จาก 14 ตุลาเป็นบทเรียนยิ่งใหญ่ ถึงฟ้าสีทองผ่องอำไพเป็นคำตอบ

ไม่มี login ก็โพสได้นะครับ

จาก 14 ตุลาเป็นบทเรียนยิ่งใหญ่ ถึงฟ้าสีทองผ่องอำไพเป็นคำตอบ

Postby ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันที่ง ฉันจึงมาหาความหมาย » Mon Jan 12, 2009 11:18 pm

ราชสดุดี ๖๐ ปี ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร


ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

เมื่อ ๒๕ ปีโพ้น ต่อหน้ามหาสมาคม กอรปด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ พระราชาพระองค์หนึ่งตรัสมีความสังเขปว่า "ข้าพเจ้าขอขอบใจที่ได้มอบราชสมบัติให้ ข้าพเจ้าจะทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ และเพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างเต็มความสามารถ ขอให้ท่านจงช่วยร่วมกันทำดังกล่าว" แล้วก็เสด็จก้าวไปจากมหาสมาคมนั้น ครั้นแล้วก็ทรงหันกลับมาใหม่ แล้วตรัสอย่างหนักหน่วงว่า "และด้วยสุจริตใจ" พระมหากษัตริย์พระองค์นั้น คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดวงมณี ดวงประทีป และดวงใจของมวลชนชาวสยาม พระราชกระแสรับสั่งและสีพระพักตร์ตอนที่รับสั่งนั้น เป็นที่ซาบซึ้งจับจิต และตื้นตันใจผู้ที่มีวาสนาได้เห็นได้ฟัง อย่างยากยิ่งที่จะพรรรณาได้ถูกต้อง เพราะว่าประการแรกนั้นทรงมีพระชนม์เพียง ๑๘ พรรษา อีกทั้งขณะนั้นเป็นยามที่ตื่นตระหนก และเศร้าหมองเจ็บแสบหัวใจอย่างสุดที่พระมหากษัตริย์ หรือที่บุคคลใดจะพึงกำลังเผชิญในชีวิต อีกทั้งเป็นกาลเวลาที่บ้านเมืองกำลังปั่นป่วน มิอาจที่จะทรงทราบ หรือทรงเดาได้ว่าเหตุการณ์ภายในประเทศต่อไป แม้เพียงในชั่วโมงข้างหน้า วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ประการที่สอง พระราชกระแส และพระสุรเสียง ตลอดจนสีพระพักตร์ในขณะที่รับสั่งนั้น แสดงถึงความจริงจัง ความแน่ชัดและความเด็ดขาด เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นพระราชกระแสรับสั่งที่มาจากเบื้องลึกสุดของพระราชหฤทัย..."

ความข้างต้นนี้ เป็นคำถวายพระพรชัยมงคลที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ได้ทรงกล่าวในนามของพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในวันฉลองรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔ ถึงพระราชดำรัสและพระขันติธรรมอันสูงยิ่งด้วยพระปณิธานที่แน่วแน่มั่นคงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติ หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงต้องพระแสงปืนและเสด็จสวรรคต เมื่อเช้าวันที่ ๙ มิถุนายนพุทธศักราช ๒๔๘๙

อีก ๒ เดือนต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์แล้ว ทรงมีพระราชนิพนธ์ " เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิสเซอร์แลนด์ " ลงในหนังสือวงวรรณคดี ฉบับเดือน กันยายน ๒๔๘๙ ความตอนหนึ่ง ดังนี้

"...ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นได้เร็วขึ้นบ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องออกมาดังๆ ว่า "อย่าละทิ้งประชาชน อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ ' ทิ้ง ' ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ ' ละทิ้ง ' อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว..."

และภายหลังจากนั้นอีก ๓ ปี ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ ที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง วันการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" แล้วทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน พระราชทานอารักขาแก่ทวยพสกนิกร จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ปกครองราชอาณาจักรด้วยทศพิธราชธรรม
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันที่ง ฉันจึงมาหาความหมาย
 

Re: จาก 14 ตุลาเป็นบทเรียนยิ่งใหญ่ ถึงฟ้าสีทองผ่องอำไพเป็นคำตอบ

Postby ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย » Mon Jan 12, 2009 11:29 pm

นับจากปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ตราบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ กาลเวลาได้ผ่านมายาวนานถึง ๖๐ ปีแล้ว พสกนิกรชาวไทยทั้งมวลต่างได้ประจักษ์แจ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ รวมทั้งได้ตระหนักแน่ชัดแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นในพระราชปณิธานที่ให้ไว้กับประชาชนชาวไทยในครั้งนั้นอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่มั่นคง เห็นได้ชัดเจนจากพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประชาชนของพระองค์ ทั้งในยามบ้านเมืองปกติ และในยามที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะเดือดร้อนจากภยันตรายต่างๆ ทั้งปวง ทั้งจากภัยธรรมชาติ สังคม การเมือง ทรงอุทิศทั้งกำลังพระวรกาย กำลังพระสติปัญญา ตลอดจนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกหมู่เหล่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานหนักตรากตรำอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยไม่ว่างเว้น พระองค์เสด็จไปยังถิ่นทุรกันดารและทุกพื้นที่ในผืนแผ่นดินไทยทั้งในยามบ้านเมืองสงบ หรือในยามมีศึกสงคราม เพื่อยังความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรโดยทั่วหน้า

ดั่งบทสัมภาษณ์หนึ่งของ พล.ร.อ. ม.จ. กาฬวรรณดิศ ดิศกุล ร.น. อดีตสมุหราชองครักษ์ ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือ "ในหลวงของเรา" มีความว่า " โครงการต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มเพื่อความอยู่ดีกินดี และความผาสุกของประชาราษฎร์ นั้น พระองค์ท่านได้นำเอาพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาใช้เป็นจำนวนมากโดยตลอด พระองค์ท่านไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเอาเงินงบประมาณแผ่นดินมาใช้ในตอนริเริ่มของโครงการ เพราะถ้าโครงการนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ ก็จะเป็นการสูญเสียงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินที่เก็บมาจากภาษีอากรจากราษฎรเท่านั้น พระองค์ท่านจึงทรงยอมให้เสียเงินส่วนพระองค์เสียเอง เมื่อโครงการใดประสบผลสำเร็จแล้ว และรัฐเห็นดีด้วย พระองค์ท่านจึงจะทรงมอบให้รัฐบาลไปดำเนินการต่อไป นอกจากนั้นเวลาพระองค์ท่านเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด และทรงพบผู้ป่วยเจ็บ ก็พระราชทานค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยเหล่านั้นโดยทั่วถึง บางรายก็ต้องนำมารักษาพยาบาลที่กรุงเทพฯ โดยที่พระองค์ท่านรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการเสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาราษฎร์ของพระองค์นั้น บางครั้งก็ต้องทรงเสี่ยงภัยอันตรายนานาประการ เช่น ต้องเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์ในเวลาที่อากาศไม่ดี และเสด็จไปในพื้นที่ที่มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอยู่ เป็นต้น บางครั้งพระองค์ท่านก็ต้องทรงให้ราษฎรเฝ้าอยู่จนค่ำมืด แล้วจึงเสด็จกลับ ซึ่งการเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ในภูมิประเทศเช่นนั้น ในตอนค่ำคืนเป็นการเสี่ยงภัยอย่างยิ่ง แต่พระองค์ท่านก็หาทรงหวั่นวิตกประการใดไม่ แม้แต่ครั้งเดียว"

ดร. ประกอบ หุตะสิงห์ อดีตองคมนตรี และ คุณปรีดา กรรณสูตร อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์ คุณอัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ ลงพิมพ์ในหนังสือ "ในหลวงของเรา" มีความสรุปดังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจะพระราชทานที่ดินจำนวน ๔ หมื่นไร่เศษ ซึ่งเป็นที่นาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เป็นรูปของสหกรณ์ เพื่อจะให้ชาวนาชาวไร่มาทำกินรวมหมู่ เป็นกลุ่มก้อน ส่งเสริมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของคนกลางที่จะมากดราคาหากำไร แต่ยังมิได้ทันดำนินการ รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดิน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ เสียก่อน จึงทรงเห็นว่าสมควรให้รัฐบาลดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในกฎหมาย จึงได้ทรงพระราชทานที่นาดังกล่าวให้รัฐบาลรับโอนไปเพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายต่อไป และมีพระราชประสงค์พระราชทานเงินทดแทนค่าที่ดินนั้นให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวด้วย

