เชิญชวนเที่ยวงานเกษตรแฟร์

คุยกันสบายๆ ไม่ซีเรียส

เชิญชวนเที่ยวงานเกษตรแฟร์

Postby ลูกนนทรี » Sat Jan 31, 2009 8:46 pm

งานมีวันที่30มกราคม-7กุมภาพันธ์2552ครับใครที่สนใจไปกันได้เน้อ ต้นไม้ของกิน เยอะๆๆ มะขามอร่อยจ้า อย่าลืมช่วยอุดหนุุสินค้าหรือร้านขายของที่ทางนิสิตทำด้วยน้าคร้าบ จักเป็นพระคุณ :D งานจัดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตบางเขนคร้าบ
ปล.สาวๆเยอะนะ อิอิ
หัวใจของนักการเมืองจริงๆคือการทำนุบำรุงผลประโยชน์ของชาติ แต่ปัจจุบันในเมืองไทยหาได้ยากเสียเหลือเกิน
User avatar
ลูกนนทรี
 
Posts: 1567
Joined: Mon Oct 13, 2008 3:35 am

Re: เชิญชวนเที่ยวงานเกษตรแฟร์

Postby Solidus » Sat Jan 31, 2009 9:01 pm

ชอบไปชิมฟรี :lol: :lol:
User avatar
Solidus
 
Posts: 8593
Joined: Mon Oct 13, 2008 1:47 pm

Re: เชิญชวนเที่ยวงานเกษตรแฟร์

Postby abhichartt » Sat Jan 31, 2009 11:21 pm

จิญวิญญาณเกษตรศาสตร์...แด่นิสิตผู้สืบสานศาสตร์แห่งแผ่นดิน
จากFWail

ผมได้รับเมล์นี้ตอนช่วงรับน้องใหม่
ใครยังไม่เคยได้รับเมล์นี้และเคยส่งเมล์นี้
ผมว่ามันมีประโยชน์มากเลยนะครับในการที่จะส่งต่อเพื่อสืบสานจิตวิญญาณความเป็นเกษตรศาสตร์
--------------------------------------
จิตวิญญาณการเกษตรในศตวรรษที่ ๒๑

จากเวทีเสวนาในชื่อเดียวกัน โดย ศ.ระพี สาคริก ศ.เสน่ห์ จามริก ศ.นพ.ประเวศ วะสี ดำเนินรายการโดย คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ เนื่องในวาระครบรอบ ๘๐ ปี ศ.ระพี สาคริก จัดขึ้น ณ สวนกล้วยไม้ระพี สาคริก ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน, วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๕. องค์กรร่วมจัด ได้แก่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา มูลนิธิสายใยแผ่นดิน องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มศึกษาและรณรงค์ มลภาวะอุตสาหกรรม มูลนิธิสานแสงอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ สหกรณ์เลมอนฟาร์มพัฒนา จำกัด และ มูลนิธิสุขภาพไทย

ศ.ระพี สาคริก
ศ.นพ.ประเวศ วะสี
ศ.เสน่ห์ จามริก


…การเกษตร…แท้จริงแล้วเป็นพลังที่อบรมบ่มนิสัยคนให้รู้จักรักผืนดิน รักทุกสิ่งทุกอย่างที่สานถึง ผืนดิน หรือเรียกว่าเป็น "วัฒนธรรมท้องถิ่น"…
ศ.ระพี สาคริก


…การเกษตรที่มีจิตวิญญาณต้องเป็นการเกษตรที่เชื่อมโยงทั้งหมด เชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ศาสนธรรม แล้วเกิดดุลยภาพ และให้สภาวะศานติกับสิ่งทั้งหลาย…
ศ.นพ.ประเวศ วะสี


…สิ่งที่เป็นหัวใจคือ องค์ความรู้ และวัฒนธรรมความรู้ที่เป็นทางเลือก ที่เป็นอิสระ บนพื้นฐานของความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่เราให้กับคำว่า "จิตวิญญาณการเกษตร"…. เรื่องเหล่านี้มีความหมายค่อนข้างลึกซึ้งมาก แต่ทุกวันนี้เรามักไม่ค่อยรู้ตัว สอนกันไปเรียนกันไป วิจัยกันไป แต่ไม่รู้หรอกว่า เรากำลังเผยแพร่ความรู้ ชนิดที่เอาตัวเราเป็นทาสในทางความคิดของภายนอก เราไม่รู้ตัว ความไม่รู้ตัวทำให้เราขาดความสมัครสมานกัน สังคมไทย ขณะนี้เกือบจะทั้งหมด อยู่ภายใต้สภาวะของความเป็นอาณานิคมทางความคิด ฉะนั้น เราต้องมีความมานะบากบั่นที่จะแสวงความรู้ให้เป็นทางเลือกของสังคมไทยจริงๆ ….
ศ.เสน่ห์ จามริก


