืนต่อไปยังลูกหลานของเราด้วยการ

61. ศึกษาหลักธรรมในศาสนาของเราให้รู้จริง
62. ปฏิบัติตามธรรมะที่ศาสดาสอนไว้
63. ช่วยเหลือแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
64. ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนาอื่น อันเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยก
65. ทำบุญตามหลักศาสนาของตนอย่างน้อยเดือนละครั้ง
66. สั่งสอนและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีกับอนุชนรุ่นหลัง
67. ไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำลายผู้อื่น
68. ไม่ใช้ศาสนาไปหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อในทางที่ผิด
69. หากเป็นพระ นักบวช ต้องทำตนเป็นแบบอย่าง และแนะแนวทางดำเนินชีวิตที่ถูกที่ควรแก่ศาสนิกชน
70. เชื่อมั่นและตั้งใจที่จะช่วยสืบทอดศาสนาทุกวิถีทางที่ดีและถูกต้อง
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Tue Jul 28, 2009 2:59 am

คงไม่มีใครในบ้านเมืองอยากเห็นชาติต้องอยู่ในภาวะวิกฤติ การทำดีต่อชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นแผ่นดินถิ่นเกิดหรือให้เราได้อยู่อาศัยเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจึงควรตอบแทนด้วยการ

71. ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหรือตำแหน่งใด
72. ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์ใส่ตัวหรือพวกพ้อง และไม่คิดคอรัปชั่นหรือคดโกงด้วยวิธีการใดๆ
73. ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพของตน
74. ช่วยปกป้องหรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเมื่อมีโอกาส
75. ไม่เมินเฉยหรือละเลยให้ผู้อื่นมาฉกฉวยผลประโยชน์จากชาติบ้านเมืองของเรา
76. ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
77. สอนลูกหลานให้รักและภาคภูมิใจในชาติของเรา
78. ตั้งใจศึกษาหาความรู้และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างเต็มที่
79. มีความรักความสามัคคีต่อกันในทุกระดับ
80. ช่วยกันรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของประเทศ


สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างการ "ทำความดี" อันหลากหลายที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยไม่ต้องรอ แม้บางวิธีเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่อย่าลืมว่าหากเราทุกคนตั้งใจทำความดีเพียงเล็กน้อย ก็สามารถรวมเป็น "พลังอันยิ่งใหญ่" ที่ทำให้ทุกคนเป็นสุข เพราะไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และมีผลทำให้ชาติบ้านเมืองสงบร่มเย็นได้ และน่าจะเป็นสิ่งที่ "ในหลวง" ของเรา คงทรงยินดีที่ราษฎรของพระองค์สร้างความดีแก่ตัวและผู้อื่นมากกว่าการสร้างถาวรวัตถุใดๆ ถวายพระองค์ท่านอย่างแน่นอน
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Jul 29, 2009 1:52 am

เมื่อทรงพระเยาว์

1.ทรงพระราชสมภพเวลา 08.45น.

2.นายแพทย์ผู้ทำคลอดชื่อ ดับลิว สจ๊วต วิตมอร์ ทรงมีน้ำหนักแรกประสูติ 6 ปอนด์

3.พระนาม "ภูมิพล" ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

4.พระยศเมื่อแรกประสูติ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ภูมิพลอดุลยเดช

5.ทรงมีชื่อเล่น ว่า เล็ก หรือ พระองค์เล็ก

6.ทรงเคยเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมาแตร์เดอี เพราะช่วงพระชนมายุ 5 พรรษา ทรงเคยเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ 1 ปี มีพระนามในใบลงทะเบียนว่า "H.H Bhummibol Mahidol"หมายเลขประจำตัว 449

7.ทรงเรียกสมเด็จพระราชชนนีหรือสมเด็จย่า อย่างธรรมดาว่า "แม่"

8.สมัยทรงพระเยาว์ ทรงได้ค่าขนม อาทิตย์ละครั้ง

9.แม้จะได้เงินค่าขนมทุกอาทิตย์ แต่ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม

10.สมัยพระเยาว์ทรงเลี้ยงสัตว์หลายชนิดทั้งสุนัข กระต่าย ไก่ นกขุนทอง ลิง แม้แต่งูก็เคยเลี้ยง ครั้งหนึ่งงูตายไปก็มีพิธีฝังศพอย่างใหญ่โต

11.สุนัขตัวแรกที่ทรงเลี้ยงสมัยทรงพระเยาว์เป็นสุนัขไทย ทรงตั้งชื่อให้ว่า"บ๊อบบี้"

12.ทรงฉลองพระเนตร(แว่นสายตา)ตั้งแต่พระชันษายังไม่เต็ม 10 ขวบ เพราะครูประจำชั้นสังเกตเห็นว่าเวลาจะทรงจดอะไรจากกระดานดำพระองค์ต้องลุกขึ้นบ่อยๆ