ในปีหนึ่งๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงใช้เวลาส่วนใหญ่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับยังต่างจังหวัด และในช่วงเวลาต่อมาได้มีการก่อสร้างพระตำหนักขึ้นในทุกภูมิภาค เพื่อสะดวกในการออกเยี่ยมเยียนพสกนิกรทั่วประเทศ พระองค์ได้ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่อันแท้จริง ตลอดจนทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้ก่อนการเสด็จไปยังแต่ละพื้นที่นั้น จะทรงศึกษาข้อมูลและสภาวะในพื้นที่นั้นอย่างละเอียด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถึงพื้นที่ดังกล่าว จะมีพระราชปฏิสันถารถึงสถานการณ์สภาพความเป็นอยู่ของราษฎร และจะพระราชทานกระแสพระราชดำริแก่เจ้าหน้าที่และราษฎรเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ หากราษฎรมีปัญหาในการทำมาหากิน โดยจะพระราชทานพระราชกระแสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณาโดยรอบคอบถึงการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นนั้นๆ พร้อมทั้งทรงกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าหน้าที่ในขบวนเสด็จฯ บันทึกกระแสพระราชดำรัสต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน และดำเนินการติดต่อประสานงานและติดตามผลงานของเจ้าหน้าที่กับราษฎร เพื่อที่จะทรงทราบรายละเอียดและติดตามการดำเนินงานได้ต่อไป โดยจะทรงเน้นเสมอว่า พระราชดำริต่างๆ เป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น หากผู้รู้หรือผู้มีวิชาการเห็นว่าไม่เหมาะสมด้วยประการใดก็ตาม สามารถทักท้วงแก้ไขในการประชุมปรึกษาหารือได้ตลอดเวลา เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ สภาวะทางเศรษฐกิจ และนโยบายของทางราชการ ดังตัวอย่างที่ยกมา ดังนี้

พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร เล่าไว้ในหนังสือ "รอยพระยุคลบาท บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร" ความตอนหนึ่งที่ฉายภาพให้เห็นชัดเจนถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระปรีชาสามารถ พระวิริยอุตสาหะและพระขันติธรรมของพระองค์ท่านในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน โดยสรุปดังนี้

ในท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่สับสนและวุ่นวายในปลายปีพุทธศักราช ๒๕๑๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งมวลเป็นปกติโดยไม่ทรงหวั่นไหว โดยเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ ตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ที่เชียงใหม่ และเสด็จออกเยี่ยมเยียนราษฎรทั้งราษฎรชาวเขาเผ่าต่างๆ กับประชาชนซึ่งอยู่ในที่ราบลุ่มตามที่ทรงปฏิบัติเสมอมาทุกปี ครั้งนั้นเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ซึ่งทรงกระทำเช่นนี้เป็นปกติ ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งฝ่าฝุ่นแดงและความลุ่มดอนของถนนในสมัยนั้นออกเยี่ยมราษฎรอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่

ในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๑๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จฯ เสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรซึ่งเป็นชาวเขาบนดอยอินทนนท์ ในการทรงเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาครั้งนี้ หลังจากเสด็จด้วยรถยนต์พระที่นั่งทรงเยี่ยมชาวเขาเผ่าม้งที่บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง แล้ว พระองค์และสมเด็จฯ ยังได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทไปตามไหล่เขาที่สูงบ้างต่ำบ้างเป็นระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร เพื่อทรงเยี่ยมชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บ้านอังกาน้อย และทรงพระดำเนินต่อไปอีก 2 กิโลเมตร เพื่อพระราชทานไก่พันธุ์โร้ดไอส์แลนด์เร็ดและผ้าห่มให้แก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บ้านท่าฝั่งเช่นเดียวกับที่บ้านอังกาน้อย ต่อจากนั้นยังทรงพระดำเนินต่อไปอีกประมาณหนึ่งกิโลเมตร จนถึงไร่กาแฟที่ราษฎรชาวกะเหรี่ยงปลูกไว้ รวมเป็นระยะทางที่ทรงพระดำเนินทั้งสิ้นในบ่ายวันนั้นประมาณ ๖ กิโลเมตร เพื่อทอดพระเนตรไร่กาแฟที่มีต้นกาแฟให้พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเพียงต้นเดียว เสร็จจากการทอดพระเนตรต้นกาแฟต้นเดียวแล้ว พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ ยังต้องทรงพระดำเนินกลับออกไปยังรถยนตร์พระที่นั่งที่จอดไว้ที่แยกปากทางเข้าบ้านอังกาน้อย รวมเป็นระยะทางที่เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทในวันนั้นประมาณ ๑๒ กิโลเมตร แล้วพระเจ้าอยู่หัวยังต้องทรงขับรถยนตร์พระที่นั่งกลับด้วยพระองค์เองอีกจนถึงพระตำหนักด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสอธิบายแก่พลตำรวจเอกวสิษฐ์ เดชกุญชรว่า เหตุที่พระองค์ทรงพระดำเนินไปเป็นระยะทางไกลตามที่ ม.จ. ภีศเดช รัชนี กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เพียงเพื่อไปทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียงต้นเดียวนั้น ด้วยเมื่อก่อนชาวเข่าเผ่ากะเหรี่ยงบนดอยอินทนนท์ประกอบอาชีพปลูกฝิ่น พระองค์ท่านทรงไปพูดจาชี้แจงชักชวนให้เขามาลองปลูกกาแฟแทนฝิ่น เมื่อกาแฟไม่ตายเสียหมด แต่ยังเหลืออยู่หนึ่งต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าสำหรับกะเหรี่ยง จึงต้องไปทอดพระเนตร จะได้ทรงแนะนำเขาต่อไปได้ว่า ทำอย่างไรกาแฟจึงจะเหลืออยู่มากกว่าหนึ่งต้น พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชรกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นที่เข้าใจว่า เป็นไปตามพระบรมราโชบายที่ว่า ไม่โปรดการ "เร่งรัดพัฒนา" แต่โปรดให้ราษฎรเรียนรู้ด้วยตัวเองและรู้จักพัฒนาตนเอง ในปีต่อมาราษฎรชาวกะเหรี่ยงดอยอินทนนท์ ปลูกกาแฟได้ผลงามทั้งไร่ และบริษัทผลิตกาแฟในกรุงเทพฯ ได้ไปขอซื้อกาแฟ โดยให้ราคาสูงถึงกิโลละหนึ่งบาท ปรากฏว่าราษฎรชาวกะเหรี่ยงที่ดอยอินทนนท์ขายกาแฟได้เป็นเงินต่อไร่ต่อปีสูงกว่าที่เคยขายฝิ่นได้หลายสิบเท่า
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย
 

Re: จาก 14 ตุลาเป็นบทเรียนยิ่งใหญ่ ถึงฟ้าสีทองผ่องอำไพเป็นคำตอบ

Postby ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันที่ง ฉันจึงมาหาความหมาย » Mon Jan 12, 2009 11:48 pm

สุดท้ายขอยกความตอนหนึ่งในปาฐกถาเกียรติยศที่ ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี แสดงไว้เมื่อเป็นองค์ปาฐกเรื่อง "รอยพระยุคลบาท" ในการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ ๓ ของชมรมจริยธรรมกระทรวงสาธารณสุข ที่แสดงถึงพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพ ในการระงับเหตุขัดแย้งทางความคิดในบ้านเมือง ตลอดจนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยลึกซึ้งเพียงใด ความว่าดังนี้

"กรณีวันมหาวิปโยค รวมทั้งเหตุการณ์วันพฤษภาทมิฬ จะเห็นได้ว่าพระองค์ได้เสด็จลงมากู้สถานการณ์ให้พวกเรา อาจจะมีหลายฝ่ายคิดว่าทำไมไม่เสด็จลงมาก่อนหน้านั้น ทำไมต้องรอจนถึงวาระสุดท้าย ขอให้พวกเราลองคิดดู ถ้าหากท่านเสด็จลงมาก่อนหน้านั้น ต่อจากนั้นไปไม่ว่าใครมีเรื่องอันใด แม้เล็ก แม้น้อยเพียงใดก็ต้องถึงท่านทั้งหมด รัฐบาลก็ไม่มีความหมาย ในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการก่อน ต่อเมื่อรัฐบาลหมดความสามารถแล้ว พวกเราจะเห็นพระองค์ท่านลงมา และทุกครั้งจะเห็นว่าเป็นเพราะสุดความสามารถของรัฐบาลแล้ว พระบารมีของพระองค์ทำให้บ้านเมืองรอดมาได้จนทุกวันนี้"

บทสรุปของราชสดุดี ๖๐ ปี ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ในวโรกาสอันเป็นมิ่งมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ยาวนานยิ่งกว่าอดีตพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ นี้ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมอัญเชิญพระบรมราโชวาทที่พระราชทานให้แก่ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร และท่านได้นำมาเล่าไว้ในหนังสือ "ตามรอยพระยุคลบาท" ดังนี้

"...ผมได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัวในคืนวันหนึ่งในพ.ศ. ๒๕๑๐ หลังจากที่ได้รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแล้วในวังไกลกังวล พระเครื่ององค์นั้น คือ พระ "สมเด็จจิตรลดา" หรือพระ "กำลังแผ่นดิน" ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเอง...