ทุกวันนี้มีคนพูดกันมากว่า สังคมได้มาถึงจุดวิกฤติ อับจนทางปัญญา ไม่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงระดับสังคมโลกเลยทีเดียว และถ้าไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่แล้วล่ะก็ มีแต่จะนำพาไปสู่จุดที่เป็นความขัดแย้ง รุนแรงมากขึ้นทุกที และเนื่องด้วยโอกาสอันเป็นมงคลในวาระครบรอบ ๘๐ ปี ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้มีการจัดเสวนาในเรื่อง "จิตวิญญาณการเกษตรในศตวรรษที่ ๒๑" ขึ้น ด้วยเห็นว่า เป็นประเด็นที่จะจุดประกายให้เกิดการคิดไตร่ตรองมองตนอย่างลึกซึ้ง ถึงการพัฒนาตนเอง สังคม ในระดับที่กว้างขวางขึ้นเป็นลำดับ ในการแสวงหาหนทางไปสู่ความเป็นอิสระ หลุดจากการครอบงำแห่งอวิชชา โดยมองจากเรื่องการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย
ในที่นี้เป็นการเก็บรวบรวมสาระสำคัญจากท่านอาจารย์ทั้ง 3 มาเพื่อเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์สำหรับท่านผู้สนใจทั่วไป
ท่านอาจารย์ระพี ชี้ให้เราเห็นว่า เรามักจะมองการเกษตรแบบตื้นๆ เพียงแค่อาชีพเท่านั้น การมองแบบนี้ถือว่า
หลุดไปแล้วขั้นหนึ่ง เช่นที่เวลานี้สังคมเรามีอะไรที่หลุดไปเยอะ มองแค่เปลือก แต่ไม่เห็นจิตวิญญาณ เพราะเราไม่รู้ความจริงชัดเจน แท้จริงแล้วการเกษตรเป็นพลังที่อบรมบ่มนิสัยคนให้รู้จักรักผืนดิน รักทุกสิ่งทุกอย่างที่สานถึงผืนดิน หรือเรียกว่า เป็น "วัฒนธรรมท้องถิ่น" นั่นเอง และการรู้คุณค่าผืนดินก็คือ การรู้คุณค่าสิ่งที่อยู่ในใจเราเอง และไม่ได้หมายความแค่คนที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์เท่านั้น เพราะคนเราล้วนเกิดมาจากผืนดินทั้งนั้น ฉะนั้นไม่ว่าจะทำงานสาขาไหน ก็ต้องเห็นคุณค่าของการเกษตรด้วย แต่ผลพวงจากการจัดการศึกษาของเรา ทำให้คนยึดติดรูปแบบของสิ่งสมมติ ถ้ารู้จริง ก็จะมองเห็นวิญญาณของคน ไม่ว่าศาสตร์สาขาไหนก็ควรมุ่งไปบริการภาคเกษตร
ท่านอาจารย์ได้ชี้ให้เห็นว่า การเกษตรไม่ใช่เรื่องสาขาวิชา แต่เป็นเรื่องจิตวิญญาณของความเป็นคน โดยยกตัวอย่างว่า ประเทศญี่ปุ่นเขาพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม ที่ขึ้นไปจากภาคเกษตร เขาจะเอารายได้ จากภาคอุตสาหกรรมไปเลี้ยงภาคเกษตรอีกที ถ้ามองแบบคนไทยก็จะบอกว่าเกษตรขาดทุน แต่จริงๆ มันถึงกันหมด แต่เวลานี้บ้านเมืองเรา รากฐานมันหายไป เช่นที่เราบอกว่าวัฒนธรรมถูกทำลาย ก็เพราะวัฒนธรรมคือรากฐานของชีวิต คือความรักที่เราควรจะมีอยู่กับผืนดินถิ่นเกิดของเรา เกษตรเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นกระบวนการอบรมให้คนรักแผ่นดิน เข้าถึงคุณค่า จิตวิญญาณของแผ่นดิน ที่เป็นทุนชีวิตของเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เรียนเกษตร แต่ควรเป็นทุกสาขาที่เข้าใจคุณค่าตรงนี้ คือ เห็นคุณค่าของรากฐานชีวิตที่แท้จริงได้ ในบ้านเรา นอกจากไม่ต่อยอดแล้ว ยังไปเอายอดอื่นมาต่อ อุตสาหกรรมเกษตรจึงไปไม่ถึงไหน
ท่านได้ยกตัวอย่างกรณีเรื่องกล้วยไม้ ที่ประเทศไทยจะเปิดให้นายทุนไต้หวันเข้ามาลงทุนว่า เรื่องนี้เห็นชัดว่า
มันขึ้นมาจากรากฐานตัวเอง แต่ก็มีความพยายามจะเอาเรื่องไฮเทคเข้ามาใส่ แล้วบอกว่าเราสู้เขาไม่ได้ ขณะที่ทั่วโลกเขามาใช้บริการของเรา แสดงว่าเขายอมรับเรา มันเป็นเรื่องของการยอมรับ ไม่ใช่เรื่องของการเอาเทคโนโลยีมาเปรียบเทียบกัน เพราะในบ้านเรา เทคโนโลยีเรื่องกล้วยไม้ รากของเรามันอยู่กับพื้นดิน ต้องมองลงมาข้างล่างถึงจะเห็น และเหตุการณ์ของกล้วยไม้ก็เอามาจับกับพืชผลอื่นๆ ได้หมด ซึ่งทุกวันนี้อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง ถ้าเกษตรทุกเรื่อง คนที่มีจิตใจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ยังหลับกันอยู่ มันไม่ใช่แค่เกษตรจะหมดเท่านั้น แต่แผ่นดินไทยจะไม่เหลือเลยด้วยซ้ำ