13.สมัยพระเยาว์ทรงซนบ้าง หากสมเด็จย่าจะลงโทษ จะเจรจากันก่อนว่า โทษนี้ควรตีกี่ที ในหลวงจะทรงต่อรองว่า 3 ที มากเกินไป 2 ทีพอแล้ว

14.ระหว่างประทับอยู่ สวิตเซอร์แลนด์นั้นระหว่างพี่น้องจะทรงใช้ภาษาฝรั่งเศส แต่จะใช้ภาษาไทยกับสมเด็จย่าเสมอ

15.ทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก "การให้" โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า "กระป๋องคนจน" เอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก "เก็บภาษี" หยอดใส่กระปุกนี้ 10% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

16.ครั้งหนึ่ง ในหลวงกราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆ เขามีจักรยานกัน สมเด็จย่าก็ตอบว่า "ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มาก ค่อยเอาไปซื้อจักรยาน"

17.กล้องถ่ายรูปกล้องแรกของในหลวง คือ Coconet Midget ทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนม์เพียง 8 พรรษา

18.ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงปั่นจักรยานไปโรงเรียนแทนรถพระที่นั่ง

พระอัจฉริยภาพ

19. พระอัจฉริยภาพของในหลวง มีพื้นฐานมาจาก "การเล่น" สมัยทรงพระเยาว์ เพราะหากอยากได้ของเล่นอะไรต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อเอง หรือ ประดิษฐ์เอง ทรงเคยหุ้นค่าขนมกับพระเชษฐา ซื้อชิ้นส่วนวิทยุทีละชิ้นๆ แล้วเอามาประกอบเองเป็นวิทยุ แล้วแบ่งกันฟัง

20.สมเด็จย่าทรงสอนให้ในหลวงรู้จักการใช้แผนที่และภูมิประเทศของไทย โดยโปรดเกล้าฯให้โรงเรียนเพาะช่างทำแผนที่ประเทศไทยเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆเพื่อให้ทรงเล่นเป็นจิ๊กซอว์

21.ในหลวงทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น เปียโน กีตาร์ แซกโซโฟน แต่รู้หรือไม่ว่าเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงหัดเล่นคือ หีบเพลง (แอกคอร์เดียน)

22.ทรงสนพระทัยดนตรีอย่างจริงจังราวพระชนม์ 14-15 พรรษา ทรงซื้อแซกโซโฟนมือสองราคา 300 ฟรังก์มาหัดเล่น โดยใช้เงินสะสมส่วนพระองค์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งสมเด็จย่าออกให้

23.ครูสอนดนตรีให้ในหลวง ชื่อ เวย์เบรชท์ เป็นชาว อัลซาส

24.ทรงพระราชนิพนธ์พลงครั้งแรก เมื่อพระชนมพรรษา 18 พรรษา เพลงพระราชนิพนธ์แรกคือ "แสงเทียน" จนถึงปัจจุบันพระราชนิพนธ์เพลงไว้ทั้งหมด 48 เพลง

25.ทรงพระราชนิพนธ์เพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย อย่างครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัย ทรงฉวยซองจดหมายตีเส้น 5 เส้นแล้วเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นเดี๋ยวนั้น กลายเป็นเพลง "เราสู้"

26. รู้ไหม...? ทรงมีพระอุปนิสัยสนใจการถ่ายภาพเหมือนใคร : เหมือนสมเด็จย่า และ รัชกาลที่5

27. นอกจากทรงโปรดการถ่ายภาพแล้ว ยังสนพระทัยการถ่ายภาพยนตร์ด้วย ทรงเคยนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ออกฉายแล้วนำเงินรายได้มาสร้างอาคารสภากาชาดไทย ที่ รพ.จุฬาฯ โรงพยาบาลภูมิพล รวมทั้งใช้ในโครงการโรคโปลิโอและโรคเรื้อนด้วย

28. ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง "นายอินทร์" และ "ติโต" ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์ แล้วให้เสมียนพิมพ์ แต่ "พระมหาชนก" ทรงพิมพ์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์

29. ทรงเล่นกีฬาได้หลายชนิด แต่กีฬาที่ทรงโปรดเป็นพิเศษได้แก่ แบดมินตัน สกี และ เรือใบ ทรงเคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น"กีฬาซีเกมส์") ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2510

30. ครั้งหนึ่ง ทรงเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นกลับฝั่ง และตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯว่า เสด็จฯกลับเข้าฝั่งเพราะเรือแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวส์ ทั้งๆที่ไม่มีใครเห็น แสดงให้เห็นว่าทรงยึดกติกามากแค่ไหน

31. ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรผลงานประดิษฐ ์คิดค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่มลอย หรือ "กังหันชัยพัฒนา" เมื่อปี 2536

33. ทรงเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาเชื้อเพลิงน้ำมันจากวัสดุการเกษตรเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล์,ดีโซฮอลล์ และ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว

34. องค์การสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่ในหลวงเมื่อ วันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย โดยมี นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางมาถวายรางวัลด้วยตนเอง
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Jul 29, 2009 1:56 am

เรื่องส่วนพระองค์

35. พระนามเต็มของในหลวง : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรา มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

36. รักแรกพบ ของในหลวงและหม่อมสิริกิติ์เกิดขึ้นที่สวิสเซอร์แลนด์ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯทรงให้สัมภาษณ์ว่า"น่าจะเป็น เกลียดแรกพบ มากกว่ารักแรกพบ เนื่องเพราะรับสั่งว่าจะเสด็จถึงเวลาบ่าย 4 โมง แต่จริงๆแล้วเสด็จมาถึงหนึ่งทุ่ม ช้ากว่าเวลานัดหมายตั้งสามชั่วโมง

37. ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 และจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ที่วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 โดยทรงจดทะเบียนสมรสเหมือนคนทั่วไป ข้อความในสมุดทะเบียนก็เหมือนคนทั่วไปทุกอย่าง ปิดอากรแสตมป์ 10 สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท

37. หลังอภิเษกสมรส ทรง"ฮันนีมูน"ที่หัวหิน

38. ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 และประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน

39. ระหว่างทรงผนวช พระอุปัชฌาย์และพระพี่เลี้ยง คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

40. ของใช้ส่วนพระองค์นั้นไม่จำเป็นต้องแพงหรือต้องแบรนด์เนม ดังนั้นการถวายของให้ในหลวงจึงไม่จำเป็นจะต้องเป็นของแพง อะไรที่มาจากน้ำใจจะทรงใช้ทั้งนั้น

41. เครื่องประดับ : ในหลวงไม่ทรงโปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่างๆ ยกเว้น นาฬิกา

42. พระเกศาที่ทรงตัดแล้ว : ส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่ธงชัยเฉลิมพลเพื่อมอบแก่ทหาร อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้สร้างวัตถุมงคล เพื่อมอบแก่ราษฎรที่ทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติ

43. หลอดยาสีพระทนต์ ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอด ยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด ซึ่งเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีด และ กดเป็นรอยบุ๋ม

44. วันที่ในหลวงเสียใจที่สุด คือวันที่สมเด็จย่าเสด็จสวรรคต มีหนังสือเล่าไว้ว่า วันนั้นในหลวงไปเฝ้า แม่ถึงตีสี่ตีห้า พอแม่หลับจึงเสด็จฯกลับ เมื่อถึงวัง ทางโรงพยาบาลก็โทรศัพท์มาแจ้งว่า สมเด็จย่าสิ้นพระชนม์แล้ว ในหลวงรีบกลับไปที่โรงพยาบาล เห็นแม่นอนหลับตาอยุ่บนเตียง ในหลวงคุกเข่าเข้าไปกราบที่อกแม่ ซบหน้านิ่งอยู่นาน ค่อยๆเงยพระพักตร์ขึ้นมาน้ำพระเนตรไหลนอง

งานของในหลวง

45. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนถึงปัจจุบนมีจำนวนกว่า 3,000 โครงการ

46. ทุกครั้งที่เสด็จฯไปยังสถานต่างๆจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์อยู่ 3 สิ่ง คือ แผนที่ซึ่งทรงทำขึ้นเอง(ตัดต่อเอง ปะกาวเอง) กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบ

47.ในหลวงทรงงานด้วยพระองค์เองทุกอย่างแม้กระทั่งการโรเนียวกระดาษที่จะนำมาให้ข้าราชการที่เข้าเฝ้าฯถวายงาน

48. เก็บร่ม : ครั้งหนึ่งเมื่อในหลวงเสด็จฯเยี่ยมโครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเปียกฝนกันทุกคน เมื่อทรงเห็นดังนั้น จึงมีรับสั่งให้องครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรทั้งกลางสายฝน

49. ทรงศึกษาลักษณะอากาศทุกวัน โดยใช้ข้อมูลที่กรมอุตุนิยมวิทยานำขึ้นทูลเกล้าฯ ร่วมกับข้อมูลจากต่างประเทศที่หามาเอง เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจก่อความเสียหายแก่ประชาชน

50. โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เริ่มต้นขึ้นจากเงินส่วนพระองค์จำนวน 32,866.73บาท ซึ่งได้จากการขายหนังสือดนตรีที่พระเจนดุริยางค์ จากการขายนมวัว ก็ค่อยๆเติบโตเป็นโครงการพัฒนามาจนเป็นอย่างที่เราเห้นกันทุกวันนี้