...หลังจากที่เรารับพระราชทานพระแล้ว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาทมีความว่า พระที่ทรงพระกรุณาพระราชทานนั้น ก่อนจะเอาไปบูชาให้ปิดทองเสียก่อน แต่ให้ปิดเฉพาะข้างหลังพระเท่านั้น

พระราชทานพระบรมราชาธิบายด้วยว่า ที่ให้ปิดทองหลังพระก็เพื่อจะได้เตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว...

...ก่อนจะเสด็จขึ้นคืนนั้น ผมจึงก้มลงกราบบนโต๊ะเสวย แล้วกราบบังคมทูลว่า ใคร่จะขอพระราชทานอะไรสักอย่างหนึ่ง
พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า "จะเอาอะไร?" และผมก็กราบบังคมทูลอย่างกล้าหาญชาญชัยว่า จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปิดทองบนหน้าพระที่ได้รับพระราชทานไป พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามเหตุผลที่ผมขอปิดทองหน้าพระ

ผมกราบบังคมทูลอย่างตรงไปตรงมาว่า พระสมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินนั้น นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานไปห้อยคอแล้ว ต้องทำงานหนักและเหนื่อยเป็นที่สุด เกือบได้รับอันตรายร้ายแรงก็หลายครั้ง มิหนำซ้ำกรมตำรวจยังไม่ให้เงินเดือนขึ้นแม้แต่บาทเดียวอีกด้วย

พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวล(ยิ้ม) ก่อนที่จะมีพระราชดำรัสตอบด้วยพระสุรเสียงที่ส่อพระเมตตาและพระกรุณาว่า ปิดทองไปข้างหลังพระเรื่อยๆ แล้วทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง ”

และพระราชดำรัสที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศตั้งหน้าตั้งตารอฟังอย่างใจจรดใจจ่อเมื่อคืนวันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘ (เป็นพระราชดำรัสที่ผู้คนที่สนใจติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองและตระหนักถึงพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระบารมีเฝ้ารอคอยอย่างใจจรดจ่อ ด้วยเป็นช่วงเริ่มต้นของการก่อตัวเป็นขบวนการภาคประชาชนเพื่อต่อสู้ทางความคิดกับฝ่ายบริหารบ้านเมือง เนื่องจากมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับนโยบายการบริหาร การใช้อำนาจ และพฤติกรรมในการบริหารบ้านเมืองของระบอบทักษิณ-ความเห็นส่วนตัวของผู้คัดลอก-) และด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำประสบการณ์จริงที่พระองค์ทรงประสบด้วยพระองค์เองมาพระราชทานให้เป็นคติเป็นหลักในการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรของพระองค์โดยทั่วกัน ดังนี้

"...เมื่อก่อนนี้ ก่อนที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก่อนที่เป็นคิง ก็เสียใจหลายครั้ง แต่ตอนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วเป็นคิง คิงแบบไทยๆ นี่ ซึ่งฝรั่งเขาบอกว่าเป็นเดอะคิง เข้าใจว่าน้อยครั้งที่จะได้ทำผิด เพราะว่า ระวัง ถ้าไม่ระวัง ป่านนี้ก็คงตายแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องระวัง ถ้าไม่ระวังก็ตาย นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่เรียกว่าการเมือง หรือการที่อยู่ในสายตาของคน สายตาของคนนี่มันฆ่าได้ ถ้าเราไม่ระวัง เราตาย ก็เลยถึงบอกได้ว่า ทำไม การที่บอกว่า THE KING can do no wrong เพราะต้อง do no wrong ถ้า ทำ wrong ตาย ทุกคน ก็มีสถานะอย่างนี้ ไม่ใช่ว่า THE KING เก่ง แต่ว่าทุกคนก็มีส่วนที่เก่ง เพราะมีตำแหน่ง รับ รับตำแหน่งที่สูง ได้รับเหรียญตรา แล้วก็คนก็ชี้คนๆ นี้ สูงมาก มียศศักดิ์ เดอะคิงเป็นยศศักดิ์สูง แต่คนที่อยู่ในที่นี้ ยศศักดิ์ทั้งนั้น ไม่ระวังตัวก็ตายเหมือนกัน ถ้าไม่ระวัง ไม่ใช่คนที่นึกว่า โอ้คนนั้น เขาจะตายแน่ เพราะว่าไม่ระวัง ทุกคนตั้งแต่แถวแรกจนถึงแถวสุดท้ายโน่น จนกระทั่งหลังแถว จนกระทั่งข้างนอก ทุกคนถ้าไม่ระวังก็มีอันตราย เพราะฉะนั้นที่พูดอย่างนี้ก็แปลกๆ หน่อย นี่ก็หาว่าแช่ง ที่จริงไม่แช่ง แต่สงสาร เพราะว่าถ้าไม่ระวัง เมืองไทยตาย ฉะนั้นก็ ถึงต้องขอร้องอย่างเดียวว่า มาวันนี้ให้ระวังๆ ให้ระมัดระวังที่คิด ที่พูด ที่ทำ ถ้านึกว่าทำถูกต้องแล้วทำ...