ด้าน ศ.นพ. ประเวศ วะสี ท่านสรุปฟันธงว่า การเกษตรกระแสหลักที่เราทำกันอยู่เป็นมิจฉาทิฏฐิ
การเกษตรที่มีจิตวิญญาณ ต้องเป็นการเกษตรที่เชื่อมโยงทั้งหมด เชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ศาสนธรรม แล้วเกิดดุลยภาพ ให้สภาวะศานติกับสิ่งทั้งหลาย ซึ่งถ้าใครเข้าถึงความเป็นทั้งหมด อย่างท่านอาจารย์ระพี ก็จะประสบความจริง คือความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งทั้งหมด จะประสบความงามล้นเหลือ จะเกิดปิติ อิ่มใจ เกิดมิตรภาพอันไพศาลต่อสรรพสิ่ง ต่อสรรพสัตว์ ต้นไม้ใบหญ้า เกิดความเป็นอิสระ คือ ปัญญาที่เข้าถึงความจริงของสรรพสิ่งทั้งหมดว่า มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ตรงนี้จะเรียกว่าปัญญา หรือเรียกว่าการปฏิวัติทางจิตสำนึกก็ได้ และเราต้องเรียนรู้จากท่านอาจารย์ระพีให้มาก เพราะท่านถือเป็น living sample ของสังคมไทย เป็นตัวอย่างของคนที่มีชีวิต ที่เข้าถึงความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ท่านเคยไปบรรยายที่สถาบันราชภัฏจังหวัดเลย แล้วมีคนถามว่า ผู้คนอยากทำความดี แต่ไม่รู้จะทำอะไร ท่านอาจารย์ช่วยพูดให้เป็นรูปธรรมหน่อย ท่านอาจารย์ระพีก็ตอบว่า "ทำอะไรก็ได้ที่ชอบ ก็จะมีความสุข และพยายามทำให้ปราณีต ก็จะเป็นศิลปะ ที่มาพัฒนาจิตใจของตนเองให้ปราณีตยิ่งขึ้นๆ และถ้าค้นคว้าสืบค้นเรื่องนั้นๆ ไป มันจะไปเจอกันเอง" ซึ่งนี่คือ concept เรื่อง freedom to grow (ความงอกงามด้วยความเป็นอิสระ) เด็กที่โต ต้นไม้ที่งอก ต้องการความเป็นอิสระที่จะงอกงาม ซึ่งท่านอาจารย์ระพีได้ทำตรงนี้ให้เห็น ท่านพยายามสื่อว่า ก็ค้นคว้าเรื่องนั้นลึกไปเรื่อยๆ จะไปเจอกันเอง ตรงนี้สื่อว่า สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนมีความเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเริ่มตรงไหน มันก็ไปเจอกันเอง ก็คือเจอธรรมชาติของสรรพสิ่ง ซึ่งเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน และจิตวิญญาณก็อยู่ตรงความเชื่อมโยงนี่เอง ตรงข้ามกับการชำแหละ ซึ่งไปตัดขาดเป็นส่วนๆ จิตวิญญานก็หมด ชีวิตก็หมด แต่การเชื่อมโยงทำให้เกิดชีวิต เช่นที่พืช สัตว์ต่างๆ เกิดจากการเชื่อมโยงเอาสสารต่างๆ เข้ามาเชื่อมโยง ชีวิตก็เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ประเวศได้ย้อนรอยให้เห็นต่อไปว่า ชีวิตของชาวบ้านแต่เดิมก็เป็นแบบนั้น เป็นชีวิตที่เชื่อมโยง
เชื่อมโยงกับการทำมาหากิน สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ศาสนธรรม อย่างได้สมดุล จึงมีความเป็นปกติและยั่งยืน
มีมิติทางจิตวิญญาณที่สัมผัสได้ รู้สึกว่าแผ่นดินมีคุณ เรียกพระแม่ธรณี แม่น้ำมีคุณเรียกแม่คงคา ในต้นไม้มีรุกขเทวดา เป็นมิติทางจิตวิญญาณ เป็นคุณค่าในธรรมชาติ จนกระทั่งเมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีมานี้เอง มนุษย์ได้เปลี่ยนความคิดไปเอาวิทยาศาสตร์ไปวิเคราะห์ (ตัดขาดเป็นส่วนๆ) ต้นไม้ เจอไนโตรเจน ออกซิเจน เมื่อไม่เจอรุกขเทวดา ก็แสดงว่าไม่มี เมื่อไม่มีก็หมดคุณค่า โค่นเมื่อไรก็ได้
ความคิดที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ เป็นความคิดแบบแยกส่วน เป็นเส้นตรง คิดแต่จะเอาเพิ่มขึ้นๆ โดยมีเงินเป็นเครื่องมือที่สมมติขึ้นมา เติมศูนย์ได้ไม่สิ้นสุด ขณะที่คนแต่ก่อนคิดเป็นวัฏฏะ ซึ่งเป็นเรื่องเชื่อมโยง หมุนเวียน แล้วไม่รู้จะโลภไปทำไม จะล่าสัตว์ หาอาหารก็แค่พอกิน ไม่สะสม เพราะเก็บอะไรไว้ก็บูด แต่เก็บเงินไม่บูด แถมออกดอกตลอดเวลา ก็เพราะเราไปสมมติให้มันเป็นอย่างนั้น ถ้าลองเราเลิกระบบเงินหมดเดี๋ยวนี้ แล้วถามว่า ใครรวยที่สุด ก็คือเกษตรกร เพราะเขามีอาหารกิน แต่ตัวเลขมันกินไม่ได้ เมื่อเงินเป็นสิ่งสมมติ แล้วคิดว่ามันต้องเพิ่มขึ้นๆ เป็นการคิดแบบแยกส่วน มากขึ้นๆ หาเท่าไรก็ไม่พอ ที่เราเรียกทุนนิยม คือ เงินทำเงิน เงินเพื่อเงิน แต่ที่จริง เงินต้องเพื่อมนุษย์ เพื่อชีวิต แต่มันกลายเป็นเงินเพื่อเงิน แล้วเงินเพียง ๐.๒ % เท่านั้น ที่วิ่งอยู่ทั้งโลก ที่ทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ อีก ๙๙.๘ % ไม่ได้ทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ (เพื่อการแลกเปลี่ยน) แต่ทำหน้าที่ไปดูดเงินของคนอื่น ไม่ได้สร้างอะไรเพิ่ม ทั้งความรู้ บริการ วัตถุ เมื่อเป็นแบบนี้โลกก็เสียดุล ทุนนิยมแบบนี้ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำลายประชาธิปไตย ทำลายสิทธิมนุษยชน ทำลายเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม จิตวิญญาณ