51. เวลามีพระราชอาคันตุกะเสด็จมาเยี่ยมชมโครงการฯสวนจิตรลดา ในหลวงจะเสด็จฯลงมาอธิบายด้วยพระองค์เอง เนื่องจากทรงรู้ทุกรายละเอียด

52. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามว่า เคยทรงเหนื่อยทรงท้อบ้างหรือไม่ ในหลวงตอบว่า "ความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ

53. ทรงนึกถึงแต่ประชาชน แม้กระทั่งวันที่พระองค์ทรงกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลังในอีก 5 ชั่วโมง (20 กรกฎาคม 2549) ยังทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์ไว้ เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ พระองค์จะได้มอนิเตอร์ เผื่อน้ำท่วมจะได้ช่วยเหลือทัน

ของทรงโปรด

54. อาหารทรงโปรด : โปรดผัดผักทุกชนิด เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา

55. ผักที่ไม่โปรด : ผักชี ต้นหอม และตังฉ่าย

56. ทรงเสวย ข้าวกล้อง เป็นพระกระยาหารหลัก


57. ไม่เสวยปลานิล เพราะทรงเป็นผู้เลี้ยงปลานิลคนแรกในประเทศไทย โดยใช้สระว่ายน้ำในพระตำหนักสวนจิตรลดาเป็นบ่อเลี้ยง แล้วแจกจ่ายพันธุ์ไปให้กรมประมง


58. เครื่องดื่มทรงโปรด : โปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เคยเสวยวันหนึ่งหลายครั้ง


59. ทีวีช่องโปรด ทรงโปรดข่าวช่องฝรั่งเศส ของยูบีซี เพื่อทรงรับฟังข่าวสารจากทั่วโลก


60. ทรงฟัง จส.100 และเคยโทรศัพท์ไปรายงานสถานการณ์ต่างๆใน กทม.ไปที ่ จส.100ด้วย โดยใช้พระนามแฝง


61. หนังสือที่ในหลวงอ่าน : ตอนเช้าตื่นบรรทม ในหลวงจะเปิดดูหนังสือพิมพ์รายวันทั้งไทยและเทศ ทุกฉบับ และก่อนเข้านอนจะทรงอ่านนิตยสารไทม์ส นิวสวีก เอเชียวีก ฯลฯ ที่มีข่าวทั่วทุกมุมโลก


62. ร้านตัดเสื้อของในหลวง คือ ร้านยูไลย เจ้าของชื่อ ยูไลย ลาภประเสริฐ ถวายงานตัดเสื้อในหลวงมาตั้งแต่ปี 2501 เมื่อนายยูไลยเสียชีวิต ก็มี ลูกชาย นายสมภพ ลาภประเสริฐ มาถวายงานต่อ จนถึงตอนนี้ก็เกือบ 50 ปีแล้ว


63. ห้องทรงงานของในหลวง อยู่ใกล้ห้องบรรทม บนชั้น 8 ของตำหนักจิตรลดาฯเป็นห้องเล็กๆ ขนาด 3x4 เมตร ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ ฯลฯ


64. สุนัขทรงเลี้ยง นอกจากคุณทองแดง สุวรรณชาด สุนัขประจำรัชกาล ที่ปัจจุบันอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล แล้ว ยังมีสุนัขทรงเลี้ยงอีก 33 ตัว
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Jul 29, 2009 2:02 am

รู้หรือไม่ ?


65. ในหลวง เกิดจากคำที่ชาวเหนือใช้เรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "นายหลวง" ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็น ในหลวง


66. ทรงเชี่ยวชาญถึง 6 ภาษา คือ ไทย ละติน ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และ สเปน


67. อาชีพของในหลวง เมื่อผู้แทนพระองค์ไปติดต่อเอกสารสำคัญใดๆทรงโปรดให้กรอกในช่อง อาชีพ ของพระองค์ว่า "ทำราชการ"


68. ในหลวงทรงพระเนตรเทียมข้างขวา เป็นผลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ รถพระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกเข้าพระเนตรข้างขวา ตอนนั้นมีอายุเพียง 20 พรรษา และทรงใช้พระเนตรข้างซ้ายข้างเดียว ในการทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนชาวไทยมาตลอดกว่า 60 ปี


69. ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์อเมริกันลงข่าวลือเกี่ยวกับในหลวงว่า แซกโซโฟนที่ทรงอยู่เป็นประจำนั้นเป็นแซกโซโฟนที่ทำด้วยทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ ซึ่งได้มีพระราชดำรัสว่า"อันนี้ไม่จริงเลย สมมติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก"