...โครงการพระราชดำรินี่ เปิดเผยให้ทุกคน ได้ทั้งนั้น แล้วก็ ถ้าปฏิบัติตามโครงการพระราชดำริ หมายความว่าทำอย่างเศรษฐกิจพอเพียง...

...ทำเศรษฐกิจพอเพียง ก็เชื่อว่าประเทศจะมีความประหยัดได้เยอะเหมือนกัน คือ ถ้าไม่ประหยัด ประเทศไปไม่ได้..."

ทั้งนี้เพื่อน้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสข้างต้นนี้ มาเป็นขวัญและกำลังใจ เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของชาวไทยทั้งมวล และน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชสักการะในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ พรรษา อันจะยังให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ผาสุก วัฒนาสถาพรแก่ตัวบุคคลที่น้อมนำมาปฏิบัติและประเทศไทยอันเป็นที่รัก ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร์ รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ่อหลวงของปวงชนชาวไทยทุกคน


หนังสืออ้างอิง
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช "ธ คือรากแก้วของแผ่นดิน", ปาฐกถาพิเศษ คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ ห้องประชุม ชั้น 4
อาคารเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันอังคารที่ 30 พ.ค. 2543. กรุงเทพฯ.สถาบัน
ไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
คณะบรรณาธิการจัดทำสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ราชบัณฑิตยสถาน "ใต้ร่มพระบารมี จักรีนฤบดินทร์
สยามมินทราธิราช", กรุงเทพฯ.: บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์จำกัด, 2547
อัจฉรา จิระศักดิ์ระวี "องค์ราชันขวัญราษฎร์ เสด็จสู่ไอศูรย์ศวรรเยศ"
อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ "ในหลวงของเรา บทพระราชทานสัมภาษณ์พิเศษสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิง
สิรินทรเทพรัตนราชสุดา สัมภาษณ์บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท". พิมพ์ครั้งที่3
ธันวาคม 2545
ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี "ปาฐกถาเกียรติยศ:รอยพระยุคลบาท" จัดโดยชมรมจริยธรรม
กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพฯ, สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด, 2542
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันที่ง ฉันจึงมาหาความหมาย
 

Re: จาก 14 ตุลาเป็นบทเรียนยิ่งใหญ่ ถึงฟ้าสีทองผ่องอำไพเป็นคำตอบ

Postby ดอกฟ้ากับหมาวัด » Tue Jan 13, 2009 2:13 am

ไม่มีใครสามารถปฎิเสธ..

พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนคนไทยเสมอ


ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ตราบเท่านาน...




น้อมเกล้าน้อมเกศี
พระภูมีของชาวไทย
ชีพนี้สละให้
แม้นเสียไปไม่นำพา

จะพานพบที่พอเพียง
ไม่เอนเอียงประทานมา
พานพบพระเมตตา
ก็รู้สาเอิบอิ่มใจ


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม..ขอเดชะ




มวลมาร แม้นหมูหมา มองเมิน
จาบจ้วง คอยล่วงเกิน ดั่งไพร่
โดดเดียว ไร้ที่พัก พำนักใจ
หางด้วน ไร้ที่พัก พำนักพิง


User avatar
ดอกฟ้ากับหมาวัด
 
Posts: 1817
Joined: Mon Oct 13, 2008 2:56 pm


Return to ห้องสาธารณะ



cron