ท่านอาจารย์ประเวศเน้นย้ำว่า นักปราชญ์ ผู้นำความคิดคนสำคัญหลายท่านก็พูดเตือนไว้ในเรื่องนี้ ว่ามนุษยชาติต้องเปลี่ยนวิถีคิดใหม่ ท่านเล่าว่า ก่อนเกิดตึกเวิลด์เทรด ๒ ปี มีนักปราชญ์ฝรั่ง ๓ คนไปคุยกันที่แคลิฟอร์เนีย ๒ วัน ๒ คืน แล้วเขานำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า Conciousness Revolution มีความตอนหนึ่งว่า อารยธรรมตะวันตกกำลังพาโลกทั้งโลกเข้าไปสู่วิกฤติอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะว่าอารยธรรมวัตถุนิยม บริโภคนิยม ไม่สามารถจะไปต่อไปได้ สิ่งที่จะ save มนุษย์มีอย่างเดียวเท่านั้น คือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณหรือจิตสำนึก ซึ่งก่อนหน้านั้นตั้งนาน อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ก็พูดเช่นกันว่า มนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ท่านอื่นๆ ก็มี ท่านดะไลลามะ ท่านพุทธทาส เป็นต้น
อย่างท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านได้ฝากมรดกไว้ ๓ ข้อ คือ ๑) ข้อให้ศาสนิกของแต่ละศาสนา เข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน ๒) ขอให้มีความร่วมมือระหว่างศาสนา และ ๓) ขอให้มนุษย์หลุดออกจากวัตถุนิยม ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่ท่านดะไลลามะ พูดว่า ศตวรรษนี้ต้องการ spiritual revolution เพราะโลกทุกวันนี้ คิดโดยการชำแหละเป็นส่วนๆ หมด และตอนนี้กำลังโฆษณาประชาสัมพันธ์ ล้างสมองคนหมดทั้งโลกให้เชื่อว่า สัจธรรมคือการแข่งขันเสรี ซึ่งไม่ได้มองถึงความเป็นมนุษย์ แต่คือ ความเป็นสัตว์ ที่ตัวโตก็ตะปบตัวเล็กได้ทันที ขณะที่ชาวบ้านพูดถึงเรื่อง "ทุนชีวิต" ซึ่งมองเชื่อมโยงหมด ทั้งการทำมาหากิน สังคม สิ่งแวดล้อม ศาสนธรรม เขาคิดเชื่อมโยงเป็นโครงสร้างความเป็นมนุษย์ เพราะธรรมชาติคือความโอบอุ้มกัน ความเอื้ออาทรต่อกันต่างหาก
ดังนั้นพวกเราคงต้องมาจับตัวนี้ว่า วิถีคิดใหม่ที่ไอสไตน์พูดคืออะไร ตัวการปฏิวัติจิตสำนึกคืออะไร การถอนตัวออกจากวัตถุนิยม ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดคืออะไร หรือสิ่งที่ท่านอาจารย์ระพีพูดคืออะไร ถ้าเราตีตรงนี้แตก แล้วช่วยกันศึกษาตรงนี้ ช่วยขยายตัวนี้ให้มาก โลกก็จะเปลี่ยนไปเป็นอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกแห่งความเป็นธรรมชาติ เป็นโลกแห่งการเข้าถึงธรรม ซึ่งมนุษย์มีศักยภาพที่จะไปได้ เพราะมีของที่มีค่าที่เป็นทรัพย์ภายในของตัวเอง นั่นคือ เซลสมองถึงแสนล้านตัว ที่สามารถจะเรียนรู้อะไรก็ได้ เรียนรู้ให้ประสบความจริง ให้ประสบความงาม เรียนรู้ให้ประสบมิตรภาพอันไพศาล เรียนรู้ให้ประสบอิสรภาพ เป็นไปได้ทั้งนั้น ขอให้มีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง
ด้าน ศ.เสน่ห์ จามริก สะท้อนว่า ที่บ้านเมืองเรามาถึงจุดอับจนทางปัญญา ก็เพราะมายา ที่ถูกสร้างขึ้นเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด และไปทำลาย "ต้นทุนชีวิต" ของท้องถิ่น ซึ่งท่านได้เรียนรู้คำๆ นี้จากการลงไปทำงานกับชาวบ้านที่บุรีรัมย์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านท่านหนึ่งสะท้อนว่า ทุนไม่ใช่เงิน ทอง แต่คือตัวเรากับแผ่นดิน ฉะนั้นเกษตรคือความเป็นจริงของชีวิต เป็นฐานสำคัญที่จะเปิดช่องให้กำหนดทิศทาง ปัญญาวิชาการของเราไปสู่ความเป็นจริงของชีวิตมากที่สุด เป็นวิชาการที่ตั้งอยู่บนฐานของแผ่นดิน และ เรื่องนี้ต้องการวิชาเศรษฐศาสตร์ใหม่ในการอธิบาย