70. ปีหนึ่งๆ ในหลวงทรงเบิกดินสอแค่ 12 แท่ง ใช้เดือนละแท่ง จนกระทั่งกุด


71. หัวใจทรงเต้นไม่ปรกติ ในหลวงเคยประชวรหนักจนหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากติดเชื้อไมโครพลาสม่า ขณะขึ้นเยี่ยมราษฎรที่อำเภอสะเมิงติดต่อกันหลายปี


72. รู้หรือไม่ว่า ในหลวงเป็นคนประดิษฐ์รูปแบบฟอนต์ภาษาในคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้อย่าง ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์


73. ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จัดขึ้นที่อิมแพ็ค มีประชาชนเข้าชมรวม 6ล้านคน


74. ในหลวงเริ่มพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2493 จน 29 ปีต่อมาจึงมีผู้คำนวณว่าเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับครั้งละ 3 ชม. ทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทาน 470,000 ครั้ง น้ำหนักปริญญาบัตรฉบับละ 3 ขีด รวมน้ำหนักทั้งหมด 141 ตัน


75. ดอกไม้ประจำพระองค์ คือ ดอกดาวเรือง


76. สีประจำพระองค์คือ สีเหลือง


77. นั่งรถหารสอง : ทรงรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันเป็นการสิ้นเปลือง จึงให้นั่งรวมกัน ไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระเกษมสำราญ มีพระพลานมัยแข็งแรงสมบูรณ์ มีพระชนม์ยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย ตลอดกาลนานเทอญ. ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ... ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ...
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Jul 29, 2009 2:09 am

ทรงแนะทูต วางตัวเป็นไทย

เมื่อเวลา 16.57 น. วันที่ 27 พ.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย ที่ปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลี พระบาท รับพระราชทานพระบรมราโชวาท ในโอกาสที่กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย ประจำปี 2551 ณ กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ความตอนหนึ่งว่า เข้าใจว่าคนไทยต้องทำงานทำความรู้เหมือนชาวต่างประเทศ ความจริงคนไทยไม่ใช่ชาวต่างประเทศ คนไทยเป็นคนไทย มีความคิด มีวิธีคิดที่แตกต่างกับคนทั่วโลก เราก็ได้สังเกตได้ว่า เมืองไทยนี้มีภาษาไทย ซึ่งภาษาไทย มีความหมายแตกต่างกับภาษาต่างประเทศ แต่ที่น่าสังเกต เดี๋ยวนี้คนไทยถือว่าภาษาไทยไม่เป็นของสำคัญ ดูท่าทางเหมือนว่าเมืองไทยมีภาษาไทยสำหรับให้ได้สมัย อันนี้ก็เสียดาย เพราะว่าภาษาไทยหรือความเป็นไทยนี่ มีความสำคัญในการปฏิบัติงาน ซึ่งแต่ละท่านก็ถือว่าเป็นคณะทูต ก็ต้องมีการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นประโยชน์กับคนไทยที่จะทำให้สามารถก้าวหน้าได้ อยู่ดีได้


ฉะนั้น ก็ขอให้เข้าใจว่า การที่ท่านสม่ำเสมอ ก็มีความสำคัญ ทำให้ท่านได้เรียนรู้ว่าคนไทยนี่มีหน้าที่ ทุกคนมีหน้าที่ ทั้งคณะทูต ทั้งคนที่อยู่ในเมืองไทย และถ้าคนที่ได้ไปต่างประเทศ มีหน้าที่ที่จะทำความเข้าใจกัน ว่าต้องปฏิบัติงาน มีหน้าที่ต่างๆกัน เวลาไปต่างประเทศ ท่านก็คงแม้แต่ได้ไปเป็นคณะทูต ได้ไปสม่ำเสมอ ต่างประเทศ คงได้ถามเสมอว่าเมืองไทยเป็นอย่างไร


คำว่าเมืองไทยเป็นยังไงนี้ ก็อาจจะน่าประหลาด ที่เราเป็นคนไทยทำไมเค้าต้องถามว่าเมืองไทยเป็นอย่างไร ที่เค้าถามก็เพราะว่าคนไทยนี่คือสัตว์ประหลาด คือว่าหน้าตาก็ไม่เหมือน กับฝรั่ง พูดจาก็ไม่เหมือนฝรั่ง มีภาษาที่ไม่เหมือนฝรั่ง ที่ใช้คำว่าฝรั่ง สมัยนี้ไม่ใช่ฝรั่ง เดี๋ยวนี้แขกด้วย มีจีนด้วย มีญี่ปุ่น มีอะไร ทุกสัญชาติมีความแตกต่างกับเรา ฉะนั้นเราจะต้องพูดว่า เราเป็นคนไทย เป็นอะไรไม่ใช่สัตว์ประหลาด อาจจะเป็นสัตว์ประหลาดอย่างหรือว่าเรามีความเป็นอยู่ ซึ่งไม่เหมือนกับชาวต่างประเทศ


เวลาเราไปต่างประเทศรู้สึกว่าเค้ามองเรา เค้านึกว่าเป็นจีน หรือเป็นญี่ปุ่น แต่ตรงท้ายเค้าก็ฉงนว่าเราไม่ใช่จีน ไม่ใช่ญี่ปุ่น หน้าตาก็ไม่เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้การเป็นไป การประพฤติตน ออกจะเป็นเหมือนจีน เหมือนญี่ปุ่น เหมือนฝรั่งไปซะ เค้าก็นึกว่าเราเป็นฝรั่งก็มี เพราะว่าเราวางตัวเป็นเหมือนฝรั่ง แต่ว่าเมื่อเราแสดงตัว เค้าก็นึกว่าเราไม่ใช่ฝรั่ง เราเป็นชาติ ซึ่งเค้าต้องพิจารณาว่าไม่เหมือนเค้า และเราก็มีบางทีก็ไม่เหมือนเค้า เป็นแบบสัตว์ประหลาด แบบเค้าคิดแปลกๆ แต่เวลาเค้ารู้จักมากขึ้น เค้าก็เห็นว่าเราไม่ใช่เหมือนเค้า ไม่ใช่เหมือนฝรั่ง ไม่เหมือนต่างชาติอื่นๆ เพราะว่าเรามีความคิด แตกจากสัตว์ประหลาดที่เป็น ที่เค้านึกว่าเป็นสัตว์ประหลาด เรามีนิสัยใจคอเป็นคนไทย เพราะว่าเราบอกเค้าว่าเราเป็นคนไทย เค้าก็คิดออกว่า หน้าตาอย่างนี้ เคยเห็น แต่ไม่ใช่ฝรั่ง ไม่ใช่แขก ไม่ใช่จีนเราจะต้องพยายามที่จะวางตัวให้รู้ว่าเราเป็นคนไทย
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Wed Jul 29, 2009 2:14 am

เราเป็นคนไทยนี้ เป็นคนที่สามารถที่จะวางตัวอย่างดี แล้วก็เป็นตัวอย่างกับสัตว์โลกเหมือนฝรั่ง เป็นคนที่ไม่เหมือนกับคนอื่นในโลก ฉะนั้น เราก็ต้องวางตัวให้ดี แล้วก็จะต้องพยายามฝึกฝนตัวให้เป็นคนไทย ซึ่งต่างกับคนอื่นในโลกและการที่วางตัวต่างกับคนอื่นในโลก ต้องเข้าใจว่าวางตัวอย่างไม่ใช่แปลกประหลาด ไม่ใช่สัตว์ ประหลาด คือสัตว์พิเศษ เป็นคนที่มีความคิดที่ดี มีความคิดที่ไม่เหมือนคนอื่น เรามีความคิดวิเศษจากคนต่างชาติ


ขณะที่เอกอัครราชทูตประจำกรุงโคเปนเฮเกนประเทศเดนมาร์ก ได้กราบบังคมทูลถาม ถึงกรณีภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสว่า โดยเฉพาะตามเขตแดนไทย-พม่านี้ ก็มีแผ่นดินไหว แล้วเค้าก็ถามว่า อยากไปอยู่ที่ใด ที่ไม่ค่อยมี เค้าก็บอกว่า แถวภาคอีสานมีน้อย ในภาคอีสานก็มี แผ่นดินไหวมีทุกแห่ง ในโลกนี้จะมีแผ่นดินไหวได้ ทุกแห่ง ก็ต้องเตรียมตัว เตรียมกาย เตรียมใจ ว่าในประเทศไทยก็อาจจะมีแผ่นดินไหวหรืออะไรที่น่ากลัว


จากนั้นเอกอัครราชทูตไทย ประจำ ณ กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยว่า ในปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤตการณ์ด้านพลังงาน ทำให้ในหลายประเทศมีการนำพื้นที่เกษตรมาใช้ปลูกพืช เพื่อผลิตพลังงานทดแทนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระราชดำริประการใด ในการที่จะทำให้เกิดความสมดุล ระหว่างการใช้พื้นที่การเกษตร เพื่อการผลิตอาหารให้เพียงพอและการจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อปลูกพืช ที่ใช้พลังงานทดแทน


โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า นี่ก็หมายความว่า ต้องการทราบว่าทำอะไรให้สมดุล คือถ้าเรามีการทำการเกษตร เพื่อเป็นอาหารซึ่งเป็นสิ่งที่ คือขายให้ต่างประเทศมากเกินไป แล้วก็ไม่ผลิตอะไรที่มาช่วยให้การเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันนี้ที่เป็นสำคัญ ตอบยากว่า แค่ไหนคงเหมาะ ได้เห็นมาว่า เอะอะอะไรจะทำอะไรก็เห่อกัน เห่อว่าจะทำอะไรให้มากเกินไป ถ้าทำการเกษตร เพื่อเป็นพลังงานทดแทน หมายความว่าอย่างนั้น ทำพลังงานทดแทน ทำมากเกินไป เมืองไทยก็เห่อ ทำให้มีมาก อย่างเวลานี้ กำลังเดือดร้อนกันอยู่