ท่านมองว่า เรื่องจิตวิญญาณการเกษตรที่เราพูดกันนั้น เป็นเรื่องที่ขยายความได้กว้างขวาง และสามารถประยุกต์ใช้ ในเศรษฐกิจการเมืองสมัยใหม่ได้ด้วย เป็นเรื่องที่จะต้องนำมาท้าทายโลกด้วย โดยท่านสะท้อนผ่านเรื่อง "ต้นทุนชีวิต" ซึ่งเรื่องสำคัญคือ แผ่นดิน ฐานทรัพยากร เพราะนี่คือ ฐานของการเกษตร แต่เกษตรกรทุกวันนี้ ได้ถูกปัญญาวิชาการที่ครอบงำทำให้ตัวเองดูถูกแผ่นดินของตัวเอง แต่ถ้าชาวบ้านตระหนักว่า ไร่นาคือต้นทุนชีวิต ถ้าเอาไปจำนองหรือขาย ก็คือ จำนองหรือขายชีวิต เขาจะหวงแหน และ ทุนตรงนี้ไม่ใช่ทุน ที่จะไปแปลงเป็นทรัพย์สินแบบที่นายเดอโซโตมาสอนบ้านเรา ซึ่งเขาเห็นเพียงการแปลงทรัพย์สิน ที่อยู่นอกระบบให้เป็นทรัพย์สินในระบบ หรือเป็นการให้การยอมรับเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งฟังดูดี แต่ถ้ามองให้ดี เศรษฐกิจในระบบขณะนี้มันกำลังเข้าตาอับจน ก็เอาเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาหนุน เราต้องเข้าใจว่า ทุกวันนี้บัญชีรายได้ของเรา คิดจากเรื่องการนำเข้า-ส่งออก การกู้หนี้ ยืมสิน ตลาดหุ้น นอกนั้นอยู่นอกระบบ และไม่เคยคิดเข้ามาในบัญชีรายได้ประชาชาติเลย นักเศรษฐศาสตร์ที่ละตินอเมริกาเมื่อไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีก่อน เขาสำรวจพบว่า รายได้ที่ชาวบ้านทำมาหากิน คิดเป็นสัดส่วนของจีดีพี ระหว่าง ๓๐-๖๐ % ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ไทย ไม่ได้ให้ความสนใจเลย เพราะเราติดอยู่กับเศรษฐศาสตร์แบบของธนาคารโลก ดังนั้นที่เดอโซโตพูด ไม่ใช่ของใหม่เลย แต่พอมาพูดตอนนี้ เราก็ตื่นเต้น ซึ่งมันมีแง่ดีที่ว่า ทำให้เรามองว่า พวกหาบเร่ เป็นการทำมาหากิน ที่มีความหมายในทางเศรษฐกิจและทางเศรษฐศาสตร์ทั้งสิ้น แต่ถ้าความคิดนี้ก้าวหน้าจริง รัฐหรือรัฐบาล จะต้องลงทุนที่จะพัฒนาหาบเร่แผงลอยให้ก้าวหน้าขึ้น ไม่ใช่เพื่อเอาไปต่อทุน เพื่อจะไปกู้เงินธนาคาร แล้วเอามาทำมาหากิน ถ้าหยุดแค่นั้น ก็ไม่ไปไหน คำถามที่มีต่อรัฐบาลคือ ทำไมไม่เอาสิทธิจริงๆ คือ สิทธิของชาวบ้าน สิทธิในภูมิปัญญาชาวบ้าน สิทธิในแผ่นดิน แปลงให้เป็นทุนที่จะมาใช้ประโยชน์
เพราะที่จริงบ้านเรามีอะไรให้เห็นมากกว่านั้น จะต้องมองเห็นทุนมากกว่าเรื่องที่ดิน ที่จะไปแปลงเงินกู้จากธนาคาร นักเศรษฐศาสตร์บ้านเราที่เคยค้านเรื่อง informal sector หรือการทำมาหากินของชาวบ้าน ที่อยู่นอกระบบเป็นเรื่องขี้ผง แต่พอนายเดอโซโตพูด จึงดูจะตื่นเต้นไปกับเขา สะท้อนว่า อะไรเข้ามาเราก็คว้าตลอดเวลา วิกฤติทำให้เราไขว่คว้าทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ซึ่งบางครั้ง ก็ส่งผลทำลายฐานต้นทุนของตัวเองด้วยในบางครั้ง เช่นที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามกดดันให้รัฐบาลไทย รับข้อตกลงที่เรียกว่า ข้อตกลงไทย-สหรัฐ ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนวิจัยป่าเขตร้อน โดยที่ยอมผ่อนหนี้เพียง ๔-๕ ร้อยล้านบาท แต่ให้สิทธิสหรัฐเข้ามาสำรวจวิจัยป่าเขตร้อนทั่วประเทศเลย ทำให้เห็นว่า ความรู้วิชาการแบบของตะวันตก เป็นความรู้ที่เข้ามาใช้อำนาจครอบงำ ฉกฉวยประโยชน์จากประเทศยากจน แล้วรัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรก็ดีใจมาก เพราะเป็นโอกาสได้ทุนวิจัยกับฝรั่ง แต่ไม่ได้มองถึงผลเสียที่จะตามมา โชคดีที่รัฐบาลยอมยุติเรื่องนี้ ขณะที่อีกด้านหนึ่งเราก็เรียกร้องให้รัฐบาลไทย สังคมไทย ลงทุนทำวิจัยเอง โดยไม่ต้องพึ่งต่างชาติ ซึ่งขณะนี้กำลังพยายามจัดตั้ง โครงการยุทธศาสตร์ฐานทรัพยากรเขตร้อนกันอยู่
อีกกรณีคือ ร่าง พ.ร.บ.สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งผ่านสภาผู้แทน เข้าวุฒิสภา และทางกรรมการสิทธิฯ ได้ทำบันทึกถึงประธานวุฒิสภา ถึงนายกฯ เพื่อคัดค้าน ตอนนี้เรื่องอยู่ที่วุฒิสภา ร่างพ.ร.บ.นี้ ให้การคุ้มครองผลิตภัณฑ์ ที่มีนัยสำคัญทางภูมิศาสตร์ คนอื่นจะไปใช้ชื่อนี้ไม่ได้ ปรากฏว่าร่างกฎหมายนี้ไม่รวมพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์เข้าไว้ด้วย จะหมายถึงสินค้าอย่างเดียว เพราะ WTO กำหนดไว้อย่างนั้น ทางเราก็บอกว่า ของเมืองไทยทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะเรามีอะไรหลายอย่างที่ต้องสงวนไว้ให้สิทธิกับคนไทย และไม่เฉพาะพันธุ์พืช สัตว์ เท่านั้น แม้กระทั่งบริการ เช่น รำไทย มวยไทย เพราะขณะนี้ถึงแม้ไม่ใช่สินค้า แต่มันมีนัยยะทางการตลาด เรื่องนี้วุฒิสมาชิกคนหนึ่ง ที่เป็นนักกฎหมายอภิปรายบอกว่า ผู้คัดค้านไม่เข้าใจกฎหมายนี้ ซึ่งอาจารย์เสน่ห์ท่านชี้ว่า นี่คือเอาวิชาการของ WTO มาใส่หัวสมอง แล้วมาบอกว่าสิ่งที่คัดค้านนั้นผิดกฎที่องค์การการค้าโลกกำหนด นี่คือรูปธรรมที่สะท้อนว่า เรารับวิชาการทั้งหลายแหล่ ที่แพร่เข้ามาใช้อำนาจครอบงำ ซึ่งล้วนเป็นวิชาการของความเป็นอาณานิคม
อาจารย์เสน่ห์ท่านเน้นย้ำว่า แม้เราจะเป็นประเทศเล็กก็ตาม แต่ถ้าเรามั่นใจว่า เราอยู่บนฐานของความเป็นจริง ก็จะทำให้เรามั่นใจที่จะท้าทาย ต่อสิ่งที่ไม่ชอบธรรมในเวทีโลกได้ ฐานความคิดของเรา จะเป็นฐานที่ช่วยโลก ขอให้เรามั่นคงบนฐานของจิตวิญญาณการเกษตร ที่อยู่บนฐานของสัจธรรม หรือความเป็นจริงในชีวิต ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะแวดวงอาชีพเกษตร แต่เป็นเรื่องของทุกคน และมันไม่หยุดนิ่ง เราสามารถพัฒนาไปได้ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเราและโลกด้วย
จิตวิญญาณการเกษตร นอกจากจะเป็นจิตวิญญาณของความเป็นจริงของชีวิตแล้ว ต้องเป็นจิตวิญญาณของการเป็นอิสระในการที่จะรู้จักตัวเอง แล้วสร้างสรรค์วิชาการที่เป็นตัวของตัวเอง แต่เพราะเราไม่เป็นอิสระตรงนี้ ทำให้สังคมไทยต้องแบ่งแยก พูดกันไม่รู้เรื่อง มันมีม่านความรู้ ที่เป็นมิจฉาทิฐฐิ เข้ามาปิดกั้นระหว่างคนไทย ฉะนั้นเราต้องสร้างความรู้ใหม่ และสิ่งที่เป็นหัวใจคือ องค์ความรู้ และวัฒนธรรมความรู้ที่เป็นทางเลือกที่เป็นอิสระ บนพื้นฐานของความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่เราให้กับคำว่า "จิตวิญญาณการเกษตร" เรื่องเหล่านี้มีความหมายค่อนข้างลึกซึ้งมาก แต่ทุกวันนี้เรามักไม่ค่อยรู้ตัว สอนกันไปเรียนกันไป วิจัยกันไป แต่ไม่รู้หรอกว่า เรากำลังเผยแพร่ความรู้ ชนิดที่เอาตัวเราเป็นทาสในทางความคิดของภายนอก เราไม่รู้ตัว ความไม่รู้ตัวทำให้เราขาดความสมัครสมานกัน สังคมไทยขณะนี้เกือบจะทั้งหมด อยู่ภายใต้สภาวะของความเป็นอาณานิคมทางความคิด ฉะนั้น เราต้องมีความมานะบากบั่นที่จะแสวงความรู้ ให้เป็นทางเลือกของสังคมไทยจริงๆ
ท่านอาจารย์ทั้งสาม สรุปภาพคล้ายคลึงกันว่า ตอนนี้สังคมมันถึงมีวิกฤติที่ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเห็นแต่สิ่งที่เป็นมายา ระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นสายใยที่ถูกตัดขาดจากกันมากขึ้นทุกที และการศึกษาทุกวันนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เช่น เราพูดกันเรื่องการปฏิรูปการศึกษา แต่เรามักไปมองสิ่งที่อยู่ข้างนอก ไม่มองจิตวิญญาณของผู้คน และการพัฒนาที่เอาเงินทองเป็นตัวตั้งทำให้สิ่งดีๆ ในสังคมหายไป ไม่ว่าจะเป็นระบบครอบครัว วัฒนธรรมประเพณี แม้จะพูดเรื่องศาสนา แต่ก็ไม่ได้มองธรรมะที่อยู่ในใจเราจริงๆ ทำให้ทุกวันนี้มีแต่ความขัดแย้ง เป็นยุคของการแย่งชิงทรัพยากร เงินเข้าไปที่ไหนก็ทำลายที่นั่น เพราะเรื่องจิตวิญญาณมันหายไป
อย่างไรก็ตาม คุณหมอประเวศย้ำว่า ถึงจะมีวิกฤติ แต่มนุษย์ก็ต้องมีความหวัง มนุษย์อยู่ได้เพราะความหวัง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ท่านยกตัวอย่างหนังสือเรื่อง Biology of Hope ซึ่งอ้างถึงว่า การมีความหวังหรือไม่มีความหวังของมนุษย์ จะไปกระทบระบบอย่างสำคัญ ดังนั้นเราต้องเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ว่าเมื่อประสบความล้มเหลว มันจะเรียนรู้ และเราไม่มีวิธีเรียนอย่างอื่นเลย นอกจากเรียนจากความล้มเหลว เหมือนเด็กเดินได้ต้องล้ม ต้องเจ็บปวดจากภาวะวิกฤติ จึงจะเรียนรู้ให้ฉลาดขึ้น
ท่านอาจารย์ประเวศเน้นให้ความสำคัญ ๒ เรื่องในที่นี้คือ ๑) ถ้าเรื่องจิตวิญญาณการเกษตรสำคัญ ต้องหาทางสื่อสารให้คนเข้าใจ ต้องหาวิธีสื่อเรื่องตรงนี้ด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโดยนักเขียน หรือศิลปินช่วยกันสื่อด้วยศิลปะ อาจจะเป็นจิตกรรม ประติมากรรม กวีนิพนธ์ รวมทั้งน่าจะจัดการเรียนรู้ด้วยการทัวร์ เพื่อทำให้คนที่อยู่ข้างบนมาเข้าใจคนข้างล่าง เพราะขณะที่ เราเห็นภูมิปัญญาชาวบ้านเต็มแผ่นดิน แต่ข้างบนไม่เข้าใจแผ่นดินไทย จึงต้องพาไปดู ไปสัมผัสความจริงของแผ่นดินไทย จะเป็นการสื่อสาร การเรียนรู้ที่สำคัญ ๒) การสร้างรูปธรรมระดับจุลภาค คือการที่ชาวบ้านทำเกษตรผสมผสานมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นความเชื่อมโยง หายจน หลุดหนี้ ความรุนแรงลดลง มีเวลาคุยกัน ช่วยเหลือสังคมมากขึ้น เช่น คิดว่าจะช่วยคนแก่อย่างไร จะช่วยให้เด็กดีอย่างไร ซึ่งเรื่องเกษตรผสมผสานให้คำตอบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง รักษาสิ่งแวดล้อม รักษาจิตใจ สุขภาพ พร้อมหมด ดังนั้น ตรงนี้ต้องส่งเสริมให้ขยายตัวมากขึ้น และระดับนโยบายต้องเปลี่ยนการวัดความเจริญที่ตัวเงินด้วย