ขณะที่นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ เอกอัครราชทูตประจำกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้กราบบังคมทูลถามแนวพระราชดำริ เข้าถึงความเข้าใจและพัฒนา ที่พระราชทานสำหรับนำไปแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้มีความหมายอย่างไร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า คนไทยที่อยู่แถวนั้นรู้ภาษายาวีมีน้อย ถ้าประชาชนช่วยกันทำให้พูดกันเข้าใจกันก็จะดี


แต่ว่าอย่างที่ยะลาก็ไปพูดบอกว่า พวกเราลองพูดภาษาไทยมากขึ้น เขาเข้าใจทำไมจะไม่เข้าใจ เขาพูดได้ ทำไมจะพูดไม่ได้ แต่เขาไม่พูด เขาทำไม่เข้าใจแล้วหัวเราะ หัวเราะได้นุ่มๆ หัวเราะเหมือนเด็กสาว กิ๊กกั๊กๆๆ เด็กหนุ่มเริ่มไม่ใช่ปฏิกิริยาของคนที่จะเข้าใจ แต่เราก็พยายามบอกเค้าว่า ที่ให้พูดภาษาไทยเพื่อสะดวกกับการดำเนินชีวิตของประชาชน จะสะดวกสำหรับข้าราชการ สะดวกทุกอย่าง เข้าใจ ความเข้าใจก็จะเกิดขึ้น ถ้ามีความเข้าใจก็จะทำให้สามารถที่จะมีการปกครองดีขึ้น สามารถที่จะพัฒนาดีขึ้น
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Mon Aug 03, 2009 6:10 am

ในหลวงกับการศึกษาไทย


เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวันที่ 5 ธันวาคม 2546 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการวางแผน และกำหนดนโยบายทางการศึกษาของชาติ ได้ตระหนักดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่การพัฒนาการศึกษาของไทย พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาของชาติเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ตลอดมา

ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม และเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จึงได้จัดทำเว็บไซต์ "ในหลวงกับการศึกษาไทย" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมการพัฒนาการศึกษาที่เกี่ยวเนื่องในพระราชดำริ ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย พระราชปณิธานและพระราชดำริที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษา รวมทั้งพระราชกรณียกิจของพระองค์ในการสร้างคน และการพระราชทานทุนการศึกษาซึ่งพสกนิกรได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในพระปรีชาญาณและสายพระเนตรอันยาวไกล ในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าสูงสุดในการพัฒนาประเทศ และส่งผลให้ปวงชนชาวไทยมีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน พระเจ้าอยู่หัวกับการศึกษาในระบบโรงเรียน


โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

พระเจ้าอยู่หัวกับการศึกษานอกระบบโรงเรียน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระราชปณิธาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการสร้างคน

ทุนพระราชทาน

พระราชดำริที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษา
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Re: เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

Postby ศปภอ.ทบ.๑ » Mon Aug 03, 2009 6:12 am

โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับโรงเรียนไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยทรงให้การช่วยเหลือ อุปถัมภ์ พระราชทานพระราชทรัพย์หรือทรงให้คำแนะนำ พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้งโรงเรียนรัฐบาล และเอกชน

โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ หมายถึงโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยการพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ และให้ความอุปถัมภ์ หรือทรงให้คำแนะนำ ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนเป็นประจำ จึงเรียกโรงเรียนประเภทนี้ว่า โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์มีทั้งโรงเรียนของรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ได้แก่

โรงเรียนจิตรลดา

โรงเรียนจิตรลดาตั้งอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ร่วมเรียน ดังพระบรมราโชบายที่พระราชทานแก่ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุญยคุปต์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนจิตรลดา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ความว่า

"…ครูทุกคนต้องนึกว่าตนเป็นครู ต้องมีความยุติธรรม ต้องหนักแน่น ขอให้ครูฝึกฝนอบรมเด็กให้เป็นนักเรียนที่ดี มีระเบียบ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ รู้จักทำตนให้ตรงต่อเวลา ฝึกให้มีสมาธิในการงาน รู้จักรักษาสมบัติส่วนตัวและส่วนรวม รู้จักมีเมตตานึกถึงผู้อื่น รู้จักทำตัวให้เข้ากับส่วนรวม ครูจะต้องไม่ถวายสิทธิพิเศษแด่พระโอรสและพระธิดา…"