ตัวอย่างคนอเมริกัน มีเพียง ๓ % เท่านั้นที่ทำเกษตรและใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ทำ อีก ๙๗ % อยู่ในเมือง และทำอาชีพที่ไม่ใช่สัมมาอาชีพ เช่น เล่นหุ้น เป็นอาชีพที่เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม โลกก็เลยเดือดร้อน ปั่นป่วน ท่านมองว่า ต้องให้คนทำสัมมาอาชีวะให้มากที่สุด เช่น อาชีพเกษตร ต้องให้มีจำนวนมากที่สุด และถ้าจะทำการเกษตรให้มาก ต้องไปดูเรื่อง (๑) สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร เพราะถ้านายทุนกว้านซื้อที่ไปหมด คนก็มีอาชีพการเกษตรไม่ได้ (๒) ต้องไปดูเรื่องการใช้เทคโนโลยี ต้องไม่ใช้ขนาดใหญ่ ต้องเน้นรายย่อยมากราย ให้เต็มแผ่นดินไปหมด (๓) ไปเชื่อมโยงกับกระบวนการนโยบาย คนอาจจะดี แต่ถ้านโยบายไม่ดี ก็ก่อความเสียหายเหลือคณานับ อย่างบ้านเรา นโยบายที่ไม่ดีเต็มไปหมด และกำหนดโดยคนนิดเดียว ดังนั้นเราจึงต้องสนใจกระบวนการนโยบาย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าคนส่วนน้อยนำไป มักจะนำไปสู่วิกฤติ ด้วยนโยบายที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้น นโยบายที่ถูกต้องจะต้องให้คนอยู่ในภาคเกษตรมากที่สุด เท่าที่จะมากได้ และ (๔) ต้องเปลี่ยนตัววัดการพัฒนาใหม่ เช่น วัดจำนวนคนที่ทำสัมมนาอาชีวะ ว่ามีมากเท่าไร หรือวัดความสุข
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เราพบทุกวันนี้คือ พ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรไม่อยากให้ลูกหลานสืบทอดอาชีพของตน เพราะชาวบ้านรู้สึกว่า เขาถูกเอาเปรียบ แต่ถ้าไปดูเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ลูกจะกลับบ้าน เช่น พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย ที่สุรินทร์ ท่านมีความสุขสบาย เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมดี ชื่อเสียงก็มี มีคนมาเรียนรู้จากท่านเยอะ ลูกท่านก็กลับมาบ้าน เพราะพ่อมีเกียรติ หรือกรณี ลุงคำป่วน ที่ภูเรือ ปลูกไม้เมืองหนาวขาย เป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่ทำวิจัยตลอดเวลา ท่านดูว่า ที่สวนจตุจักร เขาขายอะไรกัน ราคาเท่าไร เหมือนท่านวิจัยตลาด ก็ปลูกหลายอย่าง และทำหลายวิธี แล้วสังเกตว่าวิธีไหนให้ผลดีกว่า ก็เลือกวิธีนั้น แล้วก็ทดลองอีก ฉะนั้น ก็ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ด้วยงานวิจัย คนไปดูงานเยอะ แล้วลูกก็กลับมาช่วยงานที่บ้าน ฉะนั้นเรื่องศักดิ์ศรีของเกษตรกรเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีศักดิ์ศรี ลูกก็อยากกลับบ้าน อยากเอาอย่าง เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิของความเป็นมนุษย์ ถ้ามี มันเป็นความสุขในเนื้อในตัวของมันเลย ขณะนี้เรามีหนทางแห่งศักดิ์ศรี หรือเกียรติยศทางเดียว แคบๆ ซึ่งเป็นทางที่ล้าสมัย และถูกใช้ไปในทางผิดๆ คือต้องรับราชการเท่านั้นจึงมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี หรือต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
ฉะนั้น เราต้องสร้างเรื่องเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องสิทธิของความเป็นมนุษย์ให้กว้างขวางหลากหลาย นั่นคือการเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้งในการพัฒนา เพราะมันกระจายตัว ทุกชุมชนท้องถิ่น ทุกประเทศ มีประวัติศาสตร์ของตัว มีวัฒนธรรมของตัว จะว่าใครเหนือใครก็ไม่ได้ แต่เป็นความหลากหลาย แต่ถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้ง มันจะสัมพันธ์กันเป็นแบบบริวาร เช่น ทุกจังหวัดจะเป็นบริวารของกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ก็เป็นบริวารของโตเกียว นิวยอร์ก แต่คนเข้าใจเรื่องนี้น้อย มหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดก็ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร จะเข้าใจก็แค่สร้างเรือนไทย สร้างวงดนตรีไทย นึกว่าได้ทำแล้ว แต่ที่จริงมันคือ วิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชน ในสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ที่หลากหลาย ไปตามสิ่งแวดล้อมต่างๆ ฉะนั้น ต้องหาเกียรติ หาศักดิ์ศรีของมนุษย์ใหม่ ไม่ใช่ให้มีอยู่อย่างคับแคบเช่นในปัจจุบัน ซึ่งมันบีบคั้นมนุษย์เกิดความเครียดและความขัดแย้งในสังคมมาก
ทุกวันนี้หลายคนเป็นห่วงว่า แม้จะเห็นว่า เกษตรยั่งยืน เกษตรผสมผสานดีแล้ว มีทุกมิติที่นำไปสู่จิตวิญญาณการเกษตร แต่รัฐบาลกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศ ที่เน้นอุตสาหกรรม สังคมจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งท่านอาจารย์ระพี สาคริก มองว่า เราต้องมองวิถีการเปลี่ยนแปลงอย่างองค์รวม แล้วดูว่าสมดุลต่างๆ มันอยู่ตรงไหน ซึ่งมันพัฒนาไปได้อีก ไม่ใช่หยุดแค่นี้ แต่ปัญหามันเป็นตัวสอนให้เราเรียนรู้ว่า เราอ่อนแอไหม เราตกหลุมไหม หรือปัญหาทำให้เราแข็งแรงขึ้นไหม ถ้าเรารู้จักทบทวน อดีต ทั้งข้างนอก ข้างใน โดยเฉพาะข้างในคือตำราเล่มใหญ่ และเป็นของจริง ได้มาจากการทำ การปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เวลานี้ คนไทยที่ขาดวิญญาณความเป็นไทย มันเยอะขึ้น ยิ่งข้างบนยิ่งเยอะ ดูดจากชนบทเข้ามาในเมือง และดูดจากในเมืองขึ้นไปข้างบน อำนวยประโยชน์ให้กับต่างชาติหมด แม้แต่เรื่องอาหาร ก็เหลือกากเหลือเดนเท่านั้นที่คนไทยกิน
ที่เราบอกว่า โลกทุกวันนี้มันต้องแข่งขัน คุณหมอประเวศชี้ว่า ก็กำลังเข้าไปสู่ความพินาศหมด ให้ดูญี่ปุ่น อเมริกา ว่าตอนนี้เป็นอย่างไร คนอเมริกากำลังหวาดกลัวกันหมดทั้งประเทศ ไม่มีความมั่นคงในจิตใจ แล้วเราจะเข้าไปหาสิ่งเหล่านั้นทำไม ถ้าเราแข่งขันแบบนั้น เราแข่งขันอย่างแพ้ เพราะไปทำลายสิ่งต่างๆ ต้องไปพึ่งต่างชาติ พอต่างชาติแปรปรวน เราก็ล้ม แต่เราควรแข่งขันจากจุดที่เราแข็งแรงที่สุด และไม่มีคนอื่นแข็งเท่าเลย คือเรื่องวัฒนธรรม เป็นการแข่งขันที่มั่นคงมาก ฉะนั้นต้องคิดให้ดีว่า มันแข่งขันจากฐานอะไร ต้องแข่งขันจากฐานความเข้มแข็งของเรา
กล่าวโดยสรุป อาจารย์ทั้งสามท่าน มองเหมือนกันว่า การที่เราจะเข้าถึงจิตวิญญาณการเกษตรได้นั้น เราอาจจะต้องเห็นธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงอย่างองค์รวม การที่เรามีกระบวนทัศน์ที่แยกส่วนหรือชำแหละออกจากกัน ทำให้มิติเรื่องจิตวิญญาณขาดหายไป และก่อวิกฤติมากมายต่อมนุษยชาติ แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้ได้จากปัญหา และศักยภาพของมนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ เพื่อสามารถจะหลุดพ้นไปจากวิกฤตินั้น โดยเฉพาะวิกฤติทางปัญญา
เรื่องจิตวิญญาณการเกษตร ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเกษตรกรเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของมนุษยชาติ ถ้าเราเห็นด้วย เราต้องช่วยกันเผยแพร่ ขยายผล ขยายกระบวนทัศน์นี้ออกไปให้กว้างขึ้น อาจจะเป็นการใช้สื่อรูปแบบต่างๆ ศิลปะ หรือด้วยการลงสัมผัสความจริงในชุมชนให้มากขึ้น เรียนรู้จากของจริง จากธรรมชาติ เราจะเห็นองค์รวมอย่างแท้จริง และ อ.ประเวศเสนอให้คนกลับไปสู่ภาคเกษตรให้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำอีกหลายเรื่องไปด้วยกัน เช่น สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร เทคโนโลยี กระบวนการนโยบายของรัฐที่ไปเอื้อต่อทิศทางเหล่านั้น ตัวชี้วัดการพัฒนาประเทศอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไป จากที่เอาเงินเป็นตัววัด อาจต้องเอาความสุขมาเป็นตัววัด เอาเรื่องวัฒนธรรมเป็นตัวตั้งในการพัฒนา เพราะเป็นความหลากหลาย และมีจริงในท้องถิ่น เป็นจุดแข็งของตัวเขาเอง ที่ทำให้ไม่รู้สึกด้อย อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ฝากไว้คือ เราต้องขับเคลื่อนด้วยการสร้างความรู้ และสร้างวัฒนธรรมความรู้ที่เป็นทางเลือก ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง.
User avatar
abhichartt
 
Posts: 17
Joined: Sat Oct 25, 2008 6:46 pm


Return to ชายคาพักใจ



cron