ในตอนต้นได้พิจารณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนชั้นอนุบาลขึ้น ณ ห้องชั้นล่างของพระที่นั่งอุดร บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื่องด้วยมีพระราชประสงค์ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาได้ทรงเรียนร่วมกับเด็กอื่นๆ อีก ๗ คน นับเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนจิตรลดา ต่อมาเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารเรียนชั้นเดียวในบริเวณสวนจิตรลดา และพระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนจิตรลดา" และได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ เปิดสอนนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาถึงประถมศึกษาปีที่ ๔ ปีการศึกษา ๒๕๐๗ ได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการขยายชั้นเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และในปีการศึกษา ๒๕๑๑ ได้ขยายชั้นเรียนจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายมาจนถึงปัจจุบัน โดยรับนักเรียนทั่วไป ตามกฎเกณฑ์ของโรงเรียนแต่ละปีการศึกษา เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนโดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ ตามพระบรมราโชวาท "ให้โรงเรียนรับนักเรียนทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเชื้อพระวงศ์"

นักเรียนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามาเรียนในโรงเรียนจิตรลดา ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานอาหารว่างและอาหารกลางวันแก่คณะครูและนักเรียนด้วย ประการสำคัญที่สุด เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมด้านกำลังใจแก่นักเรียนที่ตั้งใจเรียนและมีความพยายาม คือ พระราชทานพระบรมราโชบายแก่โรงเรียนให้จัดรางวัลแก่นักเรียนทุกคนที่สอบได้คะแนนภาคเรียนที่สองสูงกว่าภาคเรียนที่หนึ่ง ๕ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป นอกเหนือจากการพระราชทานรางวัลสำหรับนักเรียนที่เรียนดีเด่นทั่วไป ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงกล่าวไว้ในบทพระอักษรเรื่อง "โรงเรียนจิตรลดา"

"…พระมหากรุณาธิคุณต่อโรงเรียนจิตรลดานั้นมีมาก นอกจากจะทรงควบคุมนโยบายในการศึกษาด้วยพระองค์เอง นักเรียนไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เมื่อก่อนนี้พระราชทานอาหารให้ทุกๆ คนด้วย เมื่อถึงโอกาสสิ้นปีการศึกษาจะเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแสดงของนักเรียน พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยม ทั้งคะแนนรวมและหมวดวิชาต่างๆ ยังมีรางวัลสำหรับผู้มีคะแนนดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปีเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้มีความพยายาม พระราชทานพระบรมราโชวาทที่เหมาะสมแก่สถานภาพ…"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณดูแลโรงเรียนจิตรลดาตามพระราชประสงค์นับตั้งแต่ทรงสำเร็จอุดมศึกษามาจนถึงปัจจุบัน โดยทรงดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยการวางนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อพัฒนาให้โรงเรียนจิตรลดา ก้าวหน้าทัดเทียมโรงเรียนอื่นๆ ทั้งในด้านวิชาการ ความประพฤติที่ดี ความคิดที่กว้างไกล การมีวินัย ความเสียสละ การรู้จักให้อภัย และภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทย ตลอดจนมีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงความรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของนักเรียนจิตรลดา โดยยกตัวอย่างบางตอนของคำกราบบังคมทูลถวายบังคมลาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ เนื่องในวาระสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียน เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๑ ความว่า

"…เมื่อข้าพระพุทธเจ้ายังเป็นเด็กเล็กได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาศึกษาในโรงเรียนนี้ สิ่งแรกที่กระทบความรู้สึกของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างมากก็คือ พระกรุณาธิคุณในการที่ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทุกๆ อย่าง ซึ่งรวมกันขึ้นเป็นโรงเรียนที่เพียบพร้อมไปด้วยปัจจัย ในการสร้างความเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ความเป็นศิษย์ที่ดีของครู-อาจารย์และความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติในอนาคต ในเวลาต่อมาคำว่า "น้ำพระราชทาน ไฟพระราชทาน อาหารพระราชทาน" จึงมีความหมายสำหรับข้าพระพุทธเจ้าตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้…"

"…ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งต่างๆ ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระราชทานแก่ข้าพระพุทธเจ้าตลอดเวลาของความเป็นนักเรียนจิตรลดา ถึงแม้ว่าจะมีค่ามากเพียงใด ในความรู้สึกของข้าพระพุทธเจ้าทุกคนก็ยังรู้สึกว่ามิได้มีค่ามากพอที่จะเปรียบเทียบกับค่าของน้ำพระราชหฤทัยของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่พระราชทานแก่นักเรียนจิตรลดาทุกคน…"
User avatar
ศปภอ.ทบ.๑
 
Posts: 119
Joined: Mon Jun 08, 2009 10:59 pm

Next

Return to ชายคาพักใจ



